ลาพักร้อน แต่ยังไม่ได้รับอนุมัติ MUSLIMTHAIPOST

 

ลาพักร้อน แต่ยังไม่ได้รับอนุมัติ


1,134 ผู้ชม


ลาพักร้อน แต่ยังไม่ได้รับอนุมัติ




ลาพักร้อน แต่ยังไม่ได้รับอนุมัติ

 การลาพักร้อน หรือการลาหยุดพักผ่อนประจำปี เป็นสิทธิขั้นพื้นฐานที่ พระราชบัญญัติคุ้มครองแรงงาน พ.ศ.2541 มาตรา 30 ให้สิทธิแก่พนักงาน โดยกำหนดไว้ว่าถ้าลูกจ้างทำงานมาครบ 1 ปี แล้ว ลูกจ้างมีสิทธิที่ขอลาหยุดพักผ่อนประจำปีได้

 
ซึ่งโดยทั่วไปนายจ้างจะกำหนดหลักเกณฑ์ และเงื่อนไขในการลาหยุดไว้ในระเบียบข้อบังคับเกี่ยวกับการทำงาน เช่น จะต้องยื่นใบลาล่วงหน้า และเมื่อได้รับอนุมัติจากผู้บังคับบัญชาแล้วจึงจะหยุดงานไปได้ หากไปโดยที่ยังไม่ได้รับอนุมัติจะถือเป็นการละทิ้งหน้าที่ จะถูกพิจารณาลงโทษตามระเบียบข้อบังคับ เป็นต้น
 
 แต่ในหลาย ๆ บริษัท อาจจะไม่เคร่งครัดตามระเบียบข้อบังคับ เพียงแต่เขียนใบลาวางไว้ที่โต๊ะทำงานของหัวหน้า แล้วโทรศัพท์มาแจ้งและขออนุญาตต่อหัวหน้าก็เพียงพอแล้ว หรืออาจจะมีพฤติการณ์อย่างอื่น ๆ ที่พอจะสื่อได้ว่าอนุญาตหรือไม่อนุญาต ในทางปฏิบัติอาจแตกต่างกันไป แต่ต้องเตือนลูกจ้างให้ระมัดระวังด้วยว่า การลาพักร้อนถึงแม้จะมีสิทธิลา แต่ผู้ที่มีอำนาจอนุมัติคือนายจ้าง หรือผู้ที่นายจ้างมอบหมายเท่านั้นถึงจะถือว่าการลาหยุดนั้นสมบูรณ์ ลองติดตามคำพิพากษาฎีกานี้ดูครับ
 โจทก์ฟ้องว่า เมื่อวันที่ 3 พฤษภาคม 2536 จำเลยจ้างโจทก์เข้าทำงานเป็นลูกจ้าง ตำแหน่งสุดท้ายเป็นผู้จัดการฝ่ายลูกหนี้ อัตราเงินเดือนสุดท้ายเดือนละ 27,500 บาท เมื่อวันที่ 26 มิถุนายน 2545 จำเลยเลิกจ้างโจทก์ โดยโจทก์ไม่ได้กระทำความผิด และไม่ได้บอกกล่าวล่วงหน้า และระหว่างทำงานจำเลยค้างจ่ายค่าจ้างโจทก์ ขอให้บังคับจำเลยจ่ายสินจ้างแทนการบอกกล่าวล่วงหน้า จำนวน 32,082.33 บาท พร้อมดอกเบี้ยอัตราร้อยละ 7.5 ต่อปี เงินค่าจ้างจำนวน 23,833.33 บาท  ค่าชดเชยจำนวน 220,000 บาท พร้อมดอกเบี้ยอัตราร้อยละ 15 ต่อปี ของเงินค่าจ้างและค่าชดเชยนับแต่วันฟ้อง

 จำเลยให้การว่า จำเลยจ่ายเงินค่าจ้างที่ค้างให้โจทก์ จำนวน 13,337 บาท แล้ว จำเลยเลิกจ้างโจทก์เพราะโจทก์ฝ่าฝืนระเบียบข้อบังคับเกี่ยวกับการทำงานของจำเลย โดยหยุดงานตั้งแต่วันที่ 12 ถึงวันที่ 24 มิถุนายน 2545 โดยไม่ได้รับอนุญาตจากผู้บังคับบัญชา เป็นการละทิ้งหน้าที่การทำงานเป็นเวลา 3 วัน ติดต่อกันโดยไม่มีเหตุสมควร เป็นความผิดร้ายแรง การเลิกจ้างของจำเลยเป็นการเลิกจ้างที่ชอบด้วยกฎหมาย ขอให้ยกฟ้อง
 
 
ศาลแรงงานกลางพิจารณาแล้วพิพากษาให้จำเลยจ่ายสินจ้างแทนการบอกกล่าวล่วงหน้าจำนวน 32,083.33 บาท พร้อมดอกเบี้ยอัตราร้อยละ 7.5 ต่อปี นับแต่วันฟ้องเป็นต้นไปจนกว่าจำเลยจะชำระให้โจทก์เสร็จ ค่าจ้างค้างจ่ายจำนวน 8,250 บาท ค่าชดเชย จำนวน 220,000 บาท พร้อมดอกเบี้ยอัตราร้อยละ 15 ต่อปี นับแต่วันฟ้องจนกว่าจำเลยจะชำระให้โจทก์เสร็จ
 
 จำเลยอุทธรณ์ต่อศาลฎีกา ศาลฎีกาแผนกคดีแรงงานตรวจสำนวนประชุมปรึกษาแล้วข้อเท็จจริงฟังเป็นที่ยุติตามคำพิพากษาศาลแรงงานกลางว่า โจทก์เป็นลูกจ้างจำเลย นางสาว จ. เป็นผู้จัดการทั่วไป และเป็นผู้บังคับบัญชาโจทก์ นาย ช. เป็นกรรมการผู้จัดการของจำเลย จำเลยมีข้อบังคับเกี่ยวกับการทำงาน วันที่ 21 พฤษภาคม 2545 โจทก์ยื่นใบลาหยุดพักผ่อนประจำปี ตั้งแต่วันที่ 12 ถึงวันที่ 24 มิถุนายน 2545  ต่อนางสาว จ. ซึ่งตามระเบียบข้อบังคับเกี่ยวกับการทำงาน ข้อ 13.2 กำหนดว่า "การลาพักผ่อนประจำปี ให้พนักงานยื่นใบลาล่วงหน้า 7 วัน ตามแบบที่บริษัทกำหนดต่อพนักงานระดับบังคับบัญชา และเมื่ออนุมัติแล้วจึงจะหยุดงานได้" แล้วศาลแรงงานกลางวินิจฉัยว่าตามพฤติการณ์ที่โจทก์เคยลาพักผ่อนประจำปีก่อนหน้านี้ 2 ครั้ง  โจทก์ได้รับการแจ้งด้วยวาจาจากผู้บังคับบัญชาก่อนจะถึงวันลาว่าไม่อนุมัติให้ลา จำเลยไม่ได้ถือเป็นเรื่องเคร่งครัดว่า การอนุมัติหรือไม่ ต้องบันทึกลงในแบบพิมพ์ใบลา และในครั้งนี้ไม่มีบันทึกลงในใบลาของโจทก์ว่า ไม่อนุมัติให้ลา และไม่ปรากฏว่า ผู้บังคับบัญชาได้แสดงเจตนาต่อโจทก์ว่าจะไม่อนุมัติให้โจทก์ลา ทั้งที่ นางสาว จ. และนาย ช. ได้พบโจทก์ก่อนหน้าที่จะถึงวันลา ตามพฤติการณ์ดังกล่าวทำให้โจทก์สับสนเข้าใจผิดว่า จำเลยอนุมัติให้โจทก์ลาพักผ่อนประจำปีตามใบลาพักผ่อนการที่โจทก์ไม่มาทำงาน โดยได้ยื่นใบลาพักผ่อนประจำปีตามระเบียบข้อบังคับเกี่ยวกับการทำงานของจำเลย ตั้งแต่วันที่ 12 ถึงวันที่ 24 มิถุนายน 2545
 
จึงเป็นการปฏิบัติถูกต้องตามข้อบังคับเกี่ยวกับการทำงานของจำเลย ไม่เป็นการละทิ้งหน้าที่การงาน แต่เป็นการหยุดงานโดยมีเหตุสมควรที่จำเลยอุทธรณ์โดยยกคำเบิกความของพยานจำเลยขึ้นกล่าวอ้างว่า มีน้ำหนักน่าเชื่อถือ และรับฟังได้ว่าโจทก์ละทิ้งหน้าที่ไปโดยที่ยังไม่รับอนุมัติจากผู้บังคับบัญชาเสียก่อนตามที่กำหนดไว้ใน
ข้อบังคับเกี่ยวกับการทำงานของจำเลย ส่วนคำเบิกความของโจทก์นั้น แสดงว่าโจทก์จะต้องมีเหตุสงสัยว่าเหตุใดจึงไม่ได้รับแจ้งจากผู้บังคับบัญชาโจทก์น่าจะสอบถามผู้บังคับบัญชาโดยตรงว่าอนุมัติให้โจทก์ลาพักผ่อนได้หรือไม่ ไม่ใช่เข้าใจเอาเองว่า

 เมื่อผู้บังคับบัญชาไม่แจ้งจะถือว่า ผู้บังคับบัญชาอนุญาตให้ลาหาได้ไม่ ถือได้ว่าเป็นความเลินเล่อของโจทก์เอง เมื่อคำนึงถึงตำแหน่งหน้าที่ของโจทก์ แสดงให้เห็นว่าโจทก์ไม่ได้เข้าใจผิด แต่เป็นการจงใจของโจทก์เอง เป็นการละทิ้งหน้าที่โดยไม่มีเหตุอันสมควร จำเลยเลิกจ้างโจทก์ชอบด้วยกฎหมายแล้ว เห็นว่า อุทธรณ์ของจำเลยล้วนเป็นอุทธรณ์ในข้อเท็จจริง และเป็นอุทธรณ์โต้แย้งดุลยพินิจในการรับฟังพยานหลักฐานของศาลแรงงานกลาง เพื่อนำไปสู่ปัญหาข้อกฎหมายว่า การกระทำดังกล่าวของโจทก์เป็นการละทิ้งหน้าที่โดยไม่มีเหตุอันสมควรหรือไม่ จึงเป็นอุทธรณ์ในปัญหาข้อเท็จจริง ต้องห้ามมิให้อุทธรณ์ตาม พระราชบัญญัติจัดตั้งศาลแรงงาน และวิธีพิจารณาคดีแรงงาน พ.ศ. 2522 มาตรา 54 วรรคหนึ่ง ศาลฎีกาไม่รับวินิจฉัย พิพากษายกอุทธรณ์ของจำเลย
(ตามนัยคำพิพากษาฎีกาที่ 1246/2547)

 


ที่มา:  HR.LAW  โดย ยงยุทธ ไชยมิ่ง
นิตยสาร : Recruit Update ฉบับที่ 419 วันที่ 1-15  กุมภาพันธ์  2548
  

อัพเดทล่าสุด