ฎีกาตัดสินเกี่ยวกับปัญหาข้อกฎหมาย (ฏีกายาว : ลาป่วย ที่ไม่ได้ป่วยจำนวน 3 วัน) MUSLIMTHAIPOST

 

ฎีกาตัดสินเกี่ยวกับปัญหาข้อกฎหมาย (ฏีกายาว : ลาป่วย ที่ไม่ได้ป่วยจำนวน 3 วัน)


575 ผู้ชม


ฎีกาตัดสินเกี่ยวกับปัญหาข้อกฎหมาย (ฏีกายาว : ลาป่วย ที่ไม่ได้ป่วยจำนวน 3 วัน)




ฎีกาตัดสินเกี่ยวกับปัญหาข้อกฎหมาย

 

คดีแดงที่  3630/2529

คุรุสภา ฯ ผู้ร้อง
นายมานิตย์ สังวรณ์ ผู้คัดค้าน

 

พระราชบัญญัติแรงงานสัมพันธ์ พ.ศ. 2518 มาตรา 52, 123

ระเบียบข้อบังคับของผู้ร้องไม่ได้ระบุไว้โดยตรงว่า การกระทำผิดวินัยกรณีใดถือว่าเป็นกรณีร้ายแรง จึงต้องพิเคราะห์พฤติการณ์เป็นรายกรณีไป กรณีของผู้คัดค้านซึ่งเป็นกรรมการลูกจ้างและกรรมการสหภาพแรงงานองค์การค้าของผู้ร้องขอลาป่วยต่อผู้ร้องทั้ง ๆ ที่ไม่ได้ป่วยจำนวน 3 วัน แล้วไปดำเนินคดีที่ศาลแรงงานกลางให้แก่ ว.ซึ่งไม่ใช่ลูกจ้างของผู้ร้องหรือเป็นสมาชิกสหภาพแรงงานองค์การค้าของผู้ร้องการกระทำดังกล่าวจึงเป็นการรายงานเท็จต่อผู้บังคับบัญชาและเป็นการไม่ตั้งใจปฏิบัติหน้าที่ตามที่ได้รับมอบหมายและหลีกเลี่ยงหน้าที่การงาน นอกจากนี้ผู้คัดค้านยังถือโอกาสที่ได้รับอนุญาตให้ไปข้างนอกเพื่อกระทำกิจกรรมให้แก่สมาชิกสหภาพแรงงานองค์การค้าของคุรุสภาที่ศาลแรงงานกลางแล้วไปดำเนินคดีให้แก่ ว. หลายครั้งหลายหนโดยใช้วิธีนัดวันให้ตรงกันแต่ต่างเวลากัน หากวันนัดไม่ตรงกัน ผู้คัดค้านก็จะใช้วิธีขอลากิจหรือลาป่วยแทนเพื่อไปดำเนินคดีให้แก่ ว. และยังปรากฏว่าผู้คัดค้านขอใช้สิทธิออกไปข้างนอกเพื่อกระทำกิจกรรมของสหภาพแรงงานองค์การค้าของผู้ร้องและกระทำกิจกรรมส่วนตัวในปี 2526 - 2527 มีจำนวน 68 ครั้งเป็นเวลา 310 ชั่วโมงเศษ และในปี 2527-2528 มีจำนวน 82 ครั้งเป็นเวลา 390 ชั่วโมงเศษ ซึ่งผู้ร้องย่อมขาดประโยชน์ที่ควรจะได้ การกระทำของผู้คัดค้านจึงเป็นการกระทำผิดวินัยฐานรายงานเท็จต่อผู้บังคับบัญชาไม่รักษาผลประโยชน์ของนายจ้างและไม่ปฏิบัติหน้าที่ด้วยความซื่อสัตย์สุจริตอันถือได้ว่าเป็นการฝ่าฝืนระเบียบข้อบังคับของผู้ร้องเป็นกรณีร้ายแรงตามพระราชบัญญัติแรงงานสัมพันธ์ พ.ศ.2518 มาตรา 123 แล้ว ผู้ร้องจึงมีสิทธิที่จะเลิกจ้างผู้คัดค้านได้

 

…………………..……………………………………………………………..

 

ผู้ร้องยื่นคำร้องว่าองค์การค้าของคุรุสภาเป็นของผู้ร้องและมีระเบียบองค์การค้าของคุรุสภาว่าด้วยการทำงานของเจ้าหน้าที่องค์การค้าของคุรุสภา พ.ศ. ๒๕๑๘ เป็นระเบียบการทำงานของเจ้าหน้าที่หรือลูกจ้าง นายมานิตย์ สังวรณ์ เป็นเจ้าหน้าที่ขององค์การค้าของคุรุสภาและมีตำแหน่งเป็นกรรมการลูกจ้าง และยังเป็นกรรมการสหภาพแรงงานขององค์การค้าของคุรุสภาด้วย ระหว่างวันที่ ๒ เมษายน ๒๕๒๗ ถึงวันที่ ๒๐ ตุลาคม ๒๕๒๗ นายมานิตย์ได้กระทำการฝ่าฝืนระเบียบข้อบังคับเกี่ยวกับการทำงานของผู้ร้องหลายครั้งโดยยื่นใบลากิจและใบลาป่วยเท็จ เพื่อนำเวลาดังกล่าวไปทำงานเพื่อประโยชน์ของตนเองและเพื่อประโยชน์ของบุคคลอื่นโดยไม่สุจริตถือว่าเป็นการกระทำผิดวินัยอย่างร้ายแรงตามระเบียบองค์การค้าของคุรุสภา ฯ หมวด ๖ ข้อ ๒๙ และข้อ ๓๐ และเป็นความผิดกรณีร้ายแรงตามประกาศกระทรวงมหาดไทย เรื่อง การคุ้มครองแรงงาน ข้อ ๔๗(๑)(๒) และ (๓) ผู้ร้องจึงขออนุญาตเลิกจ้างนายมานิตย์โดยไม่ต้องจ่ายค่าชดเชย หรือหากศาลเห็นสมควรให้จ่ายค่าชดเชยผู้ร้องก็ยินดีปฏิบัติตาม

นายมานิตย์ สังวรณ์ ผู้คัดค้านยื่นคำคัดค้านว่าผู้คัดค้านมิได้กระทำความผิดตามคำร้องเพราะการลางานและการขอออกไปข้างนอกตามที่กล่าวมาในคำร้องนั้นได้รับอนุญาตโดยชอบแล้ว และเนื่องจากผู้ร้องมีข้อตกลงเกี่ยวกับสภาพการจ้างกับสหภาพแรงงานองค์การค้าของคุรุสภาเมื่อวันที่ ๒๐ กันยายน ๒๕๒๖ และข้อตกลงดังกล่าวยังมีผลใช้บังคับอยู่ จึงต้องห้ามมิให้ผู้ร้องเลิกจ้างผู้คัดค้านตามพระราชบัญญัติแรงงานสัมพันธ์ พ.ศ. ๒๕๑๘ มาตรา ๑๒๓ เพราะผู้คัดค้านเป็นผู้มีส่วนเกี่ยวข้องกับข้อตกลงเกี่ยวกับสภาพการจ้างนั้นโดยเป็นผู้แทนในการเจรจาเรียกร้อง ขอให้ยกคำร้อง

ศาลแรงงานกลางวินิจฉัยว่ากรณีมีเหตุสมควรที่ผู้ร้องจะเลิกจ้างผู้คัดค้านได้ ส่วนการที่ผู้ร้องจะจ่ายคาชดเชยหรือไม่นั้น เป็นเรื่องที่เกิดขึ้นหลังจากที่ผู้ร้องมีคำสั่งเลิกจ้างแล้ว ข้อพิพาทในขณะยื่นคำร้องจึงไม่มี มีคำสั่งอนุญาตให้ผู้ร้องเลิกจ้างนายมานิตย์ สังวรณ์ ผู้คัดค้านได้ ส่วนคำขออื่นให้ยกเสีย

ผู้คัดค้านอุทธรณ์ต่อศาลฎีกา

ศาลฎีกาแผนกคดีแรงงานวินิจฉัยปัญหาข้อกฎหมายว่าที่ผู้คัดค้านอุทธรณ์ว่าเนื่องจากมีข้อตกลงเกี่ยวกับสภาพการจ้างระหว่างผู้ร้องกับสหภาพแรงงานองค์การค้าของคุรุสภา ซึ่งผู้คัดค้านมีส่วนเกี่ยวข้องโดยเป็นผู้แทนเจรจาและข้อตกลงดังกล่าวมีผลใช้บังคับอยู่ ผู้ร้องเลิกจ้างผู้คัดค้านไม่ได้เพราะต้องห้ามตามพระราชบัญญัติแรงงานสัมพันธ์ พ.ศ. ๒๕๑๘ มาตรา ๑๒๓ นั้น เห็นว่า เนื่องจากข้อบังคับของผู้ร้องไม่ได้ระบุไว้โดยตรงว่าการกระทำผิดวินัยข้อใดถือว่าเป็นกรณีร้ายแรง จึงต้องพิเคราะห์พฤติการณ์เป็นรายกรณีไป สำหรับกรณีนี้ฟังได้ว่าผู้คัดค้านขอลาป่วยทั้ง ๆ ที่ไม่ได้ป่วยในวันที่ ๒ เมษายน ๒๕๒๗ และในวันที่ ๒๕, ๒๖ ตุลาคม ๒๕๒๗ แล้วไปดำเนินคดีที่ศาลแรงงานกลางให้แก่บุคคลภายนอกที่ไม่ใช่ลูกจ้างของผู้ร้องหรือเป็นสมาชิกสหภาพแรงงานองค์การค้าของคุรุสภา และไปเป็นที่ปรึกษาให้แก่สหภาพแรงงานอุตสาหกรรมยางภาคใต้ ที่จังหวัดภูเก็ต การกระทำดังกล่าวนอกจากจะเป็นการรายงานเท็จต่อผู้บังคับบัญชาแล้วยังเป็นการไม่ตั้งที่จะปฏิบัติหน้าที่ตามที่ได้รับมอบหมายและหลีกเลี่ยงหน้าที่การงานอีกด้วย นอกจากนี้การที่ผู้คัดค้านถือโอกาสที่ได้รับอนุญาตให้ออกไปข้างนอกเพื่อกระทำกิจกรรมให้แก่สมาชิกสหภาพแรงงานองค์การค้าของคุรุสภาที่ศาลแรงงานกลาง แล้วไปดำเนินคดีให้แก่นายวันไชยหลายครั้งหลายหนโดยใช้วิธีนัดวันให้ตรงกันแต่ต่างเวลากันหรือหากวันนัดไม่ตรงกันก็จะใช้วิธีขอลากิจหรือลาป่วยแทน พฤติการณ์ดังกล่าวส่อให้เห็นเจตนาที่จะไม่ปฏิบัติหน้าที่ของตนโดยเต็มความสามารถ เป็นการเอาเปรียบนายจ้าง และปรากฏด้วยว่า ผู้คัดค้านขอใช้สิทธิออกไปข้างนอกเพื่อกระทำกิจกรรมของสหภาพแรงงานองค์การค้าของคุรุสภาและกระทำกิจกรรมส่วนตัวเฉพาะในปี ๒๕๒๖-๒๕๒๗ มีจำนวน ๖๘ ครั้งคิดเป็นเวลา ๓๑๐ ชั่วโมงเศษส่วนในปี ๒๕๒๗-๒๕๒๘ มีจำนวน ๘๒ ครั้ง คิดเป็นเวลา ๓๙๐ ชั่วโมงเศษ ซึ่งผู้ร้องย่อมขาดประโยชน์จากผลงานที่ควรจะได้ การกระทำของผู้คัดค้านจึงเป็นการกระทำผิดวินัยฐานรายงานเท็จต่อผู้บังคับบัญชา ไม่รักษาผลประโยชน์ของนายจ้างและไม่ปฏิบัติหน้าที่ด้วยความซื่อสัตย์สุจริตอันถือได้ว่าเป็นการฝ่าฝืนระเบียบข้อบังคับของผู้ร้องเป็นกรณีที่ร้ายแรงตามพระราชบัญญัติแรงงานสัมพันธ์ พ.ศ. ๒๕๑๘ มาตรา ๑๒๓ แล้ว ผู้ร้องจึงมีสิทธิที่จะเลิกจ้างผู้คัดค้านได้

พิพากษายืน

 

(สุรัตน์ ศรีอนุพันธุ์ - จุนท์ จันทรวงศ์ - จำนง นิยมวิภาต )

 

ศาลแรงงานกลาง - นายวิศิษฏ์ วิศาลสวัสดิ์

ศาลอุทธรณ์ -


อัพเดทล่าสุด