รู้ได้ไงใครตั้งท่าลาออก MUSLIMTHAIPOST

 

รู้ได้ไงใครตั้งท่าลาออก


596 ผู้ชม


รู้ได้ไงใครตั้งท่าลาออก




Q:
        บริษัทผมเป็นบริษัทรับจัดงานอีเวนท์พนักงานประมาณร้อยกว่าคน ระยะหลังงานกำลังขยายไปถึงประเทศเพื่อนบ้าน แต่กลับเจอปัญหาพนักงานลาออกเยอะมาก แล้วหลายคนทำเอาผมและผู้บริหารคนอื่นๆช็อค เพราะไม่ได้มีวี่แววว่าจะลาออก แต่ก็ยื่นใบลาออกกันแบบเล่นเอาอึ้งไปตามๆกัน พอจะมีวิธีที่จะจับความผิดปกติได้บ้างหรือเปล่า- รังสรรค์
       
       A:
        เรื่องการลาออกของพนักงานเป็นเรื่องเฉพาะตัวของแต่ละคนจริงๆ บางคนไปเที่ยวบ่นบอกใครต่อใครว่าจะออกวันละสามเวลา แต่ก็อยู่มายืดยาวสี่ห้าปีไม่ได้ออกไปไหน แต่บางคนทำงานอย่างขยันขันแข็ง ทำงานอย่างเต็มกำลัง อยู่ๆกลับยื่นใบลาออกอย่างไม่มีปี่มีขลุ่ย ก็มีให้เห็นในทุกองค์กร อย่างไรก็ตาม ก็ยังพอมีอาการที่พอมองให้เห็นเป็นอาการร่วม ซึ่งจะเห็นมากเห็นน้อยก็แล้วแต่ตบะของแต่ละคน ว่ากันว่า ความรู้สึกร่วมของคนทำงานจะมีขั้นตอนคล้ายกันคือ
       
        เริ่มแรกพอคนทำงานรู้ว่าจะได้ทำงานกับหน่วยงานที่ตนมองไว้ ก็จะเริ่มต้นจากมีความกระตือรือร้น ต้องการแสดงความสามารถอย่างเต็มที่ รับผิดชอบอย่างต็มกำลัง ทำงานมีผลงานเป็นรูปธรรม แต่พอทำงานไปได้สกพัก จะเริ่มรู้สึกว่าสิ่งที่คาดหวัง สภาพแวดล้อมไม่ว่าจะเป็นเรื่องงานเรื่องคน ไม่ได้เป็นไปอย่างใจคิดก็จะเริ่มลดดีกรีความมุ่งมั่นเหมือนรถที่เริ่มมีการแตะเบรคชะลอตัว เมื่อความรู้สึกไม่พึงพอใจอยู่ลึกๆยังไม่ได้รับการตอบสนอง ก็จะเริ่มเกิดการตั้งคำถามเป็นครั้งเป็นคราวว่า การที่ตนเองเข้ามาทำงานที่นี่เป็นการตัดสินใจที่ถูกต้องหรือไม่ เมื่อระยะเวลาผ่านไป คำถามที่เกิดเป็นครั้งคราวก็ถี่มากขึ้นจนกลายเป็นความรู้สึกเบื่อหน่ายและเริ่มเล็งหางานใหม่ และพอความรู้สึกเบื่อหน่ายทับถมมากขึ้น ก็เริ่มหางานอย่างจริงจัง จนกระทั่งได้งานแล้วลาจากไปในที่สุด
       
        ที่ผมพูดไปข้างต้น เป็นความรู้สึกภายในของแต่ละคน ซึ่งหากจะสังเกตอาการก็สามารถดูได้หลายอย่าง เป็นต้นว่า อาจดูจากการเปลี่ยนแปลงทางพฤติกรรม ที่เห็นได้ชัดก็เป็นความรับผิดชอบในงานที่จากเดิมเคยมีความรับผิดชอบดีไม่ต้องกวดขันมาก กลับกลายเป็นคนที่ไม่มีความคืบหน้าอะไรในงาน ต้องคอยตามคอยจี้ หรืออาจจะดูจากการเปลี่ยนแปลงทางบุคคลิกภาพ ที่อาจจะดูเซ็งๆดูหงุดหงิดไปทุกเรื่องทั้งที่เมื่อก่อนก็ดูเป็นคนมีภาวะอารมณ์ใช้ได้ หรืออาจจะดูจากบันทึกเวลาทำงาน จากที่ไม่ค่อยขาดลามาสาย ก็เริ่มมีอาการขาดบ้าง สายบ้าง ค่อนข้างถี่ โดยไม่ได้มีเหตุผล หรืออาจจะฟังเสียงกระซิบจากกลุ่มที่พนักงานมีความสนิทสนมด้วย ก็จะได้ข่าวลือที่มักจะเป็นจริงได้เสมอ
       
        อย่างไรก็ตาม อาการเหล่านั้นคนที่จะจับสังเกตได้ไม่ใช่เป็นผู้บริหารอย่างคุณรังสรรค์ แต่เป็นผู้จัดการหรือหัวหน้างานที่ดูแลพนักงานโดยตรงในแต่ละหน่วยงานที่จะมองเห็นความผิดปกติเหล่านั้นพร้อมกับหาทางแก้ไขหรือป้องกัน ดังนั้น ผมขอแนะนำให้คุณรังสรรค์จัดการประชุมกับบรรดาผู้จัดการและหัวหน้างาน เพื่อสื่อสารให้แต่ละคนได้ปรับวิธีการทำงานที่จะสร้างให้เกิดบรรยากาศที่ทำให้ลูกน้องกล้าคุยกับหัวหน้า พร้อมกับคุยให้พวกเขาฟังถึงวิธีการจับสังเกตความผิดปกติอย่างที่เราได้คุยกันไป เพื่อเป็นแนวทางให้เขาช่วยสังเกต แล้วจะได้ช่วยกันอย่างทันท่วงที จะได้ไม่ต้องเสียคนเก่งๆอีกนะครับ
       
        ท่านสามารถส่งคำถามหรือร่วมแสดงความคิดเห็นที่ dilok_tue@yahoo.com ด้วยความร่วมมือจากสมาคมการจัดการงานบุคคลแห่งประเทศไทย

โดย ผู้จัดการรายสัปดาห์

อัพเดทล่าสุด