https://lentera.uin-alauddin.ac.id/question/gratis-terlengkap/https://old-elearning.uad.ac.id/gampang-menang/https://fk.ilearn.unand.ac.id/demo/https://elearning.uika-bogor.ac.id/tanpa-potongan/https://e-learning.iainponorogo.ac.id/thai/https://organisasi.palembang.go.id/userfiles/images/https://lms.binawan.ac.id/terbaik/https://disperkim.purwakartakab.go.id/storage/https://pakbejo.jatengprov.go.id/assets/https://zonalapor.fis.unp.ac.id/-/slot-terbaik/https://sepasi.tubankab.go.id/2024tte/storage/http://ti.lab.gunadarma.ac.id/jobe/runguard/https://satudata.kemenpora.go.id/uploads/terbaru/
ชิงเปรต ประเพณีชิงเปรต พร้อม คลิปผีเปรต MUSLIMTHAIPOST

 

ชิงเปรต ประเพณีชิงเปรต พร้อม คลิปผีเปรต


1,153 ผู้ชม

วันที่ 19 กันยายนปีนี้ ไม่ได้ตรงกับวันสิ้นสุดเดือนรอมฎอนของพี่น้องมุสลิมที่ชายแดนใต้เท่านั้น แต่ยังตรงกับ “วันสารทเดือนสิบ” ของพี่น้องชาวพุทธอีกด้วย


ชิงเปรต ประเพณีชิงเปรต พร้อม คลิปผีเปรต
เรื่อง สารทเดือนสิบ...งานบุญชาวพุทธที่ชายแดนใต้     

(ข้อมูลน่ารู้ ซึ่งเป็นความเชื่อของแต่ละศาสนา)
สมศักดิ์ หุ่นงาม
โต๊ะข่าวภาคใต้ สถาบันอิศรา


          วันที่ 19 กันยายนปีนี้ ไม่ได้ตรงกับวันสิ้นสุดเดือนรอมฎอนของพี่น้องมุสลิมที่ชายแดนใต้เท่านั้น แต่ยังตรงกับ “วันสารทเดือนสิบ” ของพี่น้องชาวพุทธอีกด้วย

          ในวันนั้น...หลายๆ วัดในพื้นที่จึงแน่นขนัดไปด้วยพุทธศาสนิกชนซึ่งหอบลูกจูงหลานไปร่วมงานบุญเดือนสิบกันตั้งแต่เช้า ในงานมีพิธีกรรมสำคัญนอกเหนือจากการไหว้พระ-ฟังธรรมแล้ว ยังมีประเพณี “ชิงเปรต” ที่สืบทอดความเชื่อกันมาหลายชั่วอายุคน

          “ชิงเปรต” เป็นประเพณีเก่าแก่ของคนใต้ที่ทำกันในวันสารทเดือนสิบ โดยเชื่อกันว่าบรรพบุรุษผู้ล่วงลับไปแล้วหากยังมีบาปอยู่จะกลายเป็นเปรตอยู่ในนรก ปีหนึ่งเปรตเหล่านี้จะถูกปล่อยให้มาเมืองมนุษย์ 15 วัน โดยมาในวันแรม 1 ค่ำเดือน 10 ซึ่งถือกันว่าเป็นวัน "รับเปรต" หรือ “วันสารทเล็ก” ลูกหลานจะต้องตระเตรียมขนมมาเลี้ยงดูให้อิ่มหมีพีมันและฝากกลับไปเมืองเปรตในวันแรม 15 ค่ำเดือน 10 ซึ่งถือกันว่าเป็นวัน “ส่งเปรต” กลับคืนเมืองนรก หรือเรียกกันว่า “วันสารทใหญ่” ซึ่งในปีนี้ “วันรับเปรต” ตรงกับวันที่ 5 กันยายน ส่วนวันส่งเปรตตรงกับวันที่ 19 กันยายน

          พระครูมงคลคุณาธาร รองเจ้าอาวาสวัดนพวงศาราม อ.เมืองปัตตานี  เล่าให้ฟังถึงที่มาของประเพณีชิงเปรตว่า  เป็นประเพณีที่สืบทอดกันมาตั้งแต่สมัยพุทธกาล เริ่มจากพระเจ้าพิมพิสาร (กษัตริย์ผู้ครองเมืองราชคฤห์ แคว้นมคธ) ซึ่งมีพระญาติของพระองค์ที่ล่วงลับไปแล้วแต่ไม่ได้ทำบุญอุทิศส่วนกุศลไปให้ วันดีคนดีจึงร้องโหยหวนและปรากฏตัวให้พระเจ้าพระเจ้าพิมพิสารได้เห็น


          พระเจ้าพิมพิสารเองก็ไม่ทราบว่าเป็นเสียงอะไร และตัวอะไร เห็นแต่เป็นตัวใหญ่ๆ จึงได้ไปทูลถามพระพุทธเจ้า พระองค์ทรงตอบกลับมาว่า เสียงนั้นเป็นเสียงของเปรตญาติของพระพิมพิสาร ซึ่งเปรตเหล่านี้ต้องการให้พระองค์อุทิศส่วนกุศลไปให้ เนื่องจากช่วงที่มีชีวิตอยู่ได้ทำบาปทำกรรมเอาไว้ เมื่อตายไปแล้วจึงกลายเป็นเปรต เหตุนี้พระพุทธเจ้าจึงทรงบอกให้พระเจ้าพิมพิสารทำบุญอุทิศส่วนกุศลไปให้เปรตญาติเพื่อจะได้พ้นกรรม และได้ไปเกิดในภพที่ดีต่อไป นับจากนั้นจึงกลายเป็นธรรมเนียมที่ปฏิบัติกันสืบต่อมา

          “ในเดือนสิบของทุกๆ ปี ยมบาลจะปล่อยให้บรรพบุรุษของเราที่ตายไปแล้วให้ขึ้นมาบนโลกมนุษย์ ให้ขึ้นมารับส่วนบุญจากลูกหลาน ซึ่งในงานบุญเดือนสิบแต่ละครั้งจะมีระยะเวลา 15 วัน ถ้าเกิดบรรพบุรุษขึ้นมาแล้วไม่เจอลูกหลาน หรือลูกหลานไม่ทำบุญอุทิศส่วนกุศลไปให้ ก็จะมีการสาปแช่งต่างๆ นานา"

          "สำหรับลูกหลานที่นำอาหารมาทำบุญ ยังมีการนำอาหารส่วนหนึ่งไปไว้นอกวัด เพื่อเลี้ยงเปรตที่ไม่มีญาติด้วย ซึ่งหมายถึงเปรตที่ลูกหลานไม่มาทำบุญ เปรตเหล่านี้จะไม่สามารถเข้าไปในวัดได้ ต้องอยู่ด้านนอก หรืออาจจะเป็นพวกสัมภเวสี คือพวกที่ตายแล้วไม่มีใครรู้จักหรือไม่มีญาติมาทำบุญให้” พระครูมงคลคุณาธาร กล่าว

          งานบุญเดือนสิบนั้น เป็นประเพณีที่คนใต้ให้ความสำคัญมาก ผู้หลักผู้ใหญ่ตลอดจนผู้เฒ่าผู้แก่จะชวนลูกหลานไปทำบุญ หรือไป “ชิงเปรต” ที่วัด เมื่อใกล้ถึงวันสารท ทุกครอบครัวจะตระเตรียมข้าวของสำหรับทำบุญ ส่วนผู้ที่อยู่ห่างไกลจะเริ่มทยอยกันกลับบ้านเพื่อไปร่วมงานบุญเดือนสิบกันอย่างพร้อมหน้า ถือเป็นงาน “รวมญาติ” งานหนึ่งของชาวใต้

          ประเพณีทำบุญเดือนสิบมีชื่อเรียกแตกต่างกันไปตามวัตถุประสงค์ของการจัดงานและความเชื่อ เช่น เรียกตามชื่อเดือนที่จัดงาน ก็จะเรียกว่า "ประเพณีทำบุญเดือนสิบ" หรือถ้าเรียกชื่อตามประเพณี "สารท" ของอินเดีย ซี่งคำว่า "สารท" หมายถึงฤดูใบไม้ร่วง เป็นฤดูกาลที่พืชพันธุ์ธัญญาหารกำลังออกผล ชาวอินเดียจะเก็บเกี่ยวไปทำขนมเซ่นพลีผีปู่ย่าตายายและเทพเจ้าที่นับถือ เพื่อตอบแทนพระคุณที่บันดาลให้มีพืชพันธุ์ธัญญาหาร บางแห่งบางท้องถิ่นเรียกงานนี้ว่า "ประเพณีทำบุญวันสารท" หรือ "ประเพณีทำบุญสารทเดือนสิบ"


          นอกจากนั้นยังมีการเรียกชื่อตามขั้นตอนและลักษณะสำคัญของงาน ได้แก่ "ประเพณียกหมรับ" หรือ "ประเพณีชิงเปรต" บางท้องที่ก็เรียกตามความมุ่งหมายหลักของงาน คือการทำบุญอุทิศส่วนบุญส่วนกุศลให้แก่ปู่ย่าตายาย ญาติพี่น้องที่ล่วงลับไปแล้ว ก็จะเรียกประเพณีนี้ว่า "ประเพณีทำบุญตายาย" หรือ "ประเพณีรับส่งตายาย"

          สำหรับขนมที่ใช้ประกอบพิธี มีมากมายหลายประเภท เพราะเป็นงานเลี้ยงอาหารอุทิศส่วนกุศลให้กับญาติผู้ล่วงลับ ฉะนั้นนอกจากขนมจะมีหลายชนิดแล้ว ยังมีความหมายที่สื่อถึงความเชื่ออีกด้วย ได้แก่

          ขนมพอง เป็นสัญลักษณ์แทนแพสำหรับใช้ล่องข้ามห้วงมหรรณพตามคติพุทธศาสนา

          ขนมลา แทนเครื่องนุ่งห่มแพรพรรณ

          ขนมกง หรือ ขนมไข่ปลา และ ขนมเจาะหู แทนเครื่องประดับ

          ขนมดีซำ แทนเงินหรือเบี้ยสำหรับใช้จ่าย

          ขนมบ้า แทนลูกสะบ้าสำหรับผู้ที่ล่วงลับไปแล้วใช้เล่นสนุกสนานในวันสงกรานต์หรือวันว่าง

          ไฮไลท์ของงานจะเริ่มตั้งแต่การจัดสำรับข้าวปลาอาหารและสิ่งของเครื่องใช้ หรือที่เรียกว่า “จัดหมรับ” จากนั้นจะมีการยกหมรับไปวัดและถวายภัตตาหารแด่พระภิกษุสงฆ์ในวันแรม 15 ค่ำ บางท้องถิ่นจัดงานเฉพาะการ “แห่หมรับ” เป็นงานใหญ่ มีขบวนแห่ตกแต่งเป็นขบวนเปรตเป็นที่เอิกเกริกครึกครื้น เรียกว่า "งานฉลองหมฺรับ"


          เมื่อยกหมรับถวายภัตตาหารแด่พระสงฆ์ และสวดบังสุกุลเพื่ออุทิศส่วนกุศลแก่บรรพบุรุษผู้ล่วงลับแล้ว จะมี "พิธีการตั้งเปรต" แต่เดิมจะนำอาหารอีกส่วนหนึ่งไปวางไว้ตามที่ต่างๆ ซึ่งคาดว่าเปรตจะเดินผ่าน เช่น ตรงทางเข้าวัดบ้าง ริมกำแพงวัดบ้าง ตามโคนต้นไม้ทั้งในวัดและนอกวัดบ้าง แต่ระยะหลังมีการสร้าง “นั่งร้าน” เรียกว่า "หลาเปรต" หรือ "ศาลาเปรต" หรือ “ร้านเปรต” เพื่อนำข้าวปลาอาหารที่ใส่กระทงหรือภาชนะไปวางเพื่อเซ่นไหว้บรรพบุรษ เข้าใจว่าที่สร้างศาลาเปรตให้สูงก็เพื่อความสะดวกแก่เปรต เพราะมีความเชื่อกันว่าเปรตมีรูปร่างสูง จะได้ไม่ต้องก้มๆ เงยๆ เวลากินอาหารที่ลูกหลานเซ่นไหว้

          เมื่อตั้งอาหารสำหรับเปรตบน “ร้านเปรต” เสร็จแล้ว จะนำสายสิญจน์ที่พระสงฆ์จัดไว้เพื่อทำพิธีบังสุกุลมาผูกไว้ แล้วแผ่ส่วนบุญส่วนกุศลแก่บรรพบุรุษ เมื่อเสร็จพิธีสงฆ์และเก็บสานสิญจน์แล้ว ผู้คนทั้งหญิงชาย ไม่ว่าจะหนุ่ม สาว วัยกลางคน และเด็กๆ จะกรูกันเข้าแย่งชิงอาหารที่ตั้งไว้นั้น เรียกว่า "ชิงเปรต"

          การชิงเปรตเป็นประเพณีสนุกสนานเฮฮาของหนุ่มสาวและเด็กๆ เนื่องจากมีความเชื่อว่าของที่เหลือจากการเซ่นไหว้บรรพบุรุษ ถ้าใครได้กินจะได้รับกุศลแรง เป็นสิริมงคลแก่ตนเองและครอบครัว

          นายสมควร อนันตพันธ์ อุบาสกที่ไปร่วมงานบุญเดือนสิบ กล่าวว่า ประเพณีนี้เป็นสิ่งที่ต้องสืบสาน ถึงแม้ว่าสามจังหวัดชายแดนภาคใต้จะมีปัญหาในเรื่องความรุนแรงอยู่ก็ตาม แต่คงไม่เกี่ยวกับวันสำคัญทางศาสนาหรือการทำบุญ

          เพราะศรัทธาแห่งการทำคุณงามความดีไม่ว่าจะศาสนาใดย่อมอยู่เหนืออุปสรรคทั้งปวง!

 (ข้อมูลน่ารู้ ซึ่งเป็นความเชื่อของแต่ละศาสนา)
-----------คลิปผีเปรต 1

-----------คลิปผีเปรต 2

อัพเดทล่าสุด