รำลึกประวัติศาสตร์มหาสงคราม ตามรอยเส้นทางรถไฟสายมรณะ MUSLIMTHAIPOST

 

รำลึกประวัติศาสตร์มหาสงคราม ตามรอยเส้นทางรถไฟสายมรณะ


855 ผู้ชม


รำลึกประวัติศาสตร์มหาสงคราม ตามรอยเส้นทางรถไฟสายมรณะ
กาญจนบุรี พื้นที่ยุทธศาสตร์สำคัญทางประวัติศาสตร์ สมัยสงครามโลกครั้งที่ ๒ มีทางรถไฟสายมรณะ เส้นทางลำเลียงทางทหารจากไทยสู่พม่า ซึ่งยังคงปรากฏหลักฐานและอนุสรณ์สถานสำคัญ เพื่อเตือนใจถึงความสูญเสียอันยิ่งใหญ่ ของมนุษยชาติ
จากกรุงเทพฯ เข้าตัวเมืองกาญจนบุรี ค่อยๆ ซึมซับเรื่องราวครั้งอดีต ก่อนจะออกไปนอกเมือง เพื่อร่วมสัมผัสบรรยากาศและชะตากรรมเชลยศึก ที่ช่องเขาขาด ส่วนหนึ่งของทางรถไฟสายมรณะ
สุสานทหารสัมพันธมิตร ดอนรัก
เข้าตัวเมืองกาญจนบุรี ร่วมไว้อาลัยเบื้องหน้าแผ่นป้าย เหนือหลุมศพเหล่าทหารสัมพันธมิตรนับพันนาย ที่เสียชีวิตในสงครามโลกครั้งที่ ๒ ณ สุสานทหารสัมพันธมิตร ดอนรัก ที่พักพิงตลอดกาลของเหล่าเชลยศึก ลองเดินอ่านตามป้ายทองเหลืองเหนือหลุมฝังศพ บางป้ายมีคำไว้อาลัยที่แสนเศร้า บางทีจะได้เห็นดอกไม้สด พร้อมการ์ดเล็กๆ บ่งบอกความระลึกถึงบุคคลอันเป็นที่รักอย่างสุดซึ้ง
บรรยากาศที่เงียบสงบ ไม้กางเขนใหญ่สีขาวกลางสุสาน ท่ามกลางหลุมฝังศพ เป็นอนุสรณ์ย้ำเตือนถึงสงครามได้เป็นอย่างดี
พิพิธภัณฑ์ทางรถไฟไทย - พม่า
ข้างสุสานฯ ดอนรัก มีพิพิธภัณฑ์รถไฟไทย - พม่า ที่อดีตทหารเชลยศึกชาวอังกฤษได้รวบรวมเอกสาร ภาพถ่าย ยุทโธปกรณ์ สมัยการสร้างทางรถไฟสายมรณะ จัดแสดงเป็นห้องต่างๆ มีเครื่องปรับอากาศเย็นสบาย ที่สำคัญที่สุดคือ ภาพแผนที่การสำรวจเส้นทางก่อนสร้าง ของวิศวกรชาวญี่ปุ่นที่บริจาคให้ไว้เป็นความรู้ อุปกรณ์เครื่องมือการก่อสร้าง
เปิดบริการทุกวันระหว่าง ๙.๐๐ - ๑๗.๐๐ น. ค่าเข้าชม ผู้ใหญ่ ๖๐ บาท เด็ก ๓๐ บาท
สะพานข้ามแม่น้ำแคว
เดินตามไม้หมอน ที่เรียงเป็นแนวยาวทอดตัวเหนือสะพานข้ามแม่น้ำแคว สะพานรถไฟข้ามแม่น้ำที่ยาวที่สุดในประเทศไทย ส่วนหนึ่งของประวัติศาสตร์สมัยสงครามโลกครั้งที่ ๒ ย้อนระลึกถึงครั้งเชลยศึกใช้สองแขนแบกหามไม้หมอนวางเรียง ก่อนตรึงหมุดเข้ากับราง ท่อนแล้วท่อนเล่า จนกลายเป็นทางรถไฟสายประวัติศาสตร์ ที่ต้องแลกด้วยชีวิต เดินไปกลางสะพาน ชื่นชมทัศนียภาพของแม่น้ำแควจนสุดโค้งน้ำ พักรับประทานอาหารกลางวันได้ในแพอาหารริมน้ำ
หอศิลป์ และพิพิธภัณฑ์สงคราม
ขึ้นตู้รถไฟเก่าสมัยสงครามโลกครั้งที่ ๒ ไปถ่ายภาพ ชมสิ่งของเครื่องใช้ และเรียนรู้เรื่องของคนไทย ตั้งแต่สมัยก่อนประวัติศาสตร์ และสมัยสงครามโลกครั้งที่ ๒ จนถึงปัจจุบันที่หอศิลป์และพิพิธภัณฑ์สงคราม ขึ้นชั้นบนสุด ชมวิวแม่น้ำแควในมุมสูง มองดูเรือแคนู คายัค พายเรื่อยเอื่อยไปตามลำน้ำ ลอดผ่านสะพานข้ามแม่น้ำแคว แล้วลงไปเข้าแคมป์ทหารญี่ปุ่นจำลองที่ชั้นล่าง ในส่วนพิพิธภัณฑ์สงครามญี่ปุ่น มีให้ดูทั้งดาบ ปืน เสื้อผ้า และโครงกระดูก
หอศิลป์และพิพิธภัณฑ์สงครามเป็นของเอกชน ได้รับการรับรองจากกรมศิลปากร เปิดบริการทุกวัน ๘.๐๐ - ๑๘.๐๐ น. ค่าเข้าชม ผู้ใหญ่ ๒๐ บาท เด็ก ๑๐ บาท ต่างชาติ ๓๐ บาท โทร. ๐ ๓๔๕๑ ๒๕๙๖
ช่องเขาขาด อนุสรณ์สถานแห่งความทรงจำ
ขับรถออกนอกตัวเมืองกาญจน ์ขึ้นเหนือไปทางน้ำตกไทรโยค ประมาณ ๘๐ กิโลเมตร เลี้ยวซ้ายเข้ากองการเกษตรและสหกรณ์ กองกำลังทหารพัฒนา อ.ไทรโยค จะถึงที่ตั้งของอนุสรณ์สถานระลึกถึงชีวิตลำเค็ญของเชลยศึกออสเตรเลีย อังกฤษ เนเธอร์แลนด์ และเอเชีย ที่ถูกข้าศึกบังคับให้สร้างเส้นทางรถไฟที่ ช่องเขาขาด เชื่อมต่อระหว่างไทยกับพม่า
เดินเข้าพิพิธภัณฑ์ ชมวีดิทัศน์บอกเล่าของเรื่องราวของอดีตเชลยศึก ที่รอดชีวิตจากสงคราม ซึมซับบรรยากาศความโหดร้ายของสงคราม ผ่านตัวอักษร ภาพวาด และสิ่งของที่จัดแสดง ค้อนปอนด์ จอบ เสียม ตะกร้าสาน คืออุปกรณ์การทำงาน สองมือของเชลยศึกคือเครื่องมือสำคัญในการก่อสร้างทางรถไฟ แลกกับเศษอาหารสกปรกเพียงน้อยนิดในกล่อง มีผู้กล่าวว่า ไม้หมอนหนึ่งท่อน แลกด้วยชีวิตของเชลยศึก ๑ คน
หลังจากปูพื้นอารมณ์และเรื่องราวแล้ว เดินออกไปยังสะพานที่ตั้งแท่นชามกระเบื้องแห่งสันติภาพ ยืนสงบนิ่ง เพื่อรำลึกถึงอดีตอันแสนเจ็บปวดของเหล่าเชลยศึกที่ต้องมาเสียชีวิต ภาพแถวเชลยศึกผอมโซใช้จอบเสียมขุดเจาะภูเขา หรือแบกก้อนหินขนาดใหญ่ เพื่อเร่งก่อสร้างเส้นทางรถไฟสายไทย - พม่า ที่ปรากฏในห้องนิทรรศการสามารถซ้อนทับผืนป่าอันกว้างไกลนี้ได้อย่างกลมกลืน
พอแดดร่มลมตก ก็ได้เวลาเดินเท้าตามเส้นทางรถไฟสายมรณะ สัมผัสบรรยากาศพื้นที่จริงของช่องเขาขาด ช่องตัดหินตก และช่องเขาตัด แต่ละจุดเป็นบริเวณที่ต้องเจาะภูเขาเป็นช่อง เพื่อทำเส้นทางรถไฟ ใกล้ที่สุดคือช่องเขาขาด ใช้เวลาเดินไป - กลับ ประมาณ ๔๐ นาที ชมรางรถไฟโบราณที่จัดแสดงไว้ แล้วคารวะหลุมฝังศพของนายทหาร หัวหน้ากองพันเชลยศึก เดินตามทางรถไฟผ่านช่องเขาที่ขาดด้วยแรงงานมนุษย์ ทุกตารางนิ้วที่เหยียบย่ำ คือที่ฝังร่างของเชลยศึกนับพันนับหมื่น จุดที่ไกลสุดคือช่องเขาตัด ซึ่งต้องใช้เวลาถึง ๓ ชั่วโมง
อนุสรณ์สถานช่องเขาขาด เปิดให้เข้าชมได้ทุกวัน ตั้งแต่ ๙.๐๐ น. - ๑๖.๐๐ น. ไม่คิดค่าบริการ
ร้านภูมิปัญญาไทย

เส้นทางขากลับก่อนเข้าตัวเมืองกาญจน์ประมาณ ๓๕ กิโลเมตร ขวามือคือ ร้านภูมิปัญญาไทย สถานที่แวะพักรถ นั่งดื่ม 'กาแฟ' สำหรับผู้ที่ต้องการลดคาเฟอีน เพราะส่วนผสม 'กาแฟ' ที่ว่ามาจากงาดำ ถั่วเหลือง ข้าวกล้อง น้ำตาลทรายแดง ฯลฯ เลือกซื้อผลิตภัณฑ์สมุนไพรจากธรรมชาติหลากหลายชนิด หรือจะลองหาข้อมูลท่องเที่ยวเมืองกาญจน์สำหรับทริปต่อไปได้ จากคอมพิวเตอร์ที่ทางร้านจัดไว้บริการ
ร้านภูมิปัญญาไทยเปิดบริการทุกวัน ตั้งแต่ ๙.๐๐ - ๑๗.๓๐ น. โทร. ๐ ๙๘๓๖ ๒๒๖๓

อัพเดทล่าสุด