https://lentera.uin-alauddin.ac.id/question/gratis-terlengkap/https://old-elearning.uad.ac.id/gampang-menang/https://fk.ilearn.unand.ac.id/demo/https://elearning.uika-bogor.ac.id/tanpa-potongan/https://e-learning.iainponorogo.ac.id/thai/https://organisasi.palembang.go.id/userfiles/images/https://lms.binawan.ac.id/terbaik/https://disperkim.purwakartakab.go.id/storage/https://pakbejo.jatengprov.go.id/assets/https://zonalapor.fis.unp.ac.id/-/slot-terbaik/https://sepasi.tubankab.go.id/2024tte/storage/http://ti.lab.gunadarma.ac.id/jobe/runguard/https://satudata.kemenpora.go.id/uploads/terbaru/
ล้วงลึกอินไซด์ "ผู้นำ" สารพัดเรื่องวุ่นสะท้อนบุคลิก MUSLIMTHAIPOST

 

ล้วงลึกอินไซด์ "ผู้นำ" สารพัดเรื่องวุ่นสะท้อนบุคลิก


1,022 ผู้ชม


ล้วงลึกอินไซด์ "ผู้นำ" สารพัดเรื่องวุ่นสะท้อนบุคลิก




        - จับเข่าคุย "ศ.ดร.นพ.วิทยา นาควัชระ" ชำแหละสารพัดสารพันปัญหาบุคลิกภาพผู้นำ ที่หลายคนฟังแล้วอาจจะสะดุดใจดังกึก
        - ภาพลักษณ์ใช่ว่าจะสร้างกันแต่เพียงภายนอกเท่านั้น ถ้าตัวตนที่แท้จริงมีปัญหาแล้วหละก็ จะทู่ซี้ดูดีต่อไปได้อย่างไรกัน?
        - แกะ 3 ปมปัญหายอดฮิตของผู้นำ ''เครียด-หลงตัวเอง-ปัญหาหลังบ้าน''
        - ถึงเวลาชงสูตร "ละลายความเครียด" กันแล้ว เพื่อมาสร้างบุคลิกใหม่
       
        ชำแหละปัญหาที่ตามติดมาเป็นพรวนของผู้นำซึ่งเป็นคนแถวหน้า แต่สารพัดปัญหาที่แบกไว้บนบ่า นับวันจะถ่วงให้กลายไปเป็นคนแถวหลัง
       
        ถอด 3 ปมปัญหาสุดฮิตของผู้นำผ่านคมเลนส์จิตแพทย์ บางเรื่องฟังแล้วชวนให้ขบคิดต่อ ขณะที่หลายเรื่องฟังแล้วยิ้มกว้างจนหุบไม่ลง
       
       บุคลิกกับความสำเร็จผู้นำ
       
        ศ.ดร.นพ.วิทยา นาควัชระ การมการบริหาร สถาบันพัฒนาตนเอง และนักบริหาร และคลินิกสุขภาพจิต กล่าวกับ "ผู้จัดการรายสัปดาห์" ถึงความสัมพันธ์ระหว่างบุคลิกภาพกับความสามารถของผู้นำต่อความสำเร็จ ว่าอยู่ในระดับที่เท่ากัน ชนิดที่ว่าถ้าแบ่งปัจจัยความสำเร็จผู้นำเป็น 100 ทั้งสองอย่างมีผล 50-50 เท่ากัน
       
        เพราะ ถ้าผู้บริหารระดับสูงสุดขององค์กรมีบุคลิกภาพที่ดี เขาจะกลายเป็นตัวแทน หรือ Symbol ขององค์กรที่เป็นที่ยอมรับของสังคม ทั้งสังคมภายในองค์กร ที่ซึ่งบทบาทของผู้บริหารส่วนใหญ่ไม่ใช่การนั่งทำงานเอง แต่ต้องมีวิสัยทัศน์ และมองคนในภาพรวมเป็น อบรมสั่งสอนคนได้
       
        เมื่อออกไปภายนอกองค์กร ก็ต้องเป็นที่ยอมรับเช่นกัน เพื่อให้การติดต่อระหว่างองค์กรทำได้ง่ายขึ้น ผู้นำจึงต้องพูดเป็น รู้วิธีการพูด และการนำเสนอในระดับที่เป็นสากล สามารถให้ความมั่นใจ เชื่อใจ มีความเป็นมิตรกับคนในระดับต่างๆ กันได้
       
        "ผู้นำต้องแสดงออกเป็น ถึงคราวเงียบต้องเงียบ ถึงคราวยิ้มต้องยิ้ม ผู้นำบางคน ถึงขนาดหาโค้ชมาแนะนำว่าจะทำอย่างไรให้สังคมยอมรับ ซึ่งสำคัญ ทำอย่างไรให้ภายนอกต้องดูดี นำเสนอเป็น กิริยา ท่าทาง ภาษาพูด การแต่งกาย"
       
        นอกจากนี้สังคมปัจจุบันยังมองไปถึงเรื่องภายในครอบครัวของผู้นำ ผู้นำบางคนเป็นที่ชื่นชอบของคนทั่วไป เพราะให้เกียรติภรรยาและรักลูก ซึ่งนี่ก็นับเป็นเรื่องของบุคลิกภาพ
       
        นอกจากองค์ประกอบภายนอกที่มองเห็นได้ของผู้นำแล้ว บุคลิกภาพมีผลมาจากภายในด้วยตั้งแต่เรื่องทัศนคติ ความคิดเกี่ยวกับตนเอง เกี่ยวกับบุคคลทั่วไป ครอบครัว สังคม และองค์กร ซึ่งลักษณะของผู้นำที่คิดกับตนเองดี จึงจะนำเสนอได้ดี แต่ถ้าคิดกับตนเองไม่ดี ก็ย่อมจะมีปมด้อย การแสดงออกจึงมีทั้งที่ไม่มั่นใจตนเอง หรือในทางตรงกันข้ามก็ก้าวร้าวไปเลย
       
        "ความคิด ทัศนคติ เป็นสิ่งที่ติดตัวมาตั้งแต่แรกเกิด ถ้าอยากเปลี่ยนก็เปลี่ยนได้ ทัศนคติที่ดีต่อตนเอง ครอบครัว สังคม ต่อองค์กร ผู้นำต้อง 1. แสดงออกมาในแง่บวก บางคนมองแค่ภาพลักษณ์ภายนอก ทำให้ตนเองดูดี แต่การแสดงออกไม่ใช่แง่บวก ในระยะยาวจะส่งผลเสียต่อผู้นำคนนั้น และ 2. ต้องแฝงด้วยคุณธรรมตลอด บางคนมีคุณธรรม แต่แสดงออกไม่เป็น คนอื่นก็ไม่รู้ เช่น คนปากร้ายใจดี คนชอบคนใจดี แต่ไม่ชอบคนปากร้อย เขาก็ต้องหุบปากแล้วใจดี"
       
       3 ปมสะท้อนบุคลิกผู้นำ
       
        ในฐานะจิตแพทย์ ศ.ดร.นพ.วิทยา กล่าวว่า ปัญหาที่พบมากในการให้คำปรึกษาเรื่องการพัฒนาบุคลิกภาพผู้นำ คือ
       
        1. ความเครียด ซึ่งมีทั้งผู้ที่รู้ตัวและไม่รู้ตัว ผลที่ตามมา คือ เกิดโรคภัยไข้เจ็บกับอวัยวะต่างๆ ของร่างกาย เช่น หัวใจ กระเพาะ ลำไส้ใหญ่ รวมไปถึงเรื่องเซ็กส์ ซึ่งทำให้ไม่มีความสุขในชีวิตคู่ บางอาการของความเครียดก็แสดงออกมาที่หน้า
       
        เขา อธิบายให้ฟังถึงสาเหตุที่ผู้นำเกิดความเครียดนั้นมาจากหลายๆ ปัจจัย ตั้งแต่ความคาดหวังสูง ความต้องการจะทำให้ได้ เมื่อทำไม่ได้ก็ไม่ยอม เกิดความรู้สึกที่ไม่ได้ดั่งใจ บางคนแม้จะรู้ว่าการทำได้เต็ม 100% เป็นเรื่องยาก แต่ก็ยังอยากทำให้ได้อยู่ดี
       
        ความคาดหวังสูงบางครั้ง ก็เกิดจากการถูกผลักดันว่าต้องเป็นคนเก่ง ต้องรู้เรื่องทุกอย่าง โดยตลอด โดยเฉพาะในวงการธุรกิจ จนบางครั้งทำให้ผู้นำกลายเป็นที่มีบุคลิกที่ก้าวร้าว ดังนั้นถ้าลดความคาดหวังลงมาเสียบ้าง ไม่ต้องดีเลิศ แต่อยู่ในระดับที่ดี หรือ Good Hope ก็ต้องรู้จักพอใจ ความเครียดจึงจะลดลงได้
       
        2. ความหลงตัวเอง หมายถึง ผู้นำมักมีอีโก้สูง มีอัตตาสูง จึงมีลักษณะเป็นคนเผด็จการ ไม่กลัวใคร เชื่อมั่นในตนเองสูง ชนิดที่ว่า คำว่า "very good" ไม่เคยออกจากปาก ซึ่งผู้นำที่ชมคนไม่เป็น และยังจับผิดเก่ง จะทำให้การบริหารลำบาก และได้รับความร่วมมือน้อย อีกทั้งมีแนวโน้มว่าจะมองคนทำงานว่ามีเป้าหมายเพื่อเงินเท่านั้น
       
        และ 3. ปัญหาครอบครัว ที่ไม่มีความสุข มีปัญหากับภรรยา กับลูก โดยเฉพาะลูก ที่มักจะคาดหวังว่าตนเองจะได้รับสิ่งที่ดีๆ จากพ่อแม่ที่ประสบความสำเร็จ เมื่อไม่เป็นอย่างที่คิด จึงมักจะผิดหวังมีความเหงาและว้าเหว่ ขณะเดียวกันผู้นำบางคนที่ประสบความสำเร็จเอง กลับสอนลูกไม่เป็น ไม่รู้จักชม มีแต่จับผิด และลงโทษ สุดท้ายเมื่อลูกรู้สึกว่าตนเองไม่เป็นอย่างที่คาดหวังของครอบครัว สังคม ก็กลายเป็นคนที่ต่อต้านสังคมไปเลย และไม่เชื่อเรื่องคุณธรรม กลายเป็นปัญหาหลังบ้านของนักบริหารทั้งหลาย
       
        "สังคมไทยชอบยกย่องคนที่จับผิดคนที่เก่งกว่าได้ แล้วบอกว่าเป็นคนเก่ง ถ้านาย ก. เป็นคนเก่ง แล้วเราอยากเก่งกว่า จับผิดนาย ก.ให้ได้สิ บอกมาเลยว่าคนนี้มีเลวอยู่ 3 ข้อ แต่อีก 100 ข้อที่ดีไม่พูดถึงนะ แต่คนบนโลกไม่มีใครดีเต็มร้อย เพราะทุกคนมีข้อบกพร่องหมด ซึ่งเกิดจากความไม่รู้และสันดานดิบ เช่น ก้าวร้าว ซึ่งมีกันทุกคน แต่มากน้อยต่างกันขึ้นอยู่กับการเลี้ยงดูมา การเลี้ยงดูที่ผิดทำให้คนเคยชินกับการจับผิด และระแวงจนหมดความมั่นใจในตนเอง เช่น เวลาเราต้องออกมานำเสนอ ก็ไม่ค่อยกล้าจะออกมา เพราะระแวงกลัวคนจะคิดว่าเรามีข้อผิดพลาดตรงไหน"
       
        เมื่อลูกของนักบริหารทั้งหลายสร้างปัญหาขึ้น พวกเขามักจะรู้สึกผิดหวัง เพราะโดยส่วนตัวมองว่าตนเองสามารถคุมผู้ใต้บังคับบัญชาได้เป็น แต่ทำไมคนใกล้ตัวกลับคุมไม่ได้
       
        ผลกระทบจากปัญหาข้างต้น ล้วนสะท้อนกลับไปที่บุคลิกผู้นำได้ทั้งสิ้น ก่อให้เกิดความเจ็บป่วยทางจิต ที่มีทั้งซึมเศร้า ระแวง และอาจมีความเบี่ยงเบนทางบุคลิกภาพอื่นๆ อีก เช่น ย้ำคิดย้ำทำ คิดซ้ำๆ ในสิ่งที่ไม่ควรคิด ทำซ้ำๆ ในสิ่งที่ไม่ควรทำ เช่น ล้างมือบ่อยๆ คิดตลอดว่ามือล้างสะอาดไหม แล้วก็ล้างมือจนมือแตก บางคนมีแอลกอฮอล์เช็ด หรือการเช็คประตู หน้าต่างบ่อยๆ ล็อกหรือยัง
       
        บางคนมีอาการกล้ามเนื้อกระตุกตามหน้า เพราะมีความเครียด มีความหลงผิด มีความระแวงสูง ไม่ไว้ใจคน สั่งแล้วก็เช็คแล้วเช็คอีก ชอบจับผิด ตำหนิคนอื่น แม้จะก็ยังบริหารงานได้ แต่สุดท้ายผลงานก็ลดลง
       
        ขณะที่ นักบริหารหลายคนก็ติดเหล้า ทั้งที่ภาพลักษณ์ดีมาก เมื่อออกงานสังคมดูดี แต่ติดเหล้า และบางคนก็สร้างปมปลอมต่อ เช่น เจ้าชู้ต่ออีก จีบไปอย่างนั้นเพื่อบริหารเสน่ห์ แต่จริงๆ แล้วก็ทำไม่ได้ นี่คือปัญหาครอบครัวที่มีอิทธิพลต่อบุคลิกภาพของผู้นำ ที่ทำให้กลายเป็นคนเก็บกด สร้างภาพปลอมๆ ขึ้นมา และก้าวร้าว เพราะผิดหวังจากคนที่คิดว่าเราควบคุมได้
       
        ศ.ดร.นพ.วิทยา เล่าว่าเวลาตั้งคำถามกับนักบริหารทั้งหลายถึงความต้องการของเขา คำตอบที่พบมีทั้งผู้ที่ต้องการความสุข และผู้ที่ต้องการความสำเร็จ ซึ่งทั้ง 2 เป้าหมายมีความสัมพันธ์ที่เกี่ยวข้องกัน ผู้ที่ประสบความสำเร็จได้ ต้องมีความสุขเสียก่อน เพราะความสุขเกี่ยวพันกับการงาน ครอบครัว สังคม ตนเอง ถ้ามีครบทั้ง 4 ด้าน จึงจะมีความสุขได้
       
        "เวลาทำงาน คิดแต่ว่าทำเท่าไรก็ไม่พอ แล้วชาตินี้ทั้งชาติจะมีความสุขไหม ครอบครัวมีเวลาให้ไหม คุณเคยรักใครไหม เคยถูกรักบ้างไหม โดยเฉพาะถูกรักโดยคนที่คุณรัก นักบริหารส่วนใหญ่ไม่เคยได้ เพราะคุณไม่เคยรักใคร คุณก็ไม่ได้รับความรักเหมือนกัน
       
        ถ้าคุณบอกว่ารัก คุณเคยแสดงความรักไหม เมื่อไม่แสดงความรักเขา เขาก็ไม่รักคุณ คุณอาจจะมีอะไรมากมาย แต่คุณไม่เคยได้รับความรักจากคนที่คุณรัก หรือคุณไม่เคยรักใครเลย"
       
        ศ.ดร.นพ.วิทยา กล่าวว่า บุคลิกภาพของนักบริหารที่บ้างาน มักมีปมด้อยบางอย่างในตนเอง เช่น เคยยากจนมาก่อน จึงอยากทำงานหนัก เพราะไม่อยากมีชีวิตเหมือนในอดีต หรือเกิดจากความหลงตัวเองว่ามีคุณสมบัติค้ำฟ้า ทุกอย่างต้องทำให้ได้ สุดท้ายก็เป็นคนไม่มีความสุข และยังต้องสร้างปมปลอมตลอด ฉีกยิ้มว่าตนเองมีความสุขเหลือเกิน แต่ในใจไม่มีความสุขจริงๆ
       
        ดังนั้นในการให้แก้ไขปัญหาบุคลิกภาพของผู้นำส่วนใหญ่ ศ.ดร.นพ.วิทยา กล่าวว่า ผู้นำต้องเริ่มจากการพัฒนาตนเองก่อน จากนั้นจะโยงมาสู่บุคคลที่อยู่รอบข้าง
       
        "นิสัยเปลี่ยนยากมาก แต่เปลี่ยนความคิด บุคลิกจะเปลี่ยนได้ ซึ่งการพัฒนาบุคลิกภาพ อาจต้องฝืนในตอนแรก และฝืนบ่อยๆ รู้จักฝึกข่มใจ"
       
       สูตรละลายความเครียด
       
        กลเม็ดเพื่อลดปัญหาความเครียดของนักบริหาร เพื่อสร้างบุคลิกภาพที่ดีนั้น ศ.ดร.นพ.วิทยา กล่าวว่าความเครียดเป็นเรื่องของสภาวะจิตใจ ถ้าจิตใจดี จะปรับตัวเอง และปรับจิตใจได้ดี ผลเสียก็จะน้อย เช่นเดียวกันคนที่มีสุขภาพจิตไม่ดี จะปรับตัว และปรับจิตใจได้ไม่ดี ผลเสียก็จะมาก
       
        สุขภาพจิต คือ ความสามารถของจิตใจที่จะปรับตัวเองเข้าหาสิ่งแวดล้อมได้ โดยไม่ผิดกฎหมายและศีลธรรม สามารถทำให้ตนเองพอใจกับสภาวะที่เป็นอยู่ และพอใจตนเอง และสิ่งแวดล้อมได้ ทั้งนี้ ขึ้นอยู่กับความสามารถในการปรับตัว ซึ่งมาจาก การรู้จักต้องมองตนเองก่อน รักตัวเองเป็น และช่วยตัวเองให้มากขึ้น จากนั้นจึงจะกระจายความรักไปหาคนอื่นได้ และช่วยคนอื่นมากขึ้น
       
        การมองย้อนไปยังปัญหาความเครียดของนักบริหาร บางครั้งมันมีสาเหตุมาจากทั้งผู้ที่มีอำนาจเหนือกว่า และผู้ใต้บังคับบัญชา
       
        ศ.ดร.นพ.วิทยา ให้ทัศนะการมองปัญหาความเครียดข้างต้นไว้ว่า ผู้บริหารที่ต้องรับแรงกดดันจากทั้ง 2 ข้าง เช่นเป้าหมายขององค์กรที่ต้องทำให้ได้อย่างที่ใจคิด นั้นแก้ได้โดยการรู้จักรักตนเองก่อน
       
        "คนที่ไม่รักตนเอง แต่อยากไปช่วยคนอื่นเลย เช่น ปัญหานี้น่าจะจัดการกับลูกน้องได้ แต่พอเขาไม่ยอมเปลี่ยน เราก็ทุกข์ สุดท้ายกลับมามองว่าตัวเองช่างแย่จริง โง่เหลือเกินที่ไม่สามารถจัดการกับลูกน้องได้ ในขณะที่เจ้านายก็คาดหวังจากคุณสูง แล้วก็ทุกข์ ซึ่งก็มักจะคิดต่อว่าเรานี่แย่จัง เวรกรรมส่งมาอยู่ออฟฟิศนี้ คนที่ไม่รักตัวเอง ก็เริ่มตำหนิตัวเอง ดูถูกตัวเอง แล้วก็จะกลายเป็นโรคปวดหัว ปวดท้อง หอบหืด หัวใจเต้นช้า"
       
        แต่ถ้านักบริหารมองว่าทุกคนต่างมีขีดจำกัดของความสามารถ ทำได้แค่ไหนก็แค่นั้น เพราะความสามารถแต่ละคนก็มีไม่เท่ากัน แม้แต่ตัวเอง แต่ละวันก็มีไม่เท่ากัน บางวันก็ดี บางวันก็ไม่เอาไหนเลย ดังนั้นใจที่นิ่ง และรักตัวเองตามความเป็นจริง จะทำให้เกิดความภูมิใจในตัวเอง ตามความเป็นจริง
       
        "ต้องหัดพูดกับตัวเองว่า คุณทำเต็มที่ได้แค่ไหน เอาแค่นั้น เก่งมาก ดีมากแล้ว แต่คนส่วนใหญ่ไม่ถูกสอนให้รู้จักภูมิใจตัวเองตามความเป็นจริง แต่จะถูกอิทธิพลของความคาดหวัง ถึงจะภูมิใจตนเอง เช่น ภูมิใจตัวเองได้ต่อเมื่อเรียนดีๆ มีการงานดีๆ มีเงินมากๆ มีตำแหน่งสูงๆ แล้วไปช่วยเหลือมนุษย์ ทำให้คนจะรอคอยไปให้ถึงจุดนั้น ถึงจะภูมิใจตัวเอง ซึ่งบางครั้งก็ไปไม่ถึง"
       
        เมื่อรู้จักรักตัวเองเป็น กำลังใจจะมาไม่ว่าจะประสบปัญหาอะไรก็ตาม เพราะเขาเรียนรู้ที่จะมองความดีตามความเป็นจริง จึงไม่ต้องรอให้ใครมารัก หรือมาให้กำลังใจ ก็รู้จักภูมิใจตนเองได้ตามความเป็นจริงไม่ว่าจะขึ้นสูงหรือลงต่ำ
       
        จากนั้นก็ต้องรู้จักถ่อมตัว เชื่อว่าทุกคน เก่งมาก ดีมาก ไม่เท่ากัน วันนี้เขาทำเต็มที่แล้ว เราย่อมจะมีจิตใจที่เป็นมิตรกับเขามากขึ้น เป็นความรู้สึกที่รู้จักรักคนอื่น พอใจในความสามารถของผู้อื่นตามความเป็นจริง
       
        ศ.ดร.นพ.วิทยา กล่าวว่า บางคนที่มีพฤติกรรมไม่ดี ขี้เกียจ ขี้โกง แต่เรายังคิดว่าเขาเก่งมาก ดีมากอยู่ คนที่เป็นอย่างไร เขาจะเดือดร้อนตามลักษณะของตนเอง แต่การที่เรามองคนอื่นเป็น จะทำให้เราเอื้อเฟื้อต่อคนอื่น ไม่เครียด เป็นการมองโลกในแง่ดี
       
        "ความรู้สึกว่ารักตัวเองเป็น ช่วยตัวเองได้ รักคนอื่นเป็น ช่วยเหลือคนอื่นได้ ดังนั้นการรับนโยบายต่างๆ มาจะง่ายขึ้น ทำได้เท่านี้ก็โอเคแล้ว จะทำให้องค์กรเป็นองค์กรทีมีความสุข มีคุณธรรม บางแห่งใช้เทคโนโลยี แต่ไม่ได้ใช้เรื่องจิตวิทยา"
       
        เขากล่าวอีกว่า ความรู้ด้านจิตวิทยามีผลกับการพัฒนาทรัพยากรมนุษย์ในองค์กร ถ้าเรารู้จักที่จะเข้าใจและยอมรับคนอื่น ทำให้รู้จักการทำงานเป็นทีม สามารถสร้างแรงจูงใจให้กับเพื่อนร่วมงานได้ รู้วิธีการที่จะสร้าง EQ (ความฉลาดทางอารมณ์) MQ (ความมีศีลธรรม คุณธรรม จริยธรรม) และ AQ (ความสามารถในการแก้ปัญหา และการเผชิญกับภาวะวิกฤติ) เพื่อจะรู้จักเห็นใจเพื่อนมนุษย์ เอาใจเขามาใส่ใจเรา สร้างขวัญและกำลังใจ และสามารถแก้ไขความขัดแย้งในตนเอง และในองค์กรนั่นเอง
       
       
       ใครเป็นคนที่ประสบความสำเร็จ
       
        ศ.ดร.นพ.วิทยา นาควัชระ กล่าวถึงลักษณะของผู้นำที่ประสบความสำเร็จไว้ว่า ต้องมี 3 องค์ประกอบหลักคือ
       
        1. ต้องเป็นคนฉลาด เป็นคนที่ IQ ดี เพราะคนเหล่านี้ จะเรียนรู้อะไรได้ง่าย รวบรวมความรู้ และสังเคราะห์เรื่องราวต่างๆ ได้ดี ระดับการศึกษาไม่ได้บ่งบอกถึงความฉลาด เพราะ IQ ไม่ได้มาจากการเรียนรู้เท่านั้นแต่ติดตัวมาตั้งแต่แรกเกิดเลย เป็นความสามารถในการเรียนรู้ได้ด้วยตนเอง ดังนั้นคนที่ IQ ดี ไม่จำเป็นต้องจบสูง
       
        "แม้จะเรียนน้อย แต่ถ้ามี IQ ดี ก็สามารถเรียนรู้ได้ด้วยตนเอง ซึ่งความฉลาดมีหลายอย่าง มีฉลาดไอคิวดี และฉลาดที่มีวิจารณญาณ หรือฉลาดในการเลือก ไม่ว่าจะเลือกกิน เลือกฟัง หรือเลือกเชื่อ ซึ่งคนไทยขาดความฉลาดในการเลือก และไม่มีการสอนด้วย ทำให้เลือกเชื่อในสิ่งที่ไม่ควรเชื่อ เชื่อตามกระแส เช่น เวลาเห็นข่าวไม่ดีเกี่ยวกับใครคนหนึ่งมากๆ ก็ไม่ชอบเขา ทั้งที่ยังไม่รู้จักเขา คนหลายคนไอคิวดีแต่ไม่ฉลาดเลือก บางคนไอคิวไม่ดีแต่ฉลาดเลือก ดังนั้นดีที่สุด คือ ต้องไอคิวดีและฉลาดเลือก"
       
        2. มีทักษะ หมายถึงมีความสามารถในการทำอะไรต่างๆ ได้ด้วยตนเอง ดังนั้น คนที่มีความรู้ต้องเป็นคนที่กล้าลงมือทำด้วย จึงเกิดทักษะในตัวเอง หลายคนมีความรู้ดี แต่ไม่กล้าลงมือทำ ทักษะก็ไม่เกิด ความสำเร็จก็ไม่เกิด
       
        "คุณจะเห็นดอกเตอร์หลายคนมีความรู้ ได้แต่เขียนตำรา นั่งบนหอคอยงาช้าง วิจารณ์ชาวบ้านเขา แต่ตัวเองไม่กล้าลงมือทำ ทักษะน้อยมากแต่ความรู้มี บางคนความรู้ไม่สูง เรียนมาน้อย แต่เป็นคนฉลาด เรียนรู้ได้ด้วยตนเอง และกล้าลงมือทำก็ประสบความสำเร็จ"
       
        3. มีคุณธรรม หมายถึง มีความกตัญญู ความเสียสละ รับผิดชอบ ซื่อสัตย์ และรักเพื่อนมนุษย์ ผู้นำที่ขาดคุณสมบัติข้างต้นจะเจริญไม่นาน หรือถ้ามีความก้าวหน้าในหน้าที่การงาน ชีวิตครอบครัวก็ไม่ประสบความสำเร็จ
       
        คุณสมบัติทั้ง 3 ข้อต้องไปด้วยกัน จึงจะเป็นผู้นำที่ประสบความสำเร็จ

 

 

ที่มา : หนังสือพิมพ์ผู้จัดการ

อัพเดทล่าสุด