แรงจูงใจของผู้เข้ารับการอบรม (Trainee Motivation) MUSLIMTHAIPOST

 

แรงจูงใจของผู้เข้ารับการอบรม (Trainee Motivation)


978 ผู้ชม


แรงจูงใจของผู้เข้ารับการอบรม  (Trainee Motivation)

แรงจูงใจ  (motivation)  เป็นสิ่งที่เกี่ยวข้องกับกระบวนการทางจิตใจ ซึ่งทำให้เกิดความตื่นตัว (arousal)  ทิศทาง (direction)  และ ความยืดหยุ่น (persistence)  ในการกระทำต่างๆ (Mitchell, 1982)  ความตื่นตัวและความยืดหยุ่น คือการที่บุคคลลงทุนทั้งเวลาและแรงกายแรงใจในการประกอบกิจกรรม ส่วน

ทิศทาง หมายถึง   การกระทำหรือสิ่งที่บุคคลนั้นได้เสียสละเวลาและแรงกายแรงใจลงไป ดังนั้น ผู้ที่มีแรงจูงใจจะมีพฤติกรรมหรือการแสดงออกที่เต็มไปด้วยความกระตือรือร้น และเป็นไปอย่างมีจุดมุ่งหมาย นักจิตวิทยาเชื่อว่า  แรงจูงใจจะช่วยเพิ่มพลังของบุคคล  กล่าวคือ เมื่อบุคคลมีแรงจูงใจสูง  เขาจะยิ่งทำงานหนักและยาวนานมากขึ้นกว่าเดิม

โน (Noe, 1986)  ได้เสนอว่ามีปัจจัยหลายประการ  ซึ่งส่งผลกระทบต่อระดับแรงจูงใจของผู้เข้ารับการฝึกอบรม ปัจจัยดังกล่าวสามารถสรุปได้ดังนี้

1.  ความเชื่อเกี่ยวกับอำนาจควบคุม (locus of control)  จะมีผลต่อแรงจูงใจและความสามารถในการเรียนรู้ของบุคคล ความเชื่อเกี่ยวกับเรื่องอำนาจควบคุมสามารถจำแนกได้เป็นสองชนิดด้วยกัน คือ ความเชื่อว่าผลลัพธ์หรือสิ่งที่เกิดขึ้นเป็นผลมาจากอำนาจควบคุมจากภายนอกตนเอง  (external)  หรืออำนาจควบคุมจากภายในตนเอง (internal)  ผู้ที่เชื่อในอำนาจจากภายนอกจะถือว่าผลลัพธ์ต่างๆ ไม่ว่าจะเป็นความสำเร็จหรือล้มเหลว  เป็นผลมาจากปัจจัยภายนอก เช่น ความโชคดี หรือการกระทำของบุคคลอื่น แต่ผู้ที่เชื่อในอำนาจภายในตน จะสรุปว่า ความสำเร็จหรือความล้มเหลว  เป็นผลมาจากการกระทำของตน  ดังนั้น ผู้ที่เชื่อในอำนาจภายในของตนจึงน่าจะมีแรงจูงใจในการเรียนรู้สูงกว่าผู้ที่เชื่อในอำนาจจากภายนอก  เพราะเขามีความเชื่อว่าการจะทำผลงานออกมาดีหรือไม่นั้น มีสาเหตุสำคัญจากกระทำของตนเอง   ซึ่งผลการวิจัยก็ได้ยืนยัน สมมุติฐานนี้ (Goldstein, 1993)

2.  ความเชื่อในสมรรถภาพแห่งตน  (Self-efficacy belief)  แรงจูงใจในการเรียนรู้จะเพิ่มมากขึ้น   หากผู้รับการอบรมมีความเชื่อว่าตนเองสามารถเรียนรู้สิ่งต่างๆได้  ความเชื่อดังกล่าวนี้เรียกว่า  ความเชื่อในสมรรถภาพแห่งตน  ซึ่งหมายถึง ความเชื่อในความสามารถของตนเองในการประกอบกิจกรรมอย่างใดอย่างหนึ่ง (Bandura,1986)   อย่างไรก็ตาม การวิจัยได้ชี้ว่า  ผู้ที่สามารถเชื่อในสมรรถภาพแห่งตนสูงตั้งแต่ก่อนและระหว่างการฝึกอบรม สามารถเรียนรู้ได้ดีกว่าผู้ที่มีความเชื่อในสมรรถภาพแห่งตนต่ำ (Gist, 1989)

3. ความคาดหวังเกี่ยวกับผลลัพธ์   ผู้รับการอบรมต้องเชื่อว่า ผลที่จะได้รับจากการฝึกอบรมมีความเกี่ยวข้องหรือช่วยนำไปสู้การทำงานที่ดีขึ้น

4. คุณค่าของการทำงาน  ผู้ที่เข้ารับการฝึกอบรม ต้องให้คุณค่า หรือความสำคัญแก่การทำงานที่ดีขึ้น

กล่าวโดยสรุป  นับริหารงานฝึกอบรม จำเป็นต้องให้ความสนใจต่อภาวะของผู้รับการฝึกอบรมก่อนการฝึกอบรม  อันได้แก่  ความสามารถ และแรงจูงใจ ของผู้เข้ารับอบรม ความสำพันธ์ระหว่างองค์ประกอบทั้งสอง สามารถสรุปได้ดังนี้

การเรียนรู้    =  ความสามารถ x  แรงจูงใจ

ตามสมการดังกล่าว  การเรียนรู้ของผู้ที่เข้ารับการอบรมจะไม่เกิดขึ้นเลย หาก พวกเขาไม่มีความสามรถหรือแรงจูงใจอย่างใดอย่างหนึ่ง และการเรียนรู้จะเพิ่มมากขึ้น หากองค์ประกอบแต่ละอย่างมีค่าสูงขึ้น  ดังนั้น แนวทางในการคัดเลือกผู้รับการฝึกอบรม  จึงควรจะรับผู้ที่มี ความสามารถ และแรงจูงใจ ในการเรียนรู้และปฏิบัติสิ่งที่จะสอนในการฝึกอบรมเท่านั้น  นอกจากนั้น  ผลของการวิจัยก็ได้ยืนยันว่า ผู้ที่มีความสามารถและแรงจูงใจ  สามารถเรียนรู้ได้ดีกว่าผู้ที่ไม่มีความสามารถและแรงจูงใจในการเข้ารับการฝึกอบรม  (Noe & Schmitt,  1986 & Downs, 1986)

การฝึกอบรมบุคลากรในองค์การ

โดย : รองศาสตราจารย์ ดร.ชูชัย  สมิทธิไกร

อัพเดทล่าสุด