การเลิกจ้าง เพราะ มีครรภ์ อันขัดต่อพระราชบัญญัติคุ้มครองแรงงาน พ.ศ.2541 มาตรา 43 MUSLIMTHAIPOST

 

การเลิกจ้าง เพราะ มีครรภ์ อันขัดต่อพระราชบัญญัติคุ้มครองแรงงาน พ.ศ.2541 มาตรา 43


1,025 ผู้ชม


การเลิกจ้าง เพราะ มีครรภ์ อันขัดต่อพระราชบัญญัติคุ้มครองแรงงาน พ.ศ.2541 มาตรา 43




ฎีกาตัดสินเกี่ยวกับปัญหาข้อกฎหมาย

 

คำพิพากษาฎีกาที่ 1394/2549       

บริษัทแอร์ อันดามัน จำกัด

       โจทก์

นายสุรเชษฐ วิริยะศิริกุล

       จำเลย

 

พ.ร.บ.คุ้มครองแรงงาน พ.ศ.2541 มาตรา 5, 43

ป.พ.พ. มาตรา 150

 

โจทก์ฟ้องว่า โจทก์เป็นนิติบุคคลประเภทบริษัทจำกัด ประกอบกิจการขนส่งทางอากาศ จำเลยเป็นพนักงานตรวจแรงงาน เมื่อวันที่ 7 มกราคม 2545 โจทก์ได้ว่าจ้างนางสาวสาวิตรี ชัยพนัส ทำงานเป็นลูกจ้างในตำแหน่งพนักงานต้อนรับบนเครื่องบิน ซึ่งนางสาวสาวิตรีทราบดีว่ามีลักษณะงานเป็นการเฉพาะ ต้องมีสุขภาพสมบูรณ์ บุคลิกภาพดี มีความรู้เฉพาะตัวเกี่ยวกับภาษาที่ใช้ สามารถปฏิบัติงานบนเครื่องบินขณะทำการบินได้ตามหลักเกณฑ์ที่โจทก์กำหนด และไม่ถูกจำกัดทางเวชศาสตร์การบิน จึงตกลงว่าหากนางสาวสาวิตรีไม่ปฏิบัติตามข้อตกลงในสัญญาจ้างให้ถือว่านางสาวสาวิตรีบอกเลิกสัญญาจ้าง และภายในระยะเวลา 2 ปี นับแต่วันเข้าทำงาน หากนางสาวสาวิตรีตั้งครรภ์ ให้ถือว่านางสาวสาวิตรีเป็นฝ่ายบอกเลิกสัญญาจ้าง ต่อมาวันที่ 30 ตุลาคม 2546 นางสาวสาวิตรีได้โทรศัพท์มาลางานกับหัวหน้าพนักงานต้อนรับบนเครื่องบินแจ้งว่าป่วยโดยไม่มีใบรับรองแพทย์ แล้วขาดงานไปจนกระทั่งวันที่ 9 พฤศจิกายน 2546 รวม 11 วัน หัวหน้าพนักงานต้อนรับบนเครื่องบินจึงมีหนังสือแจ้งการขาดงานของนางสาวสาวิตรีต่อฝ่ายบุคคลของโจทก์ เจ้าหน้าที่ฝ่ายบุคคลจึงติดต่อนางสาวสาวิตรีให้เข้าพบ วันที่ 11 พฤศจิกายน 2546 นางสาวสาวิตรีได้แจ้งให้เจ้าหน้าที่ฝ่ายบุคคลของโจทก์ทราบว่าตั้งครรภ์พร้อมกับยื่นใบรับรองแพทย์ซึ่งยืนยันว่านางสาวสาวิตรีตั้งครรภ์ประมาณ 10 สัปดาห์ เจ้าหน้าที่ฝ่ายบุคคลจึงแจ้งให้นางสาวสาวิตรีทราบถึงข้อตกลงที่ให้ถือว่านางสาวสาวิตรีเป็นฝ่ายบอกเลิกสัญญาจ้างและนำเรื่องเสนอต่อผู้มีอำนาจของโจทก์ พร้อมทั้งนำข้อตกลงไปปรึกษากับนักกฎหมาย เรื่องดังกล่าวกำลังอยู่ในระหว่างการพิจารณา แต่นางสาวสาวิตรีไม่มาทำงานให้โจทก์และไปร้องต่อจำเลยว่าโจทก์เลิกจ้าง ทั้ง ๆ ที่นางสาวสาวิตรีเป็นฝ่ายบอกเลิกสัญญาจ้างและละทิ้งหน้าที่เป็นเวลา 3 วันทำงานติดต่อกันโดยไม่มีเหตุอันสมควร ไม่ได้เป็นกรณีที่โจทก์เลิกจ้าง โจทก์จึงไม่ต้องจ่ายค่าชดเชย แต่จำเลยกลับมีคำสั่งที่ 5/2547 ลงวันที่ 5 กุมภาพันธ์ 2547 ให้โจทก์จ่ายค่าชดเชยเท่ากับค่าจ้างอัตราสุดท้าย 90 วัน เป็นเงิน 60,561 บาท ให้แก่นางสาวสาวิตรีโดยนำค่าชั่วโมงบินนับแต่เดือนสิงหาคมถึงเดือนตุลาคม 2546 เฉลี่ยเดือนละ 12,187 บาท ซึ่งเป็นเงินที่โจทก์จ่ายค่าตอบแทนเป็นกรณีพิเศษให้แก่นางสาวสาวิตรีเมื่อได้ปฏิบัติงานบนเครื่อง ไม่ใช่ค่าจ้าง มาคำนวณค่าชดเชยด้วย อันเป็นการไม่ถูกต้อง ขอให้เพิกถอนคำสั่งของจำเลยที่ 5/2547 ลงวันที่ 5 กุมภาพันธ์ 2547 ในส่วนที่สั่งให้โจทก์จ่ายค่าชดเชยจำนวน 60,561 บาท ให้แก่นางสาวสาวิตรี ชัยพนัส

          จำเลยให้การว่า ข้อตกลงเรื่องการตั้งครรภ์ระหว่างโจทก์กับนางสาวสาวิตรี ชัยพนัส กำหนดไว้ด้วยว่า หากนางสาวสาวิตรีตั้งครรภ์เมื่อพ้นกำหนดระยะเวลา 2 ปี นับแต่วันเข้าทำงานให้แจ้งให้โจทก์ทราบ โจทก์จะเปลี่ยนงานให้ตามความเหมาะสมโดยได้รับค่าจ้างหรือให้ลาหยุดโดยไม่ได้รับค่าจ้างจนกว่าจะคลอด นางสาวสาวิตรีได้เข้ารับการตรวจจากแพทย์พบว่าตั้งครรภ์และประสบภาวะแท้งคุกคาม แพทย์ให้พักรักษาตัวเป็นเวลา 2 สัปดาห์ ตั้งแต่วันที่ 5 พฤศจิกายน 2546 เป็นต้นไป วันที่ 29 ตุลาคม 2546 นางสาวสาวิตรีได้ยื่นใบรับรองผลการตรวจครรภ์ดังกล่าวต่อฝ่ายดูแลจัดตารางการบินของโจทก์ และเข้าพบเจรจากับผู้อำนวยการฝ่ายบุคคลและธุรการของโจทก์แจ้งความประสงค์ว่าต้องการเปลี่ยนตำแหน่งงาน แต่โจทก์ไม่สามารถเปลี่ยนตำแหน่งงานให้ได้ และเมื่อตารางการบินของเดือนพฤศจิกายน 2546 ออกมาปรากฏว่าไม่มีชื่อนางสาวสาวิตรีอยู่ในแผนกการบิน นางสาวสาวิตรีจึงไม่ได้ทำงานในแผนกใดนับแต่วันที่ 10 พฤศจิกายน 2546 เป็นต้นมา วันที่ 11 พฤศจิกายน 2546 นางสาวสาวิตรีและโจทก์ได้เจรจากัน โดยโจทก์ทราบแล้วว่านางสาวสาวิตรีตั้งครรภ์ภายในระยะเวลา 2 ปี นับแต่วันเข้าทำงาน ซึ่งเป็นการผิดสัญญาจ้าง อันเป็นเหตุให้โจทก์บอกเลิกสัญญาได้ แต่เพื่อเป็นการช่วยเหลือนางสาวสาวิตรี โจทก์ได้เสนอให้นางสาวสาวิตรีเขียนใบลาออกโดยให้มีผลในอีก 1 เดือนข้างหน้าหรือวันที่ 11 ธันวาคม 2546 โดยโจทก์จะจ่ายค่าจ้างให้ตามปกติและนางสาวสาวิตรีไม่ต้องไปทำงาน แต่นางสาวสาวิตรีไม่ตกลงและหาข้อยุติไม่ได้ เมื่อถึงกำหนดจ่ายค่าจ้างของเดือนพฤศจิกายน 2546 โจทก์ได้จ่ายค่าจ้างระหว่างวันที่ 1 ถึงวันที่ 10 พฤศจิกายน 2546 ให้แก่นางสาวสาวิตรี จึงเป็นการเลิกจ้างนางสาวสาวิตรีเนื่องจากนางสาวสาวิตรีผิดสัญญาจ้างตั้งครรภ์ภายในระยะเวลา 2 ปี นับแต่วันเข้าทำงาน ซึ่งไม่เข้าข้อยกเว้นไม่ต้องจ่ายค่าชดเชยตามพระราชบัญญัติคุ้มครองแรงงาน พ.ศ.2541 มาตรา 119 โจทก์จึงต้องจ่ายค่าชดเชยให้แก่นางสาวสาวิตรี นางสาวสาวิตรีทำงานตั้งแต่วันที่ 7 มกราคม 2545 ติดต่อกันจนถึงวันที่ 10 พฤศจิกายน 2546 รวม 1 ปี 10 เดือน ได้รับเงินเดือนสุดท้ายเดือนละ 8,000 บาท กับค่าชั่วโมงบินเพื่อปฏิบัติงานบนเครื่องบินในแต่ละเดือน ซึ่งโจทก์จ่ายให้ตามระยะทางของเส้นทางการบินประกอบจำนวนชั่วโมงบินในแต่ละเที่ยวบิน อันเป็นการจ่ายเพื่อตอบแทนการทำงานของนางสาวสาวิตรีซึ่งเป็นค่าจ้าง ในเดือนสิงหาคมถึงเดือนตุลาคม 2546 นางสาวสาวิตรีได้รับค่าชั่วโมงบินจำนวน 10,564 บาท 9,979 บาท และ 16,019 บาท ตามลำดับ รวมเป็นเงิน 36,562 บาท คำสั่งของจำเลยที่สั่งให้โจทก์จ่ายค่าชดเชยให้นางสาวสาวิตรีจำนวน 60,561 บาท จึงชอบแล้ว ขอให้ยกฟ้อง

          ศาลแรงงานกลางฟังข้อเท็จจริงว่า นางสาวสาวิตรี ชัยพนัส เป็นลูกจ้างโจทก์ เข้าทำงานเมื่อวันที่ 7 มกราคม 2545 ในตำแหน่งพนักงานต้อนรับบนเครื่องบิน ตามสัญญาจ้างพนักงานต้อนรับบนเครื่องบินเอกสารหมาย จล. 1 หมายเลข 6 จนถึงวันที่ 10 พฤศจิกายน 2546 ได้รับเงินเดือนเดือนละ 8,000 บาท กับชั่วโมงบินเมื่อมีการปฏิบัติงานบนเครื่องบินในแต่ละเดือนอีกจำนวนหนึ่ง ช่วงเดือนสิงหาคมถึงเดือนตุลาคม 2546 นางสาวสาวิตรีได้รับค่าชั่วโมงบินเป็นเงินเดือนละ 10,564 บาท 9,979 บาท และ 16,019 บาท ตามลำดับ และศาลแรงงานกลางวินิจฉัยว่าข้อกำหนดในสัญญาจ้างพนักงานต้อนรับบนเครื่องบินเอกสารหมาย จล. 1 หมายเลข 6 ข้อ 6.1 ที่กำหนดว่า ภายในระยะเวลา 2 ปี นับแต่วันเริ่มสัญญา หากพนักงานตั้งครรภ์ให้ถือว่าพนักงานได้บอกเลิกสัญญา เป็นข้อกำหนดที่ให้มีผลเป็นการเลิกจ้างในกรณีที่พนักงานเกิดการตั้งครรภ์ ขัดต่อพระราชบัญญัติคุ้มครองแรงงาน พ.ศ.2541 มาตรา 43 ซึ่งบัญญัติว่า ห้ามมิให้นายจ้างเลิกจ้างลูกจ้างซึ่งเป็นหญิงเพราะเหตุมีครรภ์ อันเป็นกฎหมายเกี่ยวกับความสงบเรียบร้อยของประชาชน ตกเป็นโมฆะไม่อาจใช้บังคับแก่นางสาวสาวิตรีได้ ที่โจทก์อ้างในคำฟ้องว่า โจทก์ไม่ได้เลิกจ้างนางสาวสาวิตรี นางสาวสาวิตรีไม่มาทำงานให้โจทก์เพราะนางสาวสาวิตรีเป็นฝ่ายบอกเลิกสัญญาพร้อมกับไม่มาทำงานถือว่าเป็นการละทิ้งหน้าที่เป็นเวลา 3 วันทำงานติดต่อกันโดยไม่มีเหตุอันสมควรนั้น โจทก์ไม่ได้ให้การและแสดงพยานหลักฐานให้เห็นเช่นนั้นไว้ในชั้นสอบสวนของพนักงานตรวจแรงงาน เพิ่งกล่าวอ้างในคำฟ้อง เป็นการยกข้อเท็จจริงขึ้นมาใหม่ไม่อาจรับฟังให้ขัดกับข้อเท็จจริงที่โจทก์ให้การไว้ในชั้นสอบสวนของพนักงานตรวจแรงงานได้ ชั้นสอบสวนของพนักงานตรวจแรงงาน นางวิไลวรรณ ศรีษเกตุ ผู้อำนวยการฝ่ายบุคคลของโจทก์ในฐานะตัวแทนฝ่ายโจทก์ให้การไว้ตามเอกสารหมาย จล. 1 หมายเลข 3 ว่า โจทก์ได้เลิกจ้างนางสาวสาวิตรีเพราะเหตุนางสาวสาวิตรีตั้งครรภ์ จึงต้องรับฟังว่าโจทก์เลิกจ้างนางสาวสาวิตรี เมื่อไม่ปรากฏว่าการเลิกจ้างของโจทก์ต้องด้วยข้อยกเว้นไม่ต้องจ่ายค่าชดเชยตามพระราชบัญญัติคุ้มครองแรงงาน พ.ศ.2541 มาตรา 119 โจทก์จึงต้องจ่ายค่าชดเชยให้แก่นางสาวสาวิตรี ปรากฏตามคำฟ้องของโจทก์ว่า การปฏิบัติงานบนเครื่องบินก็เป็นการทำงานในเวลาทำงานปกติของนางสาวสาวิตรีและโจทก์จ่ายค่าชั่วโมงบินให้แก่นางสาวสาวิตรีเมื่อมีการปฏิบัติงานบนเครื่องบิน ค่าชั่วโมงบินจึงเป็นเงินที่โจทก์จ่ายเป็นค่าตอบแทนการทำงานแก่นางสาวสาวิตรี จึงเป็นค่าจ้าง การที่จำเลยนำเงินค่าชั่วโมงบินที่นางสาวสาวิตรีได้รับ 90 วันสุดท้ายก่อนที่มีการเลิกจ้างมาคำนวณรวมเป็นค่าชดเชยให้โจทก์จ่ายให้แก่นางสาวสาวิตรีจึงถูกต้องแล้ว คำสั่งพนักงานตรวจแรงงานของจำเลยที่ 5/2547 ในส่วนที่สั่งให้โจทก์จ่ายค่าชดเชยให้แก่นางสาวสาวิตรีจำนวน 60,561 บาท จึงชอบแล้ว ไม่มีเหตุที่จะเพิกถอน พิพากษายกฟ้อง

          โจทก์อุทธรณ์ต่อศาลฎีกา

          ศาลฎีกาแผนกคดีแรงงานวินิจฉัยว่า “มีปัญหาต้องวินิจฉัยตามอุทธรณ์ของโจทก์ประการแรกว่า ข้อตกลงระหว่างโจทก์และนางสาวสาวิตรี ชัยพนัส ตามสัญญาจ้างพนักงานต้อนรับบนเครื่องบินเอกสารหมาย จล. 1 หมายเลข 6 ข้อ 6.1 ที่ว่า ภายในระยะเวลา 2 ปี นับแต่วันเริ่มสัญญา หากพนักงาน (ซึ่งหมายถึงนางสาวสาวิตรีลูกจ้าง) ตั้งครรภ์ให้ถือว่าพนักงานได้บอกเลิกสัญญานี้แล้ว ตกเป็นโมฆะเพราะขัดต่อกฎหมายอันเกี่ยวกับความสงบเรียบร้อยของประชาชนหรือไม่ เห็นว่า พระราชบัญญัติคุ้มครองแรงงาน พ.ศ.2541 มีวัตถุประสงค์เพื่อให้การใช้แรงงานเป็นไปอย่างเป็นธรรมและคุ้มครองลูกจ้างไม่ให้ถูกเอาเปรียบเป็นกฎหมายอันเกี่ยวกับความสงบเรียบร้อยของประชาชน พระราชบัญญัติดังกล่าวมาตรา 43 บัญญัติว่า ห้ามมิให้นายจ้างเลิกจ้างลูกจ้างซึ่งเป็นหญิงเพราะเหตุมีครรภ์ ข้อตกลงระหว่างโจทก์และนางสาวสาวิตรีตามสัญญาจ้างพนักงานต้อนรับบนเครื่องบินเอกสารหมาย จล. 1 หมายเลข 6 ข้อ 6.1 ที่กำหนดว่า ภายในระยะเวลา 2 ปี นับแต่วันเริ่มสัญญา หากนางสาวสาวิตรีตั้งครรภ์ให้ถือว่านางสาวสาวิตรีได้บอกเลิกสัญญา เป็นข้อตกลงที่ต่อเนื่องเกี่ยวกันกับข้อตกลงในเรื่องสภาพการจ้างการสิ้นสุดของสัญญาและการตั้งครรภ์ตามสัญญาดังกล่าวข้อ 2. ข้อ 5.2.2 และข้อ 6 ซึ่งสรุปได้ว่า คู่สัญญาทั้งสองฝ่ายเข้าใจและยอมรับว่าการปฏิบัติงานในตำแหน่งพนักงานต้อนรับบนเครื่องบินมีลักษณะเป็นการเฉพาะ พนักงานต้อนรับบนเครื่องบินต้องมีคุณสมบัติเฉพาะตัวเกี่ยวกับภาษาที่ใช้ มีบุคลิกภาพที่ดีและสุขภาพสมบูรณ์สามารถปฏิบัติงานบนเครื่องบินขณะทำการบินได้ตามหลักเกณฑ์ที่โจทก์กำหนดและไม่ถูกจำกัดทางเวชศาสตร์การบิน ซึ่งจะต้องได้รับการศึกษาอบรม การทดสอบและการตรวจร่างกายตามระยะเวลาที่โจทก์กำหนด พนักงานต้อนรับบนเครื่องบินจำเป็นต้องมีสภาพร่างกายที่พร้อมจะเข้ารับการผึกอบรมและปฏิบัติงานเพื่อเพิ่มพูนความสามารถและประสบการณ์ในช่วงระยะเวลา 2 ปีแรกของการปฏิบัติงาน การตั้งครรภ์ของพนักงานต้อนรับบนเครื่องบินในช่วงเวลาดังกล่าวเป็นอุปสรรคต่อการปฏิบัติงานและเป็นอันตรายต่อสุขภาพ ทั้งสองฝ่ายจึงได้ตกลงเงื่อนไขเกี่ยวกับการตั้งครรภ์ตามข้อ 6.1 ขึ้นเป็นข้อหนึ่งของสัญญาจ้าง ซึ่งข้อ 5.2.2 กำหนดว่า เมื่อนางสาวสาวิตรีได้กระทำผิดสัญญาข้อหนึ่งข้อใด หรือฝ่าฝืนระเบียบข้อบังคับ คำสั่งต่าง ๆ ที่กล่าวไว้ในข้อ 2 กรณีร้ายแรง ให้สัญญาจ้างสิ้นสุดลง และข้อตกลงในข้อ 6.1 ที่กำหนดว่า ภายในระยะเวลา 2 ปี นับแต่วันเริ่มสัญญา หากนางสาวสาวิตรีตั้งครรภ์ให้ถือว่านางสาวสาวิตรีได้บอกเลิกสัญญานั้น มีข้อความต่อไปอีกด้วยว่า โดยให้สัญญาสิ้นสุดลงตั้งแต่วันที่แพทย์แผนปัจจุบันชั้นหนึ่งวินิจฉัยหรือเมื่อเห็นได้ชัดว่านางสาวสาวิตรีตั้งครรภ์ จึงเห็นได้ว่าข้อตกลงข้อ 6.1 เป็นข้อตกลงที่มีวัตถุประสงค์เพื่อให้มีผลเป็นการเลิกจ้างเพราะนางสาวสาวิตรีมีครรภ์ อันขัดต่อพระราชบัญญัติคุ้มครองแรงงาน พ.ศ.2541 มาตรา 43 ซึ่งเป็นกฎหมายเกี่ยวกับความสงบเรียบร้อยของประชาชน จึงเป็นโมฆะตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ มาตรา 150 อุทธรณ์ของโจทก์ข้อนี้ฟังไม่ขึ้น

          ปัญหาประการสุดท้ายมีว่า ค่าชั่วโมงบินเป็นค้าจ้างหรือไม่ เห็นว่า ข้อเท็จจริงปรากฏว่าการปฏิบัติงานบนเครื่องบินเป็นการทำงานในเวลาทำงานปกติของนางสาวสาวิตรี แม้ค่าชั่วโมงบินที่นางสาวสาวิตรีได้รับในแต่ละเดือนจะมีจำนวนไม่แน่นอนและไม่เท่ากัน แต่โจทก์ซึ่งเป็นนายจ้างก็จ่ายค่าชั่วโมงบินให้แก่นางสาวสาวิตรีเมื่อมีการปฏิบัติงานบนเครื่องบินในแต่ละเดือนทุกเดือน ตามอัตราที่คำนวณจากเวลาที่ได้ปฏิบัติงานบนเครื่องบิน ค่าชั่วโมงบินดังกล่าวจึงเป็นเงินที่โจทก์จ่ายให้แก่นางสาวสาวิตรีเป็นการตอบแทนในการทำงานตามสัญญาจ้างสำหรับระยะเวลาทำงานปกติเป็นรายชั่วโมงของวันทำงาน จึงเป็นค่าจ้าง ตามพระราชบัญญัติคุ้มครองแรงงาน พ.ศ.2541 มาตรา 5 ที่จำเลยนำค่าชั่วโมงบินมารวมเป็นฐานในการคำนวณค่าชดเชย จึงชอบแล้ว อุทธรณ์ของโจทก์ข้อนี้ฟังไม่ขึ้นเช่นกัน”

          พิพากษายืน.

 

         

 

 

(จรัส พวงมณี - วสันต์ สร้อยพิสุทธิ์ - พิทยา บุญชู)

 

แหล่งที่มา    เนติบัณฑิตยสภา


อัพเดทล่าสุด