ตอบคำถาม อาหารเจและมังสวิรัติ ต่างกันอย่างไร MUSLIMTHAIPOST

 

ตอบคำถาม อาหารเจและมังสวิรัติ ต่างกันอย่างไร


1,112 ผู้ชม


ตอบคำถาม อาหารเจและมังสวิรัติ ต่างกันอย่างไร


อาหารเจกับมังสวิรัติต่างกันอย่างไร?

ทั้งอาหารเจและอาหารมังสวิรัติ เป็นอาหารที่ไม่มีเนื้อสัตว์เหมือนกัน แต่มีความแตกต่างกันในรายละเอียด ดังนี้
     อาหารเจ นอกจากไม่มีเนื้อสัตว์แล้ว ยังมีข้อห้ามว่าต้องไม่มี หอม กระเทียม ต้นกุยช่าย ผักชี และเครื่องเทศที่เผ็ดร้อน เพราะถือว่าอาหารดังกล่าวทำให้เกิดกำหนัด
วัตถุดิบที่เป็นหลักในการประกอบอาหารเจ คือ แป้ง เต้าหู้ ซีอิ๊ว ถั่วเหลือง ถั่วต่าง ๆ และผักนานาชนิด ยกเว้นผักที่กล่าวมาแล้ว


     นอกจากนี้ผู้กินเจที่เคร่งครัด น้ำมันพืชที่ใช้ต้องบริสุทธิ์ 100 % จะไม่ใช้น้ำมันพืชสูตรผสม เช่น น้ำมันรำข้าวปนน้ำมันถั่วเหลือง ภาชนะที่ใส่อาหารเจก็ต้องเตรียมไว้เป็นพิเศษ ไม่ใช้ปะปนกับภาชนะที่ใส่เนื้อสัตว์
     ปัจจุบันอาหารเจได้รับการพัฒนารูปแบบขึ้นมาก มีการทำ “หมี่กึน” ที่ทำมาจากแป้งสาลีดัดแปลง ให้มีรูปร่างหน้าตาเหมือนเนื้อสัตว์ นำมาปรุงอาหาร สำหรับผู้ที่ยังไม่สามารถตัดขาดจากเนื้อสัตว์ได้เด็ดขาด


     อาหารเจจะกินกันในระหว่างเทศกาลกินเจ คือ ช่วงระหว่างวันขึ้น 1-9 ค่ำ เดือน 9 (ตามปฏิทินจีนราว เดือนตุลาคม) ระยะเวลาประมาณ ๑๐ วัน หรือกินในระยะเวลาใดเวลาหนึ่ง
     ผู้ที่กินเจเชื่อว่าการกินเจเป็นการได้บุญ จะส่งผลให้ชีวิตประสบความสุขความเจริญ ทั้งเป็นการต่อชีวิตให้ยืนยาวต่อไป
     ส่วนอาหารมังสวิรัติ โดยรูปศัพท์หมายถึงการงดเว้นเนื้อสัตว์ (มังสะ=เนื้อสัตว์ วิรัติ=การงดเว้น) ภาษาอังกฤษเรียกว่า Vegetarian
    
ผู้บริโภคอาหารมังสวิรัติมี 2 กลุ่ม
          กลุ่มแรก ไม่บริโภคเนื้อสัตว์ แต่ยังคงบริโภคไข่และนม
          กลุ่มที่สอง ไม่บริโภคเนื้อสัตว์ รวมทั้งไม่บริโภคไข่และนมด้วย
     อาหารมังสวิรัติงดเนื้อสัตว์เหมือนกับอาหารเจ รวมทั้งเครื่องปรุงรสที่ทำมาจากสัตว์ เช่น กะปิ น้ำปลา
แต่ต่างกับอาหารเจตรงที่ไม่ห้ามบริโภคกระเทียม หัวหอม ต้นกุยช่าย หรือผักที่มีกลิ่นแรงตลอดจนเครื่องเทศที่เผ็ดร้อน
     อาหารมังสวิรัติสามารถบริโภคได้ทั้งปี ไม่มีเทศกาลเหมือนอาหารเจ ผู้ที่กินอาหารมังสวิรัติเชื่อว่าจะทำให้ร่างกายมีสุขภาพแข็งแรง เพราะได้งดเนื้อสัตว์ซึ่งมีไขมันและสารอื่น ๆ มากมาย นอกจากนั้น ยังมีประโยชน์ต่อจิตใจเพราะไม่จะเบียดเบียนชีวิตสัตว์ทั้งหลาย


ที่มา:

“ซองคำถาม” สรุปมาจากข้อเขียนของ สิริพันธุ์ จุลกรังคะ นิตยสาร “ผู้หญิง” ฉบับที่ 198 เดือนพฤศจิกายน พ.ศ. 2536

“ข้อมูลสนับสนุนจากหนังสือ ๑๐๘ ซองคำถาม / สำนักพิมพ์สารคดี”


อัพเดทล่าสุด