ทองคำ (gold)สมบัติอันล่ำค่า MUSLIMTHAIPOST

 

ทองคำ (gold)สมบัติอันล่ำค่า


1,162 ผู้ชม


ทองคำ Au ไม่ว่ายุคสมัยไหนก็ถือว่าเป็นของมีค่า มีราคา เพราะคุณสมบัติเฉพาะที่พิเศษของธาตุทองคำนั้นเองค่ะ   

        สมาคมแลกเปลี่ยนทองคำและเงินของจีน เปิดเผยว่า ราคาทองคำที่ตลาดฮ่องกง ทรุดตัวลง 240 ดอลลาร์ฮ่องกง ปิดที่ระดับ 11,063 ดอลลาร์ฮ่องกง/ตำลึง  ราคาดังกล่าวเทียบเท่ากับ 1,191.65 ดอลลาร์สหรัฐ/ทรอยออนซ์ ปรับตัวลง 25.69 ดอลลาร์สหรัฐ ที่อัตราแลกเปลี่ยน 1 ดอลลาร์สหรัฐ/7.79 - ดอลลาร์ฮ่องกง
(ที่มา https://www.ryt9.com/s/iq03/903760)
                                  ทองคำ (gold)สมบัติอันล่ำค่า
                                                         ภาพที่  1  ทองรูปพรรณ
                                      (ที่มา  https://www.tkgolds.com/index.php?lay=show&ac=article&Id=502088)
 

         ทองคำ ไม่ว่าจะเป็นทองคำแท่ง  ทองรูปพรรณ ล้วนเป็นสินค้าที่มีราคาแพง และได้รับความนิยม ถือเป็นของมีค่า เป็นสมบัติอันล่ำค่าที่ได้รับความนิยมทุกยุคทุกสมัยนอกจากนี้ยังนำทองคำมาใช้ประโยชน์ด้านอื่น ๆ เช่น งานทันตกรรม และอุปกรณ์อิเล็กทรอนิกส์  ทองคำ ที่นำมาใช้นี้ ถือว่าเป็นธาตุตัวหนึ่งในตารางธาตุสัญลักษณ์ธาตุคือ Au มีเลขอะตอมเท่ากับ  79  ซึ่งทองคำมีคุณสมบัติเฉพาะที่แตกต่างจากธาตุตัวอื่นที่น่าสนใจหลายอย่างค่ะ 
 
                                      **  มาดูรายละเอียดเรื่องทองคำกันนะคะ  **

           
เนื้อหาเกี่ยวข้องกับ  กลุ่มสาระการเรียนรู้วิทยาศาสตร์    ทุกระดับชั้น  และผู้สนใจทั่วไป


เรื่อง   ธาตุและสารประกอบในชีวิตประจำวัน 
          
          ตัวอย่าง ธาตุและสารประกอบ ที่พบในชีวิตประจำวัน เช่น  แคลเซียม ออกซิเจน  สังกะสี  ทองแดง ทองคำ  หรือน้ำ เป็นต้น  ธาตุที่ได้รับความนิยมและมีค่าทางท้องตลาดสูง คือ ทองคำ มีรายละเอียด ดังนี้

          ทองคำ
          
          ทองคำ (gold) คือธาตุเคมีที่มีหมายเลขอะตอม 79 และสัญลักษณ์คือ Au (aurum) ทองคำเป็นธาตุโลหะทรานซิชันสีเหลืองทองมันวาวเนื้ออ่อนนุ่ม สามารถยืดและตีเป็นแผ่นได้ ทองคำไม่ทำปฏิกิริยากับสารเคมีส่วนใหญ่ ทองคำใช้เป็นทุนสำรองทางการเงินของหลายประเทศ ใช้ประโยชน์เป็นเครื่องประดับ งานทันตกรรม และอุปกรณ์อิเล็กทรอนิกส์
                                  ทองคำ (gold)สมบัติอันล่ำค่า
                                                             ภาพที่  2  ธาตุทองคำ
                                   (ที่มา  https://www.bloggang.com/data/offway/picture/1232893080.jpg)

         คุณสมบัติของทองคำ

         มีความแวววาวอยู่เสมอ ทองคำไม่ทำปฏิกิริยากับออกซิเจนดังนั้น เมื่อสัมผัสถูกอากาศสีของทองจะไม่หมองและไม่เกิดสนิม มีความอ่อนตัว ทองคำ เป็นโลหะที่มีความอ่อนตัวมากที่สุด ด้วยทองเพียงประมาณ 2 บาท เราสามารถยืดออกเป็นเส้นลวดได้ยาวถึง 8 กิโลเมตร หรืออาจตีเป็นแผ่นบางได้ถึง 100 ตารางฟุต เป็นตัวนำไฟฟ้าที่ดี ทองคำเป็นโลหะชนิดหนึ่งที่สามารถนำไฟฟ้าได้ดี สะท้อนความร้อนได้ดี ทองคำสามารถสะท้อนความร้อนได้ดี ได้มีการนำทองคำไปฉาบไว้ที่หน้ากากหมวกของนักบินอวกาศ เพื่อป้องกันรังสีอินฟราเรด
        มนุษย์รู้จักทองคำมาตั้งแต่ประมาณ 5,000 ปี เป็นความหมายแห่งความมั่งคั่ง จุดหลอมเหลว 1064 และจุดเดือด 2970 องศาเซลเซียส เป็นโลหะที่มีค่าที่มีความเหนียว (Ductility) และความสามารถในการขึ้นรูป (Malleability) คือจะยืดขยาย (Extend) เมื่อถูกตีหรือรีดในทุกทิศทาง โดยไม่เกิดการปริแตกได้สูงสุด 
ทองคำบริสุทธิ์หนัก 1 ออนซ์สามารถดึงเป็นเส้นลวดยาวได้ถึง 80 กิโลเมตร ถ้าตีเป็นแผ่นก็จะได้บางเกินกว่า 1/300,000 นิ้ว ส่วนความกว้างจะได้ถึง 9 ตารางเมตร
        ทองคำบริสุทธิ์ไม่ว่องไวต่อการเกิดปฏิกิริยาเคมี จึงทนต่อการผุกร่อนและไม่เกิดสนิมกับอากาศ แต่ทำปฏิกิริยากับสารเคมีบางชนิด เช่น คลอรีน ฟลูออรีน น้ำประสานทอง

        คุณสมบัติเหล่านี้ประกอบกับลักษณะภายนอกที่เป็นประกายจึงทำให้ทองคำเป็นที่หมายปองของมนุษย์มาเป็นเวลานับพันปี โดยนำมาตีมูลค่าสำหรับการแลกเปลี่ยนระหว่างประเทศและใช้เป็นวัตถุดิบที่สำคัญสำหรับ
วงการเครื่องประดับ

                                                   ทองคำ (gold)สมบัติอันล่ำค่า

                                                  ภาพที่  3 สมบัติของทองคำ
                                                  (https://th.wikipedia.org/wiki/ทองคำ)

        ทองคำได้รับความนิยมอย่างสูงสุดในวงการเครื่องประดับทองคำ เพราะเป็นโลหะมีค่าชนิดเดียวที่มีคุณสมบัติพื้นฐาน 4 ประการซึ่งทำให้ทองคำโดดเด่น และเป็นที่ต้องการเหนือบรรดาโลหะมีค่าทุกชนิดในโลก  ดังนี้

        1. งดงามมันวาว (lustre) สีสันที่สวยงามตามธรรมชาติผสานกับความมันวาวก่อให้เกิดความงามอันเป็นอมตะ ทองคำสามารถเปลี่ยนเฉดสีทองโดยการนำทองคำไปผสมกับโลหะมีค่าอื่นๆ ช่วยเพิ่มความงดงามให้แก่ทองคำได้อีกทางหนึ่ง 
        2. คงทน (durable) ทองคำไม่ขึ้นสนิม ไม่หมอง และไม่ผุกร่อน แม้ว่ากาลเวลาจะผ่านไป 3000 ปี
ก็ตาม 
        3. หายาก (rarity) ทองเป็นแร่ที่หายาก กว่าจะได้ทองคำมาหนึ่งออนซ์ (31.167 gram) ต้องถลุงก้อนแร่ที่มีทองคำอยู่เป็นจำนวนหลายตัน และต้องขุดเหมืองลึกลงไปหลายสิบเมตร จึงทำให้มีค่าใช้จ่ายที่สูง เป็นเหตุให้ทองคำมีราคาแพงตามต้นทุนในการผลิต 
        4. นำกลับไปใช้ได้ (reuseable) ทองคำเหมาะสมที่สุดต่อการนำมาทำเป็นเครื่องประดับเพราะมีความเหนียวและอ่อนนิ่มสามารถนำมาทำขึ้นรูปได้ง่าย อีกทั้งยังสามารถนำกลับมาใช้ใหม่โดยการทำให้บริสุทธิ์ (purified) ด้วยการหลอมได้อีกโดยนับครั้งไม่ถ้วน 
        
        การเกิดของแร่ทองคำ

        แร่ทองคำแบ่งออกเป็น  2  แบบ ตามลักษณะที่พบในธรรมชาติได้ดังนี้

        แบบปฐมภูมิ คือกระบวนการทางธรณีวิทยา มีการผสมทางธรรมชาติจากน้ำแร่ร้อน ผสมผสานกับสารละลายพวกซิลิก้า ทำให้เกิดการสะสมตัวของแร่ทองคำในหินต่างๆ เช่น หินอัคนี หินชั้น และหินแปร มีการพบการฝังตัวของแร่ทองคำในหิน หรือสายแร่ที่แทรกอยู่ในหิน ซึ่งส่วนใหญ่จะมองไม่เห็นด้วยตาเปล่า 
        แบบทุติยภูมิหรือลานแร่ คือการที่หินที่มีแร่ทองคำแบบปฐมภูมิได้มีการสึกกร่อน และถูกน้ำพัดพาไปสะสมตัวในที่แห่งใหม่ เช่น ตามเชิงเขา ลำห้วย หรือในตะกอนกรวดทรายในลำน้ำ

                              ทองคำ (gold)สมบัติอันล่ำค่า
                                                             ภาพที่  4  การขุดทองคำ
                               (ที่มา https://www.bloggang.com/data/m/maistyle/picture/1262416195.jpg
)

        แหล่งแร่ทองคำปฐมภูมิในไทย

                  แหล่งโต๊ะโมะ จ.นราธิวาส 
                  แหล่งเขาสามสิบ จ.สระแก้ว 
                  แหล่งชาตรี (เขาโป่ง) จ.พิจิตร - จ.เพชรบูรณ์ 
                  แหล่งดอยตุง (บ้านผาฮี้) จ.เชียงราย 
                  แหล่งเขาพนมพา จ.พิจิตร 
                  
        แหล่งแร่ทองคำทุติยภูมิในไทย 
       
                แหล่งบ้านป่าร่อน จ.ประจวบคีรีขันธ์ 
                แหล่งบ้านนาล้อม จ.ปราจีนบุรี 
                แหล่งบ้านทุ่งฮั้ว จ.ลำปาง 
                แหล่งในแม่น้ำโขง จ.เลย - จ.หนองคาย 
                แหล่งบ้านผาช้างมูบ จ.พะเยา

       หน่วยน้ำหนักของทองคำ
      
              กรัม : ใช้กันเป็นส่วนใหญ่ ถือว่าเป็นหน่วยสากล 
              ทรอยเอานซ์ : ใช้ในประเทศที่ใช้ภาษาอังกฤษ เช่น อังกฤษ สหรัฐอเมริกา ออสเตรเลีย 
              โทลา : ใช้กันทางประเทศแถบตะวันออกกลาง อินเดีย ปากีสถาน 
              ตำลึง : ใช้ในประเทศที่ใช้ภาษาจีน เช่น จีน ไต้หวัน ฮ่องกง 
              บาท : ใช้ในประเทศไทย 
              ชิ : ใช้ในประเทศเวียดนาม 
              
       การแปลงน้ำหนักทองคำ

              ทองคำความบริสุทธิ์ 96.5% (มาตรฐานในประเทศไทย) [1] 
              ทองรูปพรรณ น้ำหนัก 1 บาท เท่ากับ 15.16 กรัม 
              ทองคำแท่ง น้ำหนัก 1 บาท เท่ากับ 15.244 กรัม 
              ทองคำความบริสุทธิ์ 99.99% 
              ทองคำ 1 กิโลกรัม เท่ากับ 32.1508 (ทรอย) ออนซ์ 
              ทองคำ 1 (ทรอย) ออนซ์ เท่ากับ 31.1040 กรัม 
              
        หมายเหตุ: ทรอยออนซ์ เป็นหน่วยชั่งของโลหะมีค่า แต่มักเรียกสั้นๆ ว่า ออนซ์

              1 ทรอยออนซ์ เท่ากับ 1.097 ออนซ์ (ปกติ) 
              12 ทรอยออนซ์ เท่ากับ 1 ทรอยปอน 
              1 ทรอยปอน เท่ากับ 373 กรัม 
              
      การลงทุนทองคำ

              การตั้งราคาทองในประเทศไทยจาก 2 ปัจจัยหลัก คือ Goldspot และ USD-THB
              
Goldspot คือ ราคาทองต่างประเทศ มีการซื้อขายทองโดยใช้เงินสกุลดอลล่าร์
              
USD-THB คือ อัตราแลกเปลี่ยนค่าเงินบาทเทียบกับเงินสกุลดอลลาร์

       การตั้งราคาทองในประเทศไทย มีสูตรคำนวณดังนี้ 
        
                สูตรคำนวณราคาทองคำ = (spot gold + 2) x อัตราแลกเปลี่ยนเงินบาท x 0.4729

        ประโยชน์อื่น
        
                ด้านอวกาศ  ในทางอวกาศได้มีการนำทองคำมาใช้เป็นชุดนักบินอวกาศและแคปซูล เพื่อป้องกันไม่ให้นักบินอวกาศกระทบกับรังสีในอวกาศที่มีพลังงานสูง นอกจากนี้ยังมีการใช้ทองคำบริสุทธิ์เคลือบกับเครื่องยนต์ ระบบอิเล็กทรอนิกส์ หมวกเหล็ก เกราะบังหน้า และอุปกรณ์อื่นๆ ที่ใช้ในอวกาศ เนื่องจากทองคำที่มีความหนา 
0.000006 นิ้ว จะมีคุณสมบัติช่วยสะท้อนรังสีความร้อนจากดวงอาทิตย์ไม่ให้ทำลาย หรือลดประสิทธิภาพการทำงานของอุปกรณ์เหล่านี้
              ด้านทันตกรรม  มีการใช้ทองคำเพื่อการครอบฟัน เชื่อมฟัน หรือการเลี่ยมทอง และยังมีการใช้ในการผลิตฟันปลอมด้วย เนื่องจากทองคำมีความคงทนต่อการกัดกร่อน การหมองคล้ำ และยังมีความแข็งแรงอีกด้วย โดยจะใช้ทองคำผสมกับธาตุอื่น เช่น แพลตินัม
              ด้านอิเล็กทรอนิกส์  มีการนำทองคำมาใช้เป็นวัสดุที่ทำหน้าที่สัมผัสในอุปกรณ์อิเล็กทรอนิกส์ต่างๆ เช่น เครื่องคิดเลข โทรทัศน์ คอมพิวเตอร์ หรือโทรศัพท์มือถือ เนื่องจากทองคำมีค่าการนำไฟฟ้าสูง และมีความคงทนต่อการกัดกร่อน จึงช่วยเพิ่มประสิทธิภาพ และอายุการใช้งานของเครื่องไฟฟ้าเหล่านั้น

                                  ทองคำ (gold)สมบัติอันล่ำค่า

                                                                  ภาพที่  5  สร้อยทองคำ
                           (ที่มา  https://bbznet.pukpik.com/images/upload2/wasana_nang/XBMT20080329141643.jpg
)
 
  *** ดังนั้นธาตุทองคำ Au  ไม่ว่ายุคสมัยไหนก็ถือว่าเป็นของมีค่า มีราคา เพราะคุณสมบัติเฉพาะ
                                        ที่พิเศษของธาตุทองคำนั้นเองค่ะ  ***

คำถาม VIP ชวนคิด
 
        1.  ทองคำคืออะไร
        2.  ธาตุทองคำมีคุณสมบัติพิเศษอย่างไร
        3.  ทองคำจัดเป็นโลหะหรือไม่
        4.  ทองคำถือเป็นธาตุกลุ่มใด
        5.  ทองคำแตกต่างจากโลหะชนิดอื่นอย่างไร
        
กิจกรรมเสนอแนะ

        1.ให้นักเรียนศึกษาสมบัติที่พิเศษของทองคำที่แตกต่างจากธาตุตัวอื่น
        2.ให้นักเรียนเสนอความคิดเห็นว่าจะทดสอบอย่างไรว่าทองคำเป็นโลหะ
        3.ให้นักเรียนลองเปรียบเทียบราคาทองคำในท้องตลาดว่าแตกต่างจากสินค้าอื่นอย่างไร
   
การบูรณาการ

        1. ให้นักเรียนสำรวจราคาทองคำในท้องตลาดและนำข้อมูลมาทำสถิติราคาสูงที่สุดเท่าใด
        2. ให้นักเรียนเขียนเรียงความเกี่ยวกับเรื่องทองคำ
        3. ให้นักเรียนเสนอวิธีการทดสอบสมบัติของโลหะ และทองคำ
      
แหล่งข้อมูลอ้างอิง

      1. https://www.ryt9.com/s/iq03/903760
      2. https://th.wikipedia.org/wiki/ทองคำ
     

ที่มา : https://www.sahavicha.com/?name=knowledge&file=readknowledge&id=2546

อัพเดทล่าสุด