ข้อบังคับการทำงาน MUSLIMTHAIPOST

 

ข้อบังคับการทำงาน


535 ผู้ชม


ข้อบังคับการทำงาน




    

ข้อบังคับการทำงานหรือระเบียบการทำงานเป็นเสมือนสัญญาหลัก  ซึ่งเป็นแนวระเบียบปฏิบัติที่นายจ้างเป็นผู้กำหนดให้ลูกจ้างใช้ยึดถือเป็นมาตรฐานในการปฏิบัติงานเพื่อให้เกิดแรงงานสัมพันธ์ที่ดีภายในองค์กร  โดยไม่ขัดต่อกฎหมาย และอย่างน้อยจะต้องมีรายละเอียดครบถ้วนตาม พ.ร.บ.คุ้มครองแรงงงานปี พ.ศ.2541 ม.108  ได้แก่

1. วันทำงาน  เวลาทำงานปกติ และเวลาพัก

2. วันหยุด และหลักเกณฑ์การลาหยุด

3. หลักเกณฑ์การทำงานล่วงเวลา  และการทำงานในวันหยุด

4. วันและสถานที่จ่ายค่าจ้าง  ค่าล่วงเวลา  ค่าทำงานในวันหยุด และค่าล่วงเวลาในวันหยุด

5. วันลา และหลักเกณฑ์การลา

6. วินัย และโทษทางวินัย

7. การร้องทุกข์

8. การเลิกจ้าง  ค่าชดเชย และค่าชดเชยพิเศษ  

เมื่อใดที่จะต้องจัดทำข้อบังคับการทำงาน

เมื่อมีลูกจ้างตั้งแต่  10  คนขึ้นไป  แม้ต่อมาจะมีลูกจ้างลดน้อยลงกว่า 10 คน  นายจ้างก็ยังคงมีหน้าที่ปฏิบัติเช่นเดียวกับเมื่อมีลูกจ้างตั้งแต่ 10 คนขึ้นไป

แนวทางปฏิบัติสำหรับนายจ้าง

  • ต้องจัดทำข้อบังคับการทำงานและประกาศใช้ภายใน 15 วันนับแต่วันที่นายจ้างมีลูกจ้างรวมกันตั้งแต่  10 คนขึ้นไป
  • ข้อบังคับการทำงานนั้นจะต้องจัดทำเป็นภาษาไทย  หากจัดทำเป็นภาษาอื่น จะต้องมีฉบับแปลเป็นภาษาไทย  และเก็บไว้ที่สถานประกอบการของนายจ้าง  พร้อมที่จะให้พนักงานตรวจแรงงาน   ตรวจได้ในเวลาทำการ
  • จะต้องจัดทำเป็นสำเนาอีกฉบับ และนำส่งให้แก่อธิบดีหรือผู้ซึ่งอธิบดีมอบหมายภายใน 7 วันนับจากวันที่ประกาศใช้ข้อบังคับดังกล่าว
  • จะต้องปิดประกาศ  เผยแพร่ข้อบังคับการทำงานไว้ในที่เปิดเผย ณ สถานที่ทำงานของลูกจ้างเพื่อให้ลูกจ้างได้ทราบและดูได้สะดวก

กรณีนายจ้างต้องการแก้ไขข้อบังคับการทำงาน

โดยหลักแล้ว ข้อบังคับการทำงาน ถือเป็นข้อตกลงสภาพการจ้าง  เมื่อนายจ้างประกาศใช้ไปแล้ว นายจ้างจะเปลี่ยนแปลงแก้ไขฝ่ายเดียวไม่ได้  ยกเว้นการแก้ไขนั้นเป็นคุณแก่ลูกจ้างมากกว่าเดิมเท่านั้น

กรณีข้อบังคับการทำงานนายจ้างได้ระบุสงวนสิทธิให้สามารถแก้ไขข้อบังคับการทำงานได้แต่ฝ่ายเดียวนั้น  แม้ว่าจะระบุไว้ในข้อบังคับตั้งแต่ต้น   แต่หากว่าการแก้ไขนั้นไม่เป็นคุณยิ่งกว่า  และลูกจ้างไม่ได้ตกลงยินยอมด้วย  ข้อบังคับการทำงานนั้นก็ไม่สามารถใช้บังคับได้

หากนายจ้างต้องการแก้ไขเปลี่ยนแปลง  นายจ้างจะต้องปฏิบัติตามขั้นตอนของ พ.ร.บ.แรงงานสัมพันธ์ฯและเมื่อแก้ไขเพิ่มเติมข้อบังคับการทำงานแล้ว  ให้นายจ้างประกาศข้อบังคับฯเฉพาะส่วนที่แก้ไขเพิ่มเติมภายใน 7 วันนับจากวันที่ประกาศใช้ข้อบังคับที่มีการแก้ไขเพิ่มเติม  และส่งสำเนาให้แก่อธิบดีฯหรือผู้ที่อธิบดีฯมอบหมายภายใน 7 วันนับจากวันที่ประกาศใช้ข้อบังคับฯส่วนที่แก้ไขเพิ่มเติมดังกล่าว  โดยจะต้องปิดประกาศเผยแพร่ให้ลูกจ้างได้ทราบในที่เปิดเผย ณ สถานที่ทำงานของลูกจ้าง และเก็บสำเนาไว้ที่สถานประกอบการเพื่อให้พนักงานตรวจแรงงานสามารถตรวจสอบได้ในเวลาทำการ

 

ผลของการไม่ได้จัดทำข้อบังคับฯให้ถูกต้องตามที่กฎหมายกำหนด

ถ้านายจ้างไม่ได้จัดทำข้อบังคับฯตามที่กฎหมายกำหนด   หรือหากดำเนินการจัดทำแล้ว  แต่ไม่ได้ประกาศใช้   ไม่ได้ปิดประกาศไว้ในที่เปิดเผยในสถานที่ทำงานของลูกจ้าง หรือไม่ส่งสำเนาข้อบังคับการทำงานให้แก่อธิบดีกรมสวัสดิการฯหรือผู้ที่อธิบดีฯมอบหมาย  หรือจัดส่งสำเนาข้อบังคับเกินกำหนด 7 วันนับจากวันที่ประกาศใช้   นายจ้างจะถูกระวางโทษปรับไม่เกินสองหมื่นบาท(พ.ร.บ.คุ้มครองแรงงาน ม.146)

ที่มา : สมาชิก HR


อัพเดทล่าสุด