วันพืชมงคล MUSLIMTHAIPOST

 

วันพืชมงคล


965 ผู้ชม


วันพืชมงคล

ขอขอบคุณข้อมูล ภายใต้ความร่วมมือระหว่าง คลังปัญญาไทย และวิชาการดอทคอม
https://www.panyathai.or.th/



  วันพืชมงคล


           วันพืชมงคล หมายถึง วันพระราชพิธีจรดพระนังคัลแรกนาขวัญ ซึ่งเป็นพระราชพิธีที่สืบทอดมาแต่โบราณ เพื่อเป็นศิริมงคลแด่พืชพันธ์ธัญญาหาร บำรุงขวัญเกษตรกรและเตือนให้เริ่มเพาะปลูกข้าวและพืชไร่อันเป็นธัญญาหารหลักในการดำรงชีวิตของชาวไทย
วันพืชมงคล
ประวัติความเป็นมา
           พระราชพิธีมงคลจรดพระนังคัลแรกนาขวัญ ในสมัยโบราณคงจะเป็นพิธีที่มีความมุ่งหมายเพื่อบำรุงขวัญและเตือนให้เริ่ม เพาะปลูกพืชผลโดยเฉพาะคือการทำนา ซึ่งเป็นธัญญาหารหลักสำคัญยิ่งของการดำรงชีวิต ผู้ปกครองหรือผู้เป็นประมุขของประเทศเมื่อถึงฤดูกาลที่ควรจะเริ่มลงมือเพาะ ปลูกพืชผลจึงต้องประกอบกรณียกิจเป็นผู้นำโดยลงมือไถ หว่าน พืชพันธุ์ธัญญาหารเป็นตัวอย่างเพื่อเตือนว่าถึงเวลาประกอบการเพาะปลูกตามฤดูกาล
           ต่อมากาลเวลาได้เปลี่ยนแปลงไป ได้มีการพิธีเรียกว่า จรดพระนังคัลแรกนาขวัญ ซึ่งพราหมณ์ผู้เป็นเจ้าลัทธิส่งเสริมการให้มีอำนาจและความสวัสดีต่าง ๆ เป็นผู้แนะนำประกอบพิธีตามลัทธิไสยศาสตร์ของพราหมณ์ ในพิธีนี้พระมหากษัตริย์หรือประมุขของประเทศ อาจจะทรงมีพระราชภารกิจอื่น จึงโปรดแต่งตั้งข้าราชการชั้นผู้ใหญ่ที่ใกล้ชิดให้ทำแทนพระองค์ เรียกว่า พระยาแรกนา ทำหน้าที่ไถ หว่านธัญญพืช พระมหาสีหรือชายาที่เคยร่วมการไถ หว่าน ก็เปลี่ยนเป็นจัดให้นางใน คือท้าวนางในราชสำนักออกไปทำหน้าที่หาบกระบุงพันธุ์พืชช่วยพระยาแรกนาไถ หว่าน เรียกว่าเทพี
           พระราชพิธีจรดพระนังคัลแรกนาขวัญมีมานานนับพันๆ ปี และมีเกือบทุกชาติ เช่น จีน อินเดีย เป็นต้น สำหรับประเทศไทยมีมาตั้งแต่สมัยสุโขทัยและสืบต่อมาในสมัยอยุธยาจนถึงสมัย รัตนโกสินทร์ พระราชพิธีจรดพระนังคัลแรกนาขวัญที่ทำในรัชกาลที่ 1 ที่ 2 และที่ 3 เป็นพิธีพราหมณ์ตามแบบในสมัยอยุธยาไม่มีพิธีสงฆ์ประกอบ
วันพืชมงคล
           ครั้งถึงแผ่นดินพระบาทสมเด็จพระจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว รัชกาลที่ 4 ทรงพระราชดำริโปรดให้มีพิธีสงฆ์ทางพระพุทธศาสนาร่วมประกอบในพิธีด้วยเพื่อ เป็นสิริมงคลแก่พืชพันธุ์ธัญญาหารที่นำเข้ามาตั้งในมณฑลพิธี แล้วจึงนำไปไถหว่านในการแรกนาขวัญ เรียกพระราชพิธีในตอนนี้ว่า พืชมงคล เมื่อรวม 2 พิธีแล้ว เรียกว่า พระราชพิธีพืชมงคลจรดพระนังคัลแรกนาขวัญ เป็นราชประเพณีสืบมาโดยจัดเป็นงาน 2 วัน วันแรกเป็นพระราชพิธีพืชมงคลซึ่งเป็นพิธีสงฆ์ วันรุ่งขึ้นเป็นพระราชพิธีจรดพระนังคัลแรกนาขวัญซึ่งเป็นพิธีพราหมณ์
           พระราชพิธีจรดพระนังคัลแรกนาขวัญเป็นพิธีสิริมงคล เพื่อบำรุงขวัญแก่เกษตรกร จึงเป็นวันที่มีความสำคัญ โบราณจารย์จึงได้วางหลักเกณฑ์ให้ประกอบพิธีในวันดีที่สุดของแต่ละปี ประกอบด้วย ขึ้นแรม ฤกษ์ยาม ให้ได้วันอันเป็นอุดมฤกษ์ตามตำราโหราศาสตร์แต่ต้องอยู่ในระหว่างเดือน 6 โดยมีประเพณีต้องหาฤกษ์ตามตำราทางจันทรคติ พระราชพิธีจรดพระนังคัลแรกนาขวัญจึงไม่ได้กำหนดวันเวลาไว้ตายตัวตามปรกติ แล้วจะตกอยู่ในระหว่างเดือนพฤษภาคม การที่ต้องกำหนดให้อยู่ในเดือน 6 ก็เพราะเดือนนี้เริ่มจะเข้าฤดูฝนเป็นระยะเวลาเหมาะสมสำหรับเกษตรกร ชาวไร่ ชาวนา จะได้เตรียมทำนาอันเป็นอาชีพหลักสำคัญของชาวไทยมาแต่โบราณ เมื่อโหรหลวงคำนวณได้วันอุดมมงคลพระฤกษ์ที่จะประกอบพระราชพิธีจรดพระนังคัล แรกนาขวัญแล้ว สำนักพระราชวังจะได้ลงไว้ในปฏิทินหลวงที่พระราชทานในวันขึ้นปีใหม่ทุกปี และได้ลงกำหนดไว้ว่า วันใดเป็นวันพืชมงคล วันใดเป็นวันจรดพระนังคัลแรกนาขวัญ วันแรกนาขวัญเป็นวันสำคัญของชาติ คณะรัฐมนตรีมีมติให้หยุดราชการ 1 วัน และมีประกาศให้ชักธงชาติตามระเบียบทางราชการ
           พระราชพิธีจรดพระนังคัลแรกนาขวัญได้ปฏิบัติเป็นราชประเพณีตลอด มาจนถึง พ.ศ. 2479 แล้วได้เว้นว่างไป ต่อมา พ.ศ. 2483 ทางรัฐบาลสั่งให้กำหนดมีการพระราชพิธีเฉพาะแต่พืชมงคล ที่พระอุโบสถวัดพระศรีรัตนศาสดาราม ตามราชประเพณีที่เคยปฏิบัติมา
           พระราชพิธีพืชมงคลเป็นส่วนประกอบเพื่อสิริมงคลแก่พันธุ์พืช สำหรับนำไปใช้ในการพระราชพิธีจรดพระนังคัลแรกนาขวัญ กำหนดงานก่อนวันพระราชพิธีจรดพระนังคัลแรกนาขวัญ 1 วันมีอ่านประกาศถึงความสำคัญที่จะเริ่มพิธีจรดพระนังคัลแรกนาขวัญ ในประกาศนั้นอ้างหลักธรรมทางพุทธศาสนาสมัยพุทธกาลคราวเกิดฝนแล้ง ด้วยพุทธานุภาพทรงบันดาลให้ฝนตก ทำนา ทำไร่ หว่านพืชผลได้ตามปรกติ และกล่าวถึงตำนานการสร้างพระคันธาราษฎร์อันเกี่ยวด้วยพุทธานุภาพที่ทรง บันดาลให้มีฝนตกจึงได้สร้างขึ้น ณ เมืองคันธาราษฎร์ครั้งอดีตกาล แล้วประกาศสดุดีเฉลิมพระเกียรติพระบาทสมเด็จพระพุทธยอดฟ้าจุฬาโลกองค์ปฐม กษัตริย์ ที่ได้ทรงสร้างพระพุทธคันธาราษฎร์ขึ้นไว้เพื่อประกอบการพระราชพิธีจรดพระ นังคัลแรกนาขวัญตามตำนานที่มีมาแต่โบราณกาล ซึ่งเป็นราชประเพณีที่ พระมหากษัตริย์ทรงอนุวัติจัดงานพระราชพิธีนี้สืบมา สุดท้ายประกาศถวายพระพรชัยมงคล และขออำนาจคุณพระศรีรัตนตรัยสิ่งศักดิ์สิทธิ์ที่เคารพบูชาเทพยดาทั้งปวง ประสิทธิประสาทให้พืชพันธุ์ธัญญาหารในราชอาณาจักรอุดมสมบูรณ์งอกงามเจริญดี ตลอดจนขอให้ฝนตกต้องตามฤดูกาล จบประกาศแล้ว พระสงฆ์ 11 รูปเจริญพระพุทธมนต์เป็นคาถาพิเศษสำหรับพืชมงคลโดยเฉพาะเพื่อเสกพืชพันธุ์ ต่างๆ ที่ได้นำมาตั้งเข้าพิธีมณฑล มีข้าวเปลือกพันธุ์ต่าง ๆ ถั่วทุกชนิด ข้าวโพด งา ฟัก แฟง แตงกวา เผือก มัน ฝ้าย เป็นต้น
           ต่อมาในปี พ.ศ. 2503 เลขาธิการพระราชวังพระบรมราชโองการเหนือเกล้าฯ สั่งว่าพระราชพิธีจรดพระนังคัลแรกนาขวัญ แต่เดิมจัดเป็นงาน 2 วันแล้วได้ระงับไปคงได้แต่พิธีพืชมงคลจัดเป็นงานประจำทุกปี สำหรับปี พ.ศ. 2503 ทางรัฐบาลเห็นควรจัดให้มีการแรกนาขวัญขึ้นอย่างเดิมเพื่อรักษาบูรพประเพณี อันเป็นมิ่งขวัญของการเกษตรไว้สืบต่อไป สำนักพระราชวังและกระทรวงเกษตรจึงได้กำหนดงานพระราชพิธีจรดพระนังคัลแรกนา ขวัญ ตามราชประเพณีเดิมขึ้นเมื่อ พ.ศ. 2503 จนถึงปัจจุบันนี้ และพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวได้เสด็จพระราชดำเนินมาทรงเป็นประธานการพระ ราชพิธีทุกปี ทรงมีพระราชกระแสให้ปรับปรุงพระราชพิธีเพื่อความเหมาะสมตามยุคสมัยด้วยพระ ราชพิธีจรดพระนังคัลแรกนาขวัญแต่เดิมมาทำที่ทุ่งพญาไท เมื่อได้มีการฟื้นฟูพระราชพิธีจรดพระนังคัลแรกนาขวัญขึ้นใหม่ จึงจัดให้มีขึ้นที่ท้องสนามหลวงซึ่งเคยเป็นที่ประกอบพิธีจรดพระนังคัลแรกนา ขวัญในรัชกาลที่ 1 ที่ 2 และที่ 3
           ส่วนผู้ที่จะเป็นพระยาแรกนาในสมัยก่อนเคยโปรดเกล้าฯ ให้ผู้ที่ดำรงตำแหน่งเสนาบดีกระทรวงเกษตราธิการ เป็นพระยาแรกนา และผู้ที่เป็นเทพีหาบกระบุงทอง กระบุงเงิน บรรจุข้าวเปลือกหว่านนั้นโปรดเกล้าฯ ให้จัดท้าวนางฝ่ายใน เมื่อเวลาได้เปลี่ยนแปลงหน้าที่ตำแหน่งไปแล้วเช่นนี้ เมื่อเริ่มฟื้นฟูพระราชพิธีจรดพระนังคัลแรกนาขวัญขึ้นมาใหม่ พระยาแรกนาจึงได้แก่ อธิบดีกรมการข้าวกระทรวงเกษตรเทพีได้คัดเลือกจากข้าราชการสตรีผู้มีเกียรติ ในกระทรวงเกษตร ในปีต่อมาจนถึงปัจจุบันผู้เป็นพระยาแรกนาได้แก่ผู้ดำรงตำแหน่งปลัดกระทรวง เกษตรและสหกรณ์ ส่วนเทพีนั้นคัดเลือกจากข้าราชการสตรีโสดในสังกัดกระทรวงเกษตรและสหกรณ์ ระดับ 3 – 4 คือชั้นโทขึ้นไป
           พระราชพิธีจรดพระนังคัลแรกนาขวัญเป็นพิธีเพื่อสิริมงคลแก่ พืชพันธุ์ธัญญาหารสนับสนุนส่งเสริมชาวไร่ชาวนาในการประกอบอาชีพ พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวทรงสนพระราชหฤทัยเป็นอย่างดี ได้เสด็จฯ มาทรงเป็นประธานอธิษฐานขอความสมบูรณ์ของพืชพันธัญญาหารให้มีแก่อาณาจักรไทย และได้ทรงปลูกพันธุ์ข้าวทดลองในนาทดลองบริเวณสวนจิตรลดา พระราชวังดุสิต ซึ่งเป็นพระราชฐานที่ประทับ เมื่อเก็บเกี่ยวแล้วพระราชทานนำมาเข้าในพระราชพิธีประมาณ 40 - 50 กิโลกรัม เมล็ดพันธุ์ข้าวที่พระราชทานมาเข้าพระราชพิธีจรดพระนังคัลแรกนาขวัญนี้ กระทรวงเกษตรและสหกรณ์ได้แบ่งไปหว่านที่ลานประกอบพระราชพิธีจรดพระนังคัลแรก นาขวัญส่วนหนึ่ง อีกส่วนหนึ่งจัดบรรจุซองส่งไปยังจังหวัดต่างๆ ทั่วราชอาณาจักรสำหรับแจกจ่ายแก่เกษตรกรเพื่อเป็นสิริมงคลตามพระราชประสงค์ ที่ทรงส่งเสริมการเกษตร
วันพืชมงคล
           พระราชพิธีพืชมงคลจรดพระนังคัลแรกนาขวัญ เป็นพิธีกรรม 2พิธีที่กระทำร่วมกันจึงมีชื่อร่วมกันดังนี้ คือ
วันพืชมงคล
พระราชพิธีพืชมงคล

           เป็นพิธีสงฆ์ สมเด็จพระเจ้าอยู่หัวรัชกาลที่ 4 ทรงกำหนดให้มีขึ้นเป็นครั้งแรก เป็นพิธีทำขวัญเมล็ดพืชพันธุ์ต่างๆ เช่น ข้าวเปลือกเจ้า ข้าวเหนียว ข้าวฟ่าง ข้าวโพด ถั่ว งา เผือก มัน เป็นต้น ฯลฯ มีจุดมุ่งหมายที่จะให้เมล็ดพันธุ์เหล่านั้น ปราศจากโรคภัยและให้อุดมสมบูรณ์เจริญงอกงามดี
วันพืชมงคล
พิธีจรดพระนังคัลแรกนาขวัญ
           เป็นพิธีพราหมณ์มีมาแต่โบราณ เป็นพิธีเริ่มต้นการไถนาเพื่อหว่านเมล็ดข้าว มีจุดมุ่งหมายที่จะให้เป็นอาณัติสัญญาณว่า บัดนี้ฤดูกาลแห่งการทำนาและเพาะปลูกได้เริ่มขึ้นแล้ว
           พระราชพิธีทั้งสองนี้ได้กระทำเต็มรูปแบบมาเรื่อยๆ จนถึงปี พ.ศ. 2479 ได้เว้นไปชั่วระยะเวลาหนึ่ง ด้วยสถานการณ์โลกและบ้านเมืองอยู่ในภาวะที่ไม่สมควรจะจัดงานใดๆ จึงว่างเว้นไป 10 ปี ต่อมาทางราชการพิจารณาเห็นว่าประเทศไทย เป็นประเทศกสิกรรม โดยเฉพาะทำนาควรจะได้ฟื้นฟู ประเพณีเก่าอันเป็นมงคลแก่การเพาะปลูก ดังนั้น ใน พ.ศ. 2490 จึงกำหนดให้มีพิธีพีชมงคลขึ้นอีก แต่มีแค่พระราชพิธีพืชมงคลเท่านั้น (พิธีเต็มรูปแบบว่างเว้นไปถึง 23 ปี) ต่อมาเมื่อปี พ.ศ.2503 จึงจัดให้มีราชพิธีจรดพระนาคัลแรกนาขวัญร่วมกับพิธีพืชมงคลนับแต่นั้นเป็นต้นมาจนถึงปัจจุบันนี้
วันพืชมงคล
การหาฤกษ์พระราชพิธี
วันพืชมงคล
           ฤกษ์การ พระราชพิธีนี้ ต้องหาฤกษ์ที่วิเศษกว่าฤกษ์อื่นๆ คือ กำหนดสี่อย่าง ฤกษ์นั้นอย่าให้ต้องวันผีเพลียอย่างหนึ่ง ให้ได้ศุภดิถีอย่างหนึ่ง ให้ได้บุรณฤกษ์อย่างหนึ่ง ให้ได้วันสมภเคราะห์อย่างหนึ่ง ตำราหาฤกษ์นี้เป็นตำราเกร็ด เขาสำหรับใช้เริ่มที่จะลงมือแรกนา หว่านข้าว ดำข้าว เกี่ยวข้าว ขนข้าวขึ้นยุ้ง แต่ที่เขาใช้กันนั้นไม่ต้องหาฤกษ์อย่างอื่น ให้แต่ได้สี่อย่างนี้แล้ว ถึงจะถูกวันอุบาทว์โลกาวินาศก็ใช้ได้
           แต่ฤกษ์จรดพระนังคัลอาศัยประกอบฤกษ์ดีตามธรรมเนียมด้วยอีก ชั้นหนึ่ง ตามแต่จะลงวันใดในเดือนหกดิถีซึ่งนับว่าผีเพลียนั้น ข้างขึ้นคือ 1,5,7,8,9,10,11,15 ข้างแรม 1,5,6,7,8,10,13,14 เป็นใช้ไม่ได้ ศุภดิถีนั้นก็คือ ดิถีตาว่างซึ่งไม่เป็นผีเพลียนั้นเอง บุรณฤกษ์นั้น คือ 2,4,5,6,8,11,14,17,22,24,26,27 วันสมภเคราะห์นั้นคือ วันจันทร์ วันพุธ วันพฤหัสบดี วันศุกร์ กับกำหนดธาตุอีกอย่างหนึ่งตามวันที่โหรแบ่ง เป็น ปถวี อาโป เตโช วาโย ให้ได้ส่วนสัดกันแล้วเป็นใช้ได้ จะพรรณนาที่จะหาฤกษ์นี้ก็จะยืดยาวไป เพราะไม่มีผู้ใดที่จะต้องใช้อันใด...
            หมายเหตุ วันพืชมงคลในแต่ละปีจะไม่ตรงกัน (ดูในปฏิทินเดือนพฤษภาคม)
วันพืชมงคล
กิจกรรมที่ควรปฏิบัติเนื่องในวันพืชมงคล
           1. จัดสัมมนา/เสวนา ทางวิชาการให้ความรู้ความเข้าใจเกี่ยวกับวันพืชมงคลและความสำคัญ
           2. รณรงค์เผยแพร่ ประชาสัมพันธ์ ให้ความรู้ความเข้าใจเกี่ยวกับวันพืชมงคลและความสำคัญ
           3. คัดเลือก ประกวด แข่งขันพันธุ์ข้าว และผู้ผลิต
           4. ยกย่องเชิดชูเกียรติเกษตรกรดีเด่นในรอบปี
           5. ให้ทุนอุดหนุนเกษตรดีเด่นแต่ขาดแคลนเงินทุน
           6. กิจกรรมอื่นที่เหมาะสม



อัพเดทล่าสุด