วัฒนธรรมการแลกเปลี่ยนและอนุรักษ์เชื้อพันธุ์ข้าวของชาวนาไทย MUSLIMTHAIPOST

 

วัฒนธรรมการแลกเปลี่ยนและอนุรักษ์เชื้อพันธุ์ข้าวของชาวนาไทย


677 ผู้ชม


วัฒนธรรมการแลกเปลี่ยนและอนุรักษ์เชื้อพันธุ์ข้าวของชาวนาไทย
วัฒนธรรมการแลกเปลี่ยนและอนุรักษ์เชื้อพันธุ์ข้าวของชาวนาไทย  ดร.กนก ฤกษ์เกษม
ศูนย์วิจัยเพื่อเพิ่มผลผลิตทางเกษตร
คณะเกษตรศาสตร์  มหาวิทยาลัยเชียงใหม่
kanok@chiangmai.ac.th

บุญมา-ยุพิน คำปัน หรือ “ลุงบุญมา” “ป้าพิน” ของเพื่อนบ้าน ของนักศึกษาและทีมวิจัย มีชื่อเสียงในบ้านแม่มูต ตำบลแม่วิน อำเภอแม่วาง จังหวัดเชียงใหม่ ในฐานะแหล่งของเมล็ดพันธุ์ข้าวเหนียว “เหมยนอง” ที่ทนทานต่อแมลงบั่ว และมีคุณภาพบริโภคดี ข้าวสุกไม่แข็งเมื่อเย็นลง ได้รับการยืนยัน ด้วยการวิเคราะห์และทดลองทางวิทยาศาสตร์ ครอบครัวนี้ทำการคัดเลือกเมล็ดพันธุ์ข้าวทุกปีเพื่อกำจัดเมล็ดปลอมปนที่ทำให้ข้าวแข็ง นอกจากนี้ยังมีความสนใจในการเสาะหาและทดลองพันธุ์ข้าวใหม่ๆ เช่น “เหมยนองดอ” ที่มีอายุสั้นและสุกแก่เร็วขึ้น 10-15 วัน จากเชื้อพันธุ์ข้าวเหมยนองจากแหล่งต่างๆทั่วภาคเหนือ ที่ทีมวิจัยจากมหาวิทยาลัยเชียงใหม่ได้นำมาทดลองร่วมกับชาวนาบ้านแม่มูต ที่ยุพินและบุญมาได้คัดเลือกรวงไว้ทดลองและแบ่งปันให้เพื่อนบ้านได้นำไปปลูกทดลองบ้างนับสิบรายแล้ว  
 

 

วัฒนธรรมการแลกเปลี่ยนและอนุรักษ์เชื้อพันธุ์ข้าวของชาวนาไทย  บุญมา (ล่างขวา) และ ยุพิน (บนขวา) คำปัน เกษตรกรผู้เชี่ยวชาญเรื่องข้าวเหนียว พันธุ์พื้นเมือง เหมยนอง ที่ทนทานต่อแมลงบั่ว และคุณภาพเมล็ดดี  
(ภาพโดยอุทุมพร ชัยวงศ์ และอโณทัย ศิระบรรจงกราน)
 

 

 ทีมงาน “ออนฟาร์ม” ของกลุ่มวิจัย“ทรัพยากรพันธุกรรมและธาตุอาหารพืช” มหาวิทยาลัยเชียงใหม่ ที่ได้รับทุนสนับสนุนการสร้างกลุ่มวิจัยเพื่อมุ่งสร้างความรู้ทางวิชาการเกี่ยวกับข้าวไทย เรื่องการจัดการทรัพยากรพันธุ์ข้าวของชาวนาไปพร้อมๆกับการศึกษาทางวิทยาศาสตร์ ได้พบชาวนาชาวไร่หมุนเวียน “ผู้เชี่ยวชาญ” ซึ่งมีความรู้และความชำนาญเรื่องข้าวและพันธุ์ข้าว ทั่วพื้นที่ปลูกข้าวของประเทศที่ได้ทำการสำรวจ ตั้งแต่บนเขาในเรื่องข้าวไร่ ในนาที่สูงถึงที่ลุ่ม ในที่นาน้ำท่วมลึก หรือแม้แต่ชาวนาในเขตชลประทานปลูกข้าวสมัยใหม่ใช้พันธุ์ปรับปรุง
 

 

วัฒนธรรมการแลกเปลี่ยนและอนุรักษ์เชื้อพันธุ์ข้าวของชาวนาไทย  จากการศึกษาการจัดการเมล็ดพันธุ์ของเกษตรกร  พบว่าเครือข่ายที่สำคัญยิ่งในการทำนาคือ การแลกเปลี่ยนเมล็ดพันธุ์ระหว่างชาวนาด้วยกัน ถึงแม้ว่าในปัจจุบันจะมีการค้าขายเมล็ดพันธุ์ข้าวมากขึ้น มีศูนย์วิจัยและศูนย์เมล็ดพันธุ์ของกรมการข้าวเป็นแหล่งเมล็ดพันธุ์คุณภาพสูงสำหรับข้าวพันธุ์หลัก แต่ชาวนาด้วยกันยังคงเป็นแหล่งเมล็ดพันธุ์ข้าวที่สำคัญที่สุด โดยเฉพาะสำหรับเมล็ดพันธุ์ข้าวพื้นเมืองที่ยังคงมีปลูกอยู่นับสิบล้านไร่ แต่ไม่มีเมล็ดพันธุ์ขายตามแหล่งค้าเมล็ดพันธุ์ข้าวทั่วไป หรือจากศูนย์เมล็ดพันธุ์ข้าวของทางราชการ  
การเปลี่ยนเชื้อพันธุ์พืชที่ปลูกเป็นประเพณีที่ถือปฏิบัติกันทั่วโลก สำหรับเกษตรกรที่เก็บเมล็ดจากพืชที่ปลูกเองไว้ใช้ทำพันธุ์ในปีต่อไป ชาวนาไทยทำการเปลี่ยนเชื้อข้าวที่ใช้ปลูกทุกๆ 2-3 ปี แม้ว่ายังปลูกพันธุ์เดิมอยู่ และบางครั้งก็อาจถือโอกาสเปลี่ยนพันธุ์ไปด้วย โดยมีแหล่งเมล็ดพันธุ์ส่วนใหญ่เป็นเพื่อนชาวนาในหมู่บ้านเดียวกันนั่นเอง และมีมากรายที่ขวนขวายเสาะหาเชื้อพันธุ์ข้าวใหม่ๆจากต่างหมู่บ้านห่างไกลออกไป ชาวนาผู้เชี่ยวชาญอย่างบุญมา และยุพิน ที่ทำการคัดพันธุ์ข้าวอย่างประณีตทุกปี จึงเป็นแหล่งของเชื้อพันธุ์ข้าวคุณภาพดี และหลายคนได้ผันตัวเองไปเป็นผู้ผลิตเมล็ดพันธุ์ข้าวขายเป็นอาชีพ โดยเฉพาะในภาคกลางที่ระบบการทำนาเริ่มเป็นการค้ามากขึ้น
ธรรมเนียมที่ถือปฏิบัติกันมาในการแลกเปลี่ยนพันธุ์ข้าวของชาวนา คือการแลกเชื้อพันธุ์ข้าวที่ใช้ปลูกกับข้าวเปลือกที่ใช้บริโภคในปริมาณเท่ากัน เนื่องจากราคาข้าวที่ถีบตัวสูงขึ้นเป็นประวัติการณ์ การซื้อเมล็ดพันธุ์ข้าวจากชาวนาด้วยกัน ก็คงต้องเป็นไปตามราคาตลาด แต่โดยส่วนใหญ่แล้วไม่ต้องกลัวว่าจะถูกขูดรีด ชาวนาส่วนใหญ่ถือว่าเมล็ดพันธุ์ข้าวเป็นส่วนสำคัญของวิถีชีวิตการทำนา และเป็นการทำบาปหากจะมีการโก่งราคาเมล็ดพันธุ์ในยามที่เพื่อนชาวนาด้วยกันต้องการเมล็ดพันธุ์เพื่อนำไปปลูก  
ระบบการแลกเปลี่ยนเชื้อพันธุ์ข้าวของเกษตรกรนี้ มีความสำคัญยิ่งต่อความหลากหลายทางพันธุกรรมของพันธุ์ข้าวพื้นเมืองไทย เพราะเชื้อพันธุ์ข้าวพื้นเมืองที่อยู่ในมือของชาวนา มีพันธุกรรมที่หลายหลาย  
 

 

วัฒนธรรมการแลกเปลี่ยนและอนุรักษ์เชื้อพันธุ์ข้าวของชาวนาไทย  • เชื้อพันธุ์ของข้าวพันธุ์เดียวกันที่อยู่ในมือชาวนาต่างคน และต่างถิ่น อาจมีพันธุกรรมที่แตกต่างกัน
• ในแต่ละตัวอย่างเชื้อพันธุ์ของชาวนาอาจมีข้าวหลายสายพันธุ์ปะปนกันอยู่ แม้มีลักษณะภายนอกที่เมล็ด ต้น อายุและพัฒนาการ ตลอดจนคุณภาพเมล็ด ดูสม่ำเสมอเหมือนเป็นข้าวสายพันธุ์บริสุทธิ์  
• ข้าวพันธุ์เดียวกันอาจมีหลายชื่อ การตั้งชื่อใหม่ให้แก่เชื้อพันธุ์ข้าวที่ได้มา มีให้เห็นอยู่บ่อยๆ ด้วยหลายเหตุผล บางครั้งเรียกตามชื่อคนที่นำเชื้อพันธุ์เข้าในหมู่บ้าน เชื้อพันธุ์จากต่างชนเผ่ามีชื่อเรียกยากไม่ถนัดปาก ฯลฯ  
ทีมวิจัยจาก มช. ได้พบว่าในหมู่บ้านกะเหรี่ยง ข้าวพันธุ์ บือเกษตร (พันธุ์จากราชการ) บือพือคาง (ข้าวต้นเตี้ยพันธุ์ปรับปรุง) บือแค (ข้าวจากมูลนิธิแคร์ฯ) ที่ภาคอีสาน มีข้าวเหนียวพันธุ์อีเตี้ย พันธุ์ยุ้งแตก ปรากฏว่าเป็นข้าวพันธุ์ปรับปรุงใหม่ต้นเตี้ย ไม่ไวแสง เข้าใจว่าเป็นพันธุ์จากศูนย์ค้นคว้าข้าวและพืชไร่ ของประเทศลาว การตั้งชื่อเชื้อพันธุ์ข้าวใหม่นี้ มีผลต่อความหลากหลายทางพันธุกรรม เพราะจะกลายเป็นพันธุ์ใหม่ที่จะถูกคัดเลือกโดยชาวนาและสภาพแวดล้อมแยกออกไปต่างหากจากเชื้อพันธุ์เดิม
ความหลากหลายทางพันธุกรรมในพันธุ์ข้าวไทยที่กล่าวมานี้ได้ยืนยันแล้วด้วย :
• เครื่องหมายดีเอ็นเอ ที่ใช้วัดความหลากหลายทางพันธุกรรมพื้นฐาน และ
• การค้นพบลักษณะทางพันธุกรรมที่เป็นประโยชน์ต่อการเพาะปลูก เช่น ความทนทานต่อแมลงศัตรู ความสามารถข่มวัชพืช ความทนทานต่อดินกรดหรือดินด่าง ความทนทานต่อการเป็นพิษของธาตุโลหะหนัก เช่น เหล็ก  ความสามารถในการดูดธาตุอาหารจากดิน และลักษณะที่เป็นประโยชน์ต่อการบริโภคหรือการตลาด เช่นมีปริมาณธาตุเหล็ก และสังกะสี ในเมล็ดสูง
 

 

วัฒนธรรมการแลกเปลี่ยนและอนุรักษ์เชื้อพันธุ์ข้าวของชาวนาไทย  ชาวนาและชาวไร่ไทย นับเป็นผู้จัดการธนาคารเชื้อพันธุ์ข้าวที่สำคัญยิ่ง ทรัพยากรพันธุกรรมเชื้อพันธุ์ข้าวไทยที่ยังอยู่ในท้องถิ่น นับว่ามีความสำคัญมิใช่แต่เฉพาะในประเทศไทยแต่สำหรับผู้ปลูกและบริโภคข้าวทั่วโลก ความหลากหลายทางพันธุกรรมในเชื้อพันธุ์ข้าวพื้นเมือง (และข้าวป่าสามัญที่มีพันธุกรรมใกล้ชิดกัน) เปิดโอกาสให้มีการคัดเลือกเพื่อการปรับตัวของพันธุ์ข้าวให้ทนทานต่อภาวะเครียดที่เกิดขึ้น เช่น โรคและแมลงใหม่ๆ และสภาพอากาศที่กำลังเปลี่ยนแปลงไปเนื่องจากภาวะโลกร้อน เพราะต้นที่ไม่ทนทานก็จะมีเมล็ดน้อยหรือตายไป เมล็ดและต้นที่ทนทานก็จะมีสัดส่วนเพิ่มขึ้น  
งานวิจัยจากสถาบันวิจัยข้าวนานาชาติที่ประเทศฟิลิปปินส์ได้บ่งชี้ว่า ในช่วงเวลาระหว่าง พ.ศ. 2535-2541 ภาวะโลกร้อนทำให้อุณหภูมิต่ำสุดในเวลากลางคืนเพิ่มขึ้นทุก 1 องศาเซลเซียส มีผลกระทบทำให้ผลผลิตข้าวสมัยใหม่พันธุ์ไออาร์ 72 ลดลงถึง 10%    ทีมวิจัยที่ มช. ได้พบหลักฐานที่ชี้ว่าพันธุ์ข้าวพื้นเมืองไทยอาจได้มีการปรับตัวต่อภาวะโลกร้อนไปบ้างแล้ว อาทิเช่น การพบข้าวไร่หลายพันธุ์มีรากลึกเหมาะกับระบบการปลูกแบบประหยัดน้ำ ข้าวพื้นเมืองบางพันธุ์โปรยละอองเกสรแต่เช้า ก่อนที่อุณภูมิจะสูงจนเป็นอันตรายในตอนสาย ฯลฯ ซึ่งทั้งหมดนี้กำลังรอการศึกษาโดยละเอียดและพิสูจน์ยืนยันอย่างเร่งด่วน
ที่ผ่านมาระบบการผลิตข้าวของประเทศไทยนับว่าได้อาศัยภูมิปัญญาดั้งเดิมมากมาย แม้ในการสร้างพันธุ์ข้าวปรับปรุงแบบสมัยใหม่ก็ยังต้องอาศัยมาตรฐานคุณภาพข้าวที่สร้างมาแต่เดิม พัฒนาการของระบบการผลิตข้าวต่อไปในอนาคต เพื่อรักษาความสามารถแข่งขันของข้าวไทยในตลาดโลกและต่อสู้อุปสรรคนานาที่กำลังเกิดขึ้น มีความจำเป็นอย่างยิ่งที่ต้องมีบูรณาการระหว่างความรู้ทางวิชาการสมัยใหม่กับภูมิปัญญาท้องถิ่นที่มีอยู่ แต่เนื่องจากภูมิปัญญาท้องถิ่นส่วนใหญ่เป็นความรู้แบบ “เป็นนัย” หรือ “รู้อยู่แก่ใจ” ที่มิได้เขียนไว้เป็นลายลักษณ์อักษร หรือแม้แต่จะแสดงออกเป็นคำพูดโดยตรง “ผู้เชี่ยวชาญ” ที่เป็นชาวนาหรือชาวไร่หมุนเวียนหลายคนเป็นคนเงียบขรึมพูดน้อย ในขณะที่คนช่างพูดประจำหมู่บ้านอาจจะไม่มีความรู้จริง ดังนั้นก้าวแรกสำหรับนักวิทยาศาสตร์ที่ต้องการให้งานวิจัยมีผลกระทบต่อระบบการทำนา คือการเรียนรู้วิธีการเข้าถึงภูมิปัญญาท้องถิ่น ไปพร้อมๆ กับวิธีการทางวิทยาศาสตร์ อาทิเช่น การวิเคราะห์สถิติ การวิเคราะห์ดีเอ็นเอ การวิเคราะห์ธาตุอาหาร ฯลฯ

 แหล่งที่มา :  ประชาคมวิจัย ฉบับที่ 80

อัพเดทล่าสุด