ดึง Passion สร้างทีมเวิร์กที่เข้มแข็ง MUSLIMTHAIPOST

 

ดึง Passion สร้างทีมเวิร์กที่เข้มแข็ง


829 ผู้ชม


ดึง Passion สร้างทีมเวิร์กที่เข้มแข็ง




อภิสิทธิ์ คุปรัตน์ "ดึง Passion สร้างทีมเวิร์กที่เข้มแข็ง"
คอลัมน์ HR Young Blood
โดย เอื้อมพร สิงหกาญจน์ auem@matichon.co.th
ดึง Passion สร้างทีมเวิร์กที่เข้มแข็ง
"ผมเปรียบตัวเองเป็นนักกีฬา สิ่งหนึ่งที่นักกีฬาทำคือเวลาแข่ง ไม่ว่าจะแพ้หรือชนะก็ทำเต็มที่ ไม่ว่าชนะหรือแพ้เราก็ได้เรียนรู้ ในเชิงธุรกิจอาจจะไม่มีถ้วยรางวัล แต่สิ่งที่ได้มาคือความภาคภูมิใจ การที่ได้ทำงานด้วยใจรักไม่ได้ทำงานเพื่อรับค่าจ้าง"
ด้วยมุมคิดเช่นนี้นี่เองที่ทำให้ "อภิสิทธิ์ คุปรัตน์" หนุ่มไฟแรงก้าวขึ้นมานั่งตำแหน่งผู้จัดการประจำประเทศไทยและประเทศฟิลิปปินส์ บริษัท F5 เน็ตเวิร์ค อิงค์ ด้วยวัยที่ยังไม่ถึง 40 ปี
วิธีการทำงานของเขาย่อมไม่ธรรมดาแน่ เพราะ 2 องค์กรไม่ได้ต่างกันเพียงภาษาพูด แต่วัฒนธรรมไลฟ์สไตล์การทำงานยังแตกต่างกันอีกด้วย
หลังจากอภิสิทธิ์จบวิศวะ ลาดกระบัง ด้านการควบคุม ก็เข้าไปจอยงานในครอบครัวอยู่พักหนึ่ง จึงได้ไปเรียนต่อที่อเมริกาจนได้ด็อกเตอร์ทางด้านอุตสาหกรรมไอที จึงกลับมาทำงานในประเทศไทยกับบริษัทเหล้าแห่งหนึ่ง เป็นหัวหน้าทีมพัฒนาธุรกิจใหม่ๆ ให้กับบริษัท ทำให้เขาได้เรียนรู้สิ่งใหม่ๆ มากมาย แต่วิถีการทำงานในองค์กรเล็กๆ แห่งนี้ก็ไม่ท้าทายเท่ากับไอบีเอ็มที่ถือว่าเป็น good school ที่สร้างคนจริงๆ
"การทำงานที่ไอบีเอ็มเป็นจุดเปลี่ยนของชีวิต เพราะครั้งแรกเริ่มทำงานในตำแหน่งเทคนิคอล แต่ผู้บริหารเห็นว่าน่าจะไปดูงานฝ่ายขาย ตรงนั้นจึงทำให้ได้เรียนรู้เรื่อง บิสซิเนสจริงๆ แล้วไอบีเอ็มก็สอนงานทุกอย่าง ให้อะไรที่เป็นรูปแบบที่ชัดเจน ไม่ว่าจะเป็นวิธีการไปพบลูกค้า ขั้นตอนการทำงาน วิธีการจัดการให้คนหลายๆ คนมาอยู่รวมกัน ซึ่งปัจจุบันก็ยังนำมาใช้ในการทำงาน"
จากไอบีเอ็ม "อภิสิทธิ์" กระโดดมาอยู่ออราเคิล องค์กรที่มีสไตล์การทำงานแตกต่างจากไอบีเอ็มอย่างสิ้นเชิง
"การทำงานกับออราเคิลทำให้ได้เรียนรู้เกี่ยวกับการบริหารจัดการบุคลากร และมองเห็นว่าทีมที่แข็งแกร่งคือหัวใจสำคัญในการทำงาน จากที่ทำงานคนเดียวกลายเป็นสาม เป็นสี่ เป็นทีมแล้วสุดท้ายก็เกือบปล่อยมือได้"
"ยิ่งทีมแข็งเท่าไร เรายิ่งสบาย เราจะทำอะไรได้มากขึ้น ยิ่งเราทำอะไรได้มากขึ้น ธุรกิจก็โตเร็วขึ้น"
ประสบการณ์กว่า 14 ปีในการบริหารธุรกิจให้กับบริษัทไอทีชั้นนำ ทำให้ "อภิสิทธิ์" มั่นใจว่าจะพานาวา F5 เน็ตเวิร์คฯทั้งในประเทศไทยและฟิลิปปินส์ก้าวไกลได้
"หลังจากเข้ามาดู F5 เน็ตเวิร์คฯ ก็มองว่าธุรกิจในประเทศฟิลิปปินส์น่าจะเติบโตได้เร็วกว่านี้ ใช้เวลาศึกษาปัญหาอยู่เกือบ 3 เดือนก็ตัดสินใจเปลี่ยนโมเดลธุรกิจใหม่ เพิ่มช่องทางการขายให้มากขึ้น เช่นเดียวกับธุรกิจในเมืองไทยก็ได้มีการฟอร์มทีมขึ้นมาใหม่"
การจะเปลี่ยนอะไรไม่ใช่ว่านั่งหัวโต๊ะแล้วจะสามารถสั่งได้ทุกอย่าง ก่อนปฏิวัติองค์กรอภิสิทธิ์จะต้องมานั่งวิเคราะห์ในภาพรวมขององค์กรก่อนว่ามีอะไรติดขัดตรงไหน อะไรที่แชลเลนจ์องค์กรบ้าง แล้วคนที่มีอยู่ฟิตกับองค์กรแค่ไหน จนเกิดความมั่นใจแล้วจึงคุยกับผู้บริหาร
"ผมเชื่อว่าทุกคนมีจุดแข็ง ผมดูแลทุกคนเท่ากัน จะมีการแชร์กันทุกควอร์เตอร์ว่าจะทำอะไร แบ่งภาระหน้าที่กัน จุดไหนที่เป็นบิ๊กพอยต์ การประชุมแต่ละครั้งนอกจากมาคุยกันเรื่องการเดินไปตามแผนแล้วยังได้ฟังทีมงานด้วยว่าเขามีปัญหาอะไร ติดขัดตรงไหน บางคนเก่งแต่อยู่ในจังหวะที่ไม่ดี เราต้องเปิดใจแล้วคอยช่วยเหลือเขา เพราะฉะนั้นการทำงานเป็นทีมจึงเป็นเรื่องสำคัญ"
วิธีการเล็กๆ ตรงนี้ไม่เพียงแต่ทำให้อภิสิทธิ์ได้ทีมที่แข็งแกร่ง มีเป้าหมายในการทำงานอย่างเดียวกันเท่านั้น แต่ยังได้ทีมที่มีคอมมิตเมนต์ร่วมกันด้วย
หลายองค์กรใช้การสร้างแรงจูงใจ (motivation) ในการทำงาน แต่สำหรับอภิสิทธิ์อาจเห็นแย้ง เขาเห็นว่าควรดึง passion ของพนักงานออกมามากกว่า
"motivation อาจจะทำเป็นช่วงๆ แต่ถ้าสามารถบิวต์ passion ทีมงานได้จะดีกว่า เช่น บอกกับพนักงานว่าที่ผ่านมาไม่ใช่ว่าคุณจะไม่เก่ง แต่คุณขาดเมคานิซึมอะไรบางอย่าง ลองวิธีนี้ดูไหม ถ้าสามารถดึงความรู้สึกลึกๆ ที่พนักงานอยากได้ออกมาได้ นอกจากจะทำให้เขามีกำลังใจในการทำงานแล้ว ยังทำให้เขาเดินได้ด้วยกำลังของเขาเอง และทำงานนั้นได้สำเร็จอีกด้วย"
อภิสิทธิ์บอกว่า พนักงานที่ขยันทำงาน มีทักษะในการทำงานเราต้องส่งเสริมเขา ต้อง passion เติมเต็มให้เขาเดินต่อไปได้โดยเริ่มจากก้าวเล็กๆ เมื่อประสบความสำเร็จเขาจะมีความมั่นใจขึ้นและเดินไปได้ด้วยตัวเอง ถ้าเขาพลาดหรือติดขัดอะไรก็ไปเสริมในจุดนั้น
การบริหารองค์กรที่ไดนามิก บุคลากรถือว่าเป็นหัวใจสำคัญ ทุกอย่างจึงต้องเริ่มตั้งแต่การรีครูตเมนต์ โดยพิจารณาจากตำแหน่งงานในสถานการณ์นั้นๆ ว่าต้องการคนบุคลิกอย่างไร เพราะในตำแหน่งเดียวกันแต่เวลาต่างกันอาจจะต้องการคนที่มีคุณสมบัติต่างกัน
หลังจากรับเข้ามาแล้วสิ่งที่ต้องพยายามใส่เข้าไปคือความเป็นเจ้าของ (ownership) และความรับผิดชอบ (responsibility) แล้วพยายามโค้ชพัฒนาทักษะให้กับเขา ซึ่งจะไม่ใช้วิธีการออกคำสั่ง แต่จะใช้วิธีไกด์แล้วเปิดโอกาสให้เขาได้คิดเอง
เพราะองค์กรที่มีการเปลี่ยนแปลงตลอดเวลา มีแชลเลนจ์ใหม่ๆ เข้ามาทุกๆ 3 เดือน ถ้าทีมไม่เปลี่ยนทุกอย่างขั้นอยู่กับผู้นำคนเดียว องค์กรก็ไปไม่รอด
"ผมบอกน้องๆ ที่ F5 ตั้งแต่วันแรกเลยว่า สิ่งที่อยากเห็นคือว่า ภายใน 3 เดือน 6 เดือน ถ้าผมไม่อยู่ 2 อาทิตย์ คุณจะต้องรันด้วยตัวเองได้ มีปัญหาคุณจะต้องแก้ด้วยตัวเองได้ ไม่ได้หมายความว่าทำอะไรโดยไม่ปรึกษา แต่จะต้องคิดหาทางออกให้กับองค์กรได้"
ผู้บริหารหนุ่มย้ำว่า ตรงนี้ถือว่าเป็น good benefit ที่จะทำให้พนักงานโตเร็วขึ้น เพราะที่นี้วัดคนที่ผลของงาน
แม้ว่าโดยปกติคนฟิลิปปินส์จะให้การยอมรับผู้บริหารที่มาจากสิงคโปร์เท่านั้น แต่ช่วงที่ผ่านมาอภิสิทธิ์ก็ได้พิสูจน์ให้คนทุกคนเห็นว่า ผู้บริหารจากเอเชียก็มีฝีมือ
"ไม่ว่าจะอยู่องค์กรไหนจะต้องพยายามเข้าใจวัฒนธรรมองค์กรนั้นว่าเป็นอย่างไร ต้องการคนประเภทไหน ผมเคยบอกลูกน้องด้วยประโยคเดียวกันนั่นคือ ถ้าคุณเคยเป็นเหมือนปลาดุก แต่ถ้าองค์กรต้องการให้คุณเป็นปลาฉลามในน้ำทะเล คุณก็ต้องเป็นปลาฉลามที่ว่ายเร็ว ออกไปหาอาหารในมหาสมุทรให้ได้ ถ้าทำตัวเป็นปลาดุกในน้ำทะเลก็ตาย ฉะนั้นขั้นแรกต้องเปิดใจ พอเริ่มเข้าใจวัฒนธรรมการทำงานก็ง่ายขึ้น แต่ถ้ายังไปยึดติดกับภาพเก่าๆ ตัวเราก็จะไม่ได้รับการพัฒนา"
คำหนึ่งที่อภิสิทธิ์เลือกหยิบมาใช้กับการทำงาน คือ enjoy the pain
อภิสิทธิ์พูดถึงความสำคัญของคำนี้ว่า เพื่อนที่เป็นนักกีฬาคนหนึ่งเคยบอกว่า เขาถูกสอนว่าทุกความเจ็บปวดมีรสชาติแตกต่างกัน ซึ่งตรงนี้เมื่อนำมาปรับใช้กับองค์กร ทุกปัญหา ทุกอุปสรรค ถ้าตั้งสติแล้วจัดการกับปัญหาเหล่านั้น เราก็จะได้เรียนรู้จากมัน ระหว่างที่เรียนรู้ก็โค้ชพนักงานไปด้วย เอาสิ่งที่ได้เรียนรู้ไปสื่อให้พนักงานเรียนรู้ไปพร้อมๆ กัน
อภิสิทธิ์ในวันนี้จึงไม่ใช่แค่ซีอีโอของ F5 เน็ตเวิร์คฯ แต่เป็น coach ให้กับทีมงานทุกคน
หน้า 34
ที่มา : matichon.co.th
 

อัพเดทล่าสุด