ลูกจ้างขออนุญาตผู้บังคับบัญชาออกนอกสถานที่ ผู้บังคับบัญชาสั่งให้ลูกจ้างยื่นใบลาครึ่งวัน MUSLIMTHAIPOST

 

ลูกจ้างขออนุญาตผู้บังคับบัญชาออกนอกสถานที่ ผู้บังคับบัญชาสั่งให้ลูกจ้างยื่นใบลาครึ่งวัน


990 ผู้ชม


ลูกจ้างขออนุญาตผู้บังคับบัญชาออกนอกสถานที่ ผู้บังคับบัญชาสั่งให้ลูกจ้างยื่นใบลาครึ่งวัน




    

คดีแดงที่  1818/2527

องค์การสะพานปลา โจทก์
นายอร่าม สุทธะพินทุ กับพวก จำเลย

 

พระราชบัญญัติแรงงานสัมพันธ์ พ.ศ. 2518 มาตรา 123 (3)

ลูกจ้างขออนุญาตผู้บังคับบัญชาออกนอกสถานที่ตั้งแต่เวลา 9 น.ถึง 11 น. แต่กลับมาถึงที่ทำงานเวลา 14 น. ผู้บังคับบัญชาสั่งให้ลูกจ้างยื่นใบลาครึ่งวัน เพราะการขออนุญาตออกนอกสถานที่ได้จะต้องไม่เกิน2 ชั่วโมงครึ่ง ลูกจ้างไม่พอใจจึงเขียนใบลาและเขียนข้อความในเอกสารใส่ซองวางไว้ที่โต๊ะผู้บังคับบัญชาโดยเจตนาให้ผู้บังคับบัญชายอมตกลงกับตนเรื่องไม่ต้องยื่นใบลา ในเอกสารดังกล่าวมีข้อความว่าลูกจ้างอาจเปิดเผยความไม่ดีของผู้บังคับบัญชาในทำนองทุจริตเกี่ยวกับอาคารพาณิชย์ การกระทำของลูกจ้างดังกล่าวมีลักษณะเป็นการข่มขู่ให้ผู้บังคับบัญชาเกิดความกลัวยอมตกลงกระทำในสิ่งที่ผิดระเบียบ มิใช่เป็นการใช้สิทธิตามปกตินิยม เพราะลูกจ้างเจตนาที่จะใช้เหตุดังกล่าวเป็น ข้อต่อรองกับผู้บังคับบัญชาให้กระทำในสิ่งที่ฝ่าฝืนระเบียบข้อบังคับของนายจ้างเพื่อประโยชน์ของลูกจ้างแต่เพียง อย่างเดียว ไม่เป็นการสมควรที่ผู้ใต้บังคับบัญชาจะพึงกระทำ ต่อผู้บังคับบัญชาเช่นนั้น ทั้งการข่มขู่ให้ผู้บังคับบัญชากระทำในสิ่งผิดระเบียบข้อบังคับของนายจ้างอาจเป็นเหตุก่อ ให้เกิดความเสียหายแก่โจทก์ผู้เป็นนายจ้างได้ การกระทำของลูกจ้างจึงได้ชื่อว่าเป็นการประพฤติชั่วอย่างร้ายแรง ซึ่งตามข้อบังคับของนายจ้างมีโทษถึงขั้นไล่ออก เป็นการ กระทำที่ฝ่าฝืน ระเบียบข้อบังคับของนายจ้างกรณีร้ายแรงตาม พระราชบัญญัติ แรงงานสัมพันธ์ พ.ศ.2518 มาตรา 123(3)นายจ้างเลิกจ้างลูกจ้างได้ถือไม่ได้ว่าเป็นการกระทำโดยไม่เป็นธรรม

 

…………………..……………………………………………………………..

 

โจทก์ฟ้องว่าจำเลยที่ ๑ ถึงที่ ๑๕ เป็นกรรมการแรงงานสัมพันธ์จำเลยที่ ๑๖ เคยเป็นลูกจ้างโจทก์ ระหว่างเป็นลูกจ้างโจทก์จำเลยที่ ๑๖ ได้ประพฤติตนไม่ต้องด้วยข้อบังคับองค์การสะพานปลา โดยพิมพ์เอกสารถึงผู้บังคับบัญชามีข้อความข่มขู่ดูหมิ่นและกล่าวหาว่ามีพฤติการณ์ทุจริต เป็นการต่อรองกับผู้บังคับบัญชาให้ผ่อนผันอนุญาตให้ออกนอกสถานที่ได้โดยไม่ถือเป็นวันลา อันเป็นการผิดวินัยฐานประพฤติชั่วอย่างร้ายแรง โจทก์จึงปลดจำเลยที่ ๑๖ ออกจากงาน ต่อมาจำเลยที่ ๑๖ ได้กล่าวหาต่อคณะกรรมการแรงงานสัมพันธ์ว่าโจทก์กระทำการอันไม่เป็นธรรม คณะกรรมการแรงงานสัมพันธ์ โดยจำเลยที่ ๑ ถึงที่ ๑๕ มีคำสั่งว่าโจทก์เลิกจ้างจำเลยที่ ๑๖ เป็นการกระทำอันไม่เป็นธรรม ให้โจทก์จ่ายค่าเสียหายแก่จำเลยที่ ๑๖ โจทก์เห็นว่าคำวินิจฉัยของคณะกรรมการแรงงานสัมพันธ์ไม่ตรงกับข้อเท็จจริงและฝ่าฝืนกฎหมาย เพราะการกระทำของจำเลยที่ ๑๖เป็นการผิดวินัย ประพฤติชั่วอย่างร้ายแรง การเลิกจ้างไม่เป็นการฝ่าฝืนมาตรา ๑๒๓ แห่งพระราชบัญญัติแรงงานสัมพันธ์ และไม่ใช่เป็นการกระทำอันไม่เป็นธรรม ขอให้เพิกถอนคำสั่งของคณะกรรมการแรงงานสัมพันธ์

จำเลยที่ ๑ ถึงที่ ๑๖ ให้การว่าเอกสารที่จำเลยที่ ๑๖ ทำขึ้นด้วยความโกรธและน้อยใจ ไม่มีเจตนาดูหมิ่น ข่มขู่ และกระด้างกระเดื่องต่อผู้บังคับบัญชาแม้จะมีข้อความว่าจะเปิดเผยความไม่ดีของผู้บังคับบัญชาก็เพื่อจะร้องเรียนถึงความประพฤติในทางไม่สุจริตต่อประธานองค์การสะพานปลา เป็นเอกสารที่ทำขึ้นเพื่อใช้สิทธิตามปกตินิยมโดยสุจริต จำเลยที่ ๑๖ มิได้นำเอกสารดังกล่าวหรือให้ผู้ใดนำไปให้ผู้บังคับบัญชาและไม่ได้บอกกล่าวข้อความในเอกสารดังกล่าวให้ผู้ใดทราบ แม้จะถือว่าเป็นการฝ่าฝืนระเบียบข้อบังคับแต่เป็นความผิดเพียงเล็กน้อยไม่ร้ายแรงถึงขั้นที่โจทก์จะเลิกจ้างจำเลยที่ ๑๖ ได้ทันที การที่โจทก์มีคำสั่งให้จำเลยที่ ๑๖ ออกจากงานโดยอ้างเหตุว่าประพฤติชั่วอย่างร้ายแรงเป็นฝ่าฝืนมาตรา ๑๒๓ แห่งพระราชบัญญัติแรงงานสัมพันธ์ พ.ศ. ๒๕๑๔

ศาลแรงานกลางพิพากษาให้เพิกถอนคำสั่งของคณะกรรมการแรงงานสัมพันธ์

จำเลยที่ ๑ ถึงที่ ๑๕ อุทธรณ์ต่อศาลฎีกา

ศาลฎีกาแผนกคดีแรงงานวินิจฉัยว่า การที่จำเลยที่ ๑๖ ขออนุญาตผู้บังคับบัญชาออกนอกสถานที่ตั้งแต่เวลา ๙ น. ถึง ๑๑ น. แต่กลับมาถึงที่ทำงานเวลา ๑๔ น. แล้วผู้บังคับบัญชาของจำเลยที่ ๑๖ สั่งให้จำเลยที่ ๑๖ ยื่นใบลาครึ่งวันเพราะการขออนุญาตออกนอกสถานที่ได้จะต้องไม่เกิน ๒ ชั่วโมงครึ่ง จำเลยที่ ๑๖ ไม่พอใจจึงเขียนใบลาและเขียนข้อความในเอกสารใส่ซองวางไว้ที่โต๊ะผู้บังคับบัญชาโดยเจตนาจะให้ผู้บังคับบัญชายอมตกลงกับตนเรื่องไม่ต้องยื่นใบลา ในเอกสารดังกล่าวมีข้อความว่าจำเลยที่ ๑๖อาจเปิดเผยความไม่ดีของผู้บังคับบัญชาในทำนองทุจริตเกี่ยวกับอาคารพาณิชย์โดยจะมอบหลักฐานให้ประธานองค์การสะพานปลาสอบสวนเอาผิดแก่ผู้บังคับบัญชาของจำเลยที่ ๑๖ การกระทำของลูกจ้างดังกล่าวมีลักษณะเป็นการข่มขู่ ให้ผู้บังคับบัญชาเกิดความกลัวยอมตกลงกระทำในสิ่งที่ผิดระเบียบ มิใช่เป็นการใช้สิทธิตามปกตินิยมเพราะจำเลยที่ ๑๖ เจตนาที่จะใช้เหตุดังกล่าวเป็นข้อต่อรองกับผู้บังคับบัญชาให้กระทำในสิ่งที่ฝ่าฝืนระเบียบข้อบังคับของโจทก์เพื่อประโยชน์ของจำเลยที่ ๑๖ แต่เพียงอย่างเดียวไม่เป็นการสมควรที่ผู้อยู่ใต้บังคับบัญชาจะพึงกระทำต่อผู้บังคับบัญชาเช่นนั้น ทั้งการข่มขู่ให้ผู้บังคับบัญชากระทำในสิ่งผิดระเบียบข้อบังคับของโจทก์อาจเป็นเหตุก่อให้เกิดความเสียหายแก่โจทก์ผู้เป็นนายจ้างได้การกระทำการของจำเลยที่ ๑๖ จึงได้ชื่อว่าเป็นการประพฤติชั่วอย่างร้ายแรง ซึ่งตามข้อบังคับของโจทก์มีโทษถึงขั้นไล่ออก เป็นการกระทำที่ฝ่าฝืนระเบียบข้อบังคับของนายจ้างกรณีร้ายแรงตามพระราชบัญญัติแรงงานสัมพันธ์ พ.ศ. ๒๕๑๘ มาตรา ๑๒๓(๓)โจทก์เลิกจ้างจำเลยที่ ๑๖ ได้ ถือไม่ได้ว่าเป็นการกระทำโดยไม่เป็นธรรม

พิพากษายืน

 

(ดุสิต วราโห - ขจร หะวานนท์ - วรา ไวยหงษ์ )

 

ศาลแรงงานกลาง - นายชวลิต พรายภู่

ศาลอุทธรณ์ -


อัพเดทล่าสุด