ธรรมะบริหาร สู่ความสำเร็จยั่งยืนลดอัตตา-สร้างสติ ด้วยวิปัสสนา-อิทธิบาท 4 MUSLIMTHAIPOST

 

ธรรมะบริหาร สู่ความสำเร็จยั่งยืนลดอัตตา-สร้างสติ ด้วยวิปัสสนา-อิทธิบาท 4


551 ผู้ชม


ธรรมะบริหาร สู่ความสำเร็จยั่งยืนลดอัตตา-สร้างสติ ด้วยวิปัสสนา-อิทธิบาท 4




        • เคล็ดลับบริหารองค์กร ... จัดการลูกค้าอย่างได้ผล
       
        • ปรับวิธีคิด พิชิตใจลูกน้อง ด้วยธรรมะอินเทรนด์
       
        • “ใช้จิตกระทืบอัตตา” รับมือความล้มเหลว
       
        • สำเร็จทันตา ! ต้องเริ่มที่ “ผู้นำ”
       
        ยุคธรรมะเฟื่องฟู องค์กร ผู้บริหาร พนักงาน จากภาครัฐและเอกชนสมัยใหม่ ต่างหันมาสนใจและนำเอา “ธรรมะ”ไปใช้ เป็นเครื่องมือบริหารงาน องค์กร เพื่อไปสู่เป้าหมาย ความสำเร็จ ที่วางไว้ได้อย่างยั่งยืน นอกเหนือ การบริหารจัดการแบบดั้งเดิม
       
       ดังเช่นกรณีของนักบริหารธุรกิจหญิง “ วรัตดา ภัทโรดม” แห่งค่าย AMITY CONSULTING บริษัททางด้านให้คำปรึกษาองค์กรที่มีความชำนาญเกี่ยวกับ Customer Relationship Management (CRM) ได้นำหลักธรรมะมาใช้ในการบริหารองค์กร และลูกค้า ได้อย่างลงตัว ก่อให้เกิดหลักการบริหาร CRM แบบวิปัสสนา เพื่อลดอัตตา และบริหารอย่างมีสติ รวมถึงการใช้หลักอิทธิบาท 4 เป็นธรรมะสู่ความสำเร็จแบบยั่งยืนได้อย่างน่าสนใจ
       
       ตกผลึก CRM แบบวิปัสสนา
       
        กรรมการผู้จัดการสาวแห่ง AMITY บอกว่า จากสถานการณ์การแข่งขันทางธุรกิจที่ทวีความรุนแรงอย่างต่อเนื่อง ทำให้ภาวะการบริหารอารมณ์ภายในองค์กรลดน้อยลง ก่อให้เกิดผลกระทบต่อการบริหารองค์กรโดยภาพรวมมากขึ้น เนื่องจาก มีการยึดมั่นถือมั่นในความคิดและตัวตน ( อัตตา) มาเป็นตัวกำหนดความคิดและการปฏิบัติ ซึ่งการจะลบล้างความเป็น “ตัวกูของกู” ได้ จะต้องใช้หลักการปฎิบัติธรรมแบบ “ วิปัสสนากรรมฐาน”มาเป็นตัวช่วย
       
        วรัตดา อธิบายโดยยกตัวอย่างว่า จากประสบการณ์ในฐานะที่ปรึกษาองค์กรด้านซีอาร์เอ็ม พบว่า ผู้บริหารที่ทำ CRM เดิมมักใช้ความคิดเห็นของตนเป็นหลักมากกว่าการฟังลูกค้า ทำให้การทำงานที่ออกมาไม่เป็นที่พอใจ แต่เมื่อมีการนำหลัก วิปัสสนาไปใช้ในการบริหารงานดังกล่าว ก็จะช่วยลดอัตตาลงได้ ทำให้มีการรับฟังความคิดเห็นของผู้บริโภคที่คาดหวังกับแบรนด์ของตนมากขึ้น
       
        “เมื่อเราไม่มีอัตตาความผิดพลาดที่เกิดขึ้น เราจะมองหาความผิดพลาดที่เกิดขึ้นจากตัวเรามากกว่า ซึ่งจะเป็นประสบการณ์ที่หล่อหลอมไม่ให้ทำผิดอีก แต่หากยังมีอัตตาเราจะมองความผิดพลาดที่เกิดขึ้นมาจากคนอื่น ย่อมเป็นผลร้ายต่อสมองส่วนอีคิวที่ควบคุมอารมณ์ของเรา”
       
        เธอให้ทัศนะว่า หลายคนมีความคิดในแง่ลบกับการวิปัสสนาเป็นเรื่องของผู้สูงอายุ แต่แท้จริงกลับเป็นการสร้างภูมิคุ้มกันให้กับตนเองและการประกอบธุรกิจ เนื่องจากเป็นการใช้จิตวิเคราะห์ความเป็นตัวตนหรือเรียกว่า “ใช้จิตกระทืบอัตตา” เพื่อให้ลดความยึดมั่นตัวตนลงซึ่งจะทำให้คิดถึงคนอื่นมากขึ้น
       
        ขณะเดียวกัน หากการมีการใช้จิตที่รู้ตัวตน หรือมีสติในการทำงาน ก็จะทำให้รู้จักความพอเพียงในการทำงาน เพราะก่อนที่ทำอะไรต้องวิเคราะห์ปัจจัยพื้นฐานอย่างรอบคอบ ซึ่งจะช่วยบริหารงานระยะ Long Term ได้อย่างดี
       
        เธอเล่าว่า ประสบการณ์ในอดีต เมื่อครั้งที่ตนเองตัดสินใจขยายงานด้านองค์กรที่ปรึกษาอย่างรวดเร็ว จนมีพนักงานกว่า 200 คน แต่เนื่องจากไม่ได้เตรียมตัวรับมือกับความเสี่ยงทีเกิดขึ้น ทำให้ต่อมาบริษัทดังกล่าวต้องปิดกิจการไปในที่สุด จากนั้นจึงหันมาเปิดบริษัทใหม่อีกครั้ง โดยครั้งนี้มีความระมัดระวังความเสี่ยงมากขึ้น เน้นทำธุรกิจแบบค่อยเป็นค่อยไป
       
        ปัจจุบันมีพนักงานจำนวน 20 คน เน้นคุณภาพที่ให้กับลูกค้าบนรากฐานของความพอเพียง ขณะเดียวกัน ยังช่วยลดความเสี่ยงที่จะรองรับการโตของหน่วยงาน
       
        “การวิปัสสนาไม่จำเป็นว่า มานั่งเพียงครั้งเดียวแล้วประสบความสำเร็จ แต่ขึ้นอยู่กับความยึดมั่นถือมั่นภายในตัวบุคคล ซึ่งหากมีอัตตามากก็ต้องใช้เวลาในการทำนาน เพื่อจะลดสิ่งที่อยู่ในจิตใจให้ลดลง”
       
        การทำงานโดยลดอัตตาที่ใช้การวิปัสสนา จะทำให้เกิดปัญญาในระดับประสบการณ์เพราะจะทำให้เข้าใจได้ด้วยตนเองสัมผัสได้เอง ซึ่งไม่ต้องเสียค่าอบรมในราคาแพง เพราะการถ่ายทอดความรู้อาจไม่ทำให้นักบริหารที่คิดแต่หลักวิทยาศาสตร์ปฏิบัติตาม ดังนั้น ต้องใช้การปฏิบัติที่เป็นประสบการณ์จริง เพื่อสร้างความเชื่อให้กับบุคคลเหล่านั้น
       
        ผลที่ได้หลังจากการมีสติ คือ ผู้บริหารจะรับฟังความคิดเห็นของลูกน้องและคนอื่นมากขึ้นเพราะขณะนี้หลายหน่วยงานมีความเครียดทำให้คนที่อยู่ในระดับสั่งการใช้อารมณ์เพื่อสั่งงานมากกว่าเหตุผล ทำให้เกิดบรรยากาศที่ดีในการทำงานส่งผลให้ลูกน้องเกิดขวัญกำลังใจและศรัทธาในคำสั่งของหัวหน้า
       
        ด้านผู้ประกอบการด้านบริการสามารถนำเอามาไปใช้ได้อย่างดีเนื่องจากคนที่มีสติจะมีความเมตาสูงซึ่งทำให้การบริการมีการแสดงออกด้วยความจริงใจและเป็นธรรมชาติ ขณะเดียวกันจะช่วยเตือนใจในการลดความขัดแย้งกับลูกค้าเพราะเมื่อคนถึงจุดปะทะทางอารมณ์สติจะหายไปทำให้กระทบกระทั่งกันอย่างรุนแรง แต่ถ้ามีสติเมื่ออยู่ในสถานการณ์ปะทะจะต้องกลับมาดูตนเองเพื่อหาต้นเหตุว่าที่คนอื่นไม่เข้าใจตนอาจเกิดจาการพูดที่ไม่เข้าใจ
       
        ขณะเดียวกันจะเป็นสิ่งที่ช่วยให้มองเห็นแง่มุมที่แตกต่างในการทำงาน เนื่องจากเมื่อประสบกับภาวะวิกฤติมักวิตกกังวงแต่ถ้าคนมีสติจะปล่อยวางทำให้มองเห็นทางรอดที่อาจเป็นเรื่องง่ายๆ และใกล้ตัวเพียงแต่ความกลัวทำให้บดบังความคิดที่จะประดิษฐ์สิ่งใหม่ขึ้นมา
       
        “สิ่งที่พิสูจน์ได้ชัดว่าการมีสติไม่ใช้เรื่องงมงายเห็นจากการที่มีคนถาม ไอน์สไตน์ ถึงศาสนาใดที่จะอยู่คู่กับวิทยาศาสตร์ในอนาคตซึ่งเขาตอบว่า พระพุทธศาสนาเพราะพระพุทธเจ้าไม่ได้สอนให้คนเชื่อแต่ให้ลองปฏิบัติเพื่อสร้างสติและภูมิต้านทานทางจิตใจอย่างเข้มแข็ง ซึ่งการนั่งสมาธิวิปัสสนาก็คือหนึ่งในกระบวนการที่ท่านให้ลองปฏิบัติ”
       
       ผู้นำคือต้นแบบ
       
        วรัตดา บอกว่า การสร้างธรรมะภายในองค์กรให้ประสบความสำเร็จอย่างรวดเร็ว จำเป็นต้องเริ่มจาก ผู้บริหารองค์กร เป็นต้นแบบ ซึ่งเปรียบเสมือนการกระโดดลงไปในน้ำ ก่อนที่จะว่ายน้ำเป็น เพราะเมื่อผู้นำ ซึ่งเป็นต้นแบบในการสร้างบรรยากาศของการทำงานไม่นาน ลูกน้องจะเริ่มทำตาม หากเห็นการเปลี่ยนแปลงที่ดีขึ้นจากเจ้านาย
       
        อีกด้านหนึ่ง หากมีพื้นฐานในการนั่งวิปัสสนา ก็ไม่จำเป็นต้องทำบ่อยๆ แต่สามารถนำไปประยุกต์ในการทำงานในทุกๆ วันได้ ซึ่งก็ถือเป็นการฝึกให้มีสมาธิเช่นกัน เพราะหากตั้งใจทำงานเพียงชิ้นเดียวโดยมีสมาธิและจดจ่ออยู่กับสิ่งนั้นสมาธิก็เกิดขึ้นภาวะทางอารมณ์ย่อมจะพัฒนาไปด้วย
       
        สำหรับการสร้างความสำเร็จอย่างยั่งยืน ในแง่หลักธรรมะสามารถใช้หลักอิทธิบาท 4 ประกอบด้วย ฉันทะ วิริยะ จิตตะ วิมังสา ซึ่งหลักธรรมดังกล่าว จะช่วยทำให้ผู้บริหารก้าวสู่เป้าหมายอย่างมั่นคง เนื่องจากแต่ละวันหากต้องเผชิญความล้มเหลว พวกเขาก็จะไม่คิดมาก ในเหตุที่เกิดขึ้น แต่สามารถกลับมาสร้างสิ่งใหม่ให้กับตนได้ จากการมีสติและเข้าใจปัญหา
       
        นอกจากนี้ ยังจะต้องมี “สติ”อยู่เสมอ โดยเฉพาะหากเมื่อเผชิญปัญหา ประสบความล้มเหลว ก็จะสามารถลุกขึ้นมาสู้กับปัญหาได้อย่างรวดเร็ว เพราะสติจะเป็นตัวกำหนดให้มองเห็นปัจจุบันและละทิ้งความเลวร้ายได้อย่างรวดเร็ว เมื่อปราศจาก อัตตา ที่ยึดมั่นในสิ่งที่ตนเองสูญเสียไป
       
        ฉะนั้น ความสำเร็จของการบริหารองค์กรอาจไม่ได้มาด้วยเม็ดเงินมหาศาลที่เป็นเครื่องชี้วัดแบบง่ายๆโดยไม่ได้ดูต้นสาย ปลายเหตุ ความต้านทานด้านอารมณ์ หยดน้ำตาบนรายทางของคนที่ชอกช้ำ แต่ควรจะต้องได้มาด้วยการมีสติซึ่งอยู่ภายในตน…
       
       *****************
       
       บันไดธรรมสู่ความสำเร็จ
       
        อิทธิบาท แปลว่า บาทฐานแห่งความสำเร็จ หมายถึง สิ่งซึ่งมีคุณธรรม เครื่องให้ลุถึงความสำเร็จตามที่ตนประสงค์ ผู้หวังความสำเร็จในสิ่งใด ต้องทำตนให้สมบูรณ์ ด้วยสิ่งที่เรียกว่า อิทธิบาท ซึ่งจำแนกไว้เป็นธรรม 4 อย่างนี้ ย่อมเกี่ยวเนื่องกันและมีหน้าที่เฉพาะของตน
       
        ฉันทะ คือความพอใจ ในฐานะเป็นสิ่งที่ ตนถือว่า ดีที่สุด ที่มนุษย์เรา ควรจะได้ ข้อนี้ เป็นกำลังใจ อันแรก ที่ทำให้เกิด คุณธรรม ข้อต่อไป ทุกข้อ
       
        วิริยะ คือความพากเพียร หมายถึง การการะทำที่ติดต่อ ไม่ขาดตอน เป็นระยะยาว จนประสบ ความสำเร็จ คำนี้ มีความหมายของ ความกล้าหาญ เจืออยู่ด้วย ส่วนหนึ่ง
       
        จิตตะ หมายถึงความไม่ทอดทิ้ง สิ่งนั้น ไปจากความรู้สึก ของตัว ทำสิ่งซึ่งเป็น วัตถุประสงค์ นั้นให้เด่นชัด อยู่ในใจเสมอ คำนี้ รวมความหมาย ของคำว่า สมาธิ อยู่ด้วยอย่างเต็มที่
       
        วิมังสา หมายถึงความสอดส่องใน เหตุและผล แห่งความสำเร็จ เกี่ยวกับเรื่องนั้นๆ ให้ลึกซึ้งยิ่งๆ ขึ้นไปตลอดเวลา คำนี้ รวมความหมาย ของคำว่า ปัญญา ไว้อย่างเต็มที่
       
       ***********
       
       5 เคล็ดลับวิปัสนาบริหารอย่างมีสติ
       
        1.สามารถเพิ่มประสิทธิภาพของการทำงานตลอดจนป้องกันความเสี่ยงที่จะเกิดขึ้น
       
        2.การวิปัสสนาช่วยประหยัดค่าอบรมซึ่งทำให้นักบริหารเข้าถึงปัญญาในระดับประสบการณ์
       
        3.ลดความเป็นตัวตนทำให้รับฟังความคิดเห็นของผู้มีส่วนได้เสียในองค์กรมากขึ้น
       
        4. เมื่อมีประสบการณ์กำหนดสติสามารถนำเอาไปใช้กับระหว่างการทำงานโดยกำหนดจิตตนเอง
       
        5. คนที่เข้าถึงการมีสติเมื่อประสบปัญหาจะลุกขึ้นมาสู้ได้ทันสถานการณ์

แหล่งที่มา : โดย ผู้จัดการรายสัปดาห์


อัพเดทล่าสุด