ประเภทของสวัสดิการ MUSLIMTHAIPOST

 

ประเภทของสวัสดิการ


1,428 ผู้ชม


ประเภทของสวัสดิการ




ประเภทของสวัสดิการ

เราอาจแบ่งสวัสดิการออกเป็นประเภทใหญ่ๆได้ดังนี้

1. สวัสดิการเพื่อความมั่นคงและสุขภาพของพนักงานลูกจ้าง ( Employee security and health )

2. สวัสดิการที่จ่ายตอบแทนเมื่อลูกจ้างไม่ได้ทำงาน ( Pay for time not work )

3. สวัสดิการบริการ ( Employee services )

สวัสดิการที่ลูกจ้างได้รับหลายอย่างนั้นเกิดจากการที่รัฐออกกฎหมายบังคับให้นายจ้างจ่าย นอกเหนือจากสวัสดิการที่นายจ้างได้จ่ายให้ตามปกติ ดังนั้นแต่ละประเภทของสวัสดิการจึงอาจมีทั้งที่ถูกบังคับให้จ่ายโดยรัฐ ( mandatory benefits ) และจ่ายตามนโยบายขององค์การเอง ( non- mandatory benefits ) นอกจากนี้ในพระราช-บัญญัติคุ้มครองแรงงานฉบับ พ.ศ. 2541 หมวด 7 มาตรา 96-97 รัฐได้กำหนดให้ สถานประกอบการที่มีลูกจ้างตั้งแต่ห้าสิบคนขึ้นไป จัดให้มีคณะกรรมการสวัสดิการ เพื่อให้คณะกรรมการดังกล่าวได้ร่วมหารือกับนายจ้างเพื่อจัดสวัสดิการแก่ลูกจ้างตลอดจนให้คำปรึกษาหารือเสนอความคิดเห็นเรื่องการจัดสวัสดิการ รวมถึงได้ตรวจตรา ควบคุม ดูแลการจัดสวัสดิการด้วย

1. สวัสดิการเพื่อความมั่นคงและสุขภาพของพนักงานลูกจ้าง ( Employee security and health )ได้แก่
1.1. สวัสดิการการรักษาพยาบาล ( Medicare Benefits )
โดยปกติรัฐได้กำหนดให้องค์กรจัดสวัสดิการในการรักษาพยาบาลขั้นพื้นฐานให้แก่ลูกจ้างพนักงานอยู่แล้ว เช่น นายจ้างต้องจัดห้องพยาบาล พยาบาล หรือแพทย์ประจำ เพื่อบริการลูกจ้างตามขนาดของกิจการ องค์การธุรกิจบางแห่งจัดสวัสดิการการรักษาพยาบาลให้แก่ลูกจ้างเอง นอกเหนือจากสิทธิที่ลูกจ้างได้รับจากกองทุนประกันสังคม องค์การหลายแห่งใช้วิธีประกันสุขภาพพนักงานหรือประกันอุบัติเหตุกับบริษัทประกัน โดยนายจ้างเป็นผู้จ่ายเบี้ยประกันให้ การให้การรักษาพยาบาลต้องกำหนดลงไปในรายละเอียดว่าจะครอบคลุมมากน้อยแค่ไหนเช่น
1.1.1. การรับการรักษาแบบผู้ป่วยนอก ( outpatient )
1.1.2. การผ่าตัดรักษา ( operation )
1.1.3. การใช้บริการห้องปฏิบัติการพิเศษ ( laboratory )
ขอบเขตของการให้สวัสดิการชนิดนี้อาจครอบคลุมไปถึง ครอบครัวของลูกจ้างด้วย ขอบเขตและระดับการรักษาพยาบาลขึ้นอยู่กับตำแหน่งของลูกจ้าง นโยบายขององค์การ บางองค์การอาจกำหนดเป็นจำนวนเงินที่องค์การจะรับผิดชอบให้เป็นรายปี โดยไม่กำหนดวิธีการและชนิดของการรักษาก็ได้
1.2. การให้เงินทดแทน ( Disability Benefits or Employment Injury Benefits )
เป็นสวัสดิการที่ให้กับพนักงานที่ไม่สามารถทำงานได้ เนื่องจากการเจ็บป่วยหรือทุพพลภาพอันเนื่องมาจากการทำงาน ตามปกติพนักงานเหล่านี้ก็จะได้รับผลประโยชน์เป็นเงินทดแทนตามสิทธิของผู้ประกันตนตามพระราชบัญญัติประกันสังคมอยู่แล้ว ซึ่งรายละเอียดเกี่ยวกับการจ่ายเงินทดแทนได้กำหนดไว้ในประกาศกระทรวงแรงงานและสวัสดิการสังคม เรื่อง กำหนดระยะเวลาการจ่ายค่าทดแทนและหลักเกณฑ์และวิธีการคำนวณค่าจ้างรายเดือน ลงวันที่ 12 กันยายน พ.ศ. 2537 แต่องค์การอาจจัดสวัสดิการให้เพิ่มเติมจากนี้ก็ได้
1.3. การประกันชีวิต ( Life Insurance )
การประกันชีวิตพนักงานลูกจ้างเป็นการให้หลักประกันความมั่นคงแก่ครอบครัวของลูกจ้างในกรณีที่ลูกจ้างเสียชีวิตซึ่งนับเป็น สวัสดิการให้แก่ทายาทที่ยังมีชีวิตอยู่ ( Survivor Benefits ) ของลูกจ้างด้วย การประกันชีวิตนี้องค์การนิยมทำประกันชีวิตกับบริษัทประกัน และมักเป็นการประกันกลุ่มซึ่งค่าเบี้ยประกันจะถูกกว่าสำหรับวงเงินประกันจะมากหรือน้อยแล้วแต่นโยบายขององค์การ
1.4. บำนาญ ( Pension Benefits )
วัตถุปะสงค์ของการจ่ายสวัสดิการบำนาญเพื่อให้ลูกจ้างที่เกษียณอายุไปแล้ว สามารถดำรพชีพอยู่ได้ด้วยเงินจำนวนหนึ่ง ซึ่งองค์การจะจ่ายให้ทุกเดือนในระยะเวลาหนึ่ง หรือจนกว่าลูกจ้างจะเสียชีวิต สวัสดิการชนิดนี้เป็นภาระหนักแก่องค์การเพราะว่า ค่าใช้จ่ายนี้ประมาณการได้ยากอีกทั้งแนวโน้มต่อไปก็คือ คนจะมีอายุที่ยืนยาวขึ้นกว่าเดิม ส่วนใหญ่สวัสดิการชนิดนี้มักจะจ่ายในองค์การขนาดใหญ่ ซึ่งมีกองทุนสวัสดิการมาก องค์การที่มีการวางแผนในเรื่องเงิน และการบริหาอย่างดี เช่น
1.4.1. การตั้งกองทุนบำนาญ  (pension fund)  
1.4.2. มีการวางแผนเกี่ยวกับการหักเงินสมทบอย่างดี (salary deduction plan)  
1.4.3. มีการกำหนดอายุงานและสัดส่วนของบำนาญที่จะได้รับ เป็นต้น
1.5. การให้สิทธิการซื้อหุ้นหรือการจ่ายสวัสดิการในรูปของหุ้น (employee stock options)
การจ่ายผลประโยชน์ให้กับพนักงานลูกจ้างในรูปของหุ้นบริษัท หรือให้สิทธิในการซื้อหุ้นนี้ ก็เพื่อจูงใจให้พนักงานลูกจ้างมีความรักองค์การ ทุ่มเททำงานให้กับองค์การ เพราะตนเองซึ่งเป็นผู้ถือหุ้นก็คือเจ้าของคนหนึ่งขององค์การด้วยเช่นกัน แนวคิดเรื่องของการจ่ายผลประโยชน์ในรูปของหุ้นนี้เป็นที่นิยมขึ้นมากเรื่อยๆในปัจจุบัน
1.6. สวัสดิการอื่นๆ (Other Benefits)   
องค์การสามารถจัดสวัสดิการแบบอื่นๆ ที่นอกเหนือจากข้อที่กล่าวมาข้างต้นได้ตามความเหมาะสมเช่น
1.6.1.  บางองค์การอาจมีบำเหน็จเป็นเงินก้อนแก่พนักงานครั้งเดียวเมื่อเกษียณงาน (Lump sum payment)
1.6.2.  ค่าชดเชยเมื่อเลิกจ้าง (severance pay)  
1.6.3. ให้สิทธิในการลาโดยไม่รับค่าจ้างเป็นระยะเวลาหนึ่ง (Leave without pay)  
เนื่องด้วยความจำเป็นหรือเหตุผลส่วนตัว เช่น ลาศึกษาอบรม ลาเลี้ยงดูบุตร หรือบุพการี โดยไม่ได้รับค่าจ้างขณะลา แต่ยังคงสภาพของสมาชิกองค์การไว้ เป็นต้น
2.  สวัสดิการที่จ่ายตอบแทนเมื่อลูกจ้างไม่ได้ทำงาน ( Pay for time not work )
สวัสดิการชนิดนี้เป็นที่ชื่นชอบแก่พนักงานมากที่สุด สวัสดิการเหล่านี้ก็ได้แก่การให้สิทธิในการลาต่างๆ โดยได้รับค่าจ้างเสมือนหนึ่งได้มาทำงานตามปกติ กฎหมายได้กำหนดให้มีวันหยุดประจำปีตามราชการอย่างน้อยปีละ 13 วันอยู่แล้ว วันหยุดนอกเหนือจากนี้อาจทำได้ตามความเหมาะสม
2.1.  วันหยุดพักผ่อนประจำปี ( Vacations )
พ.ร.บ. คุ้มครองแรงงาน พ.ศ. 2541 หมวด 2 มาตรา 30 ได้กำหนดให้ลูกจ้างที่ทำงานติดต่อกันมาแล้วครบ 1 ปีมีสิทธิหยุดพักผ่อนประจำปีได้ปีหนึ่งไม่น้อยกว่าหกวันทำงาน องค์การจะให้มากกว่านี้ก็ได้และวิธีบริหารวันหยุดว่าจะให้หยุดอย่างไร เมื่อใด มีการสะสมวันหยุดได้หรือไม่ ฯลฯ นั้น ให้ตกลงกันระหว่างนายจ้างและลูกจ้าง บางองค์การอาจมีเงินสวัสดิการจ่ายให้พนักงานลูกจ้าง เพื่อใช้จ่ายในวันพักผ่อนประจำปีก็ได้
2.2. วันหยุด ( Holidays )
วันหยุดนี้ได้แก่วันหยุดราชการประจำปีตามที่กฎหมายกำหนดจำนวน 13 วัน นอกจากนี้องค์การอาจมีวันหยุดอื่นๆได้อีก เช่น วันหยุดตามประเพณี วันหยุดทางศาสนา หรือขนบธรรมเนียมประเพณีแห่งท้องถิ่น
2.3. วันลาเนื่องด้วยกิจส่วนตัว ( Personal excused absences )
วันลาเหล่านี้เป็นวันลาด้วยธุระส่วนตัว ซึ่งมีทั้งที่กฎหมายกำหนดให้ลูกจ้างมีสิทธิลาได้ตามพ.ร.บ.คุ้มครองแรงงาน พ.ศ. 2541 ( เช่น ลาเพื่อรับราชการทหาร ลาบวช ลาเพื่อทำหมัน ลาป่วย ฯลฯ ) และการที่องค์การให้สวัสดิการการลาพิเศษนอกเหนือจากกฎหมายกำหนด เช่น
2.3.1. ลาเพื่อไปติดต่อราชการ ( Civic duty )
2.3.2. ลาไปงานศพของคนในครอบครัว ( Death in family )
2.3.3. ลาเพื่อสมรส ( Marriage )
2.3.4. ลาเพื่อดูแลบุตร ( Paternity leaves ) เป็นต้น
การลาโดยยังได้รับค่าจ้างนี้องค์การต้องกำหนดจำนวนวันไว้ว่าไม่เกินกี่วันต่อปี เพื่อให้มีความชัดเจนในทางปฏิบัติและไม่ก่อให้เกิดปัญหาในการบริหาร ส่วนใหญ่องค์การมักเรียกรวมๆกันว่าสิทธิในการลากิจส่วนตัว
 
3. สวัสดิการบริการ ( Employee Services )
สวัสดิการบริการนี้จะมีมากชนิดที่สุด แต่ละองค์การสามารถจัดหาได้มากหรือน้อยได้ตามความเหมาะสมขององค์การ บริการเหล่านี้เช่น  
3.1. เครดิตยูเนียน ( Credit unions )
3.2. โบนัสปีใหม่หรือตรุษจีน ( New year’s bonus )
3.3. อาหารกลางวันหรือเย็น ( Food service )
3.4. เสื้อทำงาน ( Career clothing )
3.5. การให้คำปรึกษาหารือ ( Counseling )
3.6. รถรับส่ง ( Transportation )
3.7. ที่จอดรถ ( Parking )
3.8. สวัสดิการรับเลี้ยงเด็ก ( Child care )
3.9. สิทธิในการซื้อสินค้าและบริการในราคาพนักงาน ( Merchandise purchasing )
3.10. เงินกู้ฉุกเฉิน ( Emergency loan )
3.11. รถประจำตำแหน่ง ( Company car )
3.12. บริการเพื่อสุขภาพ ( Fitness and wellness programs ) เป็นต้น

อัพเดทล่าสุด