เรียนอินเตอร์ ดีจริงหรือ? MUSLIMTHAIPOST

 

เรียนอินเตอร์ ดีจริงหรือ?


939 ผู้ชม


เรียนอินเตอร์ ดีจริงหรือ?

    ที่มาของบทความ: รุ่งโรจน์ ธัญญมนูกูล

    เหมาะสำหรับ: นักเรียนในระดับ ม.ปลาย ที่ต้องการจะศึกษาต่อแบบอินเตอร์

    หมายเหตุ: ใครที่ต้องการก๊อปปี้ไปแปะที่อื่น ขอบอกว่า "ยินดี" แต่ช่วยให้เครดิตด้วย นะครับ

    บทความนี้มีแรงบันดาลใจมาจากที่ ผมมีโอกาสได้ติวน้องวิศวะอินเตอร์ ของมหาวิทยาลัยที่มีชื่อเสียงแห่งหนึ่งในประเทศไทย โดยได้สอนวิชา Numerical Method หรือภาษาไทยคือระเบียบวิธีเชิงตัวเลขในทางวิศวกรรม มีบางอย่างที่ผมฉุกคิดขึ้นมาในระหว่างการสอนนักศึกษากลุ่มนี้ จากประสบการณ์สอนหนังสือกว่า สิบปี เรื่องราวต่างๆเกิดขึ้นอย่างมากมาย ผมเจอน้องๆนักเรียน นักศึกษา มาหลายแบบ ผมสอนหนังสือจนลูกศิษย์คนแรกของผมแต่งงาน มีลูกแล้ว อันที่จริงหัวข้อนี้ผมไม่อยากจะเขียนออกมาเลย เพราะอาจจะทำให้บางคนรู้สึกเจ็บปวดกับความจริง แต่มาคิดในอีกแง่หนึ่ง ก็คือ ต้องเขียน เพราะผมไม่อยากให้ใครหลายคนหนีกับความจริง


    ก่อนจะเข้าเรื่อง ผมขอเริ่มจากคำพูดของศาสตราจารย์ท่านหนึ่งที่ผมได้มีโอกาสเรียนกับท่านในสมัยผมเรียนอยู่ ป.โท วิศวะจุฬาฯ (ไม่ขอเอ่ยนามนะครับ) ท่านเคยบอกกับนักศึกษาในห้องว่า “อย่าเรียนเลย อินเตอร์น่ะ“ ซึ่งตอนนั้นท่านก็ไม่ได้บอกเหตุผลไว้ว่า ทำไมถึงไม่น่าเรียน นั่นคงเป็นคำถามที่ค้างคาใจผมมาตลอดว่า “ทำไมถึงไม่น่าเรียนล่ะ” หลังจากนั้นผมก็ได้มีโอกาสเรียน กับอาจารย์อีกท่านหนึ่งเป็นอาจารย์ที่จบจากประเทศฝรั่งเศสสอนวิชา Plasticity หรือ ชื่อวิชาพลาสติคนั่นแหละครับไม่ต้องคิดมาก ในตอนนั้นเป็นเวลาช่วงบ่าย วิชานี้มีคนเรียนอยู่สองคน (ไม่ต้องแปลกใจนะครับปริญญาโทจะมีคนเรียนน้อย) เมื่ออาจารย์เดินเข้ามาในห้องด้วยสีหน้าหงุดหงิด (มากๆ) ไม่ทันได้พูดอะไร อาจารย์ท่านก็เล่าให้ฟังว่า “ในวันนี้ตอนเช้าผมไปสอนเด็กโยธาอินเตอร์ปีสามที่วิศวะ มหาวิทยาลัย... มา คุณเชื่อไหมว่าเด็กปีสามแต่แม่งแยกความแตกต่างระหว่าง เสากับคานยังไม่ออกเลย วันนี้ผมหงุดหงิดมาก ผมเลยสอนมันเป็นภาษาไทยมันซะเลย มีเด็กคนหนึ่งบอกมาว่าเรียนมาสามปี ก็เพิ่งจะเข้าใจวันนี้นี่เอง” อาจารย์ที่หงุดหงิดสบถออกมาเล็กน้อย แต่ก็ทำให้ผมเข้าใจในอารมณ์ที่ท่านต้องการสื่อความหมายว่า มันน่าจะเป็นอย่างนั้นจริงๆ


    จากประสบการณ์ที่ผ่านมา ทั้งชีวิตจริงทั้งในห้องเรียนทั้งจากคำบอกกล่าว ทำให้ผมมาคิดอะไรบางอย่างเป็นแรงบันดาลใจ ที่เขียนบทความนี้ขึ้นมา เริ่มเรื่องกันเลยแล้วกัน


    ตามปรกติแล้วในระบบการเรียนที่เป็นภาษาไทย (ลองนึกถึงตอนเรียน ม.ต้น หรือ ม.ปลายดูกันนะครับ) การเรียนในวิชาหนึ่งๆ ผมอยากถามว่า “คุณเข้าใจในวิชาแต่ละวิชาแตกฉานร้อยเปอร์เซ็นต์หรือเปล่าครับ?” แน่นอนว่าไม่ เพราะอะไร? ลองดูจากแผนผังต่อไปนี้นะครับ

    (1) ตัวอาจารย์ “คนไทย”ที่มีความรู้อยู่เต็มเปี่ยม (100 เปอร์เซ็นต์) พูดสื่อสาร “เป็นภาษาไทย” แน่นอนว่า จะให้สอนเก่งอย่างไรก็ไม่สามารถอธิบายและสื่อได้ 100 เปอร์เซ็นต์ (นี่คือปัญหาของช่องว่างของอาจารย์เองเป็นปัญหาเกี่ยวกับการถ่ายทอด) ดังนั้นจาก 100 จะเหลืออยู่ประมาณ 90 (ประมาณๆนะครับ) ส่งต่อไปยังขั้นตอนที่ (2)

    (2) เมื่อนักเรียน “คนไทย” รับฟังความรู้จากอาจารย์ ที่พูด “ภาษาไทย” ก็ไม่สามารถรับได้เต็มๆ เนื่องจากเพราะสติปัญญา ความตั้งใจ และ สมาธิ ดังนั้นสิ่งที่อาจารย์พูดมาน่าจะรับได้ประมาณ 80 เปอร์เซ็นต์ (นี่คือปัญหาของ ช่องว่าง จากตัวผู้เรียนเป็นปัญหาของระดับสติปัญญา)

    จากข้างต้น จะเห็นได้ว่าในการเรียนในวิชาหนึ่งๆ ที่เป็นอาจารย์ “คนไทย” พูด “ภาษาไทย” ให้เด็กนักเรียน “คนไทย” ฟังเป็น “ภาษาไทย” จะมีช่องว่าง อยู่ทั้งหมด 2 ช่วง นั่นคือช่องว่างที่เกิดจากอาจารย์ และช่องว่างที่เกิดจากตัวเด็กนักเรียน ลองมาคูณกันดูเล่นๆ นะครับ (ลองไปคำนวณกันเองนะ) ว่าเริ่มต้น 100 ส่งไป 90 แล้วก็ส่งไป 80 ความรู้ที่เด็กๆจะรับได้จะมี 72 เปอร์เซ็นต์ ครับ นี่เป็นเหตุผลง่ายๆว่าทำไมตอนเรียน ม.ต้น หรือตอนเรียน ม.ปลาย เรียนยังไงมันก็ไม่เข้าใจซักที ผมบอกได้เลยว่า 72 เปอร์เซ็นต์ นี่เป็นตัวเลขสูงสุดนะครับ หากไปเจอกับอาจารย์ที่พูดไม่รู้เรื่อง แล้วก็เด็กหัวไม่ดีประกอบกันแล้วด้วยล่ะก็ รับรองว่า เหลือไม่ถึง 50 เปอร์เซ็นต์

    คราวนี้ก่อนที่เราจะมาดู “เรื่องของการเรียนแบบอินเตอร์” เรามาดูประเด็นอะไรบางอย่างก่อนนะครับ

    ประเด็นที่ 1 ความพร้อมของมหาวิทยาลัยในประเทศไทย

    ในปัจจุบัน มหาวิทยาลัย เปิดการเรียนการสอนแบบอินเตอร์กันเยอะมาก ผมขอยกตัวอย่างจาก มหาวิทยาลัย A (ไม่สามารถเอ่ยนามได้) ที่เปิดสอน แบบอินเตอร์ที่เก่าแก่แห่งหนึ่งก่อนแล้วกัน มหาวิทยาลัย A นี้ เป็นมหาวิทยาลัยที่ขึ้นชื่อมากครับ ไม่ได้ขึ้นชื่อ ด้านการเรียนการสอนนะครับ แต่ขึ้นชื่อว่า “ยาม” ดุที่สุดในโลก เป็นมหาวิทยาลัยที่ “ยาม” เบ่งคับมหาวิทยาลัย ใหญ่กว่า อธิการบดี นักศึกษา กลัว “ยาม” ยิ่งกว่าบิดาบังเกิดเกล้า นักศึกษาผู้ชายใครใส่รองเท้าแตะมา ห้ามเข้า จอดรถผิดที่ โดนตวาดยังกับสุนัขข้างถนน แต่นักศึกษาผู้หญิง ใส่เสื้อนมแทบปริมา “ยาม” อนุญาตให้เข้าได้  ยิ่งใส่กระโปรงสั้นๆ รัดติ้ว ตูดแทบปลิ้น มา “ยาม” บอกว่า ไม่ผิดระเบียบ เพราะ “ยาม” ชอบ (นี่ก็เป็นอีกสิ่งหนึ่งที่ขึ้นชื่อของนักศึกษาหญิงมหาวิทยาลัย A) จะเรียกท่านผู้มีอำนาจว่า “ยาม” ก็ไม่ได้ จะต้องเรียกว่า “รปภ.” บางครั้ง เรียก “รปภ.” พี่แกยังแอบโมโห ต้องเรียกว่า “Security Guard” โอ้ อะไรจะขนาดนั้น นอกเรื่องมานานแล้ว (ถึงแม้จะนอกเรื่องแต่ก็เป็นเรื่องจริงนะ) โอเคเข้าเรื่องกันเลยแล้วกัน


    มหาวิทยาลัย A มีอาจารย์ที่หลากหลายมาก ไม่ว่าจะเป็น พม่า ฟิลิปปินส์ อินเดีย คนไทย ส่วนอาจารย์ ที่เป็นอเมริกัน อังกฤษ หรือประเทศในแทบยุโรป เอง จะเห็นน้อยมาก ด้วยเหตุผลที่มหาวิทยาลัย A ประกาศออกมาแบบ ข้างๆคูๆ ประมาณว่า “อยากจะให้นักศึกษา ฝึกสำเนียงการฟังที่หลากหลาย เพราะ เมื่อจบไป จะเจอคนหลายเชื้อชาติ การพูดภาษาอังกฤษ ไม่ได้จำกัดอยู่ที่คนยุโรป หรือ อเมริกา” ฟังจากเหตุผลก็ “รู้สึกดูดี” เหมือนกัน แต่ตัวผมเอง บอกตรงๆเลยครับ ว่า “อยากจะหัวเราะเป็นภาษาพม่า” เพราะอะไร? การเรียนอินเตอร์ส่วนใหญ่ คนต้องการทั้งความรู้ ควบคู่กับภาษา ดังนั้น หากเอาคนที่สำเนียงไม่ดี มาถ่ายทอดความรู้ ท้ายสุด “จะไม่ได้ทั้งความรู้ และ ไม่ได้ทั้งภาษาครับ” ดังนั้น ผมเลยฟันธงเลยว่า เหตุผลที่มหาวิทยาลัย A เอาอาจารย์แถบๆ เอเชียด้วยกันมาสอนเป็นส่วนใหญ่ เหตุผลหลัก คือ “กำไร” ไงครับ ไม่ใช่การฝึกฝนอย่างที่อ้างเลย การฝึกฝนควรจะเป็นตอนที่นักศึกษาได้เรียนจบไปแล้ว มีความรู้ดีแล้ว จึงจะนำไปประยุกต์ใช้ได้ ไม่ใช่ต้องมานั่งฝึกฟังสำเนียงห่วยๆ ของอาจารย์พม่า ที่พูดภาษาอังกฤษไม่ชัด แล้วความรู้มันจะไปได้อะไรล่ะ สำหรับอาจารย์คนไทย ที่มหาวิทยาลัย A นำมาสอน ตัวผมเองยอมรับว่าอาจารย์ส่วนใหญ่ เป็นอาจารย์ที่มีความสามารถดีครับ (ย้ำว่า มีความสามารถ) แต่ปัญหาคือ แล้วสำเนียงล่ะ หากนักศึกษาไปเจออาจารย์คนไทย ที่สำเนียงดี ก็รอดตัวไป แต่ถ้าเจอกับสำเนียงไม่ดีล่ะ มันก็จะกลับไปที่วังวนแห่งความมืด แบบเดิมๆ สิ่งที่น่าแปลกใจอย่างหนึ่งคือ อาจารย์ที่สอนในระดับมหาวิทยาลัย “ส่วนใหญ่” มักจะมี “ต่อมพิเศษ” ที่อาจารย์ในระดับโรงเรียนไม่มี ประเด็นนี้ เป็นกันทุกมหาวิทยาลัยครับ ต่อมพิเศษที่ว่านี้ คือ “ต่อมพูดไม่รู้เรื่อง” โดยต่อมที่ว่านี้มักจะเกิดจุกอยู่ที่ใต้ลิ้น ของอาจารย์ในระดับมหาวิทยาลัยส่วนใหญ่ ไม่รู้ว่าอาจารย์ท่านเรียนมากไปหรือเปล่า บางคน พูดภาษาไทย ธรรมดา ยังพูดไม่รู้เรื่องเลย มีเรื่องหนึ่งเกิดขึ้นตอนสมัยเรียน ปริญญาโท ผมและเพื่อนๆกว่า 9 ชีวิต ได้ไปเรียนวิชาทางด้านวิศวกรรมกับ อาจารย์ท่านหนึ่งที่จบปริญญาเอกมาจาก มหาวิทยาลัย อิมพีเรียล ประเทศอังกฤษ เชื่อไหมว่า ผมนั่งฟังอยู่ 2 ชั่วโมง เพื่อนๆต่างมองหน้ากัน แล้วก็ส่ายหัว เพราะ อาจารย์พูดอะไรก็ไม่รู้ จากตรงจุดนี้ อย่างเพิ่งเข้าใจว่า ต่อมนี้จะมีกับอาจารย์มหาวิทยาลัยทุกๆคน เพียงแต่ต้องการบอกว่า “มีในส่วนใหญ่” ตอนที่ผมเรียนอยู่ที่วิศวะจุฬา ก็มีอาจารย์หลายๆคนที่สอนรู้เรื่องนะครับ อย่าเพิ่งเข้าใจผมผิดว่า ผมจะตั้งป้อมว่าอาจารย์

                  
    หลายคนอาจจะงงกันว่า ในเมื่อมหาวิทยาลัยพวกนี้ มีกำไรมหาศาล แล้วทำไมไม่จ้าง อาจารย์ที่เป็นชาวต่างชาติ โซนยุโรป สำเนียงดีๆ มาสอนล่ะ? บอกตามตรงเลยครับว่า ไม่ใช่ว่าจะไม่มีเงินจ้าง แต่ อาจารย์ไม่มาต่างหาก ประเด็นนี้เป็นประเด็นที่หากนำมาตีแผ่ แล้วคนไทยหลายคนอาจจะรู้สึกท้อใจนะครับ เอาแบบนี้ เรามาเรียนวิชา สังคมศึกษา กันหน่อยแล้วกัน หากแบ่งประเทศในโลกนี้ ออกเป็นสามแบบจะได้ แบบแรก ประเทศในโลกที่หนึ่ง คือประเทศที่พัฒนาแล้ว เช่น ประเทศญี่ปุ่น อังกฤษ อเมริกา ฝรั่งเศส ประเทศในโลกที่สอง คือประเทศที่กำลังพัฒนา เช่น ประเทศ ไทย เกาหลี (ใกล้จะเข้าโลกที่หนึ่งแล้ว) จีน อินเดีย และ ประเทศในโลกที่สาม เช่นประเทศ โซมาเลีย เป็นต้น คนที่อยู่ประเทศในโลกที่สอง หรือ สาม ต้องการที่จะเข้าไปทำงานในประเทศที่อยู่ในโลกที่ หนึ่ง อย่างไม่ต้องสงสัย เพราะ ค่าเงินสูงกว่า รายได้ดีกว่า มากๆ (ลองนึกถึงคนขายแม็คที่อเมริกา มีรายได้หลายหมื่น) แต่คนที่มีความสามารถที่อยู่ในประเทศ ในโลกที่หนึ่งอยู่แล้ว จะมาทำงานในประเทศในโลกที่สามทำไม “ฝรั่งส่วนใหญ่ที่มาทำงานอยู่ในประเทศไทย มักจะเป็นฝรั่งที่มีความสามารถด้อยกว่ามาตรฐาน เพราะคนที่มีความสามารถจริงๆ เค้าไม่มาหรอก เพราะถ้าหากเค้ามีความสามารถแล้ว เค้าก็ต้องสามารถหางานทำที่ดีได้ อยู่ในประเทศของเค้า” นี่เป็นคำพูดของ ศาสตราจารย์ที่สอนผมตอนเรียนโท จากคำพูดดังกล่าว จึงอย่าแปลกใจไปเลยครับ ว่าทำไมมหาวิทยาลัย ที่เปิดสอนแบบอินเตอร์ส่วนใหญ่ ถึงมีแต่อาจารย์ที่มาจากประเทศแถบๆเอเชียนี้ ต่อให้มีอาจารย์ ที่เป็นชาวต่างชาติยุโรปโดยแท้ ก็ไม่ได้มีความสามารถมากมายอะไรนัก ทำให้ทางออกของมหาวิทยาลัยเหล่านี้ จึงเลี่ยงไปจ้างอาจารย์ที่เป็นคนพม่า อินเดีย อินโด หรือ ฟิลิปปินส์ หรือคนไทยที่จบปริญญาเอกจากเมืองนอก แต่ท้ายสุดก็วกกลับมาที่เรื่องเดิมๆ คือ “ต่อมพูดไม่รู้เรื่อง” ครับ สำหรับอาจารย์คนไทยท่านใด ที่คิดว่าสำเนียง ดีแล้ว เตรียมการสอนมาเป็นอย่างดี ผมก็ยินดีด้วยครับ พยายามเพื่อลูกศิษย์ต่อไปครับ!!!

    ประเด็นที่ 2 ความพร้อมของตัวผู้เรียน


    อย่างที่กล่าวไปในตอนแรก ในปัจจุบัน มีนักเรียนหลายๆคนให้ความสนใจอยากที่จะเรียน อินเตอร์กันมากขึ้น และแน่นอนว่า มีมหาวิทยาลัยที่เปิดสอนแบบอินเตอร์บางมหาวิทยาลัย “เปิดรับสมัคร แบบไม่ต้องสอบคัดเลือก” บางแห่งใช้การยื่นเกรดเพียงอย่างเดียว บางแห่งก็สอบเป็นพิธี แล้วก็ให้มาเรียนแบบอินเทนซีฟคอร์สเอา ประเด็นก็คือ ทำอย่างนี้ดีไหม? ผมต้องการบอกว่า มันดูแย่มากๆ เพราะอะไร สิ่งหนึ่งที่ผมต้องการเคลียร ์กับทุกๆคนผู้ที่อ่านบทความนี้ คือ “การทำอะไรบางอย่าง ย่อมเหมาะสำหรับบางคน และ ไม่เหมาะสำหรับบางคน” แต่มหาวิทยาลัยประเภทนี้ ไม่ได้สนใจตรงจุดนี้ สนใจเพียงแต่ “เงิน” เพียงอย่างเดียว ดังนั้น การคัดเลือก จึงบอกได้เลยว่า “คัดไปแบบซั่วๆ” เข้ามาก่อน เรียนได้ก็เรียนไป เรียนไม่ได้ก็รีไทร์ไป ผมขอยกตัวอย่าง วิศวะอินเตอร์ของมหาวิทยาลัย B ในตอนแรกเข้ามาด้วยการแค่ “ยื่นเกรด” นักศึกษาในปีแรก เข้ามาประมาณ เกือบ 300 คน ผ่านมา สีปี นักศึกษามีอยู่ ไม่ถึงร้อยคน (นี่เป็นข้อมูลจากลูกศิษย์ของผมเอง) บางมหาวิทยาลัย ทำให้มันดูดีหน่อย คือประมาณว่า “มหาวิทยาลัยฉันก็ต้องสอบเข้านะ” แต่ขอโทษ ก็เห็นสอบเข้าได้ทุกคน มาร้อยคนรับร้อยคน มาพันคนรับพันคน มาหมื่นคนรับหมื่นคน ผลที่ออกมาคืออะไร ผ่านไปหนึ่งปี ก็รีไทร์กันครึ่งค่อนคณะ (เปิดรับไว้ก่อน เงินมาก่อน จะไทร์ก็ไทร์ไป) ในตรงจุดนี้ ผมมักจะเถียงกับคนหลายๆคนที่บอกว่า “การสอบที่จริงจังเกินไป จะทำให้ปิดกั้นโอกาส” แต่ผมมักจะโต้กลับไปว่า “การสอบ เป็นการวัดความตั้งใจจริงของเด็ก หากเด็กตั้งใจ อ่านหนังสือ นั่นหมายถึง เค้าเป็นผู้เหมาะสมแล้ว ที่จะได้เข้าเรียน” ดังนั้นจึงไม่น่าแปลกใจอะไร ที่มหาวิทยาลัยที่มีการสอบคัดเลือกอย่างจริงจังเช่น บัญชีอินเตอร์จุฬา ย่อมมีนักศึกษาที่มีคุณภาพ ดีกว่า นักศึกษา บัญชีอินเตอร์ จากมหาวิทยาลัย จำพวกที่กล่าวมา คราวนี้มาเข้าประเด็นกันเสียที ว่า แล้วมันเกี่ยวอะไรกับการเรียน เกี่ยวโดยตรงเลยครับ ที่เกี่ยวโดยตรงคือ “สังคมของคนรอบข้าง” มีนักศึกษาจำนวนหนึ่งที่มักจะออกทำนองว่า “ไปตามเพื่อน” เพื่อนเที่ยวเราเที่ยว เพื่อนโดด เราโดด เพื่อนเรียน เราเรียน แล้วงานนี้มันจะรอดไหมล่ะนั่น เรียนภาษาไทยก็จะแย่อยู่แล้ว เรียนอินเตอร์ เพื่อนชวนโดด มันยิ่งไม่ไปกันใหญ่หรือ? ท้ายสุดผมสรุปง่ายๆ “มหาวิทยาลัยที่เข้าง่ายๆ มักจะเป็นแหล่งรวมของคนง่ายๆ แล้วมันจะชวนให้เราห่วยได้ง่ายๆ ทำให้การรีไทร์ก็เป็นเรื่องง่ายๆ”  สิ่งที่บังเอิญสุดๆ (หรือเปล่า) คือ มหาวิทยาลัยที่เปิดอินเตอร์ หลายแห่ง ที่เข้ากันแบบง่ายๆๆ (คิดต่อเอาเองแล้วกันว่าจะเกิดอะไรขึ้น) ผมเคยไปนั่งถกเถียงกับคณะบดีหลายๆสถาบัน โดยเค้าบอกว่า เค้าก็มีนักศึกษาคุณภาพสูงนะ ผมยอมรับว่า “มีครับ แต่มีน้อย” เพราะถ้าดีจริง ก็ต้องติดอันดับต้นๆของการ จัดอันดับมหาวิทยาลัย สิครับ แต่นี่.... ไม่เห็นฝุ่นเลย 
    จากที่กล่าวมาอย่างยืดยาว เรามาดู แผนผังของ การเรียนแบบอินเตอร์กันเลยดีกว่า


    (1) เริ่มจากอาจารย์ที่ไม่ใช่เจ้าของภาษา (อาจจะเป็นพม่า อินเดีย ฟิลิปปินส์ อื่นๆอีกมากมาย ที่มหาวิทยาลัยจะเสาะแสวงหามาสอนนักศึกษา รวมถึงอาจารย์คนไทย และฝรั่งที่พูดไม่ค่อยชัดด้วย) หากเค้ามีความรู้ 100 เปอร์เซ็นต์ แน่นอนว่า เค้าไม่สามารถพูดถ่ายทอดได้ เต็มที่อยู่แล้ว น่าจะเหลือซัก 80 เปอร์เซ็นต์ (ประมาณๆ) เป็นช่องว่าง 2 อย่างคือ ช่องว่างของภาษาที่ตัวเองไม่ถนัด กับ ช่องว่างของการถ่ายทอด ส่งต่อไปยังขั้นตอนที่ (2)

    (2) เมื่อนักเรียน “คนไทย” รับฟังความรู้จากอาจารย์ ที่พูด “ภาษาอังกฤษ” ก็ไม่สามารถรับได้เต็มๆ เนื่องจาก ช่องว่าง ที่มีอยู่ 2 อย่างได้แก่ ช่องว่าง ทางด้านภาษาที่ไม่ใช่ภาษาแม่ และ ช่องว่างทางด้านสติปัญญา สมาธิ ความตั้งใจของตัวนักเรียนเอง ดังนั้น อาจจะรับได้ประมาณ 70 เปอร์เซ็นต์

    ลองมาคูณกันดูเล่นๆนะครับ จะได้ 100 ไป 80 ไป 70 จะรับได้ 56 เปอร์เซ็นต์ (สูงสุด) พอจะเห็นอะไรบางอย่างไหม ในตอนแรก คนไทย สอนภาษาไทย เด็กไทย ฟังภาษาไทย รับความรู้ได้ประมาณ 72 เปอร์เซ็นต์ (มีอยู่ 2 ช่องว่าง) แต่พอมาดูในลักษณะของอินเตอร์ ชาวต่างชาติที่ไม่ใช่เจ้าของภาษา พูดเป็นภาษาอังกฤษ ให้คนไทย ฟัง จะเหลืออยู่ 56 เปอร์เซ็นต์ (มีอยู่ 4 ช่องว่าง) นี่คือบทสรุปเล็กๆที่น่าจะพอมองออกว่า สิ่งที่น้องๆหลายคนหวังว่าอยากเรียนอินเตอร์ เพื่อที่จะได้ทั้งความรู้ และ ภาษา ผม รุ่งโรจน์ ธัญญมนูกูล ขอยืนยันเลยว่า จากประสบการณ์ของครูที่สอนนักเรียนมาเป็นพันๆคน คนที่เรียนอินเตอร์ส่วนใหญ่ “จะไม่ได้ทั้งความรู้ และ ไม่ได้ทั้งภาษาครับ” นี่เป็นคำตอบสุดท้ายที่มาเฉลยว่า ทำไมอาจารย์ระดับศาสตราจารย ์แห่งวิศวะจุฬา ถึงพูดว่า “อย่าเรียนเลย อินเตอร์น่ะ“ ย้ำอีกรอบนะครับ คนที่เรียนอินเตอร์ส่วนใหญ่ “จะไม่ได้ทั้งความรู้ และ ไม่ได้ทั้งภาษาครับ” หากน้องๆอยากจะได้ทั้งความรู้ และได้ทั้งภาษา แนะนำว่า น้องเรียนภาษาไทยเพื่อเก็บความรู้ไปเถิด แล้วจากนั้นไปอยู่เมืองนอกซักปี เดี๋ยวก็จะได้ภาษาเอง อีกทั้งยังประหยัดค่าใช้จ่ายกว่าเรียนอินเตอร์ตลอดสี่ปีด้วย แน่นอนครับ จากตรงจุดนี้ตัวผมอยาก จะย้ำกับคนที่ต้องการเรียนอินเตอร์ บางคนว่า “น้องเอ๋ย นายเรียนเป็นภาษาไทย ภาษาที่นายใช้มาเป็นสิบๆปี ภาษาที่ใช้มา ตั้งแต่ออกมาจากท้องแม่ มันเป็นภาษา ที่นายไม่ต้องมานั่งคิดว่า จะพูดออกไปอย่างไร นายยังเรียนไม่ค่อยจะรอดเลย แล้วถ้าเรียน เป็นภาษาอังกฤษ มันจะเหลืออะไร”

    สรุปประเด็นสุดท้ายแล้ว ก็คือ อย่างนี้การเรียนอินเตอร์ไม่เหมาะเลยหรือ? ผมต้องการบอกว่า “การเรียนอินเตอร์ เหมาะสำหรับแค่คนบางคนครับ” เหมาะสำหรับบางคน ที่ฝันเป็นภาษาอังกฤษ เหมาะสำหรับบางคน ที่พูดภาษาอังกฤษออกมาได้แบบ ไม่ต้องคิดแปลจากไทยเป็นภาษาอังกฤษ เหมาะสำหรับบางคน ที่เจอฝรั่งแล้วสามารถพูดคุยกับเค้าได้ในทุกๆเรื่อง (ย้ำว่าทุกๆเรื่องนะครับ ไม่ใช่แค่ถามได้แค่ว่า ว๊อทอาร์ยูดูอิ้ง หรือ ดิสอีสอะบุ๊ค นะ) เหมาะสำหรับคนที่โกรธ แล้วด่าออกมาเป็นภาษาอังกฤษ เพราะนั่นหมายถึง คนเหล่านี้สามารถใช้ภาษาอังกฤษได้คล่องแคล่ว คล้ายกับภาษาแม่ ที่คนจำพวกนี้เหมาะ เพราะว่า ช่องว่าง ที่เคยมี 4 จะลดลงไปครับ (ย้อนกลับไปอ่านเรื่องช่องว่างของการเรียนแบบอินเตอร์) หากน้องๆคนไหน ไม่มีอาการอย่างที่กล่าวมาเลย บอกตามตรงเลยครับว่า “อย่าเรียนอินเตอร์เลย” ดังนั้นความคิดเริ่มต้นที่ว่า เราจะเรียนอินเตอร์ที่ไหนดีที่สุด เปลี่ยนใหม่ โดยเริ่มคิดจากคำว่า เรียนอินเตอร์เหมาะกับเราไหม? ก่อน อย่าเอาความที่ว่า "อยากเรียนอินเตอร์ และ ดูว่าเข้าได้ง่ายๆ" มาปิดบัง ความจริงอย่างที่ครูกล่าวมาเลย ลูกศิษย์ทั้งหลาย....

www.acknowledge-centre.com

อัพเดทล่าสุด