https://lentera.uin-alauddin.ac.id/question/gratis-terlengkap/https://old-elearning.uad.ac.id/gampang-menang/https://fk.ilearn.unand.ac.id/demo/https://elearning.uika-bogor.ac.id/tanpa-potongan/https://e-learning.iainponorogo.ac.id/thai/https://organisasi.palembang.go.id/userfiles/images/https://lms.binawan.ac.id/terbaik/https://disperkim.purwakartakab.go.id/storage/https://pakbejo.jatengprov.go.id/assets/https://zonalapor.fis.unp.ac.id/-/slot-terbaik/https://sepasi.tubankab.go.id/2024tte/storage/http://ti.lab.gunadarma.ac.id/jobe/runguard/https://satudata.kemenpora.go.id/uploads/terbaru/
ส่งคนงานไปทำงานในต่างประเทศ...แต่ทำไม่ครบสัญญา MUSLIMTHAIPOST

 

ส่งคนงานไปทำงานในต่างประเทศ...แต่ทำไม่ครบสัญญา


632 ผู้ชม


ส่งคนงานไปทำงานในต่างประเทศ...แต่ทำไม่ครบสัญญา




การไปทำงานในต่างประเทศ บริษัทจัดหางานจะเป็นผู้หาแหล่งงานจากต่าง-ประเทศ พร้อมจะมีรายละเอียดเกี่ยวกับชื่อนายจ้างต่างประเทศที่จะให้ลูกจ้างไปทำ ระยะเวลาในการทำงาน อัตราค่าจ้างที่จะได้รับ ลูกจ้างบางคนอาจมาติดต่อที่บริษัทจัดหางานโดยตรง หรือบางทีอาจมีนายหน้าไปติดต่อเพื่อหาลูกจ้างไปทำงานที่ต่างประเทศอีกทอดหนึ่ง ซึ่งจะมีค่าใช้จ่าย หรือค่านายหน้าก็แล้วแต่จะตกลงกัน ในคดีนี้เป็นกรณีที่บริษัทจัดหางาน ส่งลูกจ้างไปทำงานที่ต่างประเทศ โดยมีนายหน้าหาลูกจ้างมาให้ เพื่อไปทำงานต่างประเทศ มีระยะเวลา 2 ปี แต่ทำงานได้เพียง 4 เดือน นายจ้างต่างประเทศเกิดล้มละลายไม่สามารถจ้างต่อไปได้ ลูกจ้างจึงมาฟ้องเรียกค่าใช้จ่าย และค่าบริการที่ได้จ่ายไป ศาลฎีกาจะพิพากษาและให้เหตุผลอย่างไร

โจทก์ฟ้องว่า จำเลยที่ 1 เป็นนิติบุคคลมีวัตถุประสงค์จัดส่งคนงานไปทำงานต่าง-ประเทศ โดยจำเลยที่ 2 เป็นตัวการร่วมกับจำเลยที่ 1 เมื่อเดือนตุลาคม 2543 โจทก์สมัครไปทำงานกับจำเลยที่ 2 โดยจำเลยที่ 2 อ้างว่ามีงานให้ทำที่ไต้หวัน ค่าจ้างเดือนละ 15,840 ดอลลาร์ไต้หวัน ระยะเวลา 2 ปี โดยโจทก์เสียค่าใช้จ่าย และค่าบริการให้จำเลยที่ 2 เป็นเงิน 185,000 บาท จำเลยที่ 2 ให้โจทก์ไปทำสัญญากับจำเลยที่ 1 และจำเลยที่ 1 ส่งโจทก์ไปทำงานที่ไต้หวัน โจทก์ทำงานได้ 4 เดือน นายจ้างล้มละลายไม่สามารถจ้างโจทก์ต่อได้ โจทก์จึงเดินทางกลับประเทศไทย และไปติดต่อขอรับเงินค่าใช้จ่าย และค่าบริการคืนจากจำเลยทั้งสอง จำเลยทั้งสองเพิกเฉย ขอให้บังคับจำเลยทั้งสองร่วมกัน หรือแทนกันคืนเงิน 185,000 บาท พร้อมดอกเบี้ยอัตราร้อยละ 7.5 ต่อปี ของต้นเงินดังกล่าว นับแต่วันฟ้องจนกว่าจะชำระให้โจทก์เสร็จสิ้น

จำเลยที่ 1 ให้การว่า จำเลยที่ 1 จัดส่งโจทก์ไปทำงานต่างประเทศจริง โดยได้รับเงินเป็นค่าตอบแทน 30,000 บาท จากจำเลยที่ 2 โดยจำเลยที่ 2 ติดต่อให้จำเลยที่ 1 จัดส่งโจทก์ไปแทนจำเลยที่ 2 จำเลยที่ 2 ได้รับเงินค่าบริการ และค่าใช้จ่ายจากโจทก์ ที่จำเลยที่ 2 โอนเงิน 500,000 บาท ให้นายธนาพร วงศ์คำแก้ว โดยอ้างว่าเป็นตัวแทนของจำเลยที่ 1 นั้นไม่เป็นความจริง นายธนาพร มิได้เป็นตัวแทนของจำเลยที่ 1 จำเลยที่ 1 ยินยอมรับผิดเป็นเงิน 30,000 บาท

จำเลยที่ 2 ให้การด้วยวาจาว่า จำเลยที่ 2 ได้รับอนุญาตให้จัดส่งคนงานไปทำงานที่ต่างประเทศ จำเลยที่ 2 ได้รับเงินค่าบริการ และค่าใช้จ่ายจากโจทก์กับเพื่อนที่มาสมัครงานอีกสองคน จำนวน 500,000 บาท แล้วจำเลยที่ 2 ได้โอนเงินให้นายธนาพร วงศ์คำแก้ว ซึ่งเป็นตัวแทนของจำเลยที่ 1 จำนวน 502,500 บาท โจทก์ได้เดินทางไปทำงานที่ต่างประเทศ แล้วโจทก์เดินทางกลับประเทศไทย และมาติดต่อขอรับเงินคืน จำเลยที่ 2 ไม่ต้องรับผิดตามฟ้อง

ศาลแรงงานกลางพิจารณาแล้ว พิพากษาให้จำเลยทั้งสองร่วมกันชำระเงิน 185,000 บาท พร้อมดอกเบี้ยอัตราร้อยละ 7.5 ต่อปี ของต้นเงินดังกล่าว นับแต่วันที่ 11 กุมภาพันธ์ 2545 จนกว่าจะชำระเสร็จแก่โจทก์

จำเลยที่ 2 อุทธรณ์ต่อศาลฎีกา

ศาลฎีกาประชุมปรึกษาแล้ว ที่จำเลยที่ 2 อุทธรณ์ขอให้หมายเรียกนายธนาพร พงศ์คำแก้ว เข้ามาเป็นจำเลยร่วมนั้น เห็นว่า ตามคำร้องของจำเลยที่ 2 ที่ขอให้ศาลแรงงานกลางมีคำสั่งเรียกนายธนาพร เข้ามาเป็นจำเลยร่วมในคดีนี้ จำเลยที่ 2 อ้างในคำร้องว่า จำเลยที่ 2 ได้โอนเงินค่าใช้จ่ายในการเดินทางไปทำงานที่ไต้หวันให้แก่นายธนาพร ซึ่งเป็นตัวแทนของจำเลยที่ 1 ดังนั้น จำเลยที่ 1 จึงมีฐานะเป็นตัวการของนายธนาพร เมื่อปรากฏว่าโจทก์ได้ฟ้องจำเลยที่ 1 ในฐานะตัวการเข้ามาในคดีนี้แล้ว นายธนาพรในฐานะตัวแทนของจำเลยที่ 1 ย่อมไม่ต้องร่วมรับผิดกับจำเลยที่ 2 ต่อโจทก์ อย่างลูกหนี้ร่วม นายธนาพรจึงไม่อาจถูกจำเลยที่ 2 ฟ้องเพื่อการใช้สิทธิไล่เบี้ยตามความในประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ มาตรา 57 (3) (ก) ประกอบด้วยพระราชบัญญัติจัดตั้งศาลแรงงานและวิธีพิจารณาคดีแรงงาน พ.ศ. 2522 มาตรา 31

ศาลแรงงานกลางมีคำสั่งยกคำร้องดังกล่าวของจำเลยที่ 2 ชอบแล้ว อุทธรณ์ข้อนี้ของจำเลยที่ 2 ฟังไม่ขึ้นที่จำเลยที่ 2 อุทธรณ์อ้างว่า เหตุที่โจทก์ไม่ได้ทำงานต่อไป เพราะนายจ้างที่ไต้หวันล้มละลาย มิใช่เกิดจากการกระทำของจำเลยที่ 2 อันจะเป็นเหตุให้จำเลยที่ 2 ต้องรับผิดต่อโจทก์นั้น เห็นว่า ตามพระราชบัญญัติจัดหางาน และคุ้มครองแรงงาน พ.ศ.2528 มาตรา 46 ที่แก้ไขใหม่ บัญญัติว่า

"ในกรณีที่ผู้รับอนุญาตจัดหางานเพื่อไปทำงานที่ต่างประเทศไม่สามารถจัดให้คนหางานเดินทางได้ภายในกำหนดเวลาตาม มาตรา 38 หรือในกรณีที่คนหางานไม่ได้งานตามที่กำหนดไว้ในสัญญาจัดหางาน หรือได้ค่าจ้างต่ำกว่า หรือได้ตำแหน่งงาน หรือสิทธิประโยชน์อื่นไม่ตรงตามที่กำหนดไว้ในสัญญาจัดหางาน และคนหางานไม่ประสงค์ที่จะทำงานนั้น ผู้รับอนุญาตจัดหางานเพื่อไปทำงานในต่างประเทศต้องคืนค่าบริการและค่าใช้จ่ายต่าง ๆ ที่เรียกเก็บจากคนหางานไปแล้วทั้งหมดให้แก่คนหางานภายในสามสิบวัน นับแต่วันที่ครบกำหนดเวลา ตามมาตรา 38 หรือนับแต่วันที่คนหางานเดินทางกลับถึงประเทศไทย แล้วแต่กรณีในกรณีที่คนหางานไม่สามารถทำงานได้จนสิ้นสุดระยะเวลาตามที่กำหนดไว้ในสัญญาจัดหางานเพราะถูกเลิกจ้างโดยมิใช่สาเหตุจากคนหางาน ผู้รับอนุญาตต้องคืนค่าบริการ และค่าใช้จ่ายที่เรียกเก็บจากคนหางานไปแล้วเป็นอัตราส่วนกับระยะเวลาที่คนหางานได้ทำงานภายในสามสิบวันนับแต่วันที่คนหางานขอรับคืน ฯลฯ"

ศาลแรงงาน ฟังข้อเท็จจริงเป็นที่ยุติว่า เมื่อเดือนตุลาคม 2543 โจทก์สมัครไปทำงานที่ไต้หวันกับจำเลยที่ 2 ที่บริษัท สยาม ที พี จำกัด โดยโจทก์ได้ชำระเงินจำนวน 185,000 บาท ให้แก่พนักงานของ บริษัท สยาม ที พี จำกัด ซึ่งเป็นบริษัท ของจำเลยที่ 2 แต่จำเลยที่ 2 ไม่มีงานให้ทำจึงส่งโจทก์ไปให้จำเลยที่ 1 เป็นผู้จัดส่งไป ถือได้ว่า จำเลยทั้งสองร่วมกันส่งโจทก์ไปทำงานที่ต่างประเทศ โจทก์เดินทางไปทำงานที่ไต้หวัน แต่ได้ทำงานเพียง 4 เดือน ไม่ครบกำหนด นายจ้างล้มละลายไม่มีงานให้โจทก์ทำ โจทก์จึงเดินทางกลับประเทศไทย ดังนี้ เป็นกรณีที่ถือได้ว่าโจทก์ไม่สามารถทำงานได้จนสิ้นสุดระยะเวลาตามที่กำหนดไว้ในสัญญาจัดหางาน เพราะโจทก์ถูกเลิกจ้าง โดยมิใช่สาเหตุจากโจทก์ แม้เหตุดังกล่าวจะมิใช่เกิดจากความผิดของจำเลยที่ 2 ก็ตาม แต่จำเลยที่ 2 ก็ต้องร่วมรับผิดตามบทบัญญัติข้างต้น

ส่วนที่จำเลยที่ 2 อุทธรณ์อ้างว่า โจทก์ได้ทำงานที่ไต้หวันตามสัญญาเป็นเวลา4 เดือน ก่อนที่นายจ้างจะล้มละลาย โจทก์จึงไม่มีสิทธิที่จะฟ้องร้องให้จำเลยที่ 2 คืนเงินทั้งหมดให้แก่โจทก์นั้น เห็นว่า แม้โจทก์จะเพิ่งยกปัญหาดังกล่าวขึ้นในชั้นอุทธรณ์ แต่เป็นปัญหาข้อกฎหมายอันเกี่ยวด้วยความสงบเรียบร้อยของประชาชน

จำเลยที่ 2 ย่อมมีสิทธิที่จะยกขึ้นอ้างได้ตามประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความแพ่ง มาตรา 225 วรรคสอง ประกอบด้วยพระราชบัญญัติจัดตั้งศาลแรงงาน และวิธีพิจารณาคดีแรงงาน พ.ศ.2522 มาตรา 31 ข้อเท็จจริงที่ศาลแรงงานกลางรับฟังมาได้ความว่า โจทก์เดินทางไปทำงานที่ไต้หวัน แต่ทำได้เพียง 4 เดือน ไม่ครบกำหนด ดังนี้ จำเลยทั้งสองจะต้องรับผิดคืนค่าบริการและค่าใช้จ่ายที่เรียกเก็บจากโจทก์ไปแล้วเป็นอัตราส่วนกับระยะเวลาที่โจทก์ได้ทำงาน ตามบทบัญญัติกฎหมายข้างต้น แต่ปรากฏว่าศาลแรงงานกลางมิได้รับฟังข้อเท็จจริงว่า กำหนดระยะเวลาทำงานตามสัญญาจัดหางานมีเพียงใด ข้อเท็จจริงที่ศาลแรงงานกลางรับฟังมาจึงยังไม่พอแก่การวินิจฉัยข้อกฎหมายว่า จำเลยทั้งสองจะต้องรับผิดคืนค่าบริการและค่าใช้จ่ายที่เรียกเก็บจากโจทก์เป็นจำนวนเท่าใด จึงเห็นสมควรย้อนสำนวนไปให้ศาลแรงงานกลางรับฟังข้อเท็จจริงในส่วนนี้เสียก่อน

พิพากษาแก้เป็นว่า ให้ยกคำพิพากษาศาลแรงงานกลางเฉพาะในส่วนจำนวนเงินที่กำหนดให้จำเลยทั้งสองร่วมกันชำระแก่โจทก์ แล้วให้ศาลแรงงานกลางฟังข้อเท็จจริงว่า กำหนดระยะเวลาทำงานของโจทก์ตามสัญญาจัดหางานมีเพียงใด แล้วกำหนดจำนวนเงินดังกล่าวเสียใหม่ และมีคำพิพากษาต่อไปตามรูปคดี นอกจากที่แก้คงให้เป็นไปตามคำพิพากษาศาลแรงงานกลาง (ตามนัยคำพิพากษาฎีกาที่ 636/2547)


ที่มา:Hr.Law โดย ยงยุทธ ไชยมิ่ง
ทนายความอาวุโส กลุ่มบริษัท บีแอลซีไอ กรุ๊ป จำกัด
โทร.0 2937 3773 โทรสาร 0 2937 3770 E-mail : blci@ksc.th.com
นิตยสาร Recruit Update ฉบับที 421 วันที่ 1- 15 มีนาคม 2548่


อัพเดทล่าสุด