https://lentera.uin-alauddin.ac.id/question/gratis-terlengkap/https://old-elearning.uad.ac.id/gampang-menang/https://fk.ilearn.unand.ac.id/demo/https://elearning.uika-bogor.ac.id/tanpa-potongan/https://e-learning.iainponorogo.ac.id/thai/https://organisasi.palembang.go.id/userfiles/images/https://lms.binawan.ac.id/terbaik/https://disperkim.purwakartakab.go.id/storage/https://pakbejo.jatengprov.go.id/assets/https://zonalapor.fis.unp.ac.id/-/slot-terbaik/https://sepasi.tubankab.go.id/2024tte/storage/http://ti.lab.gunadarma.ac.id/jobe/runguard/https://satudata.kemenpora.go.id/uploads/terbaru/
ไอ้เท่ง...สุดยอด MUSLIMTHAIPOST

 

ไอ้เท่ง...สุดยอด


834 ผู้ชม


ไอ้เท่ง (Aiteng) 10 อันดับสุดยอดการค้นพบสิ่งมีชีวิตชนิดใหม่ของโลกแห่งปี 2009   

        สถาบันนานาชาติเพื่อการสำรวจสิ่งมีชีวิตชนิดใหม่ หรือ ไอไอเอสอี (International Institute of Species Exploration: IISE) มหาวิทยาลัยอริโซนาสเตท สหรัฐอเมริกา และคณะกรรมการนักอนุกรมวิธานนานาชาติ ได้คัดเลือกสิ่งมีชีวิตใหม่จากทั่วโลกกว่าหลายพันสปีชีส์ให้เหลือเพียง 10 สปีชีส์ เพื่อขึ้นบัญชีสุดยอดการค้นพบสปีชีส์ใหม่แห่งปี 2009 และทำการประกาศอย่างเป็นทางการเมื่อวันที่ 22 พฤษภาคม อันตรงกับวันสากลแห่งความหลากหลายทางชีวภาพพอดี  โดยการคัดเลือกครั้งนี้เป็นอิสระของคณะกรรมการแต่ละคนที่จะกำหนดกฎเกณฑ์การตัดสินของตนเองจากคุณลักษณะที่แปลกใหม่หรือความจริงที่น่าประหลาดใจรวมถึงการดึงดูดใจในชื่อที่ชวนให้นึกถึงความพิสดารไม่เหมือนใคร ทั้งนี้การประกาศ 10 สุดยอดการค้นพบสปีชีส์ใหม่ดังกล่าวไม่ได้จัดทำในลักษณะการเรียงลำดับ

ไอ้เท่ง...สุดยอด

ภาพ ไอ้เท่ง (Aiteng) สิ่งมีชีวิตชนิดใหม่ของโลก (ที่มา: https://www.psu.ac.th/node/1379)

ที่มา วารสารวิทยาศาสตร์ ปีที่ 64 ฉบับที่ 3 พฤษภาคม – มิถุนายน 2553 หน้า 24

ประเด็นข่าว
        สถาบันนานาชาติเพื่อการสำรวจสิ่งมีชีวิตชนิดใหม่ (ไอไอเอสอี) ประกาศ 10 อันดับสุดยอดการค้นพบ สปีชีส์ใหม่แห่งปี 2009 ท่ามกลางวิกฤติการการสูญเสียความหลากหลายทางชีวภาพและภาวะโลกร้อน

เนื้อหาสำหรับกลุ่มสาระการเรียนรู้วิทยาศาสตร์ (ชีววิทยา) ช่วงชั้นที่ 4
    สาระที่ 1   สิ่งมีชีวิตกับกระบวนการดำรงชีวิต
        มาตรฐาน ว 1.2 เข้าใจกระบวนการและความสำคัญของการถ่ายทอดลักษณะทางพันธุกรรม  
                                    วิวัฒนาการของสิ่งมีชีวิต  ความหลากหลายทางชีวภาพ การใช้เทคโนโลยี
                                    ชีวภาพที่มีผลต่อมนุษย์และสิ่งแวดล้อม มีกระบวนการสืบเสาะหาความรู้และ
                                    จิตวิทยาศาสตร์  สื่อสารสิ่งที่เรียนรู้และนำความรู้ไปประโยชน์
    สาระที่ 2   ชีวิตกับสิ่งแวดล้อม
        
มาตรฐาน ว 2.1 เข้าใจสิ่งแวดล้อมในท้องถิ่น ความสัมพันธ์ระหว่างสิ่งแวดล้อมกับสิ่งมีชีวิต 
                                    ความสัมพันธ์ระหว่างสิ่งมีชีวิตต่างๆ ในระบบนิเวศ มีกระบวนการสืบเสาะหา
                                    ความรู้และจิตวิทยาศาสตร์ สื่อสารสิ่งที่เรียนรู้และนำความรู้ไปใช้ประโยชน์
        มาตรฐาน ว 2.2 เข้าใจความสำคัญของทรัพยากรธรรมชาติ การใช้ทรัพยากรธรรมชาติระดับ
                                    ท้องถิ่น ประเทศและโลกนำความรู้ไปใช้ในการจัดการทรัพยากรธรรมชาติ
                                    และสิ่งแวดล้อมในท้องถิ่นอย่างยั่งยืน

        ไอ้เท่ง (Aiteng) มีชื่อทางวิทยาศาสตร์คือ Aiteng ater เป็นทากทะเล (Slug) ชนิดใหม่ (New Species) และวงศ์ใหม่ (New Family) ของโลก โดยมีลำดับทางอนุกรมวิธานจัดอยู่ในไฟลัม (Phylum) มอลลัสกา (Mollusca), ชั้น (Class) 
แกสโทรโพดา (Gastropoda), วงศ์ (Family) ไอ้เท่งจีดี้ (Aitengidae), สกุล (Genus) ไอ้เท่ง (Aiteng), ชนิด (Species)Aiteng ater ตามลำดับ
        สำหรับที่มาของการค้นพบได้รับการเปิดเผยจาก คุณสมศักดิ์ บัวทิพย์ นักวิทยาศาสตร์ จากแผนกชีววิทยา คณะวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยี มหาวิทยาลัยสงขลานครินทร์ วิทยาเขตปัตตานี หนึ่งในผู้ค้นพบ ว่าสืบเนื่องจาก ดร.คอร์เนลิส สเวนเนน (Dr. C.Swennen) ผู้เชี่ยวชาญด้านชีววิทยาทางทะเล จากประเทศเนเธอร์แลนด์ วัย 81 ปี ซึ่งเดินทางมาที่มหาวิทยาลัย สงขลานครินทร์ วิทยาเขตปัตตานี อย่างต่อเนื่องปีละ 2 ครั้ง ตั้งแต่ปี ค.ศ.1984 จนถึงปัจจุบัน ระหว่างปิดภาคการศึกษาที่ 1 และปิดภาคการศึกษาที่ 2 ครั้งละ 4 สัปดาห์ โดยมีความสนใจเรื่องทากทะเลเป็นทุนเดิมอยู่แล้ว
        ตั้งแต่เดือนเมษายน พ.ศ. 2548 เป็นต้นมา คุณสมศักดิ์ และ ดร.คอร์เนลิส จึงได้เริ่มโครงการสำรวจความหลากหลายทางชีวภาพของทากทะเลในบริเวณป่าชายเลนในพื้นที่ภาคใต้ของไทย ทั้งในอ่าวไทยและอันดามัน โครงการดังกล่าวใช้เวลาประมาณ 2 ปี จึงพบสิ่งมีชีวิตชนิดใหม่ คือ ไอ้เท่ง ที่ป่าชายเลน อ.ปากพนัง จ.นครศรีธรรมราช ในปี พ.ศ.2550 
        สัณฐานวิทยา (Morphology) “ไอ้เท่ง” มีขนาดประมาณ 6-17 มิลลิเมตร ลำตัวมีสีดำ สามารถดำรงชีวิตอยู่ได้ทั้งบนบก (โดยมีการขับเมือกหุ้มร่างกายเพื่อรักษาความชุ่มชื้น) และในน้ำ คล้ายกับสัตว์ครึ่งบกครึ่งน้ำทั่วๆไป ซึ่งความพิเศษนี้พบได้น้อยมากกับชนิดของทากทะเลที่มีการค้นพบหรือมีการศึกษาอยู่แล้วในปัจจุบัน จากการทดสอบพบว่า อาหารที่มันกินคือ แมลงในระยะดักแด้ สำหรับตัวอย่างที่ใช้ศึกษาเก็บมาจากป่าชายเลน อ.ปากพนัง ปัจจุบันเก็บรักษาไว้ที่แผนกชีววิทยา คณะวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยี มหาวิทยาลัยสงขลานครินทร์ วิทยาเขตปัตตานี
        นิเวศวิทยา (Ecology) เราสามารถพบ “ไอ้เท่ง” ได้ในบริเวณป่าชายเลนที่เป็นดินโคลน ซึ่งถูกปกคลุมด้วยต้นโกงกาง แสมทะเล ตาตุ่มทะเล และปรงทะเล เป็นต้น ในบริเวณที่เป็นร่องน้ำ รอยเท้ามีน้ำท่วมขัง รูปู แอ่งที่มีน้ำท่วมขัง และที่มีการทับถมของใบไม้และไม้ผุ และเป็นพื้นที่ที่ได้รับอิทธิพลจากน้ำขึ้น-น้ำลง ทั้งนี้ไอ้เท่งมีความสำคัญต่อห่วงโซ่อาหารในระบบนิเวศป่าชายเลนเหมือนกับสิ่งมีชีวิตในป่าชายเลนชนิดอื่นๆ

ไอ้เท่ง...สุดยอด

ภาพ นิเวศวิทยาของไอ้เท่ง ซึ่งสามารถพบได้บริเวณป่าชายเลนที่เป็นดินโคลน (ที่มา: https://www.psu.ac.th/node/1379)

        สำหรับชื่อสกุล Aiteng นั้น ตั้งตามชื่อหนังตะลุงของภาคใต้ที่ชื่อ “ไอ้เท่ง” ที่มีลักษณะตัวสีดำและมีตาคล้ายกับสิ่งมีชีวิตชนิดนี้ ส่วนคำคุณศัพท์ระบุชนิด (Specific epithet) เอเตอร์ (ater) มาจากภาษาละติน หมายถึงสีดำ นั้นเอง
        ทั้งนี้แม้ว่าไอ้เท่งจะเป็นสิ่งมีชีวิตชนิดใหม่และวงศ์ใหม่ และถือได้ว่าเป็นการค้นพบครั้งสำคัญครั้งหนึ่งของวงการอนุกรมวิธานของไทย แต่บทบาท หน้าที่ และความสำคัญของไอเท่งที่มีต่อระบบนิเวศนั้นได้ดำเนินมายาวนานควบคู่กับวิวัฒนาการของตัวมันเอง ทั้งนี้ยังคงรอคอยนักชีววิทยาทำการศึกษารายละเอียดของมันอย่างลึกซึ้งต่อไป
        ปัญหาสำคัญที่กำลังท้าทายไอ้เท่งอยู่ในขณะนี้ก็คือ ท่ามกลางวิกฤติการการสูญเสียความหลากหลายทางชีวภาพและวิกฤติการณ์ภาวะโลกร้อนเช่นนี้ ไอ้เท่งจะสามารถอยู่รอดและวิวัฒนาการอยู่คู่กับระบบนิเวศที่เคยดำเนินมาได้อย่างไรและอีกนานเพียงใด

ประเด็นคำถามสู่การอภิปราย
        1.บทบาท และหน้าที่ของไอ้เท่งในระบบนิเวศ
        2.ประโยชน์หรือโทษของไอ้เท่งที่มีต่อมนุษย์
        3.ไอ้เท่งจะสามารถอยู่รอดในโลกใบนี้ได้หรือไม่และอีกนานเพียงใด

กิจกรรมเสนอแนะ
        1.นักเรียนสำรวจสิ่งมีชีวิตกลุ่มเดียวกับไอ้เท่งในชุมชน
        2.นักเรียนคิดค้นโครงงานวิทยาศาสตร์เกี่ยวกับสัตว์ในกลุ่มทาก

กิจกรรมบูรณาการ
        1.บูรณาการกับวิชาภาษาไทย สังคมศึกษา และศิลปะ เกี่ยวกับศิลปวัฒนธรรม และการละเล่นของภาคใต้

แหล่งอ้างอิง
        วารสารวิทยาศาสตร์ ปีที่ 64 ฉบับที่ 3 พฤษภาคม – มิถุนายน 2553 หน้า 24-28
        https://www.psu.ac.th/node/1379

 
ที่มา : https://www.sahavicha.com/?name=knowledge&file=readknowledge&id=2980

อัพเดทล่าสุด