HR Monitor : ผู้นำมือใหม่ "ซื้อใจ" ลูกน้อง MUSLIMTHAIPOST

 

HR Monitor : ผู้นำมือใหม่ "ซื้อใจ" ลูกน้อง


798 ผู้ชม


HR Monitor : ผู้นำมือใหม่ "ซื้อใจ" ลูกน้อง




กลยุทธ์ง่ายๆ ต่อไปนี้เป็นวิธีปูเส้นทางสู่การเป็นผู้นำที่แม้ว่าจะมือใหม่หัดขับเพิ่งได้รับโปรโมท ก็จะสามารถซื้อใจลูกน้องให้อยากทำงานกับเราด้วยความเต็มใจได้ไม่ยาก

เพราะสมัยนี้มันหมดยุค ผู้นำโดย "ตำแหน่ง" ที่ดีแต่ใช้อำนาจชี้เป็นชี้ตายแก่ลูกน้องเท่านั้น

แม้ว่าปัจจุบัน "ภาวะผู้นำ" กำลังเป็นประเด็นร้อนแรงที่มีการพูดถึงมากกว่าแต่ก่อนก็จริงอยู่ แต่เป็นเรื่องที่น่า "เศร้า" อยู่ไม่น้อยที่ผู้นำบางส่วนยังไม่ใส่ใจว่าการให้ได้มาซึ่งใจลูกน้อง หรือซื้อใจลูกน้องได้ ไม่ใช่เรื่องที่เกิดขึ้นได้เอง แต่เป็นเรื่องที่ผู้นำต้องสร้างขึ้นมา

การซื้อใจลูกน้องนั้นหมายถึง การต้องทุ่มเทความพยายามและเวลามากยิ่งขึ้น เราจึงได้รวบรวมกลยุทธ์ง่ายๆ สำหรับผู้นำมือใหม่ในการซื้อใจลูกน้องไว้ดังนี้คือ

กลยุทธ์แรก "เพิ่มศักยภาพในการนำ" คุณต้องนำให้ดีอยู่เสมอ ไม่ใช่ว่าดีบ้างไม่ดีบ้างแล้วแต่อารมณ์ และต้องไม่เน้นแต่ "งาน" จนลืมเรื่อง "คน" ไป หรือนำเพียงเพื่อเอาตัวรอดไปวันๆ

การแสดงให้ลูกน้องเห็นถึงผลงานและความจริงใจของคุณจะทำให้พวกเขามองเห็นแววผู้นำในตัวคุณ ยิ่งคุณนำได้ดีแค่ไหน ลูกน้องก็ยิ่งขาดคุณไม่ได้เท่านั้น นั่นหมายถึงคุณยิ่งเข้าไปนั่งอยู่ในใจเขาได้เร็วขึ้นเท่านั้น เช่นกัน

หมายความว่า คุณต้องเข้าใจว่า ลูกน้องต้องการอะไร เขามีจุดแข็งและจุดอ่อน กระทั่งจุดที่ "โดนใจ" อยู่ตรงไหนเพื่อหาวิธีกระตุ้นจูงใจให้ทำงานบรรลุตามเป้าหมายองค์กรและเกิดความพึงพอใจในการทำงาน

คุณควรมุ่งมั่นพัฒนาตัวเองเพื่อเพิ่มศักยภาพในการนำ ซึ่งสามารถทำได้หลากหลายวิธี ไม่ว่าจะเป็นการเรียนรู้ด้วยตัวเอง, การเข้าฝึกอบรม, การรับอาสาทำงานท้าทายความสามารถ, การหาปรมาจารย์เก่งๆ เข้ามาช่วย, การประยุกต์ใช้เครื่องมือและเทคนิคต่างๆ เป็นต้น

ทั้งนี้และทั้งนั้นอย่ารอให้บริษัทจัดให้แต่เพียงอย่างเดียว ควรขวนขวายหาเองด้วย เมื่อคุณผลักดันตัวเองอยู่เสมอ คุณก็จะมีโอกาสเติบโตไม่ว่าจะเป็นที่นี่หรือเป็นที่อื่นๆ เพราะผลงานสร้างชื่อเหล่านี้จะพูดต่อกันไป "ปากต่อปาก" อย่างรวดเร็วว่า คุณเป็นผู้นำที่มีอนาคตไกลบรรดาลูกน้องสุดปลื้ม

นั่นย่อมดีกว่าการจะมีตราประทับติดตัวว่า คุณเป็นผู้นำเพียงตำแหน่ง อาจได้งาน แต่ไม่ได้ใจลูกน้องไม่ใช่หรือ

กลยุทธ์ที่สอง "ทำตัวดี ทั้งต่อหน้าและลับหลัง" การเป็นผู้นำนั้นเปรียบเสมือนการยืนอยู่บนเวทีกลางแจ้ง สายตาลูกน้องทุกๆ คนกำลังจับจ้องอยู่ที่ตัวคุณ

ทุกสิ่งทุกอย่างที่คุณทำจะกลายเป็นแบบอย่างที่ลูกน้องปฏิบัติตาม จะเอาชนะใจลูกน้องได้หรือไม่ได้ก็วัดกันตรงนี้ นั่นหมายความว่า ถ้าคุณเป็นแบบอย่างที่ดี ลูกน้องก็มีแนวโน้มจะแสดงพฤติกรรมอย่างที่คุณเป็น

ในทางตรงกันข้าม ถ้าคุณเป็นแบบอย่างที่ไม่ดี ลูกน้องก็มีแนวโน้มจะแสดงพฤติกรรมเฉกเช่นเดียวกันกับที่คุณทำ

ลูกน้องจึงเปรียบเสมือนกระจกเงาที่ส่องสะท้อนให้เห็นถึงภาพตัวเราเองว่า เราทำตัวได้ดีพอแล้วหรือไม่ เช่น หากงานมีปัญหา นั่นเป็นเพราะเราไม่ได้สอนงานหรือไม่ หากลูกน้องไม่กล้าเข้าหา นั่นเป็นเพราะเราไม่เปิดโอกาสหรือไม่

การทำตัวดีๆ ในที่นี้จึงหมายถึงการปรับเปลี่ยนทัศนคติในการนำจากเดิมที่เป็นผู้รับด้วยการเอาตัวเองเป็นที่ตั้ง รอลูกน้องเข้ามาหา กลับกลายมาเป็นผู้รุกด้วยการเอาผู้อื่นเป็นที่ตั้ง ออกไปหาลูกน้อง หมั่นเอาใจเขามาใส่ใจเรา ย้อนกลับมาดูที่ตัวเราก่อนทุกครั้งว่า เราได้ทำตัวดีพอแล้วหรือไม่ ลูกน้องเราถึงได้เป็นอย่างนั้น

กลยุทธ์ที่สาม "เดินหน้าสร้างสัมพันธ์และสื่อสารให้เข้าใจ" การเก็บตัวเงียบโดยไม่สร้างสัมพันธ์กับลูกน้อง จะนำไปสู่การไม่ค่อยสื่อสารกัน ในขณะที่การออกโรงบัญชาการมากเกินไป ก็จะนำไปสู่การไม่ค่อยกล้าสื่อสาร

ความสมดุลในเรื่องการสร้างสัมพันธ์จึงเป็นเรื่องสำคัญที่ช่วยสร้างบรรยากาศการสื่อสารที่เหมาะสมขึ้นมา ถ้าคุณต้องการให้ลูกน้องเดินหน้าต่อไป คุณก็ต้องสื่อสารในรูปแบบที่พวกเขาเข้าใจ วิธีที่คุณสื่อสารเป็นส่วนสำคัญที่เป็นตัวบ่งชี้ได้ว่าคุณจะได้ใจลูกน้องหรือไม่ การเป็นผู้นำที่เก่งงาน แต่ไม่สามารถโน้มน้าวความคิดผู้อื่นให้ทำงานได้อย่างเต็มความสามารถและเต็มใจได้ คุณก็จะไม่ได้ใจลูกน้อง ถึงแม้ว่าคุณจะได้ใจองค์กรก็ตามที

กลยุทธ์ที่สี่ "รับมือกับความไม่ชัดเจนได้ดี" ในสภาวะที่การเปลี่ยนแปลงเกิดขึ้นอย่างรวดเร็วจนตามแทบไม่ค่อยทันนั้น ผู้นำจำเป็นต้องแสดงให้เห็นเสียก่อนว่า สามารถรับมือกับความไม่ชัดเจนได้ดี เพราะคนส่วนใหญ่มักมองหาความชัดเจนก่อนเป็นอันดับแรกในการจะลงมือทำอะไรก็ตาม

ถึงแม้ว่าผู้นำจะมีหน้าที่สร้างอนาคตที่ชัดเจนให้กับลูกน้องเพื่อให้เขาอยากทำงานให้กับองค์กรอย่างเต็มศักยภาพและเต็มใจ แต่ในฐานะผู้นำ บางครั้งคุณก็ไม่มีเวลามากพอที่จะทำทุกอย่างให้ชัดเจนได้ คุณจำเป็นต้องมองไปข้างหน้าและลงมือจัดการถึงแม้ว่าจะขาดความชัดเจนเพื่อกำหนดทิศทาง แล้วชี้นำให้คนอื่นๆ เดินหน้าต่อไปก่อน หลังจากนั้นจึงค่อยๆ ปรับเปลี่ยนทิศทางเมื่อทุกสิ่งทุกอย่างเริ่มมีความกระจ่างชัดมากยิ่งขึ้น

ลองประยุกต์ใช้กลยุทธ์ง่ายๆ ข้างต้นเพื่อเป็นใบเบิกทางสร้างอนาคตการเป็นผู้นำที่ดีในสายตาลูกน้องกันดีกว่า ด้วยการซื้อใจลูกน้องด้วยใจ มิใช่ด้วยอำนาจจากตำแหน่ง

ผู้นำยุคใหม่นั้น มันไม่เกี่ยวกับว่าคุณ "เก่ง" แค่ไหน แต่มันเกี่ยวกับว่าคุณสามารถ "นำ" พาใครไปกับคุณได้มากน้อยแค่ไหนต่างหาก

ที่มา : bangkokbiznews.com


อัพเดทล่าสุด