เมื่อถูกเพื่อนร่วมงานอิจฉา MUSLIMTHAIPOST

 

เมื่อถูกเพื่อนร่วมงานอิจฉา


841 ผู้ชม


เมื่อถูกเพื่อนร่วมงานอิจฉา




สังคมมนุษย์เป็นสังคมที่ไม่สามารถเปิดใจได้เต็มที่ มักจะเก็บนิสัยหลายๆ อย่างเอาไว้ แล้วค่อยๆ แสดงออกมา เช่นความอยากได้ในสิ่งต่างๆ ให้มากกว่าคนอื่นหรือเหมือนคนอื่นๆ ซึ่งถูกกดเก็บเอาไว้ ต้องทำทีเหมือนไม่สนใจ แต่ลึกๆ ในใจแล้วอยากได้ให้เหมือนเขา หรือเกินหน้าเขาทั้งนั้น
       
        มีหลายคนจดหมายมาฟ้องผมว่า ถูกอิจฉา ริษยา กีดกันความก้าวหน้าจากเพื่อนร่วมอาชีพ บางคนเป็นเพื่อนทาเคยรักใคร่สนิทสนมกันมาตอนเรียนมหาวิทยาลัยด้วยซ้ำ
       
        วิศวกร ก็อิจฉาวิศวกรด้วยกัน
       
        แพทย์ ก็อิจฉาแพทย์ด้วยกัน
       
        นักการเมือง ก็จับคู่อิจฉานักการเมือง
       
        ไฮโซ กับ ไฮโซ ก็แข่งขันกันสุดฤทธิ์
       
        วิธีการแสดงความอิจฉาเพื่อนร่วมอาชีพหรือร่วมวงการนั้นมีหลายๆ อย่าง เช่น
       
        • เอาเรื่องที่เป็นความลับ หรือเรื่องส่วนตัวที่ไม่ค่อยดีของเพื่อนไปขยายให้คนอื่นฟัง แถมใส่สีใส่ใข่ให้เกินความจริงด้วย
       
        • เอาเรื่องที่คุยกันเล่นๆ ไปเล่าให้คนอื่นฟัง เพื่อหาพวกมาโจมตีเพื่อน
       
        • หาทางจับผิดมากขึ้น แล้วฟ้องนายหรือฟ้องสังคมให้เพื่อนเป็นคนผิด
       
        • แย่งงาน แย่งลูกค้า เอาหน้านาย หรือเอาผลประโยชน์เข้าตัวเอง
       
        • ถ้าอยู่ในวัยเจริญพันธุ์ การแย่งแฟนกันก็พบได้บ่อยๆ
       
        • แย่งที่นั่งเวลาฟังบรรยายหรือประชุม เพราะอยากให้นายเห็นหน้าตัวเองชัดๆ
       
        • แย่งที่ยืนเวลาไปรอรับเจ้านายชั้นสูง พยายามเบียดเสียดอยากอยู่แถวหน้าใกล้คนสำคัญไม่ว่าจะยืนหรือนั่ง เบียดเพื่อนเสียกระเด็นไปเลย ฯลฯ
       
        สาเหตุที่อิจฉานั้น เพราะเกรงว่าเพื่อนจะเด่นหรือได้ดีกว่า
       
        ทำให้ตัวเองถูกลดความสำคัญลง
       
        ซึ่งอาจเป็นความจริงหรือเป็นสิ่งที่เขาคิดเองก็ได้ เขาอาจจะเป็นคนสำคัญมากกว่าเพื่อนที่เขาอิจฉา แต่เนื่องจากเขามีจิตใจอ่อนแอ หรือขาดความรักเพื่อนมนุษย์ เป็นคนพาล เมื่อตัวเองทำได้ไม่ดีสมใจ แทนที่จะยอมรับความจริง พยายามทำความดีให้สุดความสามารถและแสดงความยินดีกับเพื่อนที่ทำงานได้เด่นดีกว่า กลับพาลเพื่อนที่ร่วมอาชีพว่าเป็นสาเหตุทำให้เขาไม่สามารถเด่นได้ดังใจนึก
       
        เมื่อพบเพื่อนร่วมอาชีพอย่างนี้แล้ว ควรทำอย่างไรดีเล่า?
       
        ผมแนะนำให้อดทน และหาทางเลี่ยงจากเพื่อนแบบนี้เสีย เราคงเปลี่ยนแปลงเขาไม่ได้
       
        เขามีนิสัย "พาล" อยู่แล้ว คบต่อไปก็เสียเวลา เสียความรู้สึกดีๆ การจะแก้นิสัยคนพาลให้เป็นคนดีนั้นไม่ง่ายหรอก
       
        มีสุภาษิตจีนกล่าวถึงการคบเพื่อนบอกไว้น่าสนใจ...ว่า
       
        "จงยอมผิดใจกับสุภาพชน แต่อย่าผิดใจกับคนพาล"
       
        คุณคงงงๆ ใช่ไหม ว่าทำไมเป็นอย่างนั้น มันน่าจะยอมผิดใจกับคนพาลมากกว่าสุภาพชนอ่านต่อไปซิครับ
       
        "จงห่างไกลจากคนพาล แต่อย่าแสดงตัวให้เห็นเป็นศัตรู"
       
        นึกออกแล้วใช่ไหมว่า ไม่ใช่เพียงไม่ให้ผิดใจกับคนพาลเท่านั้น แต่ให้ห่างไกลไปเลย
       
        ถ้าเราขืนไปขัดใจและแสดงตัวเป็นศัตรูกับคนพาล ผลร้ายจะตามมามากขึ้น
       
        "คบคนดีควรผ่อนปรน คบคนชั่วควรระวังกวดขัน"
       
        นั่นก็คือ เราต้องคอยกวดขันตัวเองไม่ไปยุ่งเกี่ยวกับคนชั่วคนพาล
       
        เพื่อนพวกนี้ไปไม่ได้ไกลหรอก นิสัยไม่ดีจะแสดงออกบ่อยๆ ทำให้เป็นที่รังเกียจของคนร่วมวงการและคนทั่วไป
       
        แต่เราก็ควรยื่นเมตตาให้เขาบ้าง จะได้ไม่แค้นใจเขามากนักจนไม่มีความสุข โดยคิดว่าคนขี้อิจฉานั้นเขาก็ทุกข์เหมือนมีไฟอิจฉาอยู่ในอก ร้อนรุ่มอยู่ทุกวัน
       
        เวลาเขาอิจฉาก็จะมีสารของความเครียดหลั่งในสมอง เช่น อดรีนาลีน และคอร์ติโซน ทำให้หัวใจเต้นเร็วและแรง ความดันโลหิตสูงได้ง่ายๆ เส้นเลือดในสมองแตกได้ง่าย หัวใจต้องทำงานหนักและล้มเหลวได้ง่าย
       
        และภูมิต้านทานในตัวก็ลดต่ำลง โอกาสที่เซลล์มะเร็งจะขยายตัวก็มีได้มากขึ้น
       
        คนขี้อิจฉาอาจไปพบคนพาลที่ก้าวร้าวมากกว่า โอกาสเจ็บตัวก็มีได้มาก
       
        และจงอย่าลืมมองหาเพื่อนที่ดีๆ ชนิด "มีสุขร่วมเสพ มีทุกข์ร่วมต้าน" เอาไว้บ้าง ชีวิตจะได้ไม่แห้งแล้ง รู้สึกอบอุ่นใจ
       
        พร้อมทั้งเร่งทำงานและทำความดีให้ปรากฏชัดทั้งสองอย่างต่อไปอย่างไม่หยุดยั้ง
       
        คุณจะโด่งและดังยิ่งกว่าพลุชั้นดี
       
        ผู้ร่วมอาชีพที่ขี้อิจฉาก็จะยิ่งร้อนรุ่มเป็นทวี แทบอกแตกตาย

 

ที่มา : หนังสือพิมพ์ผู้จัดการ

อัพเดทล่าสุด