“ธุรกิจ การบริหารธุรกิจ คุณภาพสินค้า ภาพลักษณ์ของแบรนด์ วิกฤตCEO โตโยต้า” พลาดท่า เพราะ การจัดการ MUSLIMTHAIPOST

 

“ธุรกิจ การบริหารธุรกิจ คุณภาพสินค้า ภาพลักษณ์ของแบรนด์ วิกฤตCEO โตโยต้า” พลาดท่า เพราะ การจัดการ


802 ผู้ชม


ทศวรรษนี้ถือว่าข่าวเรื่องบริษัทผลิตรถยนต์ยักษ์ใหญ่ของญี่ปุ่นโตโยต้าที่มีประวัติชนะเหนือรถอเมริกันที่เป็นต้นตำนานการผลิตรถยนต์โลก โดยเติบโตจนเป็นผู้ผลิตและขายรายใหญ่ที่สุดในโลก 
 

แล้วเพียงไม่นานนักก็เกิดปัญหาเกี่ยวกับ คุณภาพรถที่คันเร่งน้ำมันมีปัญหา ต้องเรียกคืนรถกลับมาแก้ไข ทำให้ ภาพลักษณ์ของโตโยต้าเสียหายมากมหาศาล เพราะเป็นยุคข่าวสารข้อมูลครอบโลก ชื่อเสียของโตโยต้าจึงมิใช่เสียหายแค่บริษัท แต่ยังกระทบถึงความเชื่อถือต่อบริษัทญี่ปุ่นอื่นๆ ด้วย จากที่เคยเป็นเจ้าตำรับเน้นจุดเด่นด้านคุณภาพ โดยการจัดการแนว Quality Management ที่อเมริกาเจ้าตำรับวิชาการจัดการแท้ๆ ให้ต้องอายไป แล้วยอมไปปรับแก้ไขตัวเอง ในปี ค.ศ.1968 สมัยที่เรียนอยู่ในสหรัฐ
 

เหตุการณ์ครั้งนั้น เป็นสาเหตุให้หนังสือ In Search of Excellence ของ Peter &Waterman ขายดีเป็นเทน้ำเทท่า จนอาจารย์ที่คุมโครงการ MBA ธรรมศาสตร์ กำหนดให้ทุกคนที่จะจบต้องอ่านหนังสือเล่มนี้ ทั้งนี้หาใช่ว่าหนังสือเล่มนั้นจะดีเลิศ แต่เป็นเพราะวัฒนธรรมอเมริกันที่ต่อสู้สร้างชาติมาจนสำเร็จเป็นนักสู้พวก Puritan ที่ต่างต้องหัวใจสลายเมื่อต้องมาพ่ายให้กับญี่ปุ่น คนอเมริกันจึงต่างแย่งกันหาซื้อไปอ่านกันยกใหญ่ ถึงขนาดร้านหนังสือต่างแกะกล่องออกขายแทบไม่ทัน ซึ่งผมได้เห็นที่ชิคาโก ขณะร่วมประชุมกับสมาพันธ์คณบดีคณะบริหารธุรกิจโลก [AACSB]
 

เหตุที่หนังสือขายดีเพราะในหนังสือเล่มนั้นกล่าวอ้างถึงการผลการวิจัยกับใช้คำพูดปลอบขวัญและปลุกใจคนอเมริกันว่าเรายังไม่แพ้พร้อมยกตัวอย่างกิจการที่สำเร็จ พร้อมกับข้อเสนอแนะให้มีการปรับปรุงจัดการหลายประการด้วย 
 

แต่ลึกๆ แล้ว ปีเตอร์ ดรั๊กเกอร์ ได้กล่าวว่า ยังไม่ใช่ทฤษฎีใหม่ แต่ยังดีที่เป็นเกร็ดความรู้
 

ไม่ว่าจะอย่างไร ถึงวันนี้ ชะตากรรมของโตโยต้า นับว่าเป็นกรณีศึกษาที่น่าสนใจแห่งยุค ที่สะท้อนถึงความอ่อนซ้อมการจัดการที่เป็นการแข่งขันในยุคโลกาภิวัตน์  ซึ่งโตโยต้า ต่างทำเช่นเดียวกับบริษัทอื่นๆ โดยต่างพากันยืดอกเดินหน้า แสวงหาและไขว่คว้าโอกาสที่เปิดขึ้นใหม่ไปทั่วโลกอย่างไร้ขีดจำกัด
 

ข้อผิดพลาด คือ โตโยต้า ได้ตั้ง เป้าหมายเติบโตในตลาดโลกที่สูงมาก ซึ่งบนฐานเดิมที่มีขนาดตลาดใหญ่มากอยู่แล้ว ทำให้การเพิ่มขนาดการเติบโตก่อผลทำให้กลายเป็นภาระเพิ่มมากกว่าจำนวนเปอร์เซ็นต์ที่เพิ่มขึ้นมากเป็นทวีคูณ กลายเป็นแรงกดดันที่ไม่รู้ตัว กับทำให้เกิดช่องว่างใหญ่ ทั้งการจัดการกับการปฏิบัติการและดำเนินการ ที่เป็นภาระต้องควบคุมรักษาให้คงอยู่อย่างครบถ้วนทุกอย่าง ทั้งต้นทุน ราคา และคุณภาพสินค้า ซึ่งทำได้ยากเขม็งเกลียวมากขึ้น
 

จุดผิดพลาดของโตโยต้า ไม่ได้อยู่ที่การละทิ้งปรัชญาคุณภาพโดยสิ้นเชิง หากแต่เป็นเพราะ วิธีการผลิตการทำงานที่โตโยต้าพัฒนามาตลอดนั้น เมื่อขยายออกไปประยุกต์ใช้ทั่วโลกนั้นวัฒนธรรมองค์กรที่เป็นสิ่งกำกับที่ไร้ตัวตน ไม่อาจก้าวข้ามไปครอบคลุมกำกับได้ในทุกประเทศ ที่มีวัฒนธรรมต่างกัน   ตรงนี้เองที่ทำให้ Strategic Operations หรือ วิธีการทำงานที่เยี่ยมยุทธ์ของ โตโยต้า ไม่อาจรักษาไว้ครบถ้วนในระดับโลกได้ 
 

แล้วจุดที่พลาดต่อมาคือ การไม่สามารถแยกแยะเลือกใช้กลยุทธ์ในระดับโลกที่เหมาะสม นั่นคือ Global Sourcing หรือ การจ้างบริษัทผลิตอะไหล่ภายนอกไปทำ แล้วส่งไปให้ใช้ร่วมกันทั่วโลก เพียงเพื่อหวังจะประหยัดต้นทุน กับช่วยให้ได้เดินตามกลยุทธ์ใหม่ของกิจการระดับโลก แห่งอื่นๆ คือ การใช้ นโยบายทำ Out Source” หรือจ้างบริษัทภายนอกเป็น suppliers ผลิตให้ ซึ่งทำให้ควบคุมไม่ได้อย่างที่ควร
 

ที่หนักยิ่งว่า ก็คือ การประยุกต์ใช้ชิ้นส่วนมาตรฐานกับรถยนต์หลายขนาด เพื่อประหยัดต้นทุน แทนที่จะเป็นการทำแบบจำเพาะสำหรับแต่ละขนาด/หรือรุ่น ทำให้คันเร่งกลายเป็นปัญหาใหญ่ขึ้นมาอย่างไม่ได้คาดคิด
 

สะท้อนว่า โตโยต้าพลาดในการประยุกต์นโยบายและกลยุทธ์สู่การปฏิบัติอย่างเป็นระบบในระบบใหญ่ของการบริหารในบริบทของโลกกว้าง นั่นคือ ขณะกำหนดกลยุทธ์เชิงรวมระดับโลกของทั้งบริษัทได้ดีแล้ว ที่ยากยิ่งกว่าคือ การกำหนดยุทธศาสตร์การดำเนินการที่สามารถรักษาประสิทธิภาพและคุณภาพในหน่วยปฏิบัติตามกลยุทธ์ย่อยได้
 

เพราะ การบริหารยุคโลกาภิวัตน์ ส่วนมากต่างเดินตามกระแสให้สนใจใช้ วิสัยทัศน์กำหนดกลยุทธ์สู่โลกกว้างในขั้นตอนการวางแผน แต่ที่สำคัญกว่าคือ ฝันจะเป็นจริงได้จะอยู่ที่หน่วยงานภายใน ซึ่งจะเป็นผู้ทำงานจริง ทั้งผลิตสินค้าและบริการให้บรรลุตามแผนกลยุทธ์ได้
 

จะเห็นว่า บริษัทระดับโลกที่มีสภาพแวดล้อมเปลี่ยนแปลงมาก ส่วนมากจะเน้นสนใจที่เป้าหมายกับกลยุทธ์ต่อภายนอกเป็นสำคัญ กับชอบหลงผิด คิดว่าวัฒนธรรมองค์กรที่มีอยู่นั้น คือ คัมภีร์ที่ศักดิ์สิทธิ์ที่จะสามารถใช้ได้กับทุกๆ ที่กับทุกๆ คนในบริษัท 
 

โดยมักมองข้าม การพัฒนาระบบปฏิบัติงานภายใน” [Implementation] เพื่อประสิทธิภาพครบถ้วนอย่างต่อเนื่อง เพราะแท้จริงแล้วระบบงานและคนผู้ปฏิบัติจะสำคัญยิ่งกว่า อีกทั้ง วัฒนธรรมองค์กร ก็จะจางไปเรื่อยๆ ตามความแตกต่างของแต่ละประเทศ
 

ข้อผิดพลาดต่อมาคือ โตโยต้า ซึ่งโตเร็วในสภาพแวดล้อมโลกยุคสารสนเทศ ที่เกี่ยวข้องกับวัฒนธรรมของประเทศต่างๆ ที่หลากหลาย ทั้งขอบเขตการดำเนินงานก็เปิดกว้างถึงกัน และต้องเกี่ยวข้องกับกลุ่มผลประโยชน์ต่างๆ อีกากทั้งภายนอกและภายใน ภายใต้ระบบสื่อสารที่ไว และไปกว้าง กับ ชื่อเสียง หรือภาพลักษณ์” [Image] ที่มีค่าเป็นทรัพย์ทางปัญญาที่ราคาแพง
 

การต้องให้ความสำคัญกับงานด้านการสื่อสาร [ Communication] อย่างเป็นเชิงรุก โดยการยกระดับงานด้านนี้ให้สูงขึ้นและอยู่ใกล้ตัว CEO พร้อมกับขยายขอบเขตงานกับใช้ให้ทำงานด้านการสื่อสารให้ครบด้านตามความจำเป็นของเงื่อนไขในโลกยุคใหม่ ทั้งนี้ก็เพื่อการสื่อสารกับกลุ่มต่างๆ ที่สำคัญทั้งภายนอกกับภายใน เช่น นอกจากการสื่อสารการตลาด [Marketing Communication] เพื่อการโฆษณาขายสินค้าแล้ว  การสร้างความสัมพันธ์กับกลุ่มผู้ถือหุ้นหรือกับสาธารณชนอื่นๆ และแม้แต่กับพนักงานภายในเอง ล้วนมีความสำคัญต่อการเดินไปข้างหน้าและการแก้ปัญหาที่จำต้องมีการสื่อสารเพื่อสร้างความเข้าใจร่วมกันเป็นสำคัญ
 

งานด้าน การสื่อสารองค์กร [Corporate Communication] คืองานสำคัญที่กิจการขนาดใหญ่ส่วนใหญ่ต้องทำ ทั้งนี้เพื่อสำหรับรองรับกับปัญหาที่เกิดขึ้นยุคใหม่ 2 ด้าน ที่สำคัญคือ
 

ก) เพื่อสื่อสารทำความเข้าใจเกี่ยวกับทิศทางนโยบายกับกลยุทธ์ของบริษัทที่เปลี่ยนแปลงไปจากเดิมตามกระแสใหม่ที่เกิดขึ้น ให้เข้าใจกันทั่วทุกระดับและทุกแห่งในองค์กร
 

ข) การใช้เพื่อการสื่อสารแก้ปัญหาวิกฤติที่อาจเกิดขึ้น ที่อาจส่งผลกระทบรุนแรง เร็วและก่อผลเสียหายมากในเวลาอันสั้น 
 

แต่ที่สำคัญเหนือสิ่งอื่นใด คือ  ตัว ผู้นำต้องเข้าใจและให้ความสำคัญต่องานการสื่อสารองค์กร โดยมีแผนงาน หน่วยงานกับบุคลากรที่ทำงานแบบมืออาชีพ ในจำนวนที่พอเพียง กับต้องตื่นตัว ใกล้ชิดกับงานนี้ เพื่อการสร้างและรักษา จุดเด่นกับภาพลักษณ์ที่มีค่าของกิจการเอาไว้ยาวนาน
 

ทั้งนี้ ในยากปกติ การสื่อสารองค์การ ต้องผูกโยงไว้ในแผนกลยุทธ์ และกรณีเกิดวิกฤติ CEO จะต้องถือเป็นหน้าที่ออกมาสื่อสารได้แบบทันควันด้วยตนเอง เพื่อมิให้ลุกลามบานปลาย ทักษะการสื่อสารจึงต้องฝึกเตรียมไว้ แต่ก็ไม่ใช่การเอาไว้ใช้สร้างภาพลวงหรือการหาเสียงในสิ่งที่ไม่มีแก่นสาร ทั้งนี้ โลกสื่อสารยุคใหม่มีความหลากหลายทันสมัยและก้าวหน้า ซึ่งจะแยกแยะให้เห็นความจริงปรากฏออกมาได้ในเวลาไม่นานนัก
ที่มา;https://www.bizexcenter.com/กรณีศึกษาทางธุรกิจ/โตโยต้า-พลาดท่า-เพราะ-การจัดการ.html

อัพเดทล่าสุด