ตำนานสมเด็จพระเจ้าตากสินมหาราช ความเป็นมาของพระเจ้าตากสินมหาราช พระบรมรูปสมเด็จพระเจ้าตากสินมหาราช MUSLIMTHAIPOST

 

ตำนานสมเด็จพระเจ้าตากสินมหาราช ความเป็นมาของพระเจ้าตากสินมหาราช พระบรมรูปสมเด็จพระเจ้าตากสินมหาราช


988 ผู้ชม


ตำนานสมเด็จพระเจ้าตากสินมหาราช ความเป็นมาของพระเจ้าตากสินมหาราช พระบรมรูปสมเด็จพระเจ้าตากสินมหาราช

พระบาทสมเด็จพระเจ้าตากสินมหาราช

ชนชาวสยามมีความเป็นรัฐชาติมาเนิ่นนานตั้งแต่อาณาจักรสุโขทัย กรุงศรีอยุธยา กรุงธนบุรี จนถึง กรุงรัตนโกสินทร์ในปัจจุบัน ตามประวัติศาสตร์ชาติไทย ระบุไว้ว่าเราเคยเสียเอกราช ด้วยกันสองครั้ง ครั้งแรกในเกิดขึ้นใน พ.ศ. 2112 ซึ่งตรงกับรัชสมัยของพระบาทสมเด็จพระมหาจักรพรรดิ์ ในคราวนั้น พระเจ้าบุเรงนองแห่งกรุงหงสาวดีได้ยาตราทัพมาปิดล้อมพระนครอยู่นานจนกระทั่งตีเอากรุงศรีอยุธยาเป็นเมืองประเทศราชได้สำเร็จ.....จวบจนกระทั่งในปี ในปี พ.ศ. 2127 สมเด็จพระนเรศวรมหาราชได้ทรงประกาศอิสรภาพโดยทรงหลั่งน้ำสิโนทก ณ เมืองแกลงประกาศอิสรภาพไม่ขึ้นกับกรุงหงสาวดีอีกต่อไป
ส่วนการเสียกรุงครั้งที่ 2 นั้นเกิดขึ้นในปี พ.ศ. 2310 ตรงกับรัชสมัยของพระเจ้าเอกทัศน์ อันเป็นกษัตริย์องค์สุดท้ายแห่งอาณาจักรกรุงศรีอยุธยา จนกระทั่ง สมเด็จพระเจ้าตากสินมหาราช ทรงประกาศอิสรภาพ จากการปกครองของพม่าในปีเดียวกันนั้น
ก่อนถึงสมัยกรุงรัตนโกสินทร์ ตั้งแต่อาณาจักรสุโขทัยจนถึงกรุงธนบุรี สยามมีพระมหากษัตริย์ที่คอยดูแลอาณาประชาราษฎรมาอย่างยาวนานโดยเฉพาะอาณาจักรกรุงศรีอยุธยาที่เป็นราชธานีมายาวนานถึง 417 ปี มีพระมหากษัตริย์ถึง 33 พระองค์ ในอดีตก่อนการสถาปนากรุงรัตนโกสินทร์นั้นเรามีกษัตริย์ผู้ยิ่งใหญ่ที่ได้รับการยอมรับและได้รับการขนามพระต่อท้ายด้วยคำว่ามหาราชมาแล้ว 4 พระองค์ด้วยกัน
1. พ่อขุนรามคำแหงมหาราช แห่งอาณาจักรสุโขทัย ทรงประดิษฐ์อักษรไทย
2. สมเด็จพระนเรศวรมหาราช แห่งอาณาจักรกรุงศรีอยุธยา ทรงกอบกู้เอกราชจากการเสียกรุงครั้งที่ 1
3. สมเด็จพระนารายณ์มหาราช แห่งอาณาจักรกรุงศรีอยุธยา ทรงทำการค้าขายกับต่างชาติจนกรุงศรีอยุธยาเป็นที่เลื่องลือและทรงทำนุบำรุงศิลปวัฒนธรรมในด้านต่างๆ
4. สมเด็จพระเจ้าตากสินมหาราช แห่งอาณาจักรกรุงธนบุรี ทรงกอบกู้เอกราชจากการเสียกรุงครั้งที่ 2


อนุสรณ์สถานพระเจ้าตากสินมหาราช ณ เมืองจันทบุรี
ภาพจาก https://www.igetweb.com

พระราชประวัติในเรื่องชาติกำเนิดของพระเจ้าตากสินนั้นออกจะดูคลุมเครือกว่าพระมหากษัตริย์พระองค์อื่นของไทย และมีลักษณะค่อนข้างจะกำกวมอยู่มาก ตามหลักฐานที่มีปรากฏก็ยังไม่แน่ชัดเท่าที่ควรบ้างว่าพระองค์ท่านประสูติเมื่อ แรม 15 ค่ำ เดือน 5 จุลศักราช 1096 ซึ่งน่าจะตรงกับวันที่ 17 เมษายน 2277 อันเป็นต้นรัชกาลของสมเด็จพระบาทพระเจ้าอยู่หัวบรมโกศ แห่งกรุงศรีอยุธยา ทรงครองราชย์ได้เป็นปีที่ 3 แต่ความที่ปรากฏในจดหมายเหตุโหร ความว่าเสด็จสวรรคตเมื่อพระชนมายุได้ 48 พรรษา กับ 15 วันเมื่อผนวกกับ ข้อมูลจาก Histoies de le Mission de Siam เขียนโดย Adrien Launay อันเป็นเอกสารของชาวต่างชาติที่ระบุว่า พระองค์ท่านทรงถูกสำเร็จโทษในวันที่ 7 เมษายน 2325 หากยึดเอาตามข้อมูลนี้ก็ต้องถือว่าพระเจ้ากรุงธนบุรีทรงพระราชสมภพในวันที่ 23 มีนาคม 2277(อ้างจาก การเมืองไทยสมัยพระเจ้ากรุงธนบุรี โดย นิธิ เอียวศรีวงศ์)
พระเจ้าตากสินมหาราช นามเดิมชื่อสิน มีพระนามในภาษาจีนว่า เจิ้งเจา มีพระราชบิดาเป็นชาวจีนแต้จิ๋ว ชื่อ ไหฮอง ที่อพยพมาอยู่มาตั้งรกรากในเมืองไทย ส่วนพระราชมารดาเป็นชาวไทย พื้นเพเดิมเป็นชาวเพชรบุรี นามว่า นกเอี้ยง ซึ่งต่อมาภายหลังได้รับการสถาปนาเป็นกรมสมเด็จพระเทพามาตย์ ส่วนพระราชบิดาของพระเจ้าตากสินทำหน้าที่เป็นขุนพัฒน์ นายอากรบ่อนเบี้ย อยู่ภายใต้การดูแลของเจ้าพระยาจักรีซึ่งเป็นขุนนางในสมัยนั้น เมื่อสมเด็จพระเจ้าตากสิน พระราชสมภพได้ไม่นาน พระยาจักรีจึงรับไว้เป็นบุตรบุญธรรม


เมื่อสมเด็จพระเจ้าตากสินมหาราช หรือเด็กชายสินในขณะนั้นอายุได้ 9 ขวบ พระยาจักรีจึงพาไปฝากฝังไว้กับ พระอาจารย์ทองดี ณ วัดโกษาวาส เพื่อทำการศึกษาเล่าเรียนทั้งตำราไทย ตำราขอม อีกทั้งศึกษาพระไตรปิฎกจนเชี่ยวชาญดีแล้ว พระยาจักรีจึงพาไปถวายเป็นมหาดเล็กในสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวพระบรมโกศ รับราชการสนองพระเดชพระคุณ จนอายุครบได้ 20 ปีครบบวช จึงออกมาอุปสมบทเป็นพระภิกษุจำพรรษาอยู่ที่วัดโกษาวาส คอยปรนนิบัติรับใช้พระอาจารย์ทองดี ดังเช่นที่เคยปฏิบัติมาในคราวที่บรรพชาเป็นสามเณร พระภิกษุสินดำรงสมณะเพศอยู่ได้ 3 พรรษาก็ลาสิกขาออกมา แล้วกลับเข้ารับราชการเป็นมหาดเล็กอย่างเดิม จนกระทั่งเกิดการณ์ผลัดแผ่นดินขึ้น เมื่อสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวบรมโกศเสด็จสวรรคต เจ้าฟ้าอุทุมพรทรงเสด็จขึ้นครองราชย์สืบต่อ ก่อนจะยกแผ่นดินให้พระเจ้าเอกทัศน์ผู้เป็นพระเชษฐาดูแลอาณาประชาราษฎร์ต่อไป ส่วนพระเจ้าอุทุมพรก็เสด็จออกผนวชแสวงหาความสงบในรสพระธรรม
ในรัชสมัยของพระเจ้าเอกทัศน์นี้เอง ที่พระเจ้าตากสินได้รับการแต่งตั้งให้เป็นหลวงยกบัตร หัวเมืองฝ่ายเหนือ ไปรับราชการอยู่ที่เมืองตาก ซึ่งได้รับราชการด้วยดี จนกระทั่งเจ้าเมืองตากคนเก่าได้ถึงแก่กรรม หลวงยกบัตรจึงขึ้นเป็นเจ้าเมืองตากแทน และปกครองดูแลเมืองตากตั้งแต่นั้นเป็นต้นมา


ต่อมาในปี พ.ศ. 2303 พระเจ้าอลองพญาได้ตั้งต้นขึ้นเป็นใหญ่ ขึ้นครองเมืองในอาณาจักรพุกาม ได้ส่งกองทัพเข้ามาเพื่อหวังจะยึดครองอาณาจักรกรุงศรีอยุธยา แต่ไม่สำเร็จจนถึงรัชสมัยของพระเจ้ามังระ ผู้เป็นพระโอรสของพระเจ้าอลองพญาจึงกรีฑาทัพเข้ายึดครองกรุงศรีอยุธยาอีกครั้งในปีพ.ศ. 2307 การเข้ามาครั้งนี้ของทัพพม่าเป็นการเข้ามาในลักษณะกองโจร ปล้นสะดม อยู่รอบชานเมืองนานถึง 3 ปีเต็ม ประชาชนอกสั่นขวัญผวาไม่เป็นอันทำมาหากิน
สมเด็จพระเจ้าตากสินมหาราช
ภาพจาก www.lannaworld.com


ข้างพระเจ้าตากซึ่งเป็นเจ้าเมืองตาก ได้ลงมาช่วยราชการสงครามต่อสู้กับทัพข้าศึกอย่างแข็งขัน และได้รับชัยชนะหลายคราว จนได้รับการโปรดเกล้าฯให้เป็น พระยาวชิรปราการ ผู้สำเร็จราชการเมืองกำแพงเพชร ซึ่งถือว่าเป็นเมืองสำคัญอีกเมืองหนึ่งในสมัยนั้น แต่ก็ไม่ได้ไปว่าราชการที่เมืองกำแพงเพชร เพราะกรุงศรีฯยังตกอยู่ในภัยสงคราม พระยาวชิรปราการได้เข้าต่อต้านข้าศึก อย่างเต็มความสามารถ แต่การสู้รบในครั้งนั้น เป็นไปด้วยความยากลำบาก เพราะพม่ายกทัพกันมาเหลือคณานับ ในขณะที่ไทยเองได้แต่รอให้ถึงฤดูน้ำหลาก พระยาวชิรปราการยศของพระเจ้าตากในขณะนั้น เห็นว่าสู้ต่อไปรังแต่จะพ่ายแพ้และสูญเสีย จึงคิดจะถอยทัพโดยทิ้งกรุงศรีอยุธยาไว้โดยมีดำริจะมากู้คืนในภายหลัง เมื่อรวบรวมไพร่พลได้ราว 500 คน จึงตีฝ่าทัพพม่าออกไป ทางด้านค่ายวัดพิชัย ซึ่งตรงกับวันเสาร์ ขึ้น 4 ค่ำ เดือนยี่ จุลศักราช 1128 ปีจอ อัฐศก หรือ ในวันที่ 3 มกราคม พ.ศ. 2309
เมื่อพระเจ้าตากสินตีฝ่าข้าศึกออกมาได้แล้วก็มุ่งสู่ภาคตะวันออก ตามที่เรารับทราบกันมาในตำราเรียนทางด้านประวัติศาสตร์ การเดินทางไปยังดินแดนภาคตะวันออกในครั้งนั้น พระยาตากได้ทำการรวบรวมไพร่พล รวมทั้งอาวุธยุทโธปกรณ์ไปตลอดเส้นทางการเดินทัพ ด้วยหมายใจว่าจะกลับมากู้กรุงศรีอยุธยาในเร็ววัน โดยไล่ตั้งแต่การยกกองทัพไปทางนาเริง-นครนายก เดินทัพต่อไปยังเมืองฉะเชิงเทรา เข้าเมืองระยอง ในระหว่างที่อยู่ที่เมืองระยองนี้เอง พระยาตากก็ได้รับทราบข่าวร้ายว่ากรุงศรีอยุธยาเสียทีให้แก่พม่าแล้ว พระองค์ท่านจึงมุ่งหน้ายึดเอาเมืองจันทบุรีหมายเอาเป็นที่มั่น และสามารถยึดเมืองจันทบุรีได้ใน วันอาทิตย์ เดือน 7 แรม 3 ค่ำ จุลศักราช 1129 ปีกุน นพศก ตรงกับวันที่ 15 มิถุนายน พ.ศ. 2310 เวลาประมาณ ๐3.๐๐ น. ซึ่งไทยเสียเอกราชให้แก่พม่าเป็นเวลาสองเดือนล่วงผ่านมาแล้ว


ข้างฝ่ายสยามประเทศเมื่อเสียกรุงศรีฯแล้ว แผ่นดินก็ลุกเป็นไฟ มีการตั้งเป็นก๊กเป็นเหล่า ไม่สมัครสมานสามัคคีกันอย่างเก่า เมื่อพระยาตากได้จันทบุรีแล้ว ก็มีดำริที่จะยึดเอากรุงศรีอยุธยาคืน จึงได้ให้ทหารในสังกัดต่อเรือรบ แล้วทำการรวบรวมไพร่พลและอาวุธเพิ่มเติม ใช้เวลาทั้งสิ้นราว 3 เดือน จึงเคลื่อนทัพออกจากจันทบุรีมุงสู่กรุงศรีอยุธยา เข้าตีค่ายโพธิ์สามต้นและยึดกรุงศรีอยุธยากลับคืนมาได้ รวมระยะเวลาในการกู้กรุง 7 เดือน พระเจ้าตากสามารถตีค่ายโพธิ์สามต้นอันเป็นที่มั่นของพม่าแตก เมื่อวันศุกร์ เดือน 12 ขึ้น 15 ค่ำ จุลศักราช 1129 ปีกุน นพศก หรือตรงกับวันที่ 7 พฤศจิกายน พ.ศ. 2310 เวลาประมาณ 13.00 น.


และได้ปราบดาภิเษกขึ้นเป็นสมเด็จพระเจ้าตากสิน พระมหากษัตริย์แห่งกรุงธนบุรี ในวันพุธ เดือนอ้าย แรม 4 ค่ำ จุลศักราช 1130 ปีชวด สัมฤทธิศก ตรงกับวันที่ 28 ธันวาคม พ.ศ. 2311 ทรงพระนามว่า พระศรีสรรเพชญ์ หรือ สมเด็จพระบรมราชาที่ ๔ และในวันนี้เอง ที่อิสรภาพได้กลับคืนสู่แผ่นดินไทยอีกครั้ง และเพื่อเป็นการเทิดพระเกียรติแด่พระองค์ท่านจึงถือเอาวันที่28 ธันวาคม ของทุกปี อันเป็นวันปราบดาภิเษกในการครองราชย์เป็นวันตากสินมหาราช


เมื่อขจัดภัยต่างชาติเรียบร้อยแล้ว ก็ถึงคราวรวบรวมดินแดนให้เป็นปึกแผ่นดังเก่าก่อน ในคราวนั้นเจ้าผู้ครองแคว้นในดินแดนต่างๆ ต่างตั้งตนเป็นใหญ่ แตกกันเป็นก๊ก ไทยฆ่าฟันกันเอง หาความสงบสุขไม่ได้ โดยมีก๊กหรือชุมนุมใหญ่คือ


- ชุมนุมพระยาตาก อันเป็นชุมนุมของพระเจ้าตากเองตั้งฐานที่มั่นอยู่ที่เมืองจันทบุรีก่อนจะสถาปนากรุงธนบุรีเป็นราชธานี
- ชุมนุมพระยาพิษณุโลก เจ้าเมืองพิษณุโลกตั้งฐานที่มั่นอยู่ที่เมืองพิษณุโลก อันคลุมไปถึงหัวเมืองฝ่ายเหนือในบางส่วนด้วย
- ชุมนุมเจ้านครศรีธรรมราช หัวเมืองสำคัญฝ่ายใต้เจ้าพระยานครตั้งชุมนุมขึ้นที่เมืองนครศรีธรรมราช
- ชุมนุมเจ้าพิมาย กรมหมื่นเทพพิพิธพระราชโอรสของสมเด็จพระบรมโกศ ตั้งชุมนุมขึ้นที่เมืองพิมาย
- ชุมนุมเจ้าพระฝาง พระสังฆราชาในเมืองฝางตั้งชุมนุมขึ้นโดยที่ยังคงดำรงตนในเพศบรรพชิต มีที่มั่นอยู่เมืองสวางคบุรีหรือเมืองอุตรดิตถ์ในปัจจุบัน
พระเจ้ากรุงธนบุรีใช้เวลาปราบปรามชุมนุมต่างๆอยู่ 3 ปี จึงสามารถรวบรวมสยามให้เป็นปึกแผ่นได้ดั่งเก่าก่อนตลอด 15 ปีในรัชกาลของพระองค์ ยังคงมีศึกสงครามติดพันอยู่ตลอดแต่กระนั้น พระราชกรณียกิจทางด้านต่างๆพระองค์ก็ทรงหาได้ละเลย พระราชกรณียกิจที่สำคัญ คือ การฟื้นฟูอาณาจักรให้เข้มแข็งอย่างเก่าในเกือบทุกๆ ด้าน อย่างเช่น



อาณาเขตประเทศไทยในสมัยกรุงธนบุรี
ภาพจาก https://th.wikipedia.org/
พระราชกรณียกิจที่สำคัญ เช่น
1. ชำระกฎหมาย โดยได้ทรงรวบรวมกฎหมายต่างๆที่ส่วนใหญ่ถูกทำลายไปเมื่อคราวถูกเผาเมือง เมื่อได้มาก็ให้ทำการชำระขึ้นใหม่และใช้บังคับในราชอาณาจักรของพระองค์
2. ทรงฟื้นฟูความสัมพันธ์นานาประเทศ โดยเฉพาะกับจีนที่มีความสัมพันธ์กันอย่างแนบแน่นในแผ่นดินกรุงธนบุรี
3. การรวบรวมพระไตรปิฎก ทรงให้ความสำคัญกับพระศาสนาโดยทรงรวบรวมพระไตรปิฎกจากที่ต่างๆ เช่น นครศรีธรรมราช อุตรดิตถ์ เพื่อเอามาร่างเป็นพระไตรปิฎกฉบับหลวง
4. การบูรณปฏิสังขรณ์วัดวาอาราม โดยทรงสละทรัพย์ส่วนพระองค์ในการปฎิสังขรณ์วัดวาอาราม และยกให้เป็นอารามหลวง เช่น วัดอินทารามวรวิหาร, วัดอรุณราชวราราม เป็นต้น
5. ทรงสมโภชพระแก้วมรกตให้เป็นพระคู่บ้านคู่เมือง โดยจัดให้มีขบวนเรือพยุหยาตรา จำนวน 246 ลำ โดยเมื่อแรกได้อัญเชิญพระแก้วมรกตประดิษฐานอยู่ที่วัดอรุณราชวราราม ต่อมาเมื่อมีการย้ายเมืองหลวงมายังฝั่งพระนครในสมัยกรุงรัตนโกสินทร์ จึงได้ย้ายพระแก้วมรกตมาประดิษฐานอยู่ในวัดพระศรีรัตนศาสดารามอย่างเช่นในปัจจุบัน
6. ทรงพระราชนิพนธ์บทละครเรื่องรามเกียรติ์ กษัตริย์ในสมัยก่อนนอกจากจะต้องทรงเชี่ยวชาญทางด้านการศึก แล้วศิลปะคือวิทยาการอีกแขนงหนึ่งที่ต้องรอบรู้ พระเจ้าตากก็เช่นกันโดยได้ทรงพระราชนิพนธ์ รามเกียรติ์ ไว้ 4 ตอน คือ ตอนพระมงกุฎ,ตอนหนุมานเกี้ยววารินจนท้าวมาลีวราชมา,ตอนท้าวมาลีวราชพิพากษาและตอนทศกรรฐ์ตั้งพิธีทรายกรด พระลักษณ์ต้องหอกกบิลพัสตร์ จนผูกผมทศกรรฐ์กับนางมณโฑ


บั้นปลายรัชกาล ประวัติศาสตร์เกี่ยวกับพระองค์ท่านก็ยังคงคลุมเครือ มีหลายกระแสความเชื่อบ้างว่าพระองค์ท่านสติวิปลาส และถูกสำเร็จโทษในเวลาต่อมา บ้างว่าพระองค์ท่านทรงสละราชสมบัติอย่างเงียบๆ และทรงออกผนวช จำพรรษาอยู่ที่จังหวัดนครศรีธรรมราชอันเป็นหัวเมืองสำคัญทางภาคใต้ในขณะนั้น แต่ถึงประวัติความเป็นมาเกี่ยวกับพระองค์ท่านจะคลุมเครืออย่างไร สิ่งหนึ่งที่เราชาวไทยรับรู้โดยทั่วกันว่า จากอาณาจักรกรุงศรีอยุธยา จนถึง กรุงรัตนโกสินท์ ราชธานีอันเป็นปึกแผ่นมาได้อย่างทุกวันนี้ก็เพราะพระองค์ท่านและเหล่าทหารหาญที่ร่วมใจกันพลีชีพ รักษาผืนแผ่นดินถิ่นเกิด ทรงทำสงครามรุกไล่อริราชศัตรูที่เข้ามารุกรานตลอดจนรัชสมัยของพระองค์ และนี้คือมหาราชอีกพระองค์หนึ่งของปวงชนชาวไทย....จอมกษัตริย์ของไทย พระบาทสมเด็จพระเจ้าตากสินมหาราชผู้กู้กรุงให้เราได้มีเอกราช



แหล่งที่มา : vcharkarn.com

อัพเดทล่าสุด