https://lentera.uin-alauddin.ac.id/question/gratis-terlengkap/https://old-elearning.uad.ac.id/gampang-menang/https://fk.ilearn.unand.ac.id/demo/https://elearning.uika-bogor.ac.id/tanpa-potongan/https://e-learning.iainponorogo.ac.id/thai/https://organisasi.palembang.go.id/userfiles/images/https://lms.binawan.ac.id/terbaik/https://disperkim.purwakartakab.go.id/storage/https://pakbejo.jatengprov.go.id/assets/https://zonalapor.fis.unp.ac.id/-/slot-terbaik/https://sepasi.tubankab.go.id/2024tte/storage/http://ti.lab.gunadarma.ac.id/jobe/runguard/https://satudata.kemenpora.go.id/uploads/terbaru/
ความต้องการแรงงานและการขาดแคลนแรงงาน ในอุตสาหกรรมอาหารของจังหวัดราชบุรี MUSLIMTHAIPOST

 

ความต้องการแรงงานและการขาดแคลนแรงงาน ในอุตสาหกรรมอาหารของจังหวัดราชบุรี


898 ผู้ชม


ความต้องการแรงงานและการขาดแคลนแรงงาน ในอุตสาหกรรมอาหารของจังหวัดราชบุรี




ความต้องการแรงงานและการขาดแคลนแรงงาน

ในอุตสาหกรรมอาหารของจังหวัดราชบุรี

ศูนย์ข่าวสารตลาดแรงงานจังหวัดราชบุรีได้ทำการศึกษาเรื่อง “ความต้องการแรงงานและการขาดแคลนแรงงานในอุตสาหกรรมอาหารของจังหวัดราชบุรี” มีวัตถุประสงค์เพื่อวิเคราะห์ความต้องการแรงงานและการขาดแคลนแรงงาน และประมาณการแนวโน้มความต้องการแรงงานของสถานประกอบการอุตสาหกรรมอาหารของจังหวัดราชบุรี โดยวิธีการศึกษาสำรวจสถานประกอบการอุตสาหกรรมอาหารทั้งหมดในจังหวัดราชบุรีที่มีลูกจ้างตั้งแต่ 20 คนขึ้นไป จำนวนทั้งสิ้น 58 แห่ง

จากการศึกษาพบว่า อุตสาหกรรมอาหารซึ่งจำแนกตามประเภทผลิตภัณฑ์เป็น 6 ประเภท คือ ผลิตภัณฑ์แปรรูปผักและผลไม้ ผลิตภัณฑ์แปรรูปเนื้อสัตว์ ผลิตภัณฑ์แปรรูปข้าวและธัญพืช ผลิตภัณฑ์อาหารสัตว์ ผลิตภัณฑ์เครื่องปรุงรสและผลิตภัณฑ์อาหารอื่น ๆ และเครื่องดื่มจากผลิตภัณฑ์เกษตร ส่วนใหญ่ตั้งอยู่ในอำเภอบ้านโป่ง อำเภอโพธารามและอำเภอเมือง ซึ่งเป็นทำเลที่ตั้งใกล้กับแหล่งวัตถุดิบทำให้มีความได้เปรียบในด้านค่าใช้จ่ายในการขนส่งและการรักษาคุณภาพของวัตถุดิบ

ณ เดือนมิถุนายน ปี พ.ศ.2547 มีการลูกจ้างทั้งสิ้น 12,948 คน อัตราการเข้างานเฉลี่ยในช่วง 3 ปี (ปี พ.ศ.2545-2547) ร้อยละ 12.98 อัตราการออกงานเฉลี่ยร้อยละ 12.66 ลูกจ้างที่ได้รับค่าจ้างเป็นรายวันมีจำนวนมากที่สุดถึงร้อยละ 73.09 ของจำนวนลูกจ้างทั้งหมด โดยส่วนใหญ่ได้รับค่าจ้างวันละ 138-150 บาท รองลงมาได้รับค่าจ้างเป็นรายเดือนอัตรา 4,001-6,000 บาท และค่าจ้างตามผลงานประมาณเดือนละ 8,000 บาท ลูกจ้างที่มีการศึกษาประถมศึกษา(ปีที่ 1-6) มีมากที่สุดร้อยละ 39.27 รองลงมาเป็นผู้มีการศึกษาระดับมัธยมศึกษา และระดับต่ำกว่าประถมศึกษา

มีสถานประกอบการจำนวน 21 แห่ง แจ้งความต้องการจ้างแรงงานเพิ่มใน 3 เดือนข้างหน้า จำนวนแรงงานที่ต้องการทั้งสิ้น 2,042 คน เป็นเพศชาย 357 คน เพศหญิง 1,027 คนและไม่ระบุเพศ 658 คน เพื่อทำงานตำแหน่งงานพนักงานฝ่ายผลิต และเสมียนเจ้าหน้าที่ โดยส่วนใหญ่ต้องการแรงงานระดับประถมศึกษา และต่ำกว่าประถมศึกษา 6 ที่มีอายุระหว่าง 18– 25 ปี

สถานประกอบการที่ระบุว่าไม่ต้องการแรงงานเพิ่มมีจำนวนร้อยละ 62.07 ของจำนวนสถานประกอบการทั้งหมดที่ตอบแบบสอบถาม โดยในภาพรวมมีสาเหตุคือไม่มีการขยายการผลิตมากที่สุด ร้อยละ 50.0 มีการพัฒนาเครื่องมือเครื่องจักรให้ทันสมัยเพื่อใช้แทนแรงงานคนร้อยละ 36.11 จัดอบรมเพิ่มทักษะฝีมือให้คนงานเก่าให้สามารถทำงานให้มีประสิทธิภาพมากขึ้นร้อยละ 25 อยู่นอกฤดูกาลเกษตรซึ่งต้องใช้ผลผลิตทางการเกษตรมาเป็นวัตถุดิบร้อยละ 8.33 จะเลิกกิจการ/หยุดกิจการชั่วคราวร้อยละ 8.33 ทั้งนี้ระบุว่ามีความต้องการแรงงานต่างด้าวจำนวน 13 แห่ง

ผลการประมาณ ความต้องการแรงงาน ในช่วงเวลาต่าง ๆ โดยใช้สมการสำเร็จรูป พบว่า ในช่วง 3 เดือนข้างหน้า มีความต้องการแรงงานสิ้น 12,912 คน ในช่วง 6 เดือนข้างหน้ามีความต้องการแรงงาน 12,385 คน ในช่วง 9 เดือนข้างหน้ามีความต้องการแรงงาน 12,727 คน และในช่วง 12 เดือนข้างหน้ามีความต้องการแรงงาน 12,817 คน

การคาดประมาณความต้องการแรงงานโดยอาศัยทฤษฎีอุปสงค์แรงงาน ฟังก์ชั่นอุปสงค์แรงงานสามารถอธิบายได้โดยการพิจารณาจากตัวสะท้อนความต้องการแรงงานหรือตัวแปรตาม และตัวชี้นำความต้องการแรงงานหรือตัวแปรอิสระ ในกรณีที่รัฐบาลจะปรับขึ้นอัตราค่าจ้างขั้นต่ำในเดือนมกราคม ปี พ.ศ. 2548 โดยจังหวัดราชบุรีได้ปรับขึ้นจากวันละ 138 บาท เป็นวันละ 141 บาท และจังหวัดราชบุรีตั้งเป้าหมายให้มูลค่าผลิตภัณฑ์มวลรวมจังหวัดของจังหวัดราชบุรี (GPP) เพิ่มขึ้นร้อยละ 6 และคาดว่าการส่งออกสินค้าทั้งหมดของประเทศมีการขยายตัวประมาณร้อยละ 16.5 จากปีนี้ สามารถนำมาการคาดประมาณการแนวโน้มความต้องการแรงงาน ปี พ.ศ. 2548 ได้ว่าใน ปี พ.ศ. 2548 จะมีความต้องการแรงงานในอุตสาหกรรมอาหารของจังหวัดราชบุรี จำนวนประมาณ 15,000 คน และผลจากการคาดประมาณการออกจากงานสามารถอธิบายการขาดแคลนแรงงานได้ว่า ในไตรมาสที่ 1-2 ปี พ.ศ. 2547 นายจ้างอุตสาหกรรมอาหารขาดแคลนแรงงานจำนวนมาก แต่ปัญหานี้จะลดลงในช่วงปลายปีเมื่อปริมาณการออกงานลดลง ซึ่งอาจเป็นไปได้ว่านายจ้างเร่งการผลิตในช่วงสุดท้ายของปี จึงเพิ่มแรงจูงใจในการทำงาน อาทิเช่น ค่าล่วงเวลา เงินโบนัส แต่ในช่วงต้นปีแรงงานมักแสวงหางานใหม่ ปัญหาที่สถานประกอบการอุตสาหกรรมอาหารพบมากที่สุด คือปัญหาการขาดแคลนแรงงาน และแรงงานขาดวินัย รองลงมาได้แก่ ปัญหาขาดวัตถุดิบ แรงงานขาดความรู้ ขาดทักษะฝีมือ และปัญหาการตลาด ปัญหาเครื่องจักรคุณภาพต่ำ ส่วนปัญหาการขาดเงินทุน มีน้อยที่สุด โดยภาพรวมทุกปัญหาอยู่ในระดับมีปัญหาน้อย (ค่าเฉลี่ย 2.12 S.D = 1.0553) และประเภทผลิตภัณฑ์ที่ต่างกันมีระดับปัญหาโดยรวมไม่ต่างกัน

และจากการสัมภาษณ์ผู้บริหารของจังหวัดทั้งภาครัฐและภาคเอกชนมีความเห็นสอดคล้องกันว่าอุตสาหกรรมอาหารมีความสำคัญอย่างยิ่งต่อเศรษฐกิจของจังหวัดราชบุรี เนื่องจากมีความเกี่ยวข้องสนับสนุนภาคอุตสาหกรรมอื่น ๆ ทั้งยังเป็นแหล่งสร้างรายได้หลักแก่คนในชนบท ก่อให้เกิดการจ้างงานทั้งในภาคเกษตรและภาคอุตสาหกรรมต่อเนื่องมากมาย แม้ว่าในอนาคตอาจพัฒนาเทคโนโลยีหรือเครื่องจักรที่ทันสมัยเพื่อเพิ่มผลผลิตแต่จะไม่มีผลกระทบกับความต้องการแรงงานในขั้นตอนการผลิตที่จำเป็นต้องใช้แรงงานคน สรุปปัญหาในอุตสาหกรรมนี้คือ ปัญหาด้านขาดแคลนแรงงานและปัญหาคุณภาพของแรงงาน ปัญหาด้านสิ่งแวดล้อมที่ส่งผลกระทบกับประชาชนผู้ที่อาศัยใกล้เคียงกับโรงงาน และปัญหาคุณภาพมาตรฐานและความปลอดภัยของสินค้าต่อผู้บริโภค ซึ่งที่ผ่านมาทุกฝ่ายได้กำหนดแนวทางแก้ไขปัญหาโดยการบูรณาการกิจกรรมร่วมกัน

ข้อเสนอแนะจากการศึกษาครั้งนี้คือ จังหวัดราชบุรีควรดูแลให้มีการปฏิบัติอย่างจริงจังในการพัฒนาด้านคมนาคม ความปลอดภัย แหล่งน้ำ สาธารณูปโภค ทบทวนแก้ไขมาตรการ/ระเบียบของราชการที่เป็นปัญหาและอุปสรรคต่อการลงทุนหรือประกอบกิจการของภาคเอกชนเพื่อให้มีผู้สนใจลงทุนเพิ่มขึ้น ภาครัฐควรเพิ่มการสนับสนุนด้านการขยายตลาดสำหรับผู้ประกอบอุตสาหกรรมรายย่อย โดยอาจเชื่อมโยงระหว่างผู้ผลิตกับผู้บริโภค ผู้ประกอบการรายย่อยในพื้นที่และรายใหญ่ซึ่งส่งออกสินค้าเข้าด้วยกัน เพื่อสามารถพัฒนาคุณภาพสินค้าให้ตอบสนองผู้บริโภคทุกระดับ ดูแลช่วยเหลือให้ภาคเกษตรกรรมผลิตวัตถุดิบอาหารที่ปลอดภัย ส่งเสริมให้สถานประกอบการมีการพัฒนาเทคโนโลยี การพัฒนาแรงงานให้มีความรู้และทักษะในการเพิ่มผลผลิต เพื่อให้ได้รับค่าตอบแทนการทำงานที่สูงขึ้น อันจะส่งผลต่อคุณภาพชีวิตที่ดีของแรงงาน ข้อเสนอที่สำคัญคือ “ข้อมูล” ซึ่งเป็นปัจจัยที่สำคัญที่ทำให้การพัฒนาจังหวัดสัมฤทธิ์ผล ควรมีการจัดการข้อมูลระดับจังหวัดเพื่อให้ข้อมูลที่เป็นตัวชี้วัดทางเศรษฐกิจสังคมมีความครบถ้วน ถูกต้อง และต่อเนื่อง

ผู้ประกอบการอุตสาหกรรมควรต้องศึกษาหามาตรการเพื่อลดต้นทุนการผลิต เช่น การประหยัดพลังงานไฟฟ้า และดัดแปลงวัตถุดิบเหลือใช้ เพื่อลดการนำเข้าและรักษาสิ่งแวดล้อม ให้ความสนใจความต้องการในการปฏิบัติงานของแรงงานอยู่เสมอเพื่อปรับปรุงสภาพการทำงานให้สอดคล้องกับความต้องการของแรงงาน ทั้งนี้ เพื่อลดอัตราการเข้าออกของแรงงานซึ่งจะช่วยลดภาระค่าใช้จ่ายในการสรรหาพนักงานและค่าใช้จ่ายในการฝึกอบรมแรงงานใหม่

ข้อเสนอแนะสำหรับการศึกษาวิจัยต่อไป ได้แก่ ควรทำการศึกษาให้ครอบคลุมอุตสาหกรรมอาหารทั้งหมดในจังหวัดราชบุรีและอย่างต่อเนื่อง นอกจากนี้ควรศึกษาปัจจัยที่กำหนดการเข้าร่วมตลาดแรงงานในอุตสาหกรรมอาหารหรืออุตสาหกรรมอื่น ๆ ที่สำคัญ เพื่อจะได้ทราบว่ามีปัจจัยใดบ้างที่มีผลต่อการกำหนดการเข้าร่วมแรงงานของกลุ่มกำลังแรงงาน และเพราะเหตุใดจึงมีการเคลื่อนย้ายแรงงานเข้าสู่ธุรกิจ ซึ่งจะเป็นประโยชน์ต่อผู้ประกอบการในการวางแผนด้านการจ้างงานต่อไป เพราะแรงงานเป็นปัจจัยการผลิตที่สำคัญที่สุดประการหนึ่งในการประกอบธุรกิจทุกประเภท รวมทั้งควรศึกษาผลกระทบของการใช้แรงงานต่างด้าวในอุตสาหกรรมอาหารที่มีต่อการจ้างแรงงานไทยด้วย

ความต้องการแรงงานและการขาดแคลนแรงงาน ในอุตสาหกรรมอาหารของจังหวัดราชบุรี

แผนภูมิ แสดงสภาพปัญหาของอุตสาหกรรมอาหารจังหวัดราชบุรี

ความต้องการแรงงานและการขาดแคลนแรงงาน ในอุตสาหกรรมอาหารของจังหวัดราชบุรี

ความต้องการแรงงานและการขาดแคลนแรงงาน ในอุตสาหกรรมอาหารของจังหวัดราชบุรี

By: ศิริพร (โอ๋)  https://www.lmicenter.com


อัพเดทล่าสุด