บทความกฎหมาย ความอิสระของศาลยุติธรรม MUSLIMTHAIPOST

 

บทความกฎหมาย ความอิสระของศาลยุติธรรม


585 ผู้ชม


บทความกฎหมาย
ความอิสระของศาลยุติธรรม

ศุกร์ ที่ 15 เดือน มกราคม พ.ศ.2553
 

สราวุธ เบญจกุล
       รองเลขาธิการสำนักงานศาลยุติธรรม
       
       ศาลเป็นหนึ่งในอำนาจอธิปไตยซึ่งพระมหากษัตริย์ผู้ทรงเป็นประมุขทรงใช้อำนาจตามบทบัญญัติแห่งรัฐธรรมนูญ ศาลยุติธรรมมีอำนาจพิจารณาพิพากษาคดีทั้งปวง เว้นแต่คดีที่มีรัฐธรรมนูญหรือกฎหมายบัญญัติให้อยู่ในอำนาจของศาลอื่น ทั้งนี้ศาลยุติธรรมจะต้องดำเนินการพิจารณาพิพากษาอรรถคดีดังที่บัญญัติไว้ในมาตรา 197 คือต้องเป็นไปโดยยุติธรรม ตามรัฐธรรมนูญ ตามกฎหมาย และในพระปรมาภิไธยของพระมหากษัตริย์
       
       อย่างไรก็ดี การจะพิจารณาพิพากษาอรรถคดีให้เป็นไปโดยยุติธรรมได้นั้น ผู้พิพากษาต้องมีอิสระเพื่อให้การพิจารณาพิพากษาอรรถคดีเป็นไปโดยถูกต้อง รวดเร็ว และเป็นธรรม และต้องไม่ถูกแทรกแซงการใช้อำนาจจากบุคคลหรือองค์กรใด ซึ่งหลักความเป็นอิสระของผู้พิพากษานั้นมีการรับรองไว้ทั้งตามรัฐธรรมนูญและกฎหมาย
       
       ตามหลักการแบ่งแยกอำนาจกำหนดให้มีการแบ่งแยกอำนาจตุลาการออกจากอำนาจของฝ่ายบริหารและฝ่ายนิติบัญญัติเพื่อให้มีการดุลและคานกัน ทำให้ฝ่ายบริหารและฝ่ายนิติบัญญัติไม่สามารถมีอำนาจในการให้คุณให้โทษฝ่ายตุลาการได้ ในการแต่งตั้ง การพ้นจากตำแหน่ง การเลื่อนตำแหน่ง การเลื่อนเงินเดือน และการลงโทษผู้พิพากษาจะต้องได้รับความเห็นชอบของคณะกรรมการตุลาการศาลยุติธรรม
       
       นอกจากนี้ผู้พิพากษาต้องมีความเป็นกลาง และสามารถใช้ดุลพินิจในการมีคำพิพากษาหรือมีคำสั่งโดยชอบด้วยกฎหมายได้อย่างเหมาะสม โดยพิจารณาจากบทบัญญัติของกฎหมายและพยาน หลักฐานที่เกี่ยวข้อง จากการรับรองหลักความเป็นอิสระของตุลาการ เพื่อให้ผู้พิพากษาสามารถพิจารณาพิพากษาอรรถคดีเพื่ออำนวยความยุติธรรมให้แก่ประชาชนได้อย่างเต็มที่นี้เอง จึงเป็นหลักการสากลที่ว่าผู้พิพากษาได้รับความคุ้มกันจากการใช้อำนาจตุลาการ (Judicial Immunity)
       
       หลักความคุ้มกันจากการใช้อำนาจตุลาการเป็นแนวคิดอันมีที่มาจากประเทศที่ใช้ระบบกฎหมาย Common Law โดยมีรากฐานมาจากแนวคิดของประเทศอังกฤษ ที่ว่า “the King can do no wrong” ซึ่งมีหลักการในการให้เอกสิทธิ์และความคุ้มครองแก่พระมหากษัตริย์และ ผู้ปฏิบัติหน้าที่ภายใต้พระปรมาภิไธยของพระมหากษัตริย์ เช่นตุลาการ เพราะพระมหากษัตริย์ไม่ต้องรับผิดชอบทั้งทางการเมืองและตามกฎหมายใด ๆ ไม่ว่าจะในฐานะส่วนพระองค์หรือ ในฐานะประมุขของรัฐและไม่อาจถูกฟ้องร้องดำเนินคดีได้
       
       จากแนวคิดดังกล่าวนี้เอง ต่อมาจึงได้มีการพัฒนามาเป็นหลักความคุ้มกันจากการใช้อำนาจตุลาการ เพราะผู้พิพากษาถือเป็นบุคคลที่ใช้อำนาจตุลาการภายใต้พระปรมาภิไธยของพระมหากษัตริย์ โดยมีวัตถุประสงค์เพื่อให้ความคุ้มกันทางกฎหมายแก่ผู้พิพากษาหรือบุคคลที่เกี่ยวข้องในการพิจารณาพิพากษาคดี จากการถูกดำเนินคดีในการใช้อำนาจทางตุลาการซึ่งกระทำในพระปรมาภิไธยของพระมหากษัตริย์ เพื่อให้ผู้พิพากษาสามารถพิจารณาคดีได้อย่างเป็นธรรม โดยไม่จำต้องกังวลถึงภยันตรายที่อาจเกิดขึ้นนอกเหนือจากการกระทำตามอำนาจหน้าที่ของตน ในขณะเดียวกันก็เพื่อปกป้องผู้พิพากษาจากการกระทำอันมิชอบด้วยกฎหมายของผู้ที่อาจเสียประโยชน์จากคำพิพากษา
       
       สำหรับในประเทศสหรัฐอเมริกา ศาลฎีกาในสหรัฐอเมริกาในคดี Randall v Brigham, 74 US (7 Wall.) 523 (1868) ได้เคยมีคำพิพากษาในกรณีผู้พิพากษามีคำสั่งเพิกถอนใบอนุญาตว่าความของทนายความ ทนายความผู้นั้นจึงฟ้องผู้พิพากษา ศาลฎีกามีคำพิพากษาว่าทนายความไม่สามารถฟ้องผู้พิพากษาได้ เพราะผู้พิพากษาไม่ต้องรับผิดหากเป็นการใช้อำนาจทางตุลาการ เว้นแต่ว่าการใช้อำนาจดังกล่าวจะเป็นการใช้อำนาจโดยทุจริตหรือไม่ชอบด้วยกฎหมาย
       
       แม้ผู้พิพากษาจะได้รับความคุ้มกันจากการใช้อำนาจตุลาการ แต่ก็ไม่ได้หมายความว่า การใช้อำนาจดังกล่าวจะไม่มีขอบเขตจำกัด หรือไม่สามารถตรวจสอบความชอบธรรมได้ ผู้พิพากษาจึงไม่อาจใช้อำนาจได้ตามความพอใจของตน การตรวจสอบการใช้อำนาจทางตุลาการของผู้พิพากษาสามารถกระทำได้หลายวิธี เช่น การอุทธรณ์ ฎีกา อันเป็นวิธีการตรวจสอบดุลพินิจในการรับฟ้องพยานหลักฐานและการทำคำพิพากษาโดยให้คู่ความฝ่ายที่ไม่พอใจคำพิพากษา สามารถใช้สิทธิอุทธรณ์ ฎีกาต่อศาลสูงซึ่งได้แก่ ศาลอุทธรณ์ และศาลฎีกา ผู้มีหน้าที่กลั่นกรองคำพิพากษาของศาลล่างอีกชั้นหนึ่ง อันเป็นสิทธิของคู่ความตามที่บัญญัติไว้ในกฎหมายว่าด้วยวิธีพิจารณาความเป็นต้น
       
       นอกจากหลักการตรวจสอบการใช้อำนาจตุลาการตามลำดับชั้นศาลแล้ว ผู้พิพากษาอาจถูกตรวจสอบการใช้อำนาจตุลาการได้หากผู้พิพากษาผู้นั้นได้กระทำความผิดวินัย แต่องค์กรที่ทำหน้าที่พิจารณาเรื่องทางวินัยของผู้พิพากษานั้นมีรัฐธรรมนูญบัญญัติไว้ชัดเจนในมาตรา 220 ว่าให้เป็นหน้าที่ของคณะกรรมการตุลาการศาลยุติธรรม (ก.ต.) ซึ่งประกอบด้วยประธานศาลฎีกา กรรมการผู้ทรงคุณวุฒิจากศาลฎีกา 6 คน ศาลอุทธรณ์ 4 คน ศาลชั้นต้น 2 คน และกรรมการ ผู้ทรงคุณวุฒซึ่งวุฒิสภาเลือกจากบุคคลที่ไม่เป็นข้าราชการฝ่ายตุลาการศาลยุติธรรม 2 คน
       
       ก.ต. จึงมีอำนาจหน้าที่ในการตรวจสอบผู้พิพากษาทางวินัย โดยการให้ความเห็นชอบในการเลื่อนตำแหน่ง การเลื่อนเงินเดือน และการลงโทษผู้พิพากษาในศาลยุติธรรม และการให้ความเห็นชอบดังกล่าวของ ก.ต. ต้องคำนึงถึงความรู้ความสามารถและพฤติกรรมทางจริยธรรมของบุคคลดังกล่าว
       
       การได้รับความคุ้มกันจากการใช้อำนาจตุลาการนั้นมีขอบเขตจำกัด ผู้พิพากษา จะได้รับความคุ้มครองก็ต่อเมื่อได้กระทำภายในกรอบอำนาจหน้าที่ทางตุลาการของตนเท่านั้น เว้นแต่ว่าการใช้อำนาจดังกล่าวจะเป็นการใช้อำนาจโดยทุจริตหรือไม่ชอบด้วยกฎหมาย หากเป็นการกระทำนอกกรอบอำนาจหน้าที่ หรือเป็นการกระทำความผิดทางอาญาที่เกี่ยวข้องกับการปฏิบัติหน้าที่ เช่นการเรียกรับสินบน ผู้พิพากษาย่อมต้องรับผิดในการกระทำของตนโดยอาจถูกดำเนิน คดีอาญาได้
       
       ดังนั้น ความอิสระและเป็นกลางของศาลยุติธรรม เป็นหลักการสำคัญของสังคมประชาธิปไตย ที่จะนำมาซึ่งความปลอดภัยและมั่นคงในสังคม ทั้งยังเป็นการเคารพหลักสิทธิมนุษยชนที่ให้สิทธิที่จะได้รับการพิจารณาคดีอย่างเป็นธรรมอีกด้วย
ที่มา :  manager.co.th

อัพเดทล่าสุด