การจัดบรรยากาศในห้องเรียนของเด็กปฐมวัย กล่าวถึง การจัดบรรยากาศในห้องเรียน - เอกสารอ้างอิง MUSLIMTHAIPOST

 

การจัดบรรยากาศในห้องเรียนของเด็กปฐมวัย กล่าวถึง การจัดบรรยากาศในห้องเรียน - เอกสารอ้างอิง


2,831 ผู้ชม


การจัดบรรยากาศในห้องเรียนของเด็กปฐมวัย กล่าวถึง การจัดบรรยากาศในห้องเรียน - เอกสารอ้างอิง

บรรยากาศการจัดกิจกรรมในห้องปฐมวัย

การจัดสภาพแวดล้อมเพื่อส่งเสริมการเรียนรู้ให้แก่เด็กปฐมวัย
        ข้อมูลที่เกี่ยวข้องจากทั้งการวิจัยและการวิเคราะห์ของวงการวิชาการต่างๆ ที่เกี่ยวข้องกับสมองและการเรียนรู้ของเด็ก มีประเด็นที่เด่นชัดว่าการจัดสภาพแวดล้อมที่เหมาะสมเป็นยุทธศาสตร์หนึ่งที่ สำคัญที่จะช่วยทำให้ภาวะของสมองเหมาะสมสำหรับการเรียนรู้ ประเด็นสำคัญที่ได้ประมวลมาจากบทความต่างๆ ที่นัยพินิจ คชภักดี (2548) ได้นำเสนอ มีแนวคิดที่เป็นสาระหลักที่ควรนำมาพิจารณาในการจัดสภาพแวดล้อม ดังนี้
• สมองเป็นอวัยวะที่มีความจำเฉพาะตัว และเป็นผลจากการปฏิสัมพันธ์กันระหว่างสิ่งแวดล้อมต่างๆ จนเกิดเป็นความแตกต่างและ
  หลากหลายของสมองที่สั่งสมมาตลอดชั่วชีวิต
• การเรียนรู้จะเกิดขึ้นได้ดีที่สุดเมื่อสมองเผชิญกับความเครียดและความรู้สึก ผ่อนคลายในปริมาณที่สมดุลกัน คือ การตื่นตัวแบบ
  ผ่อนคลาย ถ้าครูจะนำไปปฏิบัติก็ต้องสร้างบรรยากาศของห้องเรียน ไม่ใช่ให้ปลอดภัยเพียงอย่างเดียว แต่ต้องทำให้เกิดประกาย
  ของความรู้สึกกระหายใคร่รู้
• การปฏิสัมพันธ์ระหว่างสมองกับสิ่งแวดล้อมทำให้ต้องตระหนักว่ายิ่งมีสภาพแวด ล้อมที่สมบูรณ์เท่าใด ก็จะทำให้สมองเกิดการเรียนรู้
  มากขึ้นเท่านั้น
• สภาพแวดล้อมที่สมบูรณ์จะส่งผลให้สมองมีการเชื่อมโยงของระบบประสาทเพิ่มขึ้นถึง 25 เปอร์เซ็นต์ ทั้งในช่วงแรกและช่วงหลัง
  ของชีวิต ดังนั้นสภาพแวดล้อมของคนเราจึงต้องสามารถเปลี่ยนแปลงได้ตลอดเวลาเพื่อให้เกิดความหลากหลาย
• การเรียนรู้ เป็นสิ่งที่เกิดขึ้นตามธรรมชาติ เช่นเดียวกับการหายใจ เพียงแต่การเรียนรู้ถูกยับยั้ง หรือส่งเสริมด้วยปัจจัยบางอย่างได้
• การเชื่อมโยงของระบบประสาทขึ้นอยู่กับปัจจัยของสิ่งแวดล้อม นั่นคือ ลักษณะของโรงเรียน กับสิ่งที่พบในชีวิตประจำวันด้วย
• การควบคุมความเครียด โภชนาการ การออกกำลังกาย และการผ่อนคลาย รวมทั้งการบริหารสุขภาพในรูปแบบอื่นๆ จะต้องเป็น
  ส่วนสำคัญที่ใช้ในการพิจารณาถึงความเหมาะกับการเรียนรู้ด้วย
• เด็กปกติที่มีอายุเท่ากัน อาจมีอายุทางพัฒนาการของทักษะพื้นฐานแตกต่างกันได้ถึงห้าปี
  ฯลฯ
ตัวอย่างการจัดสภาพแวดล้อมเพื่อส่งเสริมการเรียนรู้ให้แก่เด็กปฐมวัย
        นวัตกรรมทางการจัดศึกษาปฐมวัยต่างให้ความสำคัญต่อการจัดสภาพแวดล้อมที่ส่ง เสริมการเรียนรู้ทั้งสิ้น ในที่นี้เป็นตัวอย่างแนวทางการจัดสภาพแวดล้อมของนวัตกรรมทางการศึกษา-ปฐมวัย 3 นวัตกรรม ดังรายละเอียดต่อไปนี้
แนวทางการจัดสภาพแวดล้อมของการจัดการศึกษาวอลดอร์ฟ
        การจัดบรรยากาศภายในห้องเรียน อาคารเรียน และบริเวณโรงเรียนเป็นองค์ประกอบสำหรับการจัดการศึกษาวอลดอร์ฟ ความงดงามของธรรมชาติจะปรากฏอยู่ทั้งบริเวณกลางแจ้งและภายในอาคาร มีการนำภาพศิลปะ งานประติมากรรม กลิ่นหอมของธรรมชาติเข้ามาตกแต่ง ทำให้บรรยากาศของโรงเรียนสงบ และอ่อนโยน ภายใต้แนวคิดที่ว่า เด็กวัย 0 - 7 ปี เป็นวัยที่เรียนรู้จากการเลียนแบบ สิ่งที่เด็กเลียนแบบในช่วงนี้จะฝังลึกลงไปในเด็ก หล่อหลอมเด็กทั้งกายและจิตวิญญาณ และฝังแน่นไปจนโต ทั้งนี้ จากงานวิจัยของวีณา ก๊วยสมบูรณ์ (2542) ได้นำเสนอแนวทางการจัดสภาพแวดล้อมทางกายภาพของการจัดการศึกษาวอลดอร์ฟ ไว้ดังนี้
บริเวณภายในห้อง
        บริเวณภายในห้องควรจะเป็นกันเอง และสว่างไสวเพียงพอ ไม่จ้าจนเกินไปเพราะจะทำให้เกิดความร้อน เด็กจะขาดสมาธิในการเรียน อาจใช้ผ้าม่านเพื่อช่วยกรองแสงให้อยู่ในระดับที่พอเหมาะ ไม่ควรเป็นห้องที่มืดจนเกินไป หากห้องมีลักษณะมืด ควรเปิดไฟ หรือตั้งโคมไฟในบางจุดที่จำเป็น และหลีกเลี่ยงการใช้แสงที่ไม่ใช่แสงธรรมชาติในเวลากลางวัน ใช้เฟอร์นิเจอร์ไม้สีธรรมชาติ สีสันบนผนังห้องเรียนทาสีอ่อนเพื่อสร้างบรรยากาศที่น่าอยู่ ให้เด็กที่ได้มานั่งในห้องได้นึกถึงความสดชื่นยามอยู่ใต้ต้นไม้ ที่ออกดอกบานสะพรั่ง
บริเวณกลางแจ้ง
        บริเวณกลางแจ้งแบ่งออกเป็น 2 ส่วน ส่วนแรกเป็นสนามเด็กเล่นอยู่ติดกับตัวอาคาร โดยจัดให้ใช้ได้ในสภาพภูมิอากาศที่หลากหลาย พื้นผิวควรแข็งเพื่อให้แห้งเร็วเมื่อฝนตก ควรตั้งอยู่ทางด้านที่แดดส่องถึง เพื่อให้เด็กๆ ได้รับแสงแดดยามเช้า บ่อทรายควรอยู่บริเวณนี้ ไม้เลื้อยบนกำแพง ต้นไม้ และแปลงดอกไม้ช่วยให้บริเวณนี้เป็นสถานที่ที่น่าสบายสำหรับเด็กๆ ส่วนที่สองอยู่ห่างจากตัวอาคารใช้เป็นที่เล่นและออกกำลังกาย ควรจัดเป็นอาณาจักรสำหรับเด็ก ทำทางสำหรับรถเข็นและทางสำหรับเดิน โดยออกแบบทางเดินให้โค้งไปมาน่าเดินและผ่านจุดที่น่าสนใจ เนินเขาเป็นจุดเสริมที่มีคุณค่ามากในสนามเด็กจะได้วิ่งขึ้นและลง เป็นการใช้กล้ามเนื้อหลายส่วนอย่างเป็นอิสระและเป็นธรรมชาติ ส่วนหนึ่งของพื้นที่เป็นที่ตั้งของชิงช้า ไม้ลื่น ต้นไม้พุ่มเตี้ยๆ และปลูกไม้ดอกหรือพืชผักสวนครัว
อุปกรณ์ภายในห้องเรียน
        ควรมีอ่างล้างมือขนาดใหญ่ที่อยู่ในระดับต่ำพอที่เด็กๆ จะเอื้อมมือถึงระดับน้ำได้ง่าย ลอยเรือลำเล็กๆ หรือ แช่กระดาษวาดเขียนได้ มีช่องเก็บของส่วนตัวของเด็กแต่ละคน มีตู้ขนาดใหญ่สำหรับเก็บวัสดุที่ครูต้องใช้ มีชั้นสำหรับวางอุปกรณ์และของเล่น อาจมีมุมตุ๊กตา มุมงานช่าง มีโต๊ะสำหรับทำกิจกรรมที่มีน้ำหนักเบาที่เคลื่อนย้ายได้ ของเล่นที่จัดไว้เป็นของเล่นที่มีความสมบูรณ์น้อยแต่ชี้ช่องทางในการเล่นได้ มาก เช่น ตุ๊กตาที่ไม่ได้วาดหน้าไว้อย่างตายตัว นอกจากนี้ยังให้ความสำคัญต่อการเลือกใช้สีน้ำ พู่กัน กระดาษ สีเทียน ขี้ผึ้ง ที่มีคุณสมบัติพิเศษเฉพาะอีกด้วย
อุปกรณ์กลางแจ้ง
        อุปกรณ์ชิ้นสำคัญ คือ บ่อทรายที่บรรจุทรายพูนเหนือระดับดินเล็กน้อย มีม้านั่งยาวตัวเตี้ยล้อมรอบ สิ่งที่ให้ความเพลินเพลินแก่เด็กเป็นพิเศษ คือ บ้านเด็กเล่นที่ไม่ประณีตหรือเสร็จสมบูรณ์จนเกินไป โดยจัดเตรียมโครงไม้และหลังคาไว้เพื่อให้เด็กทำส่วนที่เหลือกันต่อเอง มีลังไม้สำหรับใส่อุปกรณ์กลางแจ้ง อุปกรณ์อื่นๆ ได้แก่ รถเข็นให้เด็กเข็นหรือลากไปตามทางเดิน หรือจะขึ้นไปนั่งก็ได้ มีชิงช้า ไม้ลื่น ราวสำหรับห้อยโหน ตาข่ายปีนป่าย มีอุปกรณ์ก่อสร้าง เช่น กระดาน นั่งร้าน บันได อิฐ พลั่ว ถัง เครื่องมือทำสวน เป็นต้น

แนวทางการจัดสภาพแวดล้อมตามแนวคิดของมอนเตสซอรี่
        จีระพันธุ์ พูลพัฒน์ (2549) ได้รวบรวมลักษณะของสิ่งแวดล้อมในอุดมคติของมอนเตสซอรี่ ซึ่งสามารถนำมาเป็นแนวทางในการจัดสภาพแวดล้อมเพื่อส่งเสริมการเรียนรู้ของ เด็ก-ปฐมวัยไว้ 4 ประเด็น ดังนี้
การจัดสภาพแวดล้อมทางกายภาพ
        ทุกอย่างที่จัดไว้ในห้องเรียนมีขนาดเล็ก เฟอร์นิเจอร์ที่ใช้ โต๊ะ เก้าอี้ วัสดุอุปกรณ์อยู่ในสภาพที่เด็กหยิบออกมาใช้ได้เอง โดยไม่ต้องพึ่งพาผู้ใหญ่ ถือหลักของความจริง ("Reality" principle) นำของจริงมาให้เด็กใช้ เนื่องจากเมื่อเด็กต้องช่วยเหลือตนเอง หรือช่วยดูแลสิ่งแวดล้อม สิ่งที่เด็กต้องเข้าไปทำเป็นของจริง จึงนำของจริงมาใช้ในห้องเรียน เช่น แก้วจริง มีดจริงๆ สำหรับทำอาหาร และทำความสะอาดเฟอร์นิเจอร์จริง ทั้งนี้ ควรให้ได้สัมผัสกับธรรมชาติรอบตัวเพื่อช่วยพัฒนาทั้งกายและจิต ให้เด็กมีความสนุกสนานในการสำรวจ และจัดการกับสิ่งต่างๆ ในธรรมชาติ มีสิ่งช่วยกระตุ้นเด็กในห้องเรียน อาจจะเป็นภาพติดผนัง โต๊ะสำรวจธรรมชาติ สัตว์เลี้ยง เป็นต้น
การจัดสภาพแวดล้อมเพื่อความสุนทรียะ
        คำว่า สุนทรียะ หมายถึง สภาพแวดล้อมของโรงเรียนที่ควรมีความสวยงาม การตกแต่งที่เจริญหูเจริญตา มีสีสันไม่ร้อนแรง เพื่อให้เด็กซึมซับความงามของสิ่งต่างๆ รอบตัว ความสวยงามดังกล่าวเชื่อมต่อกับความมีระเบียบ เด็กได้รับการกระตุ้นที่จะทำให้สิ่งแวดล้อมทางสุนทรียะมีคุณภาพและมีระเบียบ ด้วย ของทุกอย่างในห้องเรียนจะมีที่อยู่และกำหนดไว้อยู่แล้ว ของเหล่านี้จะวางในสภาพที่เด็กหยิบจับได้เอง ดังนั้น ความมีระเบียบและความงดงามหมดจดจะปรากฏให้เห็น วัสดุต่างที่ใช้ในห้องเรียนควรทำความสะอาดได้ง่าย หรือล้างได้เพื่อจะได้ฝึกให้เด็กมีนิสัยรักความสะอาด ซึ่งเป็นนิสัยที่สามารถสร้างให้เกิดขึ้นในช่วงเวลาหลักของชีวิต (Sensitive periods) และสิ่งเหล่านี้จะติดตัวไปจนโต ทั้งนี้ สภาพแวดล้อมทั้งมวลที่กล่าวมาแล้วจะช่วยสร้างให้เกิดบรรยากาศของความสงบและ สันติ
การจัดสภาพแวดล้อมเพื่อการใช้ปัญญา
        จุดแรกที่ต้องคำนึงถึงเกี่ยวกับอุปกรณ์เพื่อการสอนที่จัดไว้ในสิ่งแวดล้อม จะต้องช่วยพัฒนาการใช้ปัญญาของเด็กผ่านกิจกรรมการสำรวจ เพราะเป็นวิถีทางที่เด็กเรียนรู้ตามขั้นตอนของพัฒนาการ จุดที่สองเกี่ยวกับอุปกรณ์ คือ ในห้องเรียนจะมีอุปกรณ์แต่ละชนิดเพียงชุดเดียว เพื่อให้เด็กได้เรียนรู้เรื่องการแบ่งปัน การให้ความเคารพ และเห็นคุณค่าของวัสดุอุปกรณ์ ลักษณะเด่นเฉพาะของห้องเรียนมอนเตสซอรี่ คือ สถานการณ์ควบคุมความมีอิสระโดยการจัดอุปกรณ์ เด็กมีอิสระในการทดลองกับชุดอุปกรณ์ ได้เรียนรู้ที่จะใช้อุปกรณ์ตามจุดมุ่งหมายของอุปกรณ์แต่ละชิ้น ใช้ด้วยความระมัดระวัง และเคารพในอุปกรณ์ที่ใช้ รู้จักหมุนเวียนกันในการใช้อุปกรณ์ คืนอุปกรณ์สู่ที่เดิมในรูปแบบเดิมที่พร้อมสำหรับคนอื่นจะใช้
การจัดสภาพแวดล้อมทางสังคมและอารมณ์
        เด็กได้รับประสบการณ์จากสิ่งแวดล้อมที่จัดเอาไว้เพื่อสนองความต้องการของเขา เด็กได้เรียนรู้ที่จะให้ความเคารพต่อผู้ใหญ่ ต่อเพื่อน และได้รับความเคารพจากผู้อื่นภายใต้สภาพแวดล้อมทางสังคมที่มีลักษณะพิเศษ คือ การจัดกลุ่มในแนวตั้ง เป็นการจัดกลุ่มคละอายุ เพื่อให้เด็กมีโอกาสดูแลคนอื่น และได้รับการดูแลจากคนอื่น จุดเด่นอีกเรื่องหนึ่งคือ บรรยากาศที่มีระเบียบทำให้เด็กเคารพข้อตกลงภายใน (Inner rules) เด็กมีอิสระในการเลือกงาน เลือกที่นั่งทำงาน และเพื่อน เด็กจะซึมซับสภาพที่เงียบ มีระเบียบ สงบ ในบรรยากาศของความร่วมมือ ครูจะทำหน้าที่เป็นผู้อำนวยความสะดวกและผู้ประสานงาน สังเกตเด็กในขณะที่ดูแลกลุ่มเด็ก และดูแลเด็กแต่ละวัยด้วยในเวลาเดียวกัน สาธิตการใช้อุปกรณ์ สังเกตและบันทึกการทำงานของเด็กกับอุปกรณ์และพฤติกรรมอื่นๆ

แนวทางการจัดสภาพแวดล้อมตามหลักสูตรจุฬาลักษณ์
        น้อมศรี เคท และคณะ (2549) ได้จัดทำหลักสูตรจุฬาลักษณ์เพื่อเป็นแนวทางในการจัดประสบการณ์ให้แก่เด็ก อนุบาลขององค์กรปกครองส่วนท้องถิ่นโดยใช้แนวคิดการจัดประสบการณ์การเรียนรู้ แบบบูรณาการ การจัดศูนย์การเรียน และการทำโครงงาน หลักสูตรนี้ได้นำเสนอเกี่ยวกับการจัดสภาพแวดล้อมที่ส่งเสริมการเรียนรู้ให้ แก่เด็กปฐมวัย ดังนี้
การจัดสภาพแวดล้อมทางกายภาพ

1) การจัดสภาพแวดล้อมภายนอกห้องเรียน
        จัดอาคารสถานที่และบริเวณโรงเรียนให้สะอาด ปลอดภัย สวยงาม สร้างบรรยากาศให้ปลอดโปร่ง สบายใจ ใกล้ชิดธรรมชาติ และกลมกลืนกับสภาพแวดล้อมในชุมชน มีเครื่องเล่นสนามที่ตั้งในตำแหน่งที่ปลอดภัย อยู่ในสภาพดี เครื่องเล่นควรทำจากวัสดุธรรมชาติที่หาได้ง่ายในท้องถิ่น จัดบริเวณสำหรับเล่นให้มีความหลากหลายทั้งในร่มและกลางแจ้ง มีพื้นผิวแตกต่างกัน เช่น หญ้า ดิน ปูน ไม้ โดยคำนึงถึงความปลอดภัยและการดูแลรักษา มีสถานที่ประกอบอาหารเป็นสัดส่วน สะอาด จัดสถานที่และเครื่องใช้ในการรับประทานอาหารให้สะอาด และสวยงาม จัดน้ำดื่มให้พอเพียงให้เด็กดื่มได้โดยสะดวก มีห้องส้วมเพียงพอ โดยให้มีขนาดและตำแหน่งที่ตั้งที่เหมาะสมกับวัยของเด็ก ดูแลให้สะอาดถูกสุขลักษณะ มีอุปกรณ์และสถานที่สะอาดและเหมาะสมในการทำความสะอาดร่างกาย เช่น ล้างมือ ล้างหน้า แปรงฟัน รวมทั้งจัดถังขยะให้เพียงพอและเหมาะสมกับการใช้งาน และดูแลรักษาด้วย
2) การจัดสภาพแวดล้อมภายในห้องเรียน
        ห้องเรียนควรมีอากาศถ่ายเทสะดวก มีแสงสว่างเพียงพอและสม่ำเสมอทั่วห้อง โต๊ะเก้าอี้มีขนาดเหมาะสมกับวัย น้ำหนักเบาให้เด็กเคลื่อนย้ายได้โดยสะดวกเด็กแต่ละคนมีเครื่องใช้ส่วนตัวใน การทำความสะอาดร่างกาย และเครื่องใช้ในการนอน โดยจัดเก็บเป็นระเบียบ สวยงาม ใช้วัสดุอุปกรณ์ในการตกแต่งห้องเรียนให้สวยงาม เลือกสรรวัสดุอุปกรณ์และสื่อการเรียนรู้ที่มีความสร้างสรรค์ ทนทาน หลากหลายมาใช้งาน โดยคำนึงถึงความคุ้มค่าและความทนทาน มีการจัดระบบการวางวัสดุอุปกรณ์ให้เด็กหยิบใช้ได้โดยสะดวก มีการตรวจสอบความสะอาด ความพร้อมในการใช้งานของวัสดุอุปกรณ์และสื่ออย่างสม่ำเสมอ เลือกสถานที่ในการเรียนรู้ให้เหมาะกับลักษณะของกิจกรรม เช่น กิจกรรมที่สงบอยู่ไกลจากกิจกรรมที่ใช้เสียง กิจกรรมที่ต้องการแสงสว่างอยู่ใกล้กับหน้าต่าง เป็นต้น จัดการจราจรทั้งในและนอกห้องเรียนให้สะดวกต่อการเคลื่อนไหวของเด็กขณะทำ กิจกรรม สิ่งสำคัญคือสร้างบรรยากาศในห้องเรียนให้อบอุ่น เป็นมิตร และเต็มไปด้วยความรักความเมตตา
การจัดสภาพแวดล้อมทางบุคคล

1) บุคลิกภาพของครู
        บุคลิกภาพของครูช่วยเสริมบรรยากาศในการเรียนรู้ให้เกิดขึ้นในห้องได้เป็น อย่างดี ครูควรยิ้มแย้มแจ่มใส มีกิริยามารยาทแบบไทย แต่งกายเหมาะสมกับวัฒนธรรมท้องถิ่น ใช้ภาษาถูกต้องชัดเจน เต็มใจตอบคำถามของเด็ก พูดกับเด็กด้วยเสียงนุ่มนวลเป็นมิตร และพูดชี้แจงเหตุผลแก่เด็กด้วยน้ำเสียงปกติ
2) การจัดการชั้นเรียนของครู
        ครูควรใส่ใจดูแลให้เด็กอยู่ร่วมกันในห้องเรียนอย่างมีความสุข พร้อมทั้งเรียนรู้สิทธิและหน้าที่ของตนด้วย จึงต้องมีการจัดทำข้อตกลงร่วมกัน แบ่งหน้าที่ความรับผิดชอบ มีแนวทางปฏิบัติเมื่อเด็กไม่ทำตามข้อตกลง และแก้ไขปัญหาเมื่อมีข้อขัดแย้งเกิดขึ้น
3) การสร้างความสัมพันธ์ระหว่างครูกับเด็ก
        ความสัมพันธ์อันดีระหว่างครูกับเด็กช่วยเสริมสร้างให้เด็กรู้สึกอบอุ่น ปลอดภัย สร้างความมั่นใจในตนเอง และเกิดความรู้สึกที่ดีต่อตนเอง ครูควรสร้างความสัมพันธ์กับเด็กด้วยท่าทาง เช่น ยิ้ม สัมผัส ทักทายและพูดคุยกับเด็กทั้งเมื่อเด็กมาถึง ขณะรับประทานอาหาร เตรียมตัวทำกิจกรรม หรือเด็กลากลับบ้าน ดูแลเด็กที่มีปัญหาสุขภาพ ไม่สบาย หรือต้องการกำลังใจ รับฟังเมื่อเด็กพูดด้วย ให้โอกาสเด็กที่ต้องการพูดคุยกับครู ตอบเมื่อเด็กถาม และยอมรับการช่วยเหลือของเด็ก
4) การสร้างความสัมพันธ์ระหว่างผู้ปกครองและโรงเรียน
        ครูมีบทบาทสำคัญยิ่งในการสนับสนุนและส่งเสริมให้เกิดความสัมพันธ์ระหว่างผู้ ปกครองกับโรงเรียน ครูจึงควรสร้างความสัมพันธ์กับผู้ปกครองด้วยการจัดทำป้ายนิเทศซึ่งมีสาระ เกี่ยวกับเด็ก ผู้ปกครอง ชุมชน และโรงเรียน จัดทำจดหมายข่าวถึงผู้ปกครอง กระตุ้นให้ผู้ปกครองแลกเปลี่ยนเรียนรู้กับทางโรงเรียน สนับสนุนให้ผู้ปกครองเยี่ยมชั้นเรียนของบุตรหลาน จัดประชุมสัมมนาระหว่างผู้ปกครองและครู รวมทั้งเปิดโอกาสให้ผู้ปกครองได้ทำงานอาสาสมัครร่วมกับทางโรงเรียน

 

https://www.banphonngam.com/

 

การจัดบรรยากาศในชั้นเรียน
 
บรรยากาศในชั้นเรียนมีส่วนสำคัญในการส่งเสริมความสนใจใคร่รู้ใคร่เรียนให้แก่ผู้เรียน   ชั้นเรียนที่มีบรรยากาศเต็มไปด้วยความอบอุ่น ความเห็นอกเห็นใจ และความเอื้อเฟื้อเผื่อแผ่ต่อกันและกัน ย่อมเป็นแรงจูงใจภายนอกที่กระตุ้นให้ผู้เรียนรักการเรียน รักการอยู่ร่วมกันในชั้นเรียน และช่วยปลูกฝังคุณธรรม จริยธรรม ความประพฤติอันดีงามให้แก่นักเรียน นอกจากนี้การมีห้องเรียนที่มีบรรยากาศแจ่มใส สะอาด สว่าง กว้างขวางพอเหมาะ มีโต๊ะเก้าอี้ที่เป็นระเบียบเรียบร้อย มีมุมวิชาการส่งเสริมความรู้ มีการตกแต่งห้องให้สดใส ก็เป็นอีกสิ่งหนึ่งที่ส่งผลทำให้ผู้เรียนพอใจมาโรงเรียน เข้าห้องเรียนและพร้อมที่จะมีส่วนร่วมในกิจกรรมการเรียนการสอน ดังนั้น ผู้เป็นครูจึงต้องมีความรู้ความเข้าใจเกี่ยวกับความหมาย ความสำคัญ ประเภทของบรรยากาศ หลักการจัดบรรยากาศในชั้นเรียนและการจัดการเรียนรู้อย่างมีความสุข เพื่อพัฒนาผู้เรียนให้มีลักษณะตามที่หลักสูตรได้กำหนดไว้
 
ความหมายของการจัดบรรยากาศในชั้นเรียน
                การจัดบรรยากาศในชั้นเรียน   หมายถึง   การจัดสภาพแวดล้อมในชั้นเรียนให้เอื้ออำนวยต่อการเรียนการสอน เพื่อช่วยส่งเสริมให้กระบวนการเรียนการสอนดำเนินไปอย่างมีประสิทธิภาพ และช่วยสร้างความสนใจใฝ่รู้ ใฝ่ศึกษา ตลอดจนช่วยสร้างเสริมความมีระเบียบวินัยให้แก่ผู้เรียน
 
ความสำคัญของการจัดบรรยากาศในชั้นเรียน
                จากการสำรวจเอกสารงานวิจัย (สำนักงานคณะกรรมการการศึกษาเอกชน. 2531: ค) ได้ค้นพบว่าบรรยากาศในชั้นเรียนเป็นส่วนหนึ่งที่ส่งเสริมให้นักเรียนเกิดความสนใจในบทเรียนและเกิดแรงจูงใจในการเรียนรู้เพิ่มมากขึ้น การสร้างบรรยากาศที่อบอุ่น ที่ครูให้ความเอื้ออาทรต่อนักเรียน ที่นักเรียนกับนักเรียนมีความสัมพันธ์ฉันท์มิตรต่อกันที่มีระเบียบ มีความสะอาด เหล่านี้เป็นบรรยากาศที่นักเรียนต้องการ ทำให้นักเรียนมีความสุขที่ได้มาโรงเรียนและในการเรียนร่วมกับเพื่อนๆ ถ้าครูผู้สอนสามารถสร้างความรู้สึกนี้ให้เกิดขึ้นต่อนักเรียนได้ ก็นับว่าครูได้ทำหน้าที่ในการพัฒนาเยาวชนของประเทศชาติให้เติบโตขึ้นอย่างสมบรูณ์ทั้งทางด้านสติปัญญา ร่างกาย อารมณ์ และสังคม โดยแท้จริง ดังนั้น การสร้างบรรยากาศในชั้นเรียนจึงมีความสำคัญอย่างยิ่ง ซึ่งประมวลได้ดังนี้
1.       ช่วยส่งเสริมให้การเรียนการสอนดำเนินไปอย่างราบรื่น เช่น ห้องเรียนที่ไม่คับแคบจรเกินไป ทำให้นักเรียนเกิดความคล่องตัวในการทำกิจกรรม
2.       ช่วยสร้างเสริมลักษณะนิสัยที่ดีงามและความมีระเบียบวินัยให้แก่ผู้เรียน เช่น ห้องเรียนที่สะอาด ที่จัดโต๊ะเก้าอี้ไว้อย่างเป็นระเบียบ มีความเอื้อเฟื้อเผื่อแผ่ต่อกัน นักเรียนจะซึมซับสิ่งเหล่านี้ไว้โดยไม่รู้ตัว
3.        ช่วยส่งเสริมสุขภาพที่ดีให้แก่ผู้เรียน เช่น มีแสงสว่างที่เหมาะสม มีที่นั่งไม่ใกล้กระดานดำมากเกินไป มีขนาดโต๊ะและเก้าอี้ที่เหมาะสมกับวัย รูปร่างของนักเรียนนักศึกษา ฯลฯ
4.       ช่วยส่งเสริมการเรียนรู้ และสร้างความสนใจในบทเรียนมากยิ่งขึ้น เช่น การจัดมุมวิชาการต่าง ๆ การจัดป้ายนิเทศ การตกแต่งห้องเรียนด้วยผลงานของนักเรียน
5.       ช่วยส่งเสริมการเป็นสมาชิกที่ดีของสังคม เช่น การฝึกให้มีมนุษย์สัมพันธ์ที่ดีต่อกัน การฝึกให้มีอัธยาศัยไมตรีในการอยู่ร่วมกัน ฯลฯ
6.       ช่วยสร้างเจตคติที่ดีต่อการเรียนและการมาโรงเรียน เพราะในชั้นเรียนมีครูที่เข้าใจนักเรียน ให้ความเมตตาเอื้ออารีต่อนักเรียน และนักเรียนมีความสัมพันธ์อันดีต่อกัน
กล่าวโดยสรุปได้ว่า การจัดบรรยากาศในชั้นเรียนจะช่วยส่งเสริมและสร้างเสริมผู้เรียนใน
ด้านสติปัญญา ร่างกาย อารมณ์ และสังคมได้เป็นอย่างดี ทำให้นักเรียนเรียนด้วยความสุข รักการเรียน และเป็นคนใฝ่เรียนใฝ่รู้ในที่สุด
 
บรรยากาศที่พึงปรารถนาในชั้นเรียน
                ในการจัดการเรียนการสอน ผู้สอนต่างปรารถนาให้จัดกิจกรรมการเรียนการสอนดำเนินไปอย่างราบรื่น และผู้เรียนเกิดพฤติกรรมตามจุดประสงค์ที่กำหนดไว้ในหลักสูตร บรรยากาศในชั้นเรียนมีส่วนสำคัญในการส่งเสริมให้ความปรารถนานี้เป็นจริง พรรณี ชูทัย (2522 : 261 – 263)
กล่าวถึงบรรยากาศในชั้นเรียนที่จะนำไปสู่ความสำเร็จในการสอน จัดแบ่งได้ 6 ลักษณะ สรุปได้ดังนี้
1.       บรรยากาศที่ท้าทาย (Challenge)   เป็นบรรยากาศที่ครูกระตุ้นให้กำลังใจนักเรียนเพื่อให้ประสบผลสำเร็จในการทำงาน นักเรียนจะเกิดความเชื่อมั่นในตนเองและพยายามทำงานให้สำเร็จ
2.       บรรยากาศที่มีอิสระ (Freedom) เป็นบรรยากาศที่นักเรียนมีโอกาสได้คิด ได้ตัดสินใจเลือกสิ่งที่มีความหมายและมีคุณค่า รวมถึงโอกาสที่จะทำผิดด้วย โดยปราศจากความกลัวและวิตกกังวล บรรยากาศเช่นนี้จะส่งเสริมการเรียนรู้ ผู้เรียนจะปฏิบัติกิจกรรมด้วยความตั้งใจโดยไม่รู้สึกตึงเครียด
3.       บรรยากาศที่มีการยอมรับนับถือ (Respect) เป็นบรรยากาศที่ครูรู้สึกว่านักเรียนเป็นบุคคลสำคัญ มีคุณค่า และสามารถเรียนได้ อันส่งผลให้นักเรียนเกิดความเชื่อมั่นในตนเองและเกิดความยอมรับนับถือตนเอง
4.       บรรยากาศที่มีความอบอุ่น (Warmth) เป็นบรรยากาศทางด้านจิตใจ ซึ่งมีผลต่อความสำเร็จในการเรียน การที่ครูมีความเข้าใจนักเรียน เป็นมิตร ยอมรับให้ความช่วยเหลือ จะทำให้นักเรียนเกิดความอบอุ่น สบายใจ รักครู รักโรงเรียน และรักการมาเรียน  
5.       บรรยากาศแห่งการควบคุม (Control) การควบคุมในที่นี้ หมายถึง การฝึกให้นักเรียนมีระเบียบวินัย มิใช่การควบคุม ไม่ให้มีอิสระ ครูต้องมีเทคนิคในการปกครองชั้นเรียนและฝึกให้นักเรียนรู้จักใช้สิทธิหน้าที่ของตนเองอย่างมีขอบเขต
6.       บรรยากาศแห่งความสำเร็จ (Success) เป็นบรรยากาศที่ผู้เรียนเกิดความรู้สึกประสบความสำเร็จในงานที่ทำ ซึ่งส่งผลให้ผู้เรียนเกิดการเรียนรู้ได้ดีขึ้น ผู้สอนจึงควรพูดถึงสิ่งที่ผู้เรียนประสบความสำเร็จให้มากกว่าการพูดถึงความล้มเหลว  เพราะการที่คนเราคำนึงถึงแต่สิ่งที่ล้มเหลว เพราะการที่คนเราคำนึงถึงแต่ความล้มเหลวจะมีผลทำให้ความคาดหวังต่ำ ซึ่งไม่ส่งเสริมให้การเรียนรู้ดีขึ้น
               บรรยากาศทั้ง 6 ลักษณะนี้ มีผลต่อความสำเร็จของผู้สอนและความสำเร็จของผู้เรียนผู้สอนควรสร้างให้เกิดในชั้นเรียน
 
ประเภทของบรรยากาศในชั้นเรียน
                สุมน   อมรวิวัฒน์ (2530 : 13)   ได้สรุปผลการวิจัยเรื่องสภาพในปัจจุบันและปัญหาด้านการเรียนการสอนของครูประถมศึกษาไว้ สรุปได้ว่า บรรยากาศในชั้นเรียนต้องมีลักษณะทางกายภาพที่อำนวยความสะดวกต่อการจัดกิจกรรมการเรียนรู้สร้างความสนใจใฝ่รู้และศรัทธาต่อการเรียน นอกจากนี้ปฏิสัมพันธ์ระหว่างกลุ่มนักเรียนและระหว่างครูกับนักเรียน ความรักและศรัทธาที่ครูและนักเรียนมีต่อกัน การเรียนที่รื่นรมย์ปราศจากความกลัวและวิตกกังวล สิ่งเหล่านี้จะช่วยสร้างบรรยากาศการเรียนได้ดี ดังนั้นจึงสามารถแบ่งประเภทของบรรยากาศในชั้นเรียนได้ 2 ประเภทคือ
1.       บรรยากาศทางกายภาพ
2.       บรรยากาศทางจิตวิทยา
บรรยากาศทั้ง 2  ประเภทนี้ มีส่วนส่งเสริมการเรียนรู้ทั้งสิ้น
 
 
บรรยากาศทางกายภาพ (Physical Atmosphere)
บรรยากาศทางกายภาพหรือบรรยากาศทางด้านวัตถุ หมายถึง การจัดสภาพแวดล้อมต่าง ๆ
ภายในห้องเรียนให้เป็นระเบียบเรียบร้อย น่าดู มีความสะอาด มีเครื่องใช้ และสิ่งอำนวยความสะดวกต่าง ๆ ที่จะส่งเสริมให้การเรียนของนักเรียนสะดวกขึ้น เช่น ห้องเรียนมีขนาดเหมาะสม แสงเข้าถูกทาง และมีแสงสว่างเพียงพอ กระดานดำมีขนาดเหมาะสม โต๊ะเก้าอี้มีขนาดเหมาะสมกับวัยนักเรียน เป็นต้น
              
                บรรยากาศทางจิตวิทยา (Psychological Atmosphere)
                บรรยากาศทางจิตวิทยา หมายถึง บรรยากาศทางด้านจิตใจที่นักเรียนรู้สึกสบายใจ มีความอบอุ่น มีความเป็นกันเอง มีความสัมพันธ์อันดีต่อกัน และมีความรักความศรัทธาต่อผู้สอน ตลอดจนมีอิสระในความกล้าแสดงออกอย่างมีระเบียบวินัยในชั้นเรียน
 
การจัดบรรยากาศทางด้านกายภาพ
                การจัดบรรยากาศทางด้านกายภาพ เป็นการจัดวัสดุอุปกรณ์สิ่งอำนวยความสะดวกต่าง ๆ ที่เกี่ยวกับการเรียนการสอน รวมตลอดไปถึงสิ่งต่าง ๆ ที่เสริมความรู้ เช่น ป้ายนิเทศ มุมวิชาการ ชั้นวางหนังสือ โต๊ะวางสื่อการสอน ฯลฯ ให้เป็นระเบียบเรียบร้อย ทำให้เกิดความสบายตา สบายใจ แก่ผู้พบเห็น ถ้าจะกล่าวโดยละเอียดแล้ว การจัดบรรยากาศทางด้ายกายภาพ ได้แก่ การจัดสิ่งต่อไปนี้
1.       การจัดโต๊ะเรียนและเก้าอี้ของนักเรียน
1.1   ให้มีขนาดเหมาะสมกับรูปร่างและวัยของนักเรียน
1.2   ให้มีช่องว่างระหว่างแถวที่นักเรียนจะลุกนั่งได้สะดวก และทำกิจกรรมได้คล่องตัว
1.3   ให้มีความสะดวกต่อการทำความสะอาดและเคลื่อนย้ายเปลี่ยนรูปแบบที่นั่งเรียน
1.4   ให้มีรูปแบบที่ไม่จำเจ เช่น อาจเปลี่ยนเป็นรูปตัวที ตัวยู รูปครึ่งวงกลม หรือ เข้ากลุ่มเป็นวงกลม ได้อย่างเหมาะสมกับกิจกรรมการเรียนการสอน
1.5   ให้นักเรียนที่นั่งทุกจุดอ่านกระดานดำได้ชัดเจน
1.6   แถวหน้าของโต๊ะเรียนควรอยู่ห่างจากกระดานดำพอสมควร ไม่น้อยกว่า 3 เมตร ไม่ควรจัดโต๊ะติดกระดานดำมากเกินไป ทำให้นักเรียนต้องแหงนมองกระดานดำ และหายใจเอาฝุ่นชอล์กเข้าไปมาก ทำให้เสียสุขภาพ
 
 
2.       การจัดโต๊ะครู
2.1   ให้อยู่ในจุดที่เหมาะสม อาจจัดไว้หน้าห้อง ข้างห้อง หรือหลังห้องก็ได้ งานวิจัยบางเรื่องเสนอแนะให้จัดโต๊ะครูไว้ด้านหลังห้องเพื่อให้มองเห็นนักเรียนได้อย่างทั่วถึง อย่างไรก็ตาม การจัดโต๊ะครูนั้นขึ้นอยู่กับรูปแบบการจัดที่นั่งของนักเรียนด้วย
2.2   ให้มีความเป็นระเบียบเรียบร้อย ทั้งบนโต๊ะและในลิ้นชักโต๊ะ เพื่อสะดวกต่อการทำงานของครู และการวางสมุดงานของนักเรียน ตลอดจนเพื่อปลูกฝังลักษณะนิสัยความเป็นระเบียบเรียบร้อยแก่นักเรียน
 
3. การจัดป้ายนิเทศ  ป้ายนิเทศไว้ที่ฝาผนังของห้องเรียน ส่วนใหญ่จะติดไว้ที่ข้างกระดาน
ดำทั้ง 2 ข้าง ครูควรใช้ป้ายนิเทศที่เป็นประโยชน์ต่อการเรียนการสอน โดย
3.1    จัดตกแต่งออกแบบให้สวยงาม น่าดู สร้างความสนใจให้แกนักเรียน
3.2    จัดเนื้อหาสาระให้สอดคล้องกับบทเรียน อาจใช้ติดสรุปบทเรียน ทบทวนบทเรียน หรือเสริมความรู้ให้แก่นักเรียน
3.3    จัดให้ใหม่อยู่เสมอ สอดคล้องกับเหตุการณ์สำคัญ หรือวันสำคัญต่าง ๆ ที่นักเรียนเรียนและควรรู้
3.4    จัดติดผลงานของนักเรียนและแผนภูมิแสดงความก้าวหน้าในการเรียนของนักเรียนจะเป็นการให้แรงจูงใจที่น่าสนใจวิธีหนึ่ง
 
แนวการจัดป้ายนิเทศ
เพื่อให้การจัดป้ายนิเทศได้ประโยชน์คุ้มค่า ครูควรคำนึงถึงแนวการจัดป้ายนิเทศในข้อ
ต่อไปนี้
1.       กำหนดเนื้อหาที่จะจัด ศึกษาเนื้อหาที่จะจัดโดยละเอียด เพื่อให้ได้แนวความคิดหลัก หรือสาระสำคัญ เขียนสรุป หรือจำแนกไว้เป็นข้อ ๆ
2.       กำหนดวัตถุประสงค์ในการจัดโดยคำนึงถึงแนวความคิดหลักสาระสำคัญของเรื่องและคำนึงถึงกลุ่มเป้าหมายว่าต้องการเขารู้อะไร แค่ไหน อย่างไร
3.       กำหนดชื่อเรื่อง นับว่าเป็นส่วนสำคัญที่จะช่วยดึงดูดความสนใจของผู้ดู ชื่อเรื่องที่ดีต้องเป็นใจความสั้น ๆ กินใจความให้ความหมายชัดเจน ท้าทาย อาจมีลักษณะเป็นคำถามและชี้ให้เห็นวัตถุประสงค์ในการจัดแผ่นป้าย
4.       วางแผนการจัดคล่าว ๆ ไว้ในใจ ว่าจะใช้วัสดุอะไรบ้าง แล้วจึงช่วยกันจัดหาสิ่งเหล่านั้น อาจเป็นรูปภาพ แผนภาพ ภาพสเก็ตซ์ ของจริง หรือจำลอง การ์ตูน เท่าที่พอจะหาได้
5.       ออกแบบการจัดที่แน่นอน โดยคำนึงถึงสิ่งที่มีอยู่ โดยสเก็ตซ์รูปแบบการจัดลงบนกระดาษรูปสี่เหลี่ยมผืนผ้าคล้ายแผ่นป้าย ว่าจะวางหัวเรื่อง รูปภาพ และสิ่งต่าง ๆ ในตำแหน่งใด  คำบรรยายอยู่ตรงไหน ใช้เส้นโยงอย่างไรจึงจะน่าสนใจ ควรออกแบบสัก 2 - 3 รูแบบ แล้วเลือกเอารูปแบบที่ดีที่สุด
6.       ลงมือจัดเตรียมชิ้นส่วนต่าง ๆ ให้มีขนาดและอยู่ในสภาพพร้อมที่จะขึ้นแสดงบนแผ่นป้ายได้อย่างเหมาะสม หัวเรื่องจะใช้วิธีใด ภาพต้องผนึกไหม คำบรรยายจะทำอย่างไร เตรียมให้พร้อม
7.       ลงมือจัดจริงบนแผ่นป้ายตามรูปแบบที่วางไว้ อาจทดลองวางบนพื้นราบในพื้นที่เท่าแผ่นป้ายก่อน เพื่อกะระยะที่เหมาะสมก่อนนำไปใช้จริง
 
4.   การจัดสภาพห้องเรียน ต้องให้ถูกสุขลักษณะ กล่าวคือ
4.1    มีอากาศถ่ายเทได้ดี มีหน้าต่างพอเพียง และมีประตูเข้าออกได้สะดวก
4.2    มีแสงสว่างพอเหมาะ เพื่อช่วยให้ผู้เรียนอ่านหนังสือได้ชัดเจน เพื่อเป็นการถนอมสายตา ควรใช้ไฟฟ้าช่วย ถ้ามีแสงสว่างน้อยเกินไป
4.3    ปราศจากสิ่งรบกวนต่าง ๆ เช่น เสียง กลิ่น ควัน ฝุ่น ฯลฯ
4.4    มีความสะอาด โดยฝึกให้นักเรียนรับผิดชอบช่วยกันเก็บกวาด เช็ดถู เป็นการปลูกฝังนิสัยรักความสะอาด และฝึกการทำงานร่วมกัน
 
5. การจัดมุมต่าง ๆ ในห้องเรียน   ได้แก่
5.1  มุมหนังสือ ควรมีไว้เพื่อฝึกนิสัยรักการอ่าน ส่งเสริมให้นักเรียนอ่านคล่อง ส่งเสริม      การค้นคว้าหาความรู้   และการใช้เวลาว่างให้เกิดประโยชน์ ครูควรหาหนังสือหลาย ๆ ประเภท ที่มีความยากง่าย เหมาะสมกับวัยของนักเรียนมาให้อ่าน และควรหาหนังสือชุดใหม่มาเปลี่ยนบ่อย ๆ การจัดมุมหนังสือควรจัดให้เป็นระเบียบเรียบร้อยเพื่อสะดวกต่อการหยิบอ่าน
5.2 มุมเสริมความรู้กลุ่มประสบการณ์ต่าง ๆ ควรจัดไว้ให้น่าสนใจ ช่วยเสรมความรู้ ทบทวนความรู้ เช่น มุมภาษาไทย คณิตศาสตร์ วิทยาศาสตร์ สังคมศึกษา มุมความรู้ข่าว เหตุการณ์ ฯลฯ
5.3 มุมแสดงผลงานของนักเรียน ครูควรติดบนป้ายนิเทศ แขวนหรือจัดวางไว้บนโต๊ะ เพื่อให้นักเรียนเกิดความภูมิใจในความสำเร็จ และมีกำลังใจในการเรียนต่อไป อีกทั้งยังสามารถแก้ไขพัฒนาผลงานของนักเรียนให้ดีขึ้นโดยลำดับได้อีกด้วย
5.4 ตู้เก็บสื่อการเรียนการสอน เช่น บัตรคำ แผนภูมิ ภาพพลิก กระดาษ สี กาว ฯลฯ ควรจัดไว้ให้เป็นระเบียบ เป็นสัดส่วน สะดวกต่อการหยิบใช้ อุปกรณ์ชิ้นใดที่เก่าเกินไปหรือไม่ใช้แล้วไม่ควรเก็บไว้ในตู้ให้ดูรกรุงรัง
5.5 การประดับตกแต่งห้องเรียน ครูส่วนใหญ่มักนิยมประดับตกแต่งห้องเรียนด้วยสิ่งต่าง ๆ เช่น ม่าน มู่ลี่ ภาพ ดอกไม้ คำขวัญ สุภาษิต ควรตกแต่งพอเหมาะไม่ให้ดูรกรุงรัง สีสันที่ใช้ไม่ควรฉูดฉาด หรือใช้สีสะท้นแสง อาจทำให้นักเรียนเสียสายตาได้ การประดับตกแต่งห้องเรียน ควรคำนึงถึงหลักความเรียบง่าย เป็นระเบียบ ประหยัด มุ่งประโยชน์ และสวยงาม
5.6 มุมเก็บอุปกรณ์ทำความสะอาด ตลอดจนชั้นวางเครื่องมือเครื่องใช้ของนักเรียน เช่น แปรงสีฟัน ยาสีฟัน แก้วน้ำ กล่องอาหาร ปิ่นโต ฯลฯ ควรจัดวางไว้อย่างเป็นระเบียบ และหมั่นเช็ดถูให้สะอาดเสมอ
 
การจัดห้องเรียนซึ่งเป็นการจัดบรรยากาศที่กล่าวมาทั้งหมด แสดงได้ดังนี้  แสดงได้ดังรูป
 
 
รูปแสดงแผนผังการจัดห้องเรียน
 
 
การจัดบรรยากาศทางด้านจิตวิทยา
                การจัดบรรยากาศทางด้านจิตวิทยาหรือทางด้านจิตใจ จะช่วยสร้างความรู้สึกให้นักเรียนเกิดความสบายใจในการเรียน ปราศจากความกลัวและวิตกกังวล มีบรรยากาศของการสร้างสรรค์เร้าความสนใจ ให้นักเรียนร่วมกิจกรรมการเรียนการสอนด้วยความสุข นักเรียนจะเกิดความรู้เช่นนี้ ขึ้นอยู่กับ “ ครู” เป็นสำคัญ ในข้อเหล่านี้
1.       บุคลิกภาพ
2.       พฤติกรรมการสอน
3.       เทคนิคการปกครองชั้นเรียน
4.       ปฏิสัมพันธ์ในห้องเรียน
แต่ละข้อมีรายละเอียดดังนี้
1.       บุคลิกภาพของครู
สภาพบรรยากาศของห้องเรียนมีส่วนสัมพันธ์กับบุคลิกภาพของครู ครูที่มีบุคลิกภาพดี
เช่น การแต่งกาย การยืน การเดน ท่าทาง น้ำเสียง การใช้คำพูด การแสดงออกทางสีหน้า แววตา ฯลณ เหมาะสมกับการเป็นครู จะช่วยส่งเสริมบรรยากาศการเรียนรู้ได้ดี บุคลิกภาพของครูมีผลต่อความรู้สึกของนักเรียน ดังนี้ (สำนักงานคณะกรรมการการศึกษาเอกชน. 2531 : 8, 13)
 
ครูประเภทที่ 1
ถ้าครูแสดงความเป็นมิตร                              นักเรียนจะอบอุ่นใจ
ถ้าครูยิ้มแย้ม                                            นักเรียนจะแจ่มใส
ถ้าครูมีอารมณ์ขัน                                      นักเรียนจะเรียนสนุก
ถ้าครูกระตือรือร้น                                      นักเรียนจะกระปรี้กระเปร่า
ถ้าครูมีนำเสียงนุ่มนวล                                 นักเรียนจะสุภาพอ่อนน้อม
ถ้าครูแต่งตัวเรียบร้อย                                  นักเรียนจะเคารพ
ถ้าครูให้ความเมตตาปรานี                            นักเรียนจะมีจิตใจอ่อนโยน
ถ้าครูให้ความยุติธรรม                                 นักเรียนจะศรัทธา
ครูประเภทที่ 2
ถ้าครูเข้มงวด                                           นักเรียนจะหงุดหงิด
ถ้าครูหน้านิ่วคิ้วขมวด                                  นักเรียนจะรู้สึกเครียด
ถ้าครูฉุนเฉียว                                           นักเรียนจะอึดอัด
ถ้าครูปั้นปึ่ง                                              นักเรียนจะกลัว
ถ้าครูแต่งกายไม่เรียบร้อย                             นักเรียนจะขาดความเคารพ
ถ้าครูใช้น้ำเสียงดุดัน                                   นักเรียนจะหวาดกลัว
 
ครูประเภทที่ 3
ถ้าครูท้อถอย                                            นักเรียนจะท้อแท้
ถ้าครูเฉยเมย                                            นักเรียนจะเฉื่อยชา
ถ้าครูเชื่องช้า                                            นักเรียนจะหงอยเหงา
ถ้าครูใช้น้ำเสียงราบเรียบ                              นักเรียนจะไม่สนใจฟัง
ถ้าครูปล่อยปละละเลย                                 นักเรียนจะขาดระเบียบวินัย
ถ้าครูแต่งกายไม่เรียบร้อย                             นักเรียนจะขาดความเคารพ
              
จากบุคลิกของครูทั้ง 3 ประเภทที่กล่าวมา สรุปได้ว่า
                ครูประเภทที่ 1    จะสร้างบรรยากาศแบบประชาธิปไตย นักเรียนและครูจะยอมรับความคิดเห็นซึ่งกันและกัน ครูเปิดโอกาสให้นักเรียนได้แสดงความคิดเห็น ได้แลกเปลี่ยนความคิดเห็น ได้รู้จักทำงานร่วมกัน รู้จักสิทธิและหน้าที่ของตนเอง มีเหตุมีผล นักเรียนจะรู้สึกสบายใจในการเรียน เป็นบรรยากาศที่ส่งเสริมให้เกิดการเรียนรู้ที่ดี
                ครูประเภทที่ 2    จะสร้างบรรยากาศแบบเผด็จการ นักเรียนไม่ได้แสดงความคิดเห็น ครูจะเข้มงวด ครูเป็นผู้บอกหรือทำกิจกรรมทุกอย่าง นักเรียนไม่มีโอกาสคิด หรือทำกิจกรรมที่ต้องการ นักเรียนจะรู้สึกเครียดอึดอัด นักเรียนจะขาดลักษณะการเป็นผู้นำ ขาดความคิดริเริ่ม สร้างสรรค์ เป็นบรรยากาศที่ไม่ส่งเสริมให้เกิดการเรียนรู้ที่ดี
                ครูประเภทที่ 3    จะสร้างบรรยากาศแบบตามสบาย เป็นบรรยากาศที่น่าเบื่อหน่าย นักเรียนย่อท้อ สับสนวุ่นวาย ขาดระเบียบวินัย ไม่มีความคงเส้นคงวา ครูไม่สามารถควบคุมชั้นเรียนให้อยู่ในความสงบเรียบร้อยได้ เป็นบรรยากาศที่ไม่ส่งเสริมให้เกิดการเรียนรู้ที่ดี
              
                จากครูทั้ง 3 ประเภทที่กล่าวมา จะเห็นได้ว่า ครูประเภทที่ 1 มีลักษณะความเป็นผู้นำแบบประชาธิปไตย ก็จะสร้างบรรยากาศแบบประชาธิปไตย ทำให้นักเรียนรู้สึกสบายใจที่จะเรียน มีความกระตือรือร้นในการเรียนมากกว่าประเภทอื่น ๆ บุคลิกภาพของครูจึงมีส่วนสร้างบรรยากาศการเรียนรู้ได้อย่างมาก   

อัพเดทล่าสุด