ผู้บริหารคืออะไร? (3) MUSLIMTHAIPOST

 

ผู้บริหารคืออะไร? (3)


648 ผู้ชม


ผู้บริหารคืออะไร? (3)




คอลัมน์ EXECUTIVE COACH
โดย คม สุวรรณพิมล Leadership Coach kom@coachforgoal.com

ผู้บริหารคืออะไร? (3)

ผู้บริหารคืออะไร ?"
คำถามที่ดูกวน ๆ นี้ ผมเคยถามผู้บริหารหลาย ๆ ท่าน ทุกท่านก็ตอบได้ฉะฉาน แต่เหลือเชื่อว่า มุมมองของคำตอบที่ได้รับ กลับออกมาแตกต่างกัน
บางท่านก็เน้นไปที่ผลงาน ผลกำไร
บางท่านก็เน้นที่คน และทีมงาน
แต่บางท่านก็เน้นที่ "ตัวเอง"
ซึ่งจากคำตอบที่หลากหลายนี้ ผมเลยถือโอกาสนำมาสรุปรวบรวมให้เข้าใจตรงกัน ซึ่งบทความในครั้งนี้ก็เป็นบทสุดท้ายของในชุดเรื่อง "ผู้บริหารคืออะไร?" โดยในสองบทความที่ผ่านมา ผมได้แบ่งหน้าที่ของ ผู้บริหาร เพื่อให้เห็นภาพรวม ๆ ออกเป็น 3 ส่วน คือ
1.Direction - ผู้บริหาร คือผู้ที่มีหน้าที่ในการสร้างวิสัยทัศน์ แนวทางเดินที่ชัดเจน และนำเสนอให้ทีมงานอยากที่จะเดินตามไปด้วยกัน
2.Motivation - ผู้บริหาร คือผู้มีหน้าที่ในการสร้างแรงจูงใจ และกระตุ้นการทำงานของทีมงาน
3.Organization - ผู้บริหาร คือผู้มี หน้าที่ในการบริหารจัดการ หรือวางกลยุทธ์ ทั้งด้านงาน และด้านคน พร้อมทั้งควบคุมการเดินทางของทั้งสองส่วนให้ไปด้วยกันสู่ความสำเร็จได้
ซึ่งผมได้อธิบายในส่วนของ Direction และ Motivation ไปแล้ว สำหรับในครั้งนี้ จะมาสรุปในส่วนสุดท้าย คือ "Organization"
เรามาพิจารณาจากคำว่า "Organization" ก็จะเห็นได้ชัดเลยว่า หน้าที่ของผู้บริหารนั้น เริ่มเข้ามาเกี่ยวข้องกับการ "ดำเนินงาน หรือการจัดการ" องค์กร หน่วยงาน และทีมงาน
ซึ่งจากในสองหน้าที่แรก จะเกี่ยวข้องกับ "การนำทาง หรือแนวทางที่จะไป" และ "การพัฒนาจิตใจของทีมงาน" แต่ในหน้าที่นี้ ก็คือการนำทั้งสองส่วนนี้มาใช้ในการ เดินทางสู่เป้าหมายจริง ๆ
ซึ่งหมายความว่า ในหน้าที่ของผู้บริหาร คือการ "กำหนดกลยุทธ์" ที่จำเป็น เพื่อให้ทุกอย่าง ทั้งองค์กร หน่วยงาน และทีมงาน "Action !" ให้บรรลุเป้าหมาย
กลยุทธ์ที่จำเป็นนี้ แบ่งได้เป็น 2 กลยุทธ์ คือ "กลยุทธ์ด้านงาน" และ "กลยุทธ์ ด้านคน"
โดยกลยุทธ์ด้านงาน ก็จะขึ้นอยู่กับหน้าที่ของผู้บริหารแต่ละคนที่กำกับดูแล เช่น ถ้าผู้บริหารด้านการตลาด ก็ต้อง สามารถกำหนดกลยุทธ์ด้านการตลาด การวางแผน การวิเคราะห์สภาพตลาด และลูกค้าได้ หรือถ้าเป็นผู้บริหารโรงงาน ก็ต้องกำหนดกลยุทธ์ด้านการผลิต การวางแผนการผลิต การเลือกวัตถุดิบที่ เหมาะสม หรือการจัดการเครื่องจักรต่าง ๆ
ซึ่งในประเด็นกลยุทธ์ด้านการทำงานนี้ ไม่ค่อยน่าเป็นห่วง เพราะผู้บริหารร้อยละ 80 มักจะมีความเชี่ยวชาญด้านนี้เป็นทุนเดิมอยู่แล้ว ดังนั้น กลยุทธ์ด้านงาน จึงมัก ไม่ค่อยมีที่ผิดพลาดกัน
แต่สิ่งที่น่ากังวลและน่าตกใจ ก็คือมี ผู้บริหารอีกไม่น้อยกว่าร้อยละ 50 ที่มักจะ "ขาดกลยุทธ์ด้านคน"
ซึ่งท่านผู้อ่านลองดูซิครับว่า ในหน่วยงานของท่านมีปัญหาเรื่องคนที่เกิดจาก ผู้บริหารมากน้อยเพียงใด หรือถ้าท่านผู้อ่านเป็นผู้บริหาร ท่านลองสำรวจและสังเกตรอบตัวท่านซิว่า ปัญหาต่าง ๆ เกิดจาก "ท่านเอง" บ้างหรือไม่
"กลยุทธ์ด้านคน" ในด้านของ Organization ผมขออธิบาย โดยแบ่งเป็นข้อ ๆ เพื่อให้ง่ายและสะดวกในการจำ สามารถแบ่งหน้าที่ออกได้เป็น 3 ด้านหลัก คือ
1.ระบุและกำหนดตำแหน่งหน้าที่งานของลูกน้องได้ตรงตามความสามารถของ ลูกน้อง
กลยุทธ์ที่สำคัญที่ผู้บริหารจำเป็นต้องทำอย่างต่อเนื่อง ก็คือการค้นหา เข้าใจความสามารถของลูกน้อง และลักษณะงาน ว่าตรงกับความสามารถที่แท้จริงของลูกน้องหรือไม่
กลยุทธ์นี้ ดูง่าย ๆ แต่ผู้บริหารหลาย ๆ รายมักจะหลงลืม และทำผิดพลาดเสมอ
โดยกลยุทธ์นี้ จะต้องเริ่มต้นตั้งแต่ "การรับคนเข้าทำงาน" เพราะโดยส่วนใหญ่แล้ว ผู้บริหารทั่วไป จะให้ความสำคัญน้อย ต่อการค้นหาคนที่ต้องการอย่างแท้จริง ทั้งความสามารถ และทัศนคติ โดยปล่อยให้เป็นเรื่องของฝ่ายบุคคลมากกว่า
ผู้บริหารหลาย ๆ ท่าน มักจะดำเนินการสัมภาษณ์ไปงั้น ๆ ถามไปเรื่อย ๆ ไม่ได้มีเป้าหมายที่จะค้นหาตัวตนที่แท้จริง
สุดท้ายก็รับคนเข้าทำงาน เพราะ "ความชอบ" เพียงอย่างเดียว
เมื่อเข้ามาทำงานจริง คน ๆ นั้นก็กลายเป็นตัวปัญหา ถ้าไม่เป็นปัญหาในด้าน "ความสามารถ" ก็เป็นด้าน "ทัศนคติ"
ส่วนที่สำคัญอีกเรื่องของกลยุทธ์นี้ คือ "การมอบหมายงานที่ท้าทาย และมีความสำคัญ" เพราะหลาย ๆ ครั้ง ผู้บริหารมักจะไม่ยอมมอบหมายงานที่ท้าทายให้ลูกน้อง ด้วยเหตุผลหลาย ๆ อย่าง เช่น คิดว่า ลูกน้องไม่เก่ง คิดว่างานนี้ เราต้อง ทำเอง ฯลฯ
การทำเช่นนี้ เป็นการบั่นทอนความสามารถของลูกน้องโดยไม่รู้ตัว และยังทำให้ขวัญกำลังใจของลูกน้องลดลง
อีกส่วน คือการ "อบรมลูกน้อง" ประเด็นนี้ ต้องอย่าหลงลืม และที่สำคัญ ผู้บริหารหลาย ๆ ท่านมักจะเข้าใจว่า การอบรม คือการต้องไปเรียนฝึกอบรมจาก ผู้เชี่ยวชาญข้างนอกองค์กร ซึ่งจริง ๆ แล้ว การอบรม อาจจะเป็นแค่ผู้บริหารนั่งสอนงาน คุยกัน หรือผู้บริหารเป็นผู้สร้างบรรยากาศที่ทุกคนอยากเรียนรู้ก็ได้
แต่ข้อควรจำ คือ "การอบรมลูกน้อง ไม่ใช่การเรียกลูกน้องมานั่งฟังเราด่า หรือบ่น" นะครับ
2.ให้อำนาจแก่ลูกน้อง
การให้อำนาจแก่ลูกน้อง ก็เป็นอีกกลยุทธ์หนึ่งที่จะทำให้ลูกน้องของเราดึงศักยภาพภายในตัวเองออกมาได้อย่างเต็มที่ ให้เหมาะสมกับความสามารถที่เขามี
ซึ่งการให้อำนาจแก่ลูกน้อง หรือการมอบหมายงานท้าทาย จะเริ่มต้นตั้งแต่ "การให้ข้อมูลที่ถูกต้องครบถ้วน" เพราะจะมีส่วนเกี่ยวข้องกับการทำงาน และการตัดสินใจที่ถูกต้อง
หน้าที่อีกส่วนของกลยุทธ์นี้ คือ "มอบหมายความรับผิดชอบ พร้อมกับอำนาจ"
เรื่องนี้เป็นพื้นฐาน แต่ผู้บริหารก็มักจะลืมกันเสมอ เพราะถ้ามอบแต่หน้าที่ สุดท้ายแล้ว ลูกน้องก็ไม่กล้าจะตัดสินใจทำอะไรอยู่ดี ทุกอย่างก็อยู่ภายใต้ความคิดของผู้บริหารเหมือนเดิม
ส่วนหน้าที่อื่นภายใต้กลยุทธ์นี้ก็คือ "หยุดการแก้ไขปัญหาให้ลูกน้อง"
เพราะการที่คุณทำตัวเป็นผู้รอบรู้ทุกอย่าง เพื่อให้ลูกน้องเข้ามาถาม ผลร้ายจะตกอยู่ที่ประสิทธิภาพทีมงานเอง ซึ่งอาจจะไม่ได้ฝึกฝน มีความมั่นใจที่จะแก้ไข และตัดสินใจด้วยตัวเอง
3.เป็นสะพานเชื่อมระหว่างทีมงาน
ความจริงที่เราต้องยอมรับกันข้อหนึ่ง ก็คือภายในทีมงานของเราจะประกอบด้วยคนหลากหลายความคิด หลากหลายรุ่น ดังนั้น ผู้บริหารจะต้องทำตัวให้เป็นสะพานเชื่อมคน ทุกความคิด และทุกวัยเข้าด้วยกัน ไม่เช่นนั้นก็จะเกิดการลำเอียง
โดยการดำเนินตามกลยุทธ์นี้ก็คือ "การเข้าใจคนทุกวัย" ผู้บริหารต้องสามารถเข้าใจคนทุกวัยในทีมงานให้ได้ว่า แต่ละคนมีความคิด และมีความต้องการอย่างไร เพื่อจะได้เป็นตัวประสาน ถึงแม้ว่าผู้บริหารจะไม่ได้คิดเช่นนั้นก็ตาม
วิธีการถัดมาเพื่อให้ดำเนินตามกลยุทธ์ คือ "การไม่ตัดสินล่วงหน้า" เพราะหลาย ๆ ครั้ง ผู้บริหารมักจะมีคำตอบอยู่ในใจแล้ว แทนที่ผู้บริหารจะเป็นสะพานเชื่อมคนทุกคนให้ได้ตามที่ต้องการ เพื่อการทำงานเป็นทีม ผู้บริหารกลับทำตัวเป็นศาล เพื่อตัดสิน ทุกอย่าง
ซึ่งคุณเชื่อได้อย่างไรว่า คำพิพาษาของคุณนั้นถูกต้องแล้ว ซึ่งถ้ามันไม่ถูกต้อง อะไรจะเกิดขึ้น
ส่วนอีกวิธีการหนึ่ง คือ "การไม่จำเป็นต้องปฏิบัติต่อทุกคนเหมือนกัน"
ประเด็นนี้ หมายถึงผู้บริหารจะต้องเข้าใจความแตกต่าง เราปฏิบัติเพื่อความยุติธรรม แต่ไม่จำเป็นว่าทุกคนต้องได้รับการปฏิบัติที่เหมือนกัน เพราะถ้าผู้บริหารเข้าใจคน เราสามารถสร้างทีมงานที่แข็งแกร่งขึ้นมาได้
จากบทความ "ผู้บริหารคืออะไร ?" ทั้งสามตอนนี้ อาจสรุปได้ว่า ผู้บริหารจะต้อง "สร้างแนวทางเดินให้ได้ ซึ่งก็คือวิสัยทัศน์ และต้องทำให้ทุกอย่างอยากเดิน โดยเป็นผู้คอยสร้างแรงจูงใจอยู่ตลอดเวลา ที่ทีมงานกำลังเดิน นั่นคือการ Motivation
และสุดท้าย คือผู้บริหารต้องกำหนดกลยุทธ์การเดินทางที่ถูกต้อง กำหนดกลยุทธ์พัฒนาคน เพื่อให้ทุกคนมีความสามารถเพิ่มขึ้น และสามารถเดินทางได้อย่างมีประสิทธิภาพ นั่นก็คือ Organization"
ลองฝึกฝนดูนะครับ หรือถ้าไม่รู้จะเริ่มต้นอย่างไร ลอง Email มาคุยกันได้ เพราะส่วนที่ยากที่สุดของความสำเร็จ ก็คือ "การเริ่มต้น"
หน้า 26

วันที่ 29 เมษายน พ.ศ. 2553 ปีที่ 33 ฉบับที่ 4205  ประชาชาติธุรกิจ

อัพเดทล่าสุด