การใช้ยาในเด็ก, ยาสามัญประจำบ้าน, ยาเด็ก, แม่และเด็ก, เกร็ดความรู้ทั่วไป, เกร็ดความรู้, พัฒนาการเด็ก MUSLIMTHAIPOST

 

การใช้ยาในเด็ก, ยาสามัญประจำบ้าน, ยาเด็ก, แม่และเด็ก, เกร็ดความรู้ทั่วไป, เกร็ดความรู้, พัฒนาการเด็ก


1,027 ผู้ชม


เตรียมกระเป๋ายา ก่อนพาลูกเรียนรู้นอกห้องเรียน

การใช้ยาในเด็ก

เตรียมกระเป๋ายา ก่อนพาลูกเรียนรู้นอกห้องเรียน
(M&C แม่และเด็ก)
เรื่อง : ภัทร์รวี ปิยวาจานุสรณ์
          คอลัมน์คุณแม่มือใหม่ ฉบับที่แล้วเราได้พูดถึงข้อดีของการชวนลูกออกไปเล่นบอกบ้าน เพื่อเปิดโลกการเรียนรู้เสริมสร้างพัฒนาการทางร่างกาย อารมณ์ และสังคมกันไปแล้ว ช่วงปิดเทอมใหญ่หลาย ๆ บ้านคงเตรียมโปรแกรมพาเด็ก ๆ ท่องเที่ยว หลังจากที่เหน็ดเหนื่อยกับการเรียนมาตลอดปีการศึกษาที่ผ่านมา
          โปรแกรมเที่ยวพร้อมแล้ว ร่างกายเด็กก็ต้องพร้อมด้วย ไม่เช่นนั้น ความสุขที่คาดหวังไว้อาจลดลงไป แต่การเจ็บป่วยของเด็ก ๆ ระหว่างเดินทางก็เป็นสิ่งที่ผู้ปกครองรู้สึกวิตกกังวล
          การเตรียมพร้อมเพื่อรับมือกับการเจ็บป่วยที่อาจเกิดขึ้นจะช่วยลดความกังวลใจของพ่อแม่ได้บางส่วน ยาสามัญประจำบ้าน เป็นส่วนหนึ่งในการเตรียมความพร้อมเพื่อช่วยลดข้อกังวลดังกล่าวลงได้บ้างค่ะ
 ยาสามัญฯ สำหรับเด็ก
          ก่อนอื่นมารู้จัก "ยาสามัญประจำบ้าน" กันก่อน ความหมายคือเป็นยาที่ได้กำหนดไว้ในพระราชบัญญัติยา ว่าเป็นยาสามัญประจำบ้าน ที่ฉลากยาจะมีกรอบสีเขียวมีตัวอักษรเขียนว่า ยาสามัญประจำบ้าน ซึ่งขนาดของตัวอักษรดังกล่าวต้องสามารถอ่านได้ชัดเจน โดยที่ยากลุ่มนี้เป็นยาที่ประชาชนทั่วไปหาซื้อเองได้
          ยาสามัญประจำบ้านที่จะกล่าวถึงต่อไปนี้ เป็นเพียงบางส่วนในพระราชบัญญัติยาเท่านั้น และขอกล่าวถึงเฉพาะยาที่ใช้ในเด็กค่ะ
         1. ยาแก้ปวดท้อง ท้องอืด ท้องเฟ้อ ยาลดกรด อะลูมินา-แมกนีเซียม ยาธาตุน้ำแดง เมื่อต้องเดินทาง อาจเกิดเหตุการณ์ที่เด็กไม่สามารถรับประทานอาหารให้ตรงเวลาได้ นอกจากนี้การรับประทานขนมถุง ขนมกรุบรอบ น้ำอัดลม ยังอาจส่งผลให้กระเพาะอาหารของเด็กเกิดปัญหาได้ ยากลุ่มนี้ช่วยบรรเทาอาการเจ็บป่วยเบื้องต้นได้
         2. ผงน้ำตาลเกลือแร่ 1 ซองละลายน้ำ (น้ำเปล่าที่สะอาด) 1 แก้ว จิบไปเรื่อย ๆ รับประทานวันละ 3 ซอง มีข้อควรระวังในการใช้คือ ถ้าผสมเกลือแร่กับน้ำไว้เกิน 24 ชั่วโมงต้องเททิ้ง ระหว่างการเดินทาง อาหารข้างทางอาจไม่ถูกสุขลักษณะอาการท้องเสียจึงเป็นอาการที่พบได้บ่อยครั้ง การดูแลรักษาเบื้องต้นคือ อย่าให้ร่างกายสูญเสียเกลือแร่ ซึ่งการรับประทานผงน้ำตาลเกลือแร่จะช่วยได้
         3. ยาระบาย กลีเซอรีนเหน็บสำหรับเด็ก, ยาระบายแมกนีเซีย, โซเดียมคลอไรด์ชนิดสวนทวาร ในเด็กบางคน เมื่อเดินทางไปต่างสถานที่อาจเกิดอาการท้องผูกได้ เบื้องต้นให้ทานผักผลไม้เพิ่ม ดื่มน้ำสะอาดให้เพียงพอต่อร่างกาย ถ้าเด็กไม่ถ่ายหลายวันอาจไม่สบายตัว ยาระบายก็เป็นอีกหนึ่งทางเลือก แต่ควรระวังการใช้ยากลุ่มนี้ ใช้ในกรณีที่จำเป็นเท่านั้น
         4. ยาบรรเทาปวด ลดไข้ พาราเซตามอล รับประทานทุก 4 ถึง 6 ชั่วโมง เมื่อมีอาการ ไม่ควรใช้ยาติดต่อกันเกิน 5 วัน
         5. พลาสเตอร์บรรเทาปวด (ชนิดที่ไม่มีส่วนประกอบของยาลดอักเสบกล้ามเนื้อ) พลาสเตอร์อาจก่อให้เกิดการระคายเคืองได้ ควรระวังการใช้ในเด็กที่ผิวแพ้ง่ายค่ะ
         6. ยาดม แก้วิงเวียน แก้คัดจมูก
         7. ยาทาระเหย บรรเทาการคัดจมูก (ในกรณี เป็นเด็กทารก ไม่เคยใช้ยาทากลุ่มนี้มาก่อน และมีประวัติแพ้ง่ายควรลองทาที่ท้องแขนก่อน ภายใน 12 ชั่วโมง ถ้ามีผื่นแพ้เกิดขึ้น ควรหลีกเลี่ยงไปใช้แบบระเหยแทน หยดใส่ผ้าอ้อมแล้วผูกคอเด็กไว้
         8. ยารักษาลิ้นเป็นฝ้า gentian violet เด็กที่รับประทานขนมกรุบกรอบอยู่เป็นประจำ มักมีแผลร้อนในในปาก ยาตัวนี้ช่วยบรรเทาอาการได้บางส่วน แต่ต้องแก้ที่สาเหตุ คือหลีกเลี่ยงขนมกรุบกรอบด้วยค่ะ
         9. ยาใส่แผล ล้างแผล Tincture Iodine, Povidone Iodine, Alcohol และน้ำเกลือล้างแผล ซึ่งหลังเปิดใช้มีอายุแค่ 30 วัน แต่มีข้อดีไม่ระคายเคืองผิว
         10. ยาทาบรรเทาอาการปวดเมื่อยกล้ามเนื้อ แมลงกัดต่อย ที่ไม่ผสมตัวยาลดอักเสบกล้ามเนื้อ ระวังการใช้ในเด็กที่แพ้ง่าย อาจเกิดการระคายเคืองได้ค่ะ
         11. ยาทาแก้ผดผื่นคัน คาลาไมน์ ระหว่างการเดินทางผิวที่บอบบางของลูกอาจเกิดผื่นคันได้ ควรเตรียมคาลาไมน์ติดกระเป๋าไว้ด้วยนะคะ
         12. ยาเม็ด Vitamin C 100 mg ใช้อมแก้ระคายคอได้ แต่เป็นยาที่เสียได้ง่าย เมื่อโดนความชื้นหรือความร้อน จึงควรเก็บในที่แห้ง ถ้าพบว่าเม็ดยามีสีต่างจากเดิมไม่ควรรับประทานค่ะ
          ยาสามัญประจำบ้านที่กล่าวมาทั้งหมด เป็นเพียงบางส่วนของยาสามัญประจำบ้าน ฉบับปรับปรุงล่าสุด ในพระราชบัญญัติยา ของประกาศกระทรวงสาธารณสุข คุณพ่อคุณแม่สามารถหาข้อมูลเพิ่มเติมได้ที่ drug.fda.moph.go.th
          นอกจากนี้ ในเด็กที่มีโรคประจำตัว ควรได้รับการแนะนำในการใช้ยาสามัญประจำบ้านเพิ่มเติมจากแพทย์หรือเภสัชกรทุกครั้งก่อนใช้ยา เนื่องจากมียาบางตัวห้ามใช้ในผู้ป่วยบางโรคค่ะ
แม่และเด็ก

 การเตรียมร่างกายและจิตใจ

          นอกจากยาสามัญประจำบ้านที่กล่าวไปแล้ว การเตรียมร่างกายและจิตใจของลูกรักให้พร้อมสำหรับการเดินทาง เรียนรู้โลกกว้างก็สำคัญไม่แพ้กัน
          เพราะสิบปากว่าไม่เท่าตาเห็น สิบตาเห็นไม่เท่ามือคลำ อย่ากังวลกับเรื่องการเจ็บป่วย และเชื้อโรคนอกบ้านจนไม่กล้าพาลูกไปไหน
          ทุกครั้งที่พาลูกเดินทางนอกสถานที่ควรฝึกให้เค้าล้างมือทุกครั้งก่อนหยิบจับอาหาร ดื่มน้ำสะอาดให้เพียงพอต่อความต้องการของร่างกาย เลือกรับประทานอาหารที่สะอาด ถูกสุขลักษณะ จะช่วยลดความเสี่ยงของการเกิดโรคติดเชื้อต่าง ๆ ได้ลงพอควรค่ะ
          ขอให้ทุกครอบครัวพบความสุขในทุกการเดินทาง พาเจ้าตัวเล็กของเราเดินทางโดยสวัสดิภาพและระหว่างทางก็สนุกกับทุกการเรียนรู้ค่ะ และที่สำคัญอย่ามุ่งเน้นแต่จุดหมายที่จะไปถึงนะคะ ความรื่นรมย์ตามรายทางก็สำคัญไม่แพ้กัน

ขอขอบคุณข้อมูลจาก

ปีที่ 37 ฉบับที่ 504 กุมภาพันธ์ 2557

อัพเดทล่าสุด