สุดยอดนิทานไทย โลกของระกา MUSLIMTHAIPOST

 

สุดยอดนิทานไทย โลกของระกา


1,161 ผู้ชม


สุดยอดนิทานไทย โลกของระกา

โลกของระกา
สุดยอดนิทานไทย โลกของระกา
เมื่อสังคมไทยตั้งเป้าที่จะไปสู่ "ยุคอุดมปัญญา" อย่างรวดเร็ว จึงเป็นหน้าที่ที่เราทุกคน จะต้องเร่งบริโภคข้อมูลข่าวสาร ทั้งฟัง พูด อ่าน เขียน กันอย่างหนักหน่วง เพื่อที่ก้าวเข้าสู่ยุคใหม่ได้อย่างเท่าทัน และยืนอยู่ในสังคมได้อย่างมั่นคง ทางหนึ่งก็ คือการปลูกฝังเยาวชนให้สนใจการอ่าน การฟัง โดยเริ่มจากการเล่า และอ่านนิทาน เพราะนอกเหนือจากการเล่นสนุกตื่นเต้นที่เด็กๆ ชื่นชอบที่สุดแล้ว การได้ฟัง "นิทาน" สนุกๆ ก็เป็นอีกสิ่งหนึ่งที่เด็กๆ ทั้งหลายชอบและมีความสุขไม่แพ้กัน แม้แต่ผู้ใหญ่เองก็ยังชอบฟัง ชอบอ่านเช่นกัน ทั้งนี้เพราะนิทานเป็นเรื่องราวที่ฟังเข้าใจได้ง่าย ให้ความเพลิดเพลิน สนุกสนาน และยังได้ใช้ความคิดสร้างสรรค์ จินตนาการตามเรื่องราวที่ได้ฟังด้วย นอกจากนี้ นิทานยังสร้างโอกาสให้เด็กและผู้ใหญ่ในครอบครัวได้อยู่ใกล้ชิด กระชับความสัมพันธ์ระหว่างกัน พร้อมกับได้ปลูกฝังจริยธรรม และค่านิยมอันดีงามของสังคมผ่านนิทานได้อย่างไม่เบื่อหน่าย หรือต่อต้าน
นิทาน ส่วนใหญ่ที่ได้รับความนิยม และได้ยินจนคุ้นหูมาตั้งแต่อดีตจนถึงปัจจุบันนั้น มักจะเป็นเรื่องที่เล่าสืบทอดกันมานานจนไม่ทราบว่าใครเป็นผู้แต่ง เช่น ปู่ ย่า เล่าให้พ่อฟัง พ่อก็จำมาเล่าให้ลูกฟังอีกที ไม่สามารถสืบสาวได้ว่าใครคือผู้เล่าคนแรก และมีเนื้อหาเกี่ยวข้องสัมพันธ์กับสัตว์อยู่เป็นจำนวนมาก เพราะมนุษย์เลี้ยงสัตว์ อยู่ใกล้ชิดกับสัตว์มานาน จึงได้เรียนรู้ เข้าใจธรรมชาติ ความเป็นอยู่ ตลอดจนอุปนิสัยของสัตว์ และได้รับบทเรียนจากสัตว์มากมาย ดังนั้น เมื่อคนจะสอนเรื่องต่างๆ ที่เกี่ยวกับการดำรงชีวิตจึงมักจะนำสัตว์มาเปรียบอยู่เสมอ จนมีสำนวน ภาษิต และคำพังเพยจำนวนมาก ที่ใช้สอนหรือเตือนใจในการประพฤติปฏิบัติตนมาจนถึงปัจจุบัน สำนักงานคณะกรรมการวัฒนธรรมแห่งชาติ กระทรวงวัฒนธรรม จึงได้รวบรวมที่มาของคำหลากหลายเหล่านี้ ซึ่งน่าสนใจและร่วมสมัยมาเล่าสู่กันฟังอีกครั้ง...
กิ้งก่าได้ทอง สำนวนนี้เป็นที่รู้จักกันอย่างแพร่หลาย และใช้มานานแล้ว มีความหมายว่า "เย่อหยิ่งจองหองหรือลำพองตน" ใช้ในการตำหนิติเตียนบุคคลผู้หลงผิดคิดว่าตนดีกว่าคนอื่น หรือได้ดีแล้วทำตัวเย่อหยิ่งไม่นึกถึงบุคคลผู้ทำคุณแก่ตน
สุดยอดนิทานไทย โลกของระกา
หนังสือ สำนวนไทยที่มาจากวรรณคดี ชุด บรมราชกุมารีอักษรานุรักษ์ กล่าวว่า เรื่องกิ้งก่าได้ทองมีที่มาจาก มโหสธชาดก เล่าว่า...พระเจ้าวิเทหะแห่งเมืองมิถิลาเสด็จพร้อมด้วยข้าราชบริพารไปสู่พระ ราชอุทยาน กิ้งก่าตัวหนึ่งเกาะอยู่บนซุ้มทวารแลเห็น ก็รีบลงมาบนพื้นดินและนอนก้มศีรษะลงโดยดุษณี พระราชาทรงประหลาดพระทัยในกิริยาของมัน จึงถามมโหสธว่า "กิ้งก่าตัวนั้นกำลังทำอะไร" มโหสธทูลตอบว่า "มันกำลังถวายความเคารพพระองค์อยู่พระเจ้าข้า" พระราชาทรงพอพระทัยอย่างยิ่ง ตรัสว่า "ถ้ากระนั้นเราควรให้รางวัลมัน" จึงมีบัญชาให้เจ้าพนักงานคนหนึ่งซื้อเนื้อให้กิ้งก่ากินทุกวัน อยู่มาวันหนึ่ง เป็นวันอุโบสถ ไม่มีการฆ่าสัตว์ เจ้าพนักงานไม่อาจหาซื้อเนื้อมาให้กิ้งก่าได้ จึงเอาทองค่าเนื้อมาร้อยเชือกแล้วคล้องคอให้กิ้งก่า เมื่อกิ้งก่าได้ทองมาห้อยคอก็มีความหยิ่งลำพองยิ่งนัก วันนั้นพระเจ้าวิเทหะเสด็จประพาสอุทยานอีก กิ้งก่าเห็นก็คิดในใจว่า "เราก็มั่งคั่งเหมือนพระองค์ เราจะไม่คำนับพระองค์อีก" คิดดังนั้นแล้วก็ไม่ลงจากซุ้มประตู และผงกหัวชูคออย่างเย่อหยิ่ง พระราชาเห็นก็แปลกพระทัยจึงตรัสถามมโหสธว่าเป็นเพราะเหตุใด มโหสธพิเคราะห์ดูโดยถ้วนถี่แล้วกราบทูลว่า "ชะรอยคน เลี้ยงดูคงไม่อาจหาเนื้อมาให้กิ้งก่าได้ จึงเอาชิ้นทองมาแขวนคอให้มันแทน มันคิดว่ามีทองประดับคอแล้วจึงเย่อหยิ่งลำพอง มิได้แสดงความเคารพพระองค์อีก" เมื่อทรงถามไถ่เจ้าหน้าที่ก็เป็นจริงตามที่มโหสธกราบทูลทุกประการ จึงลงโทษกิ้งก่าโดยให้งดอาหารแก่มัน แต่มโหสธขอประทานโทษกิ้งก่าไว้ด้วยว่าเป็นผู้ไร้สติปัญญาจึงเห็นผิดเป็นชอบ ไปจึงควรให้อภัย พระราชาก็โปรดให้เป็นไปตามคำทูลของมโหสธบัณฑิตนั้น
กบเลือกนาย มาจากนิทานที่เล่าว่า ...มีกบฝูงหนึ่งอยากจะได้นายมาปกครองพวกตน จึงร้องขอเทวดาช่วย เทวดาก็โยนขอนไม้ลงมาให้ท่อนหนึ่งให้เป็นนาย พวกกบก็พากันขึ้นไปอยู่บนขอนไม้ อยู่ๆไปก็ไม่มีอะไรเกิดขึ้น พวกกบรู้สึกเบื่อ จึงร้องขอเทวดาให้ส่งนายมาให้ใหม่ เทวดาจึงส่งนกกระสาลงมาให้ ผลปรากฏว่านกกระสาจับกบกินหมด..สำนวนกบเลือกนาย จึงหมายความถึง "คนที่ชอบเปลี่ยนนาย หรือผู้บังคับบัญชาอยู่เรื่อยๆ คนไหนก็ไม่ถูกใจ"
นอก จากนี้ ก็ยังมีนิทานจากสำนวนไทยที่มาจากวรรณคดี ซึ่งได้ยินกันอยู่เสมอด้วย เช่น ราชรถมาเกย หรือที่ปัจจุบันมักแสลงเป็น ราชรถมาเสย สำนวนนี้มีความหมายว่า "มีลาภโดยไม่นึกไม่ฝัน" โดยที่ไม่ต้องทำอะไรเลย เรื่องนี้เป็นเรื่องของการเสี่ยงทายหาผู้มีบุญญาธิการ เพื่อเชิญให้ขึ้นครองราชย์เป็นพระเจ้าแผ่นดินยาม เมื่อแผ่นดินว่างกษัตริย์เพราะกษัตริย์องค์เดิมสิ้นพระชนม์ไปโดยไร้รัชทายาท ในสถานการณ์เช่นนี้จำเป็นจะต้องแสวงหาผู้มีบุญขึ้นครองราชสมบัติแทน โดยเสี่ยงราชรถให้แล่นไป ถ้าราชรถไปหยุดอยู่ที่ผู้ใดก็จะเชิญผู้นั้นเข้าวัง แต่งตั้งให้เป็นกษัตริย์ เรื่องนี้มีอยู่ในชาดกชื่อมหาชนกชาดก หนึ่งในทศชาติชาดกนั่นเอง
สุดยอดนิทานไทย โลกของระกา
เล่า ว่า มีกษัตริย์สองพี่น้องแห่งเมืองมิถิลาได้กระทำสงครามกัน องค์พี่เสียทีสิ้นพระชนม์ในสนามรบ พระเจ้าโปลชนกซึ่งเป็นองค์น้องชนะสงครามจึงได้ขึ้นครองเมืองแทน นางผู้เป็นอัครมเหสีขององค์พี่ ซึ่งกำลังทรงพระครรภ์อยู่หนีรอดไปอาศัยอยู่กับมหาพราหมณ์ และคลอดโอรส นามว่า มหาชนก
พระมหาชนก ถูกเพื่อนๆ ล้อเลียนว่าเป็นลูกหญิงหม้ายอยู่เสมอจึงถามพระมารดา และได้ทราบเรื่องโดยตลอด ก็คิดจะไปแย่งราชสมบัติกลับคืนแต่จะต้องรวบรวมทรัพย์สินเพื่อสร้างกองทัพ เสียก่อน แม่จึงให้ไปค้าขายยังสุวรรณภูมิโดยทางเรือ ปรากฏว่าเรือถูกคลื่นในมหาสมุทรซัดอับปางลง พระมหาชนกต้องว่ายน้ำทะเลอยู่ 7 วัน นางเมขลาผู้เป็นพระสมุทรเทวี จึงมาพบเข้าและพาไปส่งขึ้นฝั่งโดยปลอดภัย พระมหาชนก นอนสลบไสลอยู่บนแท่นในอุทยานหลวง ในเวลานั้นพระเจ้าโปลชนกสิ้นพระชนม์ลง ไม่มีโอรสสืบราชสมบัติ มีแต่ราชธิดาองค์เดียวนามว่า สวลี ปุโรหิตและขุนนางทั้งหลายจึงตกลงเสี่ยงราชรถ ให้วิ่งไปหาผู้มีบุญเพื่อเชิญมาครองราชสมบัติ ปรากฏว่าราชรถไปเกยพระมหาชนก พระมหาชนกจึงขึ้นครองราชย์ และอภิเษกนางสวลีเป็นอัครมเหสี
นอกจาก นิทานอันเป็นที่มาของภาษิต คำพังเพยข้างต้นแล้ว ยังมีนิทานพื้นบ้านต่างๆ เช่น โสนน้อยเรือนงาม ขวานฟ้าหน้าดำ ปลาบู่ทอง สังข์ทอง นางสิบสอง ฯลฯ ที่ตื่นเต้นเร้าใจในอภินิหาร รวมถึงนิทานอมตะนิรันด์กาลจากต่างประเทศ ที่ครองใจเด็กเทศและไทยอีกมากมาย อาทิ เจ้าหญิงนิทรา สโนไวท์ซินเดอเรลล่า โฉมงามกับเจ้าชายอสูร หนูน้อยหมวกแดง ฯลฯ รวมถึงนิทานอีสปชื่อดังที่เล่าสืบทอดกันมานานและมีสุภาษิตสอนใจสามารถนำไป ปฏิบัติในชีวิตประจำวันได้ เช่น...
เรื่อง นกยูงกับนกกางเขน... ในป่าใหญ่แห่งหนึ่ง มีนกอาศัยอยู่มากมายหลายชนิด แม้อยู่สุขสบาย แต่ยังขาดหัวหน้าปกครองดูแล วันหนึ่งนกทั้งหลายมาประชุมกัน เลือกหัวหน้าโดยถือหลักว่า ต้องมีความสวยงามเป็นเกณฑ์ นกยูงขอเสนอตัว ระหว่างให้ที่ประชุมพิจารณา นกกางเขนกล่าวขึ้นว่า "เพื่อนๆ ทั้งหลาย นกยูงมีความงามมากก็จริง เมื่อได้เป็นหัวหน้าแล้ว ถ้ามีนกอินทรีมารังแกโจมตีนกยูงจะเอาอะไรไปสู้" เรื่องสอนให้รู้ว่า ผู้เป็นหัวหน้านั้นอำนาจหรือกำลัง มีความสำคัญมากกว่าความงาม
เรื่อง หมาป่ากับสิงโต... หมาป่าไล่จับแกะได้ตัวหนึ่ง ค่อยๆ ลากไปยังที่อยู่ โชคไม่ดีมาพบสิงโตกลางทาง สิงโตกำลังออกหาอาหารเหมือนกัน จึงเข้าแย่งแกะจากหมาป่าทันที
"อะไรกันนี่ ท่านสิงโต" หมาป่าพูดอย่างโกรธเคือง "ท่านไม่มีปัญญาหาอาหารหรือจึงได้มาแย่งจากผู้ซื่อสัตย์ตามท้องถนนเช่นนี้" สิงโตได้ยินดังนั้นก็หัวเราะตอบว่า "ข้าหรือเป็นขโมยแย่งของผู้อื่น" สิงโตย้ำหนักแน่น "เจ้าจะให้ข้าเชื่อหรือว่า เจ้าได้แกะมาอย่างซื่อสัตย์ หรือว่าคนเลี้ยงแกะเพื่อนของเจ้า มอบแกะตัวนี้ให้เป็นของกำนัล" เรื่องสอนให้รู้ว่า คนชั่วคนเลวไม่มีทางร้องขอความยุติธรรมจากคนชั่วช้าที่ฉลาดกว่า
เรื่อง กากับเหยือกน้ำ..กา ตัวหนึ่ง รู้สึกกระหายน้ำจึงบินออกหา ไปพบเหยือกมีน้ำอยู่ก็ดีใจมาก แต่พอจะกินก็รู้สึกว่า มีน้ำเหลืออยู่ในเหยือกน้อยเกินไปจนใช้ปากจุ่มลงไม่ถึง มันพยายามผลักเหยือกให้เอียง แต่เหยือกก็หนักเกินไป ในที่สุดก็คิดขึ้นได้ มันใช้ปากคาบก้อนหินเล็กๆ ใส่ลงไปในเหยือกทีละก้อนๆ ทำให้น้ำยกระดับสูงขึ้น จนสามารถใช้จะงอยปากดื่มกินน้ำได้ดังที่หวังไว้ เรื่องสอนให้รู้ว่า การกระทำบางอย่างใช้กำลังอย่างเดียวไม่สำเร็จ ต้องใช้ปัญญาความฉลาดเข้าช่วยด้วย
แม้ว่ากาลเวลาจะผ่านไป จะเปลี่ยนแปลงเช่นไร แต่ความวัยเยาว์ของเด็กรุ่นใหม่ๆ ยังคงเกิดขึ้นอยู่เสมอตลอดเวลา ครอบครัวควรจะฉวยโอกาสช่วงเวลาที่งดงามเหล่านี้ อาศัยนิทานเป็นสื่อในการกล่อมเกลาจิตใจที่ยังใสบริสุทธิ์ ให้เรียนรู้สิ่งต่างๆ รอบตัว และพร้อมที่จะเติบโตเป็นผู้ใหญ่ที่มีคุณภาพ โดยให้ความทรงจำเหล่านี้ เป็นแรงบันดาลใจทำให้เกิดสิ่งสร้างสรรค์ใหม่ๆ
ขอขอบคุณข้อมูลข่าว : เยาวนิศ เต็งไตรรัตน์ กลุ่มประชาสัมพันธ์ สำนักงานคณะกรรมการวัฒนธรรมแห่งชาติ กระทรวงวัฒนธรรม

ที่มา : เว็บไซต์ scimath

อัพเดทล่าสุด