กระทำอนาจาร เป็นเพียงการกระทำความผิดในทางอาญาและเป็นการกระทำโดยส่วนตัว MUSLIMTHAIPOST

 

กระทำอนาจาร เป็นเพียงการกระทำความผิดในทางอาญาและเป็นการกระทำโดยส่วนตัว


739 ผู้ชม


กระทำอนาจาร เป็นเพียงการกระทำความผิดในทางอาญาและเป็นการกระทำโดยส่วนตัว




คดีแดงที่  9021/2544

บริษัทสยามเฟธเธอร์ปรอดักส์ จำกัด โจทก์
นางสาวนุชจรี ปาจรียวงศ์ จำเลย

 

พ.ร.บ. คุ้มครองแรงงาน พ.ศ. 2541 มาตรา 118 วรรคสอง
พ.ร.บ. จัดตั้งศาลแรงงานและวิธีพิจารณาคดีแรงงาน พ.ศ. 2522 มาตรา 39, 52

จำเลยฟ้องแย้งให้โจทก์จ่ายสินจ้างแทนการบอกกล่าวล่วงหน้า ค่าชดเชย และค่าเสียหายจากการเลิกจ้างที่ ไม่เป็นธรรมอ้างว่าถูก ช. ซึ่งเป็นกรรมการผู้จัดการบริษัทโจทก์กระทำอนาจารจนจำเลยไม่อาจทนอยู่ปฏิบัติงานตามหน้าที่โดยปกติสุขได้ ถือได้ว่าโจทก์เลิกจ้างจำเลย โจทก์ให้การแก้ฟ้องแย้งว่า ที่จำเลยอ้างว่า ช. กระทำอนาจารเป็นความเท็จ โจทก์ไม่เคยกระทำการอันไม่เป็นธรรมหรือกระทำตามที่จำเลยกล่าวอ้าง จำเลยออกจากงานโดยไม่บอกกล่าวให้โจทก์ทราบ คดีจึงมีประเด็นว่า ช. กระทำอนาจารจำเลยจริงหรือไม่ และการกระทำของ ช. มีผลทำให้ถือได้ว่าโจทก์เลิกจ้างจำเลยหรือไม่ การที่ศาลแรงงานกลางวินิจฉัยว่าแม้คดีจะฟังได้ว่า ช. กระทำอนาจารจำเลยจริงก็เป็นเพียงการกระทำความผิดในทางอาญาและเป็นการกระทำโดยส่วนตัวของ ช. ไม่ใช่การกระทำในหน้าที่การงานแทนบริษัทโจทก์ ไม่เกี่ยวกับสัญญาจ้างแรงงาน เป็นการวินิจฉัยในประเด็นดังกล่าวแล้ว

การเลิกจ้างตาม พ.ร.บ. คุ้มครองแรงงาน พ.ศ. 2541 มาตรา 118 วรรคสอง หมายความว่า การกระทำใดที่นายจ้างไม่ให้ลูกจ้างทำงานต่อไปและไม่จ่ายค่าจ้างให้ ไม่ว่าจะเป็นเพราะเหตุสิ้นสุดสัญญาจ้างหรือเหตุอื่นใด ฯลฯ เมื่อ ศาลแรงงานกลางฟังข้อเท็จจริงว่า การกระทำอนาจารของ ช. เป็นเรื่องความประพฤติส่วนตัว ไม่ใช่การกระทำในหน้าที่การงานในฐานะเป็นกรรมการผู้จัดการของบริษัทโจทก์ ทั้งมิได้เป็นการกระทำเพื่อไม่ให้จำเลยทนทำงานได้อีกต่อไป จึงไม่เป็นการเลิกจ้าง

 

…………………..……………………………………………………………..

 

โจทก์ฟ้องขอให้บังคับจำเลยชำระเงินจำนวน 402,160 บาท พร้อมดอกเบี้ยร้อยละ 7.5 ต่อปี นับแต่วันฟ้อง จนกว่าจะชำระเสร็จแก่โจทก์

จำเลยให้การขอให้ยกฟ้องและฟ้องแย้งขอให้โจทก์จ่ายสินจ้างแทนการบอกกล่าวล่วงหน้า ค่าชดเชย และ ค่าเสียหายอันเกิดจากการเลิกจ้างที่ไม่เป็นธรรม รวมเป็นเงินทั้งสิ้น 184,000 บาท พร้อมดอกเบี้ยร้อยละ 15 ต่อปี นับแต่วันที่ 2 มีนาคม 2542 จนกว่าจะชำระเสร็จแก่จำเลย

โจทก์ให้การ ขอให้ยกฟ้องแย้ง ศาลแรงงานกลางพิจารณาแล้วคดีฟังได้ว่าจำเลยเป็นฝ่ายผิดสัญญาจ้างแรงงานและโจทก์มิได้บอกเลิกจ้างจำเลย จำเลยจึงไม่มีสิทธิเรียกสินจ้างแทนการบอกกล่าวล่วงหน้า ค่าชดเชย และค่าเสียหายตามฟ้องแย้ง พิพากษายกฟ้องโจทก์และยกฟ้องแย้งของจำเลย

จำเลยอุทธรณ์ต่อศาลฎีกา

ศาลฎีกาพิจารณาแล้ววินิจฉัยว่า จำเลยฟ้องแย้งให้โจทก์จ่ายสินจ้างแทนการบอกกล่าวล่วงหน้า ค่าชดเชย และค่าเสียหายจากการเลิกจ้างที่ไม่เป็นธรรม อ้างว่าถูกนายชาร์ลซึ่งเป็นกรรมการผู้จัดการบริษัทโจทก์กระทำอนาจาร จนจำเลยไม่อาจทนอยู่ปฏิบัติงานตามหน้าที่โดยปกติสุขได้ ถือได้ว่าโจทก์เลิกจ้างจำเลย โจทก์ให้การแก้ฟ้องแย้งว่า ที่จำเลยอ้างว่านายชาร์ลกระทำอนาจารจำเลยนั้นเป็นความเท็จ โจทก์ไม่เคยกระทำการอันไม่เป็นธรรมหรือกระทำ ตามที่จำเลยกล่าวอ้าง จำเลยออกจากงานโดยไม่บอกกล่าวให้โจทก์ทราบ คดีจึงมีประเด็นว่า นายชาร์ลกระทำอนาจารจริงหรือไม่ และการกระทำของนายชาร์ลมีผลทำให้ถือได้ว่าโจทก์เลิกจ้างจำเลยหรือไม่ การที่ศาลแรงงานกลางวินิจฉัยว่า แม้คดีจะฟังได้ว่านายชาร์ลกระทำอนาจารจำเลยจริงก็เป็นเพียงการกระทำความผิดในทางอาญาและเป็นการกระทำ โดยส่วนตัวของนายชาร์ล ไม่ใช่การกระทำในหน้าที่การงานแทนบริษัทโจทก์ ไม่เกี่ยวกับสัญญาจ้างแรงงาน จึงเป็นการวินิจฉัยในประเด็นดังกล่าว ไม่นอกเหนือไปจากฟ้องแย้งและคำให้การแก้ฟ้องแย้ง อุทธรณ์ของจำเลยข้อนี้ฟังไม่ขึ้น

ส่วนจำเลยอุทธรณ์ในประการที่สองว่า เมื่อข้อเท็จจริงฟังได้ว่านายชาร์ลกรรมการผู้จัดการบริษัทโจทก์กระทำอนาจารจำเลยจนจำเลยไม่อาจทนทำงานกับโจทก์ได้อีกต่อไป ถือได้ว่าโจทก์เลิกจ้างจำเลยแล้วนั้น เห็นว่า พ.ร.บ. คุ้มครองแรงงาน พ.ศ. 2541 มาตรา 118 วรรคสอง บัญญัติว่า การเลิกจ้างตามมาตรานี้ หมายความว่า การกระทำใด ๆ ที่นายจ้างไม่ให้ลูกจ้างทำงานต่อไปและไม่จ่ายค่าจ้างให้ ไม่ว่าจะเป็นเพราะเหตุสิ้นสุดสัญญาจ้างหรือเหตุอื่นใด ฯลฯ เมื่อศาลแรงงานกลางฟังข้อเท็จจริงว่า การกระทำอนาจารของนายชาร์ลเป็นเรื่องความประพฤติส่วนตัว ไม่ใช่การกระทำ ในหน้าที่การงานในฐานะเป็นกรรมการผู้จัดการของบริษัทโจทก์ ทั้งมิได้เป็นการกระทำเพื่อไม่ให้จำเลยทนทำงาน ได้อีกต่อไปจึงไม่เป็นการเลิกจ้าง อุทธรณ์ของจำเลยข้อนี้ฟังไม่ขึ้นเช่นเดียวกัน จำเลยย่อมไม่มีสิทธิได้รับสินจ้าง แทนการบอกกล่าวล่วงหน้า ค่าชดเชย และค่าเสียหายจากการเลิกจ้างที่ไม่เป็นธรรม ไม่จำต้องวินิจฉัยอุทธรณ์ข้ออื่นเพราะไม่ทำให้ผลของคดีเปลี่ยนแปลง

พิพากษายืน.

 

(จรัส พวงมณี - กมล เพียรพิทักษ์ - หัสดี ไกรทองสุก )

 

ศาลแรงงานกลาง - นางณณัฏฐ์ ธีราทรง

ศาลอุทธรณ์ -


อัพเดทล่าสุด