เลิกจ้างหลังครบเกษียน แต่อ้างเหตุเกษียณเป็นธรรมหรือไม่ MUSLIMTHAIPOST

 

เลิกจ้างหลังครบเกษียน แต่อ้างเหตุเกษียณเป็นธรรมหรือไม่


1,301 ผู้ชม


เลิกจ้างหลังครบเกษียน แต่อ้างเหตุเกษียณเป็นธรรมหรือไม่




โดยทั่วไปในสถานประกอบการจะกำหนดการเกษียณอายุไว้ เมื่ออายุ ครบ 60 ปี แต่บางแห่งก็อายุ 55 ปี

ซึ่งการกำหนดการเกษียณอายุดังกล่าว ถือเป็นกรณีที่นายจ้างแสดงเจตนาว่า เมื่อถึงกำหนดเวลาดังกล่าวตามที่กำหนดไว้ก็จะไม่จ้างลูกจ้างนั้นต่อไปอีก ซึ่งตามกฎหมายแรงงานถือว่า การเกษียณอายุดังกล่าวเป็นการเลิกจ้าง

ลูกจ้างมีสิทธิได้รับค่าชดเชย ซึ่งการเลิกจ้างที่มีความหมายรวมถึงการเกษียณอายุนั้น บัญญัติไว้ในพระราชบัญญัติคุ้มครองแรงงาน   
พ.ศ.2541 มาตรา 118 วรรคสอง

แต่ในคดีนี้นายจ้างได้กำหนดการเกษียณอายุไว้ในระเบียบข้อบังคับเกี่ยวกับการทำงานไว้ว่า พนักงานระดับทั่วไปเกษียณอายุเมื่อครบ 50 ปี แต่ปรากฏว่าเมื่อครบเกษียณอายุ 50 ปี แล้ว นายจ้างกลับไม่ยอมเลิกจ้างลูกจ้าง หลังจากที่ลูกจ้างทำงานหลังจากเกษียณอายุมาอีกหลายปี นายจ้างจึงมาอ้างเหตุแห่งการเลิกจ้าง โดยอ้างเหตุเลิกจ้างว่าเกษียณอายุ การอ้างเหตุดังกล่าวถือว่าเป็นธรรมสำหรับลูกจ้างหรือไม่ และศาลฎีกาท่านวางแนวไว้อย่างไร ลองติดตามดูครับ


โจทก์ทั้งสองสำนวนฟ้องว่า โจทก์ที่ 1 และที่ 2 เป็นลูกจ้างจำเลย เข้าทำงานตั้งแต่วันที่ 6 มิถุนายน 2534 และวันที่ 26 มีนาคม 2539 ตำแหน่งแม่บ้าน และพนักงานทำความสะอาดทั่วไป ได้รับค่าจ้างอัตราสุดท้ายเดือนละ 8,581 บาท และ 8,500 บาท ตามลำดับ กำหนดจ่ายค่าจ้างทุกวันสิ้นเดือน ต่อมาวันที่ 31 มกราคม 2546 จำเลยเลิกจ้างโจทก์ทั้งสอง โดยที่โจทก์ทั้งสองไม่ได้กระทำความผิด และไม่มีเหตุแห่งการเลิกจ้างอันเป็นการเลิกจ้างไม่เป็นธรรม ขอให้บังคับจำเลยจ่ายค่าเสียหายจากการเลิกจ้างไม่เป็นธรรมแก่โจทก์ที่ 1 และที่ 2 จำนวน 94,391 บาท และ 68,000 บาท ตามลำดับ พร้อมดอกเบี้ยอัตราร้อยละ 7.5 ต่อปี นับแต่วันฟ้องจนกว่าชำระเสร็จแก่โจทก์แต่ละคน

จำเลยทั้งสองสำนวนให้การว่า จำเลยเลิกจ้างโจทก์ทั้งสองเนื่องจากเกษียณอายุตามระเบียบข้อบังคับเกี่ยวกับการทำงาน และประสบภาวะขาดทุน จึงถือไม่ได้ว่าเป็นการเลิกจ้างไม่เป็นธรรม ขอให้ยกฟ้อง

ศาลแรงงานกลางพิจารณาแล้ว พิพากษาให้จำเลยจ่ายค่าเสียหายจากการเลิกจ้างไม่เป็นธรรมแก่โจทก์ที่ 1 และที่ 2 จำนวน 60,000 บาท และ 40,000 บาท ตามลำดับ พร้อมดอกเบี้ยอัตราร้อยละ 7.5 ต่อปี นับแต่วันฟ้อง(วันที่ 11 กุมภาพันธ์ 2546) จนกว่าชำระเสร็จแก่โจทก์แต่ละคน

จำเลยทั้งสองสำนวนอุทธรณ์ต่อศาลฎีกา

ศาลฎีกาแผนกคดีแรงงานตรวจสำนวนประชุมปรึกษาแล้ว ตามคำแถลงรับข้อเท็จจริงของโจทก์ทั้งสอง และจำเลย ข้อเท็จจริงฟังเป็นที่ยุติ โจทก์ทั้งสองเป็นลูกจ้างจำเลย จำเลยมีระเบียบข้อบังคับเกี่ยวกับการทำงาน จำเลยเลิกจ้างโจทก์ทั้งสอง เมื่อวันที่ 31 มกราคม 2546 โดยอ้างเหตุเกษียณอายุ ขณะเลิกจ้างโจทก์ทั้งสองมีอายุ 52 ปี และ 54 ปี ตามลำดับ

โจทก์ทั้งสองได้รับค่าชดเชย และสินจ้างแทนการบอกกล่าวล่วงหน้า มีปัญหาต้องวินิจฉัยตามอุทธรณ์ของจำเลยว่า จำเลยเลิกจ้างโจทก์ทั้งสองเป็นการเลิกจ้างไม่เป็นธรรมหรือไม่

พิเคราะห์แล้ว ตามระเบียบข้อบังคับเกี่ยวกับการทำงานของจำเลย ในหมวดที่ 9 ข้อ 2.3 กำหนดให้พนักงานระดับทั่วไปเกษียณอายุเมื่อครบ 50 ปี โดยให้มีผลเป็นการเลิกจ้างวันที่ 31 ธันวาคมของทุกปีที่ครบเกษียณอายุ ซึ่งโจทก์ที่ 1 และที่ 2 จะต้องเกษียณอายุในปี 2544 และปี 2542 ตามลำดับ แต่จำเลยมิได้จัดให้โจทก์ทั้งสองเกษียณในปีที่ครบเกษียณดังกล่าว

เห็นว่า ขณะที่โจทก์ทั้งสองมีอายุครบ 50 ปี จำเลยย่อมมีสิทธิให้โจทก์ทั้งสองออกจากงาน เพราะเหตุเกษียณอายุตามข้อบังคับเกี่ยวกับการทำงานได้โดยไม่ถือว่าเป็นการเลิกจ้างไม่เป็นธรรม การที่จำเลยไม่ได้จัดให้โจทก์ทั้งสองเกษียณอายุตามระเบียบข้อบังคับเกี่ยวกับการทำงานของจำเลย แต่ยังคงให้โจทก์ทั้งสองทำงานต่อไปโดยโจทก์ที่ 1 ทำงานเกินกำหนดอายุการเกษียณถึง 2 ปี โจทก์ที่ 2 เกินกำหนดถึง 4 ปี นั้น เป็นการเอื้อประโยชน์ และเป็นคุณแก่โจทก์ทั้งสองเป็นอย่างยิ่งแล้ว หลังจากนั้นจำเลยย่อมสามารถที่จะอ้างเอาระเบียบข้อบังคับเกี่ยวกับการทำงานในเรื่องเกษียณอายุเมื่อครบ 50 ปี มาใช้บังคับแก่โจทก์ทั้งสองได้อีก ข้ออ้างที่จำเลยอ้างเป็นเหตุแห่งการเลิกจ้างโจทก์ทั้งสองเป็นข้ออ้างที่มีเหตุสมควร การที่จำเลยเลิกจ้างโจทก์ทั้งสอง จึงไม่เป็นการเลิกจ้างไม่เป็นธรรม ที่ศาลแรงงานกลางพิพากษามานั้น ไม่ต้องด้วยความเห็นของศาลฎีกา อุทธรณ์ของจำเลยฟังขึ้น

พิพากษากลับให้ยกฟ้องโจทก์ทั้งสอง (ทั้งนี้ตามนัยคำพิพากษาฎีกาที่ 4119-4120/2547)

ตามแนวคำพิพากษาฎีกาข้างต้น การที่จำเลยกำหนดการเกษียณอายุไว้ในระเบียบข้อบังคับเกี่ยวกับการทำงาน 50 ปี เมื่อครบกำหนดเกษียณอายุ นายจ้างไม่ได้เลิกจ้างเพราะเหตุเกษียณอายุ จะถือว่านายจ้างไม่ประสงค์จะถือเอาการเกษียณอายุมาเป็นเหตุแห่งการเลิกจ้างหรือไม่ และคดีนี้นายจ้างกับลูกจ้างก็มิได้ตกลงขยายการเกษียณอายุอันเป็นเหตุให้นายจ้างอ้างเหตุเลิกจ้างเพราะเกษียณอายุได้ จะอย่างไรก็แล้วแต่ เมื่อศาลฎีกาท่านได้มีคำพิพากษาของศาลฎีกาว่าการเลิกจ้างหลังการเกษียณอายุนั้นเป็นการเอื้อประโยชน์กับลูกจ้างเป็นการเลิกจ้างที่เป็นธรรม ดังนั้นนายจ้างและลูกจ้างจึงต้องเคารพและถือเป็นแนวทางในการปฏิบัติตาม จนกว่าจะมีแนวคำพิพากษาของศาลฎีกามาแก้ไขเปลี่ยนแปลง


ที่มา: Hr. Law
โดย: ยงยุทธ ไชยมิ่ง ทนายความอาวุโส
ติดต่อผู้เขียนได้ที่กลุ่มบริษัท บีแอลซีไอ กรุ๊ป จำกัด
โทรศัพท์ 0 2937 3773 โทรสาร 0 2937 3770
E-mail : blci@ksc.th.com
นิตยสาร Recruit update ฉบับที่ 423 วันที่ 1-30 เมษายน 2548

อัพเดทล่าสุด