พนักงานรักษาความปลอดภัย หน้าที่ประการหนึ่งคือการระมัดระวังมิให้สินค้าของจำเลยสูญหาย MUSLIMTHAIPOST

 

พนักงานรักษาความปลอดภัย หน้าที่ประการหนึ่งคือการระมัดระวังมิให้สินค้าของจำเลยสูญหาย


584 ผู้ชม


พนักงานรักษาความปลอดภัย หน้าที่ประการหนึ่งคือการระมัดระวังมิให้สินค้าของจำเลยสูญหาย




คดีแดงที่  8362-8365/2543

นางสาวศรัญญา ปวงสุข กับพวก โจทก์
บริษัทเซ็นคาร์ จำกัด จำเลย

 

ป.พ.พ. มาตรา 583
พ.ร.บ. คุ้มครองแรงงาน พ.ศ. 2541 มาตรา 119

โจทก์ที่ 1 ถึงที่ 3 เป็นพนักงานบริษัทจำเลย นำใบเสร็จรับเงินที่ไม่ตรงกับเงื่อนไขไปแลกของแถมจาก ว. เจ้าหน้าที่ประชาสัมพันธ์ของจำเลย และนำของแถมที่ได้ไปมอบให้แก่โจทก์ที่ 4 การกระทำของโจทก์ทั้งสี่เพียงมุ่งประสงค์จะได้ของแถมอันเป็นสิ่งของใช้ในการประกอบการส่งเสริมการขายของบริษัทผู้ผลิตและจำหน่ายสินค้าเท่านั้น แม้การกระทำของโจทก์จะรับฟังได้ว่าเป็นการกระทำที่อาจนำความเสื่อมเสียมาสู่จำเลยอันเป็นการฝ่าฝืนต่อระเบียบข้อบังคับการทำงานของจำเลย แต่ก็มิได้กระทำโดยมีเจตนาหรือมุ่งประสงค์ที่จะก่อให้เกิดความเสียหายแก่จำเลยโดยตรง ประกอบกับโจทก์ทั้งสี่มิได้มีหน้าที่ในการรับแลกของแถม ซึ่งหาก ว. ปฏิบัติงานตามหน้าที่ โจทก์ทั้งสี่ก็ไม่สามารถที่จะแลกเอาของแถมไปได้ ของแถมที่ได้ไปก็เพียงจำนวนเล็กน้อย จึงถือไม่ได้ว่าโจทก์ทั้งสี่ฝ่าฝืนระเบียบข้อบังคับเกี่ยวกับการทำงานของจำเลยในกรณีร้ายแรง จำเลยไม่อาจอ้างสาเหตุการกระทำของโจทก์ทั้งสี่ดังกล่าวมาเป็นเหตุเลิกจ้างโดยไม่จ่ายค่าชดเชยให้แก่โจทก์ทั้งสี่ได้

โจทก์ทั้งสี่เป็นพนักงานรักษาความปลอดภัย หน้าที่ประการหนึ่งคือการระมัดระวังมิให้สินค้าของจำเลยสูญหาย การที่โจทก์ที่ 1 ถึงโจทก์ที่ 3 ร่วมรู้เห็นกับ ว. เอาของแถมจากการซื้อสินค้าไปโดยไม่ถูกต้องตามเงื่อนไขและโจทก์ที่ 4 รับเอาของแถมดังกล่าวไว้โดยรู้อยู่แล้วว่าเป็นของที่ได้มาโดยไม่ชอบ ย่อมเป็นสาเหตุที่ทำให้สินค้าของจำเลย (ของแถม) ลดจำนวนลง ถือได้ว่าโจทก์ทั้งสี่ไม่ปฏิบัติหน้าที่ของตนให้ลุล่วงไปโดยถูกต้องและสุจริต จำเลยจึงมีสิทธิเลิกจ้างโจทก์ทั้งสี่ได้โดยไม่ต้องบอกกล่าวล่วงหน้าตาม ป.พ.พ. มาตรา 583

 

…………………..……………………………………………………………..

 

คดีทั้งสี่สำนวนนี้ศาลแรงงานกลางมีคำสั่งให้รวมพิจารณาเข้าด้วยกัน โดยให้เรียกโจทก์ว่าโจทก์ที่ 1 ถึงโจทก์ที่ 4 ตามลำดับ

โจทก์ทั้งสี่สำนวนฟ้องขอให้บังคับจำเลยจ่ายสินจ้างแทนการบอกกล่าวล่วงหน้าพร้อมด้วยดอกเบี้ยอัตราร้อยละ 7.5 ต่อปี นับแต่วันฟ้องกับจ่ายค่าชดเชยพร้อมด้วยดอกเบี้ยอัตราร้อยละ 15 ต่อปี นับแต่วันเลิกจ้างจนกว่าจะชำระเสร็จแก่โจทก์ที่ 1 ถึงโจทก์ที่ 4

จำเลยทั้งสี่สำนวนให้การขอให้ยกฟ้อง

ศาลแรงงานกลางวินิจฉัยว่า โจทก์ทั้งสี่เป็นลูกจ้างจำเลยทำหน้าที่พนักงานรักษาความปลอดภัยกำหนดจ่ายสินจ้างทุกวันสิ้นเดือน จำเลยมีหนังสือเลิกจ้างโจทก์ทั้งสี่เมื่อวันที่ 8 พฤษภาคม 2543… ด้วยเหตุที่มิใช่กรณีร้ายแรงโดยมิได้บอกกล่าวล่วงหน้าตามกฎหมาย จึงต้องจ่ายสินจ้างแทนการบอกกล่าวล่วงหน้าและค่าชดเชยให้แก่โจทก์ทั้งสี่ พิพากษาให้จำเลยชำระสินจ้างแทนการบอกกล่าวล่วงหน้า พร้อมด้วยดอกเบี้ยร้อยละ 7.5 ต่อปี นับตั้งแต่วันฟ้อง กับชำระค่าชดเชยพร้อมดอกเบี้ยอัตราร้อยละ 15 ต่อปี นับตั้งแต่วันที่ 8 พฤษภาคม 2543 จนกว่าจะชำระเสร็จแก่โจทก์ที่ 1 ถึงโจทก์ที่ 4

จำเลยทั้งสี่สำนวนอุทธรณ์ต่อศาลฎีกา

ศาลฎีกาแผนกคดีแรงงานวินิจฉัยว่า คดีมีปัญหาต้องวินิจฉัยตามอุทธรณ์ของจำเลยว่า จำเลยต้องจ่ายค่าชดเชยให้โจทก์ทั้งสี่หรือไม่ เห็นว่า การที่โจทก์ที่ 1 ถึงโจทก์ที่ 3 นำใบเสร็จรับเงินการซื้อสินค้าประเภทอื่นซึ่งไม่มีสิทธินำไปแลกของแถมไปแลกของแถมจากการซื้อสินค้าพอนด์จากนางสาววารีเจ้าหน้าที่ประชาสัมพันธ์ของจำเลยและนางสาววารีรู้เห็นยินยอมให้โจทก์ที่ 1 ถึงโจทก์ที่ 3 แลกของแถมจากการซื้อสินค้าพอนด์ไป โดยโจทก์ที่ 3 นำของแถมที่ได้รับไปมอบให้แก่โจทก์ที่ 4 ด้วยนั้น แม้โจทก์ทั้งสี่ซึ่งเป็นพนักงานของจำเลยและทำงานอยู่ในห้างสรรพสินค้าดังกล่าวของจำเลยจะทราบอยู่แล้วว่า การซื้อสินค้าประเภทใดมีของแถมและมีเงื่อนไขในการแลกของแถมกำหนดไว้อย่างไรก็ตาม แต่การกระทำของโจทก์ทั้งสี่ดังกล่าวเพียงมุ่งประสงค์จะได้ของแถมอันเป็นสิ่งของที่บริษัทผู้จำหน่ายสินค้าชนิดนั้นใช้ประกอบการโฆษณาส่งเสริมการจำหน่ายสินค้าของตนเท่านั้น โจทก์ทั้งสี่มิได้มีความประสงค์ที่จะทำให้จำเลยเสียหายโดยตรง การกระทำของโจทก์ทั้งสี่จึงยังถือไม่ได้ว่าเป็นการจงใจทำให้จำเลยซึ่งเป็นนายจ้างได้รับความเสียหาย และแม้ว่าการกระทำของโจทก์ทั้งสี่ดังกล่าวจะรับฟังได้ว่าเป็นการกระทำที่อาจนำความเสื่อมเสียมาสู่จำเลย อันเป็นการฝ่าฝืนต่อระเบียบข้อบังคับเกี่ยวกับการทำงานของจำเลยข้อ 6.16 ก็ตาม แต่โจทก์ทั้งสี่ก็มิได้กระทำโดยมีเจตนาหรือมุ่งประสงค์ที่จะก่อให้เกิดความเสียหายแก่จำเลย ประกอบกับโจทก์ทั้งสี่ทำหน้าที่เป็นพนักงานรักษาความปลอดภัย มิได้มีหน้าที่ในการรับแลกของแถม ซึ่งหากโจทก์ที่ 1 ถึงโจทก์ที่ 3 นำใบเสร็จรับเงินที่ไม่ตรงกับเงื่อนไขไปใช้แลกของแถมแล้วนางสาววารีปฏิบัติงานตามหน้าที่ โจทก์ที่ 1 ถึงโจทก์ที่ 3 ก็ไม่สามารถที่จะแลกเอาของแถมได้ นอกจากนี้การกระทำของโจทก์ทั้งสี่ก็เป็นเพียงทำให้ของแถมสำหรับสินค้าลดจำนวนไปเพียงเล็กน้อยเท่านั้น พฤติการณ์ดังกล่าวไม่น่าจะก่อให้เกิดความเสียหายแก่จำเลย จึงยังถือไม่ได้ว่าโจทก์ทั้งสี่ฝ่าฝืนต่อระเบียบข้อบังคับเกี่ยวกับการทำงานของจำเลยในกรณีร้ายแรง จำเลยไม่อาจจะอ้างสาเหตุการกระทำของโจกท์ทั้งสี่ดังกล่าวมาเป็นเหตุเลิกจ้างโดยไม่จ่ายค่าชดเชยให้แก่โจทก์ทั้งสี่

ส่วนปัญหาข้อต่อไปที่ว่า จำเลยจะต้องจ่ายสินจ้างแทนการบอกกล่าวล่วงหน้าให้แก่โจทก์ทั้งสี่หรือไม่ เห็นว่า จำเลยประกอบกิจการห้างสรรพสินค้า โจทก์ทั้งสี่เป็นพนักงานรักษาความปลอดภัยของจำเลย ซึ่งหน้าที่ประการหนึ่งของโจทก์ทั้งสี่ในการปฏิบัติหน้าที่ประจำวันคือการระมัดระวังมิให้สินค้าของจำเลยสูญหาย การที่โจทก์ที่ 1 ถึงโจทก์ที่ 3 ร่วมรู้เห็นกับนางสาววารีเอาของแถมจากการซื้อสินค้าไปโดยไม่ถูกต้องตามเงื่อนไขและโจทก์ที่ 4 รับเอาของแถมดังกล่าวไว้โดยรู้อยู่แล้วว่าเป็นของที่ได้มาโดยไม่ถูกต้องตามเงื่อนไขย่อมเป็นสาเหตุที่ทำให้สินค้าของจำเลย (ของแถม) ลดจำนวนลง ย่อมถือได้ว่าโจทก์ทั้งสี่ไม่ปฏิบัติหน้าที่ของตนให้ลุล่วงไปโดยถูกต้องและสุจริต จำเลยจึงมีสิทธิที่จะเลิกจ้างโจทก์ทั้งสี่ได้โดยไม่จำต้องบอกกล่าวล่วงหน้าตาม ป.พ.พ. มาตรา 583

พิพากษาแก้เป็นว่า ให้ยกคำขอของโจทก์ทั้งสี่ในส่วนที่ขอบังคับให้จำเลยจ่ายสินจ้างแทนการบอกกล่าวล่วงหน้าให้แก่โจทก์ทั้งสี่ นอกจากที่แก้ให้เป็นไปตามคำพิพากษาของศาลแรงงานกลาง.

 

(ปัญญา สุทธิบดี - กมล เพียรพิทักษ์ - พูนศักดิ์ จงกลนี )

 

ศาลแรงงานกลาง - นายจักรกฤษณ์ อนันต์สุชาติกุล

ศาลอุทธรณ์ -


อัพเดทล่าสุด