ชุดนักศึกษามุสลิม และการรณรงค์แต่งกายชุดนักศึกษา MUSLIMTHAIPOST

 

ชุดนักศึกษามุสลิม และการรณรงค์แต่งกายชุดนักศึกษา


1,671 ผู้ชม


ชุดนักศึกษามุสลิม และการรณรงค์แต่งกายชุดนักศึกษา

บัณฑิตมุสลิม (มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์): ให้แต่งกายชุดหิญาบได้ โดยสวมเสื้อเชิ้ตสีขาวแขนยาวมีรัดข้อมือ สวมกระโปรงสีดำยาว ผ้าคลุมศีรษะสีดำ และสวมครุยวิทยฐานะทับ

ผู้บริหาร ม.รัฐ-ม.เอกชนหนุน ศธ.-วธ.รณรงค์แต่งกายชุดนักศึกษาเป็นวาระแห่งชาติ ช่วยรักษาวัฒนธรรมไทย ถูกกาลเทศะ ด้านนิสิต-นักศึกษาหลายสถาบันรับลูก เผยแต่งชุดไม่เหมาะสมขนาดฝรั่งชี้ชุด นศ.หญิงเซ็กซี่มากขัดกับวัฒนธรรมไทย ห่วงภาพลักษณ์ประเทศเสียหาย ระบุข้อดีให้เกียรติสถาบัน ป้องกันถูกข่มขืน อาจารย์จุฬาฯ ชี้นักศึกษาชั้นปีที่ 2-3 แต่งผิดระเบียบมากที่สุด

จากกรณีกระทรวงศึกษาธิการ และกระทรวงวัฒนธรรม ร่วมกันจัดโครงการรณรงค์เรื่องการแต่งกายของนิสิตนักศึกษา โดยทำเป็นวาระแห่งชาติ เพื่อให้นิสิตนักศึกษาแต่งกายด้วยชุดนักศึกษาตามระเบียบของมหาวิทยาลัยและการแต่งกายด้วยชุดลำลองภายในมหาวิทยาลัย โดยจะเชิญรองอธิการบดีฝ่ายกิจการนักศึกษาของมหาวิทยาลัยรัฐและเอกชน 30 แห่งมาหารือในวันที่ 25 มิถุนายนนี้นั้น

นายเอกชาต สมพงษ์ รองอธิการบดีฝ่ายกิจการนักศึกษา มหาวิทยาลัยรังสิต กล่าวว่า ก่อนหน้านี้มีโอกาสพูดคุยกับ รมช.ศึกษาธิการ รมช.การพัฒนาสังคมและความมั่นคงของมนุษย์ และ ดร.ปริญญา เทวานฤมิตรกุล รองอธิการบดีฝ่ายการนักศึกษา ม.ธรรมศาสตร์ จะร่วมมือกันระหว่างกระทรวงวัฒนธรรม กระทรวงศึกษาธิการ และกระทรวงการพัฒนาสังคมและความมั่นคงของมนุษย์ เพื่อรณรงค์การแต่งกายชุดนิสิตนักศึกษาให้ถูกต้องตามระเบียบ ซึ่งเห็นด้วยกับเรื่องนี้ ถ้ากระทรวงศึกษาธิการเชิญจะไปร่วมประชุมด้วยเพราะการแต่งกายที่ถูกต้อง เหมาะสม มีความสำคัญกับวัฒนธรรมของสังคมไทย ขณะนี้เยาวชนไทยไม่ค่อยสนใจกับการปฏิบัติตนให้เหมาะสมกับกาลเทศะในหลายเรื่อง เช่น การแต่งกาย จึงต้องรณรงค์ให้มากขึ้น

"ม.รังสิต รณรงค์การแต่งกายชุดนักศึกษาโดยให้รุ่นพี่เป็นแบบอย่างรุ่นน้อง มีสโมสรนักศึกษาช่วยดูแล จัดประกวดแต่งกายชุดนักศึกษา มีป้ายรณรงค์ มีอาจารย์และหน่วยงานต่างๆ ในมหาวิทยาลัยดูแล หากแต่งกายไม่เหมาะสม จะไม่ให้เข้าเรียน ไม่ให้ติดต่อกับหน่วยงานต่างๆ และมีบทลงโทษ เช่น ตักเตือน ส่วนชุดลำลองดูแลให้แต่งให้เหมาะสม" นายเอกชาต กล่าว

นายฐิติ ลาภอนันต์ หัวหน้าแผนกวินัยและสวัสดิภาพนักศึกษา ฝ่ายกิจการนักศึกษา มหาวิทยาลัยธุรกิจบัณฑิตย์ (มธบ.) กล่าวว่า มหาวิทยาลัยรณรงค์การแต่งกายของนักศึกษามาเป็นเวลา 14 ปีแล้ว ตอนนี้กระทรวงศึกษาธิการและกระทรวงวัฒนธรรมร่วมกันรณรงค์ ยิ่งทำให้เรื่องง่ายขึ้น และเห็นด้วยที่ทำเป็นวาระแห่งชาติ ในวันที่ 25 มิถุนายนนี้ มหาวิทยาลัยธุรกิจบัณฑิตย์จะร่วมประชุมด้วย

นายฐิติ กล่าวอีกว่า แม้การแต่งกายจะเป็นสิทธิของบุคคล แต่เมื่อมาอยู่ในมหาวิทยาลัยที่มีระเบียบก็ต้องปฏิบัติตาม จึงตรวจตรามากขึ้นทุกปี มีฝ่ายวินัยเดินตามตึกเรียน เห็นเด็กนุ่งสั้น เสื้อรัดมากก็เรียกมาอบรมให้เห็นถึงโทษว่าผู้ชายมองอย่างไร ถ้ายังไม่ปฏิบัติตาม จะตัดคะแนนความประพฤติ อีกทั้งมีโครงการดีพียู สมาร์ท จัดทำเป็นบัตรสะสมลายเซ็น โดยให้รางวัลเกียรติบัตรและอบรมบุคลิกภาพให้นักศึกษาที่แต่งตัวดี และในปีการศึกษา 2550 มหาวิทยาลัยธุรกิจบัณฑิตย์ยกเลิกแต่งกายชุดลำลองในวันเสาร์ และมีแกนนำรณรงค์ทั้งนักศึกษาที่เป็นดารา นักร้อง นักศึกษาทุนนักกีฬา ทุนเรียนดี

รศ.ดร.บุญสม เลิศหิรัญวงศ์ รองอธิการบดีฝ่ายกิจการนิสิต จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย กล่าวว่า เห็นด้วยกับการรณรงค์ในระดับชาติเพื่อไม่ให้แต่งตามกระแสแฟชั่นเกินไป หากกระทรวงศึกษาธิการเชิญจะไปร่วมประชุมในวันที่ 25 มิถุนายนนี้ ซึ่งจุฬาฯ มีนิสิตประมาณ 3 หมื่นคน จึงให้นิสิตรณรงค์กันเอง จะให้แกนนำนิสิตแต่ละคณะรวม 6,000 คน คิดเป็น 20% ช่วยรณรงค์ตั้งแต่วันรับน้องใหม่ แนะนำให้รุ่นน้องปี 1 แต่งกายถูกต้องตามระเบียบ ส่วนใหญ่นิสิตชั้นปีที่ 1 รวมทั้งหมด 25% รวมถึงชั้นปีอื่นๆ อีก 25% โดยรวม 70% แต่งกายถูกต้องตามระเบียบ ส่วนที่เหลืออีก 30% เป็นนิสิตชั้นปีที่ 3-4 ที่แต่งกายถูกระเบียบบ้างผิดระเบียบตามกระแสแฟชั่น จะถูกลงโทษ

"จุฬาฯ จะให้นิสิตแต่ละคนเมื่อเข้าชั้นปีที่ 1 จนจบการศึกษามีคะแนนความประพฤติคนละ 100 คะแนน แต่ละคณะมีคณะกรรมการวินัยพิจารณาโทษ หากแต่งกายผิดระเบียบ ถ้าเป็นนิสิตชั้นปีที่ 1 ครั้งแรกจะตักเตือนก่อน ครั้งที่ 2 จะตัดคะแนน 5 คะแนน และครั้งที่ 3 เชิญผู้ปกครอง ส่วนรุ่นพี่ชั้นปีอื่นๆ จะถูกลงโทษโดยตัดคะแนนความประพฤติ 5 คะแนน และให้รณรงค์แต่งกายชุดนิสิตให้ถูกต้อง หากถูกหักคะแนนความประพฤติ 40 คะแนน จะถูกพักการเรียน อีกทั้งขอให้คณะและหน่วยงานต่างๆ ในสถาบันช่วยดูแล ถ้าแต่งกายไม่ถูกระเบียบ จะไม่ให้เข้าชั้นเรียน ห้องสมุด ห้องคอมพิวเตอร์ และติดต่อเรื่องต่างๆ จนกว่าจะแต่งกายถูกระเบียบ ส่วนชุดลำลองนั้นก็ให้แต่งให้เหมาะสม ถ้าใส่รองเท้าแตะจะไม่ให้ขึ้นตึก" รศ.ดร.บุญสม กล่าว

รศ.ดร.สมพงษ์ จิตระดับ อาจารย์คณะครุศาสตร์ จุฬาฯ กล่าวว่า เห็นด้วยกับการรณรงค์แต่ทำช้าเกินไป เนื่องจากเปิดภาคเรียนแล้ว ส่วนการรณรงค์โดยใช้ศิลปินและดารานั้น อาจได้รับความสนใจในระดับหนึ่ง แต่ไม่ยั่งยืน เพราะนิสิตนักศึกษาขาดจิตสำนึกอย่างแท้จริง กระทรวงวัฒนธรรมควรกำหนดวันแต่งกายถูกระเบียบในสถานศึกษา วันใดวันหนึ่ง เช่นที่ให้พิธีกรแต่งกายด้วยผ้าไทยในวันจันทร์ และให้สถาบันหันมาเชิดชูคนแต่งกายถูกระเบียบ อีกทั้งอาจารย์ ผู้ปกครองควรพูดคุยแนะนำ ไม่ใช่เข้มงวด จับผิด หรือตัดคะแนน อย่าใช้ความคิดแบบผู้ใหญ่และความหวังดีมากจนเกินไปมาบังคับ ส่วนกลุ่มที่มีหัวคิดนำแฟชั่นและแต่งกายผิดระเบียบมากที่สุด คือนิสิตนักศึกษาชั้นปีที่ 2 และปีที่ 3 เพราะเมื่ออยู่ชั้นปีที่ 1 แต่งกายถูกระเบียบ และชั้นปีที่ 4 จะไม่สนใจในเรื่องนี้ เพราะกำลังจะจบการศึกษา ต้องหางานทำ

รศ.ดร.นำยุทธ สงค์ธนาพิทักษ์ อธิการบดีมหาวิทยาลัยเทคโนโลยีราชมงคล (มทร.) ธัญบุรี กล่าวว่า มทร.ธัญบุรี ได้ให้กองบริการจัดโครงการรณรงค์แต่งกายดี มีวินัย ใส่ใจความพอเพียง เพื่อรณรงค์ให้นักศึกษาแต่งกายถูกระเบียบ สุภาพ โดยรณรงค์ใช้สื่อต่างๆ ประกวดการทำความดี โดยเฉพาะการแต่งกายให้ถูกต้อง ถูกวินัย ถูกวัฒนธรรม อย่างชัดเจน ซึ่งเริ่มดำเนินการแล้ว เชื่อว่าจะช่วยสร้างจิตสำนึกและสร้างวัฒนธรรมการแต่งกายให้แก่นักศึกษากว่า 2 หมื่นคน

น.ส.จุฑามาศ ยวงสะอาด นิสิตชั้นปีที่ 4 คณะมนุษยศาสตร์และสังคมศาสตร์ มหาวิทยาลัยศรีนครินทรวิโรฒ (มศว) กล่าวว่า การแต่งกายชุดนิสิตหญิงในปัจจุบันดูวาบหวิวมาก ขัดกับหลักวัฒนธรรมไทยที่สอนให้ผู้หญิงสำรวม รักนวลสงวนตัว มีเพื่อนชาวต่างชาติบอกว่าชุดนักศึกษาหญิงไทยดูเซ็กซี่มาก ขัดกับวัฒนธรรมประเพณีไทยที่เคยเรียนรู้มา จึงเป็นเรื่องใหญ่ที่ต้องแก้ไขอย่างเร่งด่วน เพราะทำให้ภาพลักษณ์ของประเทศเสียหาย

น.ส.รัชนี กุลสอนนาน นิสิตชั้นปีที่ 4 คณะวิทยาการสารสนเทศ มหาวิทยาลัยมหาสารคาม (มมส.) กล่าวว่า เรื่องการแต่งกายที่รัด สั้น ปริ แหวก เป็นการแต่งกายที่ไม่เหมาะสม และเกินขอบเขตที่ดีของการเป็นนิสิต เพราะนิสิตหญิงมักจะแต่งตัวตามแฟชั่น ชุดนิสิตที่มีการผลิตไซส์พิเศษขึ้นมา เช่น ไซส์ 2 เอส 3 เอส 4 เอส จึงเกิดค่านิยมผิดๆ ให้เพื่อนนักศึกษาคนอื่นๆ ลอกเลียนแบบ ซึ่งเห็นด้วยอย่างยิ่งที่จะผลักดันเรื่องนี้เป็นวาระแห่งชาติ อยากให้เยาวชนตระหนักในการป้องกันตนเอง และรักษาภาพลักษณ์สถาบัน

น.ส.เพ็ญประภา สุเสนา นักศึกษาชั้นปีที่ 4 คณะพยาบาลศาสตร์ มหาวิทยาลัยรังสิต กล่าวว่า ปกติใส่เสื้อนักศึกษาไซส์เอ็ม หลวมเล็กน้อย กระโปรงจีบรอบเสมอเข่า เพราะเห็นว่าถ้าใส่เสื้อที่รัด กระโปรงที่สั้นจนเกินไป ถือว่าเป็นการไม่ให้เกียรติตัวเอง สถาบันการศึกษา และเป็นสาเหตุอันดับต้นๆ ของปัญหาอาชญากรรม ข่มขืน ล่วงละเมิดทางเพศ ซึ่งที่มหาวิทยาลัยรณรงค์ให้แต่งกายสุภาพ เหมาะสมอยู่แล้ว โดยใช้ตัวแทนคณะโปรโมทผ่านโปสเตอร์และมีกฎระเบียบอยู่

น.ส.ปัทมาภรณ์ ทองล้วน นักศึกษาชั้นปีที่ 2 คณะนิเทศศาสตร์ ม.ธุรกิจบัณฑิตย์ กล่าวว่า เห็นด้วยกับการรณรงค์ครั้งนี้ บางคนแต่งกายนุ่งสั้นเกินไป ใส่เสื้อรัดเกินไป ทำให้ดูไม่ดี ไม่ถูกกาลเทศะ ตอนนี้ไม่ค่อยเห็นเพื่อนๆ แต่งกายโป๊เพราะมีอาจารย์เดินตรวจ ตัดคะแนนความประพฤติ แม้การแต่งกายจะเป็นเรื่องสิทธิส่วนบุคคล แต่บางครั้งก็มากเกินไป จะต้องดูกาลเทศะ สถานที่ และสถานศึกษาถือว่าเป็นสถานที่ที่ให้ความรู้ การแต่งกายก็ควรเคารพสถานที่

อัพเดทล่าสุด