ข้อแนะนำเกี่ยวกับ การป้องกันอันตรายจากวัตถุระเบิด MUSLIMTHAIPOST

 

ข้อแนะนำเกี่ยวกับ การป้องกันอันตรายจากวัตถุระเบิด


1,053 ผู้ชม


ข้อแนะนำเกี่ยวกับ การป้องกันอันตรายจากวัตถุระเบิด

งานอบรม/สัมมนา เรื่อง "การป้องกันอันตรายจากวัตถุระเบิด"
โดย พ.ต.ท.เกรียงไกร คุ้มบำรุง
ข้อแนะนำเกี่ยวกับ การป้องกันอันตรายจากวัตถุระเบิด
จัดโดย เขตอุตสาหกรรมซอฟต์แวร์ อาคารซอฟต์แวร์ปาร์ค




จากข่าวสารเกี่ยวกับสถานการณ์บ้านเมืองในปัจจุบัน เราควรต้องเตรียมความพร้อมในเรื่องมาตรการรักษาความปลอดภัยภายในอาคาร เขตอุตสาหกรรมซอฟต์แวร์ จึงได้จัดงานอบรม/สัมมนา ในวันอังคารที่ 16 มีนาคม 2553 หัวข้อเรื่อง การป้องกันอันตรายจากวัตถุระเบิด โดยได้รับเกียรติจาก พ.ต.ท.เกรียงไกร คุ้มบำรุง นักสืบสวนสอบสวนชำนาญการ เป็นวิทยากรให้ความรู้


ข้อแนะนำเกี่ยวกับ การป้องกันอันตรายจากวัตถุระเบิด   ข้อแนะนำเกี่ยวกับ การป้องกันอันตรายจากวัตถุระเบิด
พันตำรวจโท เกรียงไกร คุ้มบำรุง
อาจารย์ (สบ.2) ภาควิชาการปราบปรามอาชญากรรม โรงเรียนนายร้อยตำรวจ โดยได้ผ่านหลักสูตรต่างๆ ดังนี้
- หลักสูตรการทำลายวัตถุระเบิด (EOD)
- หลักสูตรการสืบสวนคดีอาญา รุ่นที่ 74
- หลักสูตรสารวัตร รุ่นที่ 72
- หลักสูตรการสืบสวนหลังเหตุระเบิด (Post Blast)
- หลักสูตรต่อต้านการก่อวินาศกรรม
- หลักสูตรยุทธวิธีตำรวจระดับครูฝึก
- หลักสูตรการปราบปรามการก่อเหตุจลาจลร่วมกับตำรวจจากประเทศอังกฤษ


ข้อแนะนำเกี่ยวกับ การป้องกันอันตรายจากวัตถุระเบิด
ข้อแนะนำเกี่ยวกับ การป้องกันอันตรายจากวัตถุระเบิด
ทีมงานวิชาการดอทคอมได้เข้าร่วมอบรม/สัมมนาในครั้งนี้ด้วย เพื่อนำความรู้ที่ได้รับในครั้งนี้ มาถ่ายทอดให้ท่านสมาชิกวิชาการดอทคอมค่ะ แต่ขอสรุปโดยไม่ลงรายละเอียดด้านเนื้อหาเกี่ยวกับวัตถุระเบิดมากนัก เพียงต้องการให้ผู้อ่านรู้เท่าทันเท่านั้น แต่มิได้มุ่งหวังให้เป็นผู้ผลิตค่ะ การได้รับทราบถึงอันตรายที่จะเกิดขึ้น จะได้เข้าใจและปฏิบัติตัวได้ถูกต้องกับสถานการณ์ค่ะ เพราะสถานการณ์ปัจจุบันได้เกิดเหตุการณ์เกี่ยวกับการคุกคามในรูปแบบต่างๆ ทั่วโลก มีทั้งการขู่วางระเบิดโรงแรมต่างๆ ศูนย์การค้า ท่าอากาศยาน การขนส่ง ภัยคุกคามเหล่านี้ ไม่ว่าจะเป็นเพียงการขู่ หรือเหตุการณ์จริงก็ตาม ส่งผลกระทบกระเทือนอย่างมากมายต่อกิจการต่างๆ ก่อให้เกิดความเสียหาย อย่างใหญ่หลวงต่อเศรษฐกิจและมีผลกระทบไปถึงการท่องเที่ยวของประเทศอีกด้วย


มาตรการป้องกัน จึงเป็นสิ่งจำเป็นอย่างยิ่งที่ผู้บริหารและผู้เกี่ยวข้องต้องดำเนินการโดยเร่งด่วน เพื่อความปลอดภัยต่อชีวิตและทรัพย์สินของนักท่องเที่ยว ผู้มาใช้บริการ และพนักงานขององค์กร


ดังนั้นจึงขอแนะนำการป้องกันอันตรายจากวัตถุระเบิด ซึ่งอาจเกิดขึ้นได้หลายกรณี ในลักษณะต่างๆ เพื่อเป็นแนวทางเบื้องต้นในการป้องกันชีวิตและทรัพย์สินของเราเอง มาเรียนรู้เรื่องดินระเบิดและวัตถุระเบิดกันก่อนนะคะว่า คือ อะไร


ข้อแนะนำเกี่ยวกับ การป้องกันอันตรายจากวัตถุระเบิด
ความหมายของดินระเบิดและวัตถุระเบิด


ดินระเบิด คือ วัตถุทางเคมีชนิดหนึ่ง ซึ่งเมื่อเกิดการลุกไหม้จะเกิดปฏิกิริยาทางเคมีและมีความร้อนสูงมาก มีเปลวเพลิง เป็นแก๊ส และมีอำนาจในการผลักดันไปในทุกทิศทุกทางที่เท่าๆ กัน


วัตถุระเบิด คือ สารเคมีชนิดหนึ่งจะแข็งอ่อนนุ่ม หรือเป็นของเหลวก็ตาม ซึ่งเมื่อเกิดปฏิกิริยากับความร้อน และจะกลายเป็นแก๊ส วัตถุระเบิด เมื่อเกิดการระเบิดจะขยายการระเบิดหรือมีแรงผลักดัน ไปทุกทิศทุกทาง ที่เท่าๆ กัน แต่จะมีความดันลงด้านล่างมากกว่า ทั้งนี้ เพราะแรงดึงดูดของโลก


สรุปนิยามศัพท์ของวัตถุระเบิด (Explosive) คือ สารใดๆ เมื่อถูกความร้อน แรงกระแทก หรือการเสียดสี แล้วจะแปรสภาพจากเดิม กลายเป็นแก๊สที่มีปริมาณมากขึ้น ทำให้เกิดความดัน และความร้อนจำนวนมาก


ข้อแนะนำเกี่ยวกับ การป้องกันอันตรายจากวัตถุระเบิด
การก่อการร้ายที่พบเห็น
ได้แก่ การลอบวางเพลิง การลอบสังหาร การจับและกักขังตัวประกัน การจี้ยานพาหนะ การใช้อาวุธทำร้ายร่างกาย และการลอบวางระเบิด เป็นต้น


ทำไมต้องใช้วิธีลอบวางระเบิด
-โอกาสที่จะเป็นข่าวใหญ่และได้รับความสนใจ
-ผลทางด้านการเมือง
-ผลทางด้านจิตวิทยา
-เพื่อทำลายชีวิตและทรัพย์สิน


ประเภทของวัตถุระเบิด แบ่งได้เป็น 2 ประเภท คือ วัตถุระเบิดแรงสูง และวัตถุระเบิดแรงต่ำ
วัตถุระเบิดแรงต่ำ จะแปรสภาพจากของแข็งเป็นแก๊ส ได้ค่อนข้างต่ำหรือช้ามาก ตั้งแต่ 2 ชั่วโมง ถึงประมาณ 400 เมตรต่อวินาที ได้แก่ พลุ ดอกไม้เพลิง เป็นต้น


วัตถุระเบิดแรงสูง จะแปรสภาพในลักษณะสลายตัวอย่างรวดเร็ว เรียกว่า การประทุ มีความเร็วในการลุกไหม้ถึงขนาดประทุ ประมาณ 1,000 - 8,500 เมตร/วินาที สามารถให้เกิดการทำลายฉีกขาดต่อสิ่งแวดล้อม หรือเป้าหมายได้ เช่น TNT, C4 เป็นต้น


ข้อแนะนำเกี่ยวกับ การป้องกันอันตรายจากวัตถุระเบิด
การแบ่งวัตถุระเบิดตามวัตถุประสงค์ของผู้ใช้
1. วัตถุระเบิดทางพลเรือน มักใช้ในอุตสาหกรรมเหมืองแร่ เหมืองหิน ใช้ผสมในเคมีภัณฑ์ต่างๆ
2. วัตถุระเบิดทางการทหาร ใช้ในการบรรจุเครื่องกระสุน หรือสิ่งประดิษฐ์ทางสงคราม
3. วัตถุระเบิดแสวงเครื่อง ผลิตขึ้น โดยผู้ที่มีความรู้ทางด้านเคมีทั่วไป ไม่มีมาตรฐานแน่นอน เป็นผลผลิตของนักก่อการร้าย หรือผู้ไม่หวังดีต่อสังคม


ข้อแนะนำเกี่ยวกับ การป้องกันอันตรายจากวัตถุระเบิด
กรณีพบวัตถุต้องสงสัย
-ถามหาเจ้าของ
-เตรียมข้อมูลเกี่ยวกับวัตถุนั้น
-ปิดกั้นห้ามคนเข้า – ออก
-เตรียมการอพยพในส่วนที่เกี่ยวข้อง
-แจ้งขอความช่วยเหลือจากหน่วยต่างๆ
-ถ้าทำการเคลื่อนย้ายให้ทำการเคลื่อนย้ายในระยะไกล
-จัดหาสถานที่สำหรับพื้นที่ที่ปลอดภัย


การสังเกตหีบห่อพัสดุและจดหมายต้องสงสัย
-ส่งมาจากสถานที่หรือบุคคลที่ไม่คุ้นเคยหรือรู้จัก
-มีน้ำหนักมากทางด้านใดด้านหนึ่ง
-มีน้ำหนักมากเกินกว่าที่ควรเป็น
-มีสายไฟยื่นออกมาหรือมีเทปปิดไว้
-มีลักษณะเหมือนมีสปริงทางด้านบน ด้านล่าง ด้านข้าง
-มีรูเล็กๆ ที่หีบห่อ
-สังเกตเห็นรอยเปื้อนเหมือนคราบน้ำมันและอาจมีกลิ่น


กรณีพบเครื่องกระสุนและวัตถุระเบิด
-เตรียมข้อมูล สถานที่พบ ขนาด สี รูปร่าง น้ำหนัก ใครเป็นผู้พบ พบเมื่อใด
-ตัววัตถุระเบิดมีอุปกรณ์อะไรที่เห็น เช่น สายไฟ กระเดื่อง เป็นต้น
-ใช้เชือกปิดกั้นไม่ให้บุคคลภายนอกเข้าไป
-รีบแจ้งเจ้าหน้าที่ตำรวจโดยด่วน


ข้อแนะนำเกี่ยวกับ การป้องกันอันตรายจากวัตถุระเบิด กรณีเหตุขู่วางระเบิด ประชาชนควรปฏิบัติอย่างไร
ส่วนใหญ่การขู่วางระเบิดจะใช้โทรศัพท์เป็นสื่อในการติดต่อ ทั้งนี้ เพราะผู้ประสงค์ร้ายต้องการให้เกิดควรตื่นตระหนกตกใจในทันทีทันใด การปฏิบัติตัวให้ถูกต้องของประชาชน ในการรับข่าวขู่ และการวิเคราะห์ข่าวขู่วางระเบิดนั้น จะเป็นประโยชน์แก่เจ้าหน้าที่ตำรวจเป็นอันมาก สิ่งที่ควรปฏิบัติ เมื่อได้รับข่าวขู่วางระเบิด คือ ระงับอารมณ์อย่าตื่นเต้นตกใจ ตั้งใจฟัง อย่าขัดจังหวะการพูด จดจำคำพูดให้หมดพร้อมทั้งเวลาที่รับข่าว ใช้วาจาที่สุภาพ ถ่วงเวลาพูดให้นานๆ พยายามอัดเทปคำพูดไว้สังเกตเสียงแทรกในขณะพูด ว่ามีเสียงเครื่องจักร เสียงรถยนต์ เสียงเพลง หรือเสียงอื่นๆ หรือไม่ สังเกตลักษณะของผู้พูด ว่าเสียงหรือสำเนียงเป็นอย่างไร หญิงหรือชาย น้ำเสียงนุ่มนวล หรือจริงจังโกรธแค้น พยายามถามหาข่าว พูดขอความเห็นใจ จากนั้นให้รีบรายงานการรับข่าวให้เจ้าหน้าที่ตำรวจทราบโดยเร็วที่สุด และอย่าเปิดเผยข่าวแก่ผู้ที่ไม่มีส่วนเกี่ยวข้อง


ในส่วนของการวิเคราะห์ข่าว
ในขั้นแรกให้ตั้งสมมุติฐานในขั้นต้นว่าเป็นเรื่องจริงไว้ก่อน จากนั้นให้สืบสวนหาข้อเท็จจริงและแหล่งที่มาของข่าว พิจารณาข้อมูลเกี่ยวกับคุณลักษณะของผู้ขู่วางระเบิดและความต้องการของการขู่วางระเบิด พิจารณาว่า เคยมีกรณีเช่นนี้เกิดขึ้นหรือไม่ ประเมินค่าความเป็นไปได้ และความน่าเชื่อถือว่ามีเพียงใด โดยพิจารณาถึงความขัดแย้งของสังคม ในสถานที่ขู่วางระเบิดการแข่งขันทางกิจการ หรือผลประโยชน์ทางธุรกิจ เมื่อคิดว่ามีทางเป็นไปได้ ให้ตกลงให้ใช้หน่วย รปภ. เข้าปฏิบัติการ (ถ้ามี) หรือเร่งแจ้งข่าวสาร ให้เจ้าหน้าที่ตำรวจทราบ เพื่อเข้าปฏิบัติงานและควบคุมสถานการณ์โดยเร็วที่สุด


จากผลการวิเคราะห์ได้แสดงให้เห็นว่าวิธีที่ปลอดภัยที่สุด เมื่อได้รับการขู่คุกคาม มิใช่การอพยพบุคคลออกจากพื้นที่เป้าหมายในทันที สำหรับเหตุผลในกรณีนี้ คือ ส่วนมาก ผู้ที่ลอบนำระเบิดไปวาง มักจะมีขีดจำกัดในการนำระเบิดไปวางในพื้นที่เป้าหมาย บ่อยครั้งที่ตรวจสอบพบว่ามักจะวางไว้ใกล้กับช่องทางเข้า-ออก ของอาคาร ฉะนั้น การอพยพบุคคลไปภายนอกอาคาร อาจกลับกลายเป็นการเคลื่อนที่เข้าหาวัตถุระเบิด ฉะนั้นการปฏิบัติที่เหมาะสมที่สุด คือ ให้ทุกคนยังคงอยุ่ที่เดิมจนกว่าจะได้ประเมินสถานการณ์ และพึงระลึกไว้เสมอว่า จะไม่มีใครสามารถประเมินค่าสถานการณ์ได้รวดเร็ว และดีที่สุดเท่ากับบุคคลที่ทำงานอยู่ในพื้นที่ เพราะเหตุว่าบุคคลที่อยู่ในพื้นที่นั้นจะทราบดีว่าสิ่งของชิ้นใดเคยอยู่ หรือแปลกปลอมเข้ามาใหม่ หรือมีผู้รับฝากสิ่งของไว้ในช่วงระยะเวลาไม่เกิน 12 ชั่วโมง
-พึงระลึกไว้เสมอว่า ความปลอดภัยของบุคคลเป็นความต้องการสูงสุดของการอพยพ
-การอพยพบุคคลออกไปทุกครั้งที่มีการขู่คุกคาม จะทำให้สูญเสียความจริงและคงามน่าเชื่อถือ
-ปัจจัยสำคัญ 2 ประการ ที่สามารถป้องกันบุคคลจากอำนาจการระเบิดได้ คือ ระยะทาง และที่กำบัง
-อันตรายที่เกิดจากระเบิดมาจากองค์ประกอบ 3 ประการ คือ แรงระเบิด คลื่นการระเบิด สะเก็ดระเบิด และความร้อน
-ความร้อนที่เกิดจากการระเบิดเป็นสิ่งที่มีอันตรายน้อยที่สุด และถูกจำดัอยู่ในบริเวณแคบๆ นอกจากในบริเวณใกล้เคียงนั้นมีวัสดุเชื้อเพลิงซึ่งจะเสริมให้เกิดเพลิงลุกไหม้ลุกลามออกไป
-ระมัดระวังอันตรายที่เกิดจากการแตกกระจายของกระจก เพราะอาจทำให้ตาบอด หรือเกิดบาดแผลฉกรรจ์ ตามร่างกายได้ เศษกระจกสามารถปลิวกระจายได้ ในระยะไกล ฉะนั้นแม้ว่าจะหลบอยู่ในที่ปลอดภัยแล้วก็ตาม ต้องพยายามอยู่ห่างไกลจากบานกระจก
-ผนังห้องหนาๆ สามารถใช้เป็นที่กำบังป้องกันอันตรายจากแรงระเบิดและสะเก็ดระเบิดได้
-นำวัสดุสิ่งของส่วนตัวออกไป เช่น กระเป๋าถือ เพื่อความสะดวก ในการตรวจค้นและเพื่อลดงานของเจ้าหน้าที่ตรวจค้นเอง
-เปิดประตู และหน้าต่างทุกบาน เพื่อบรรเทาความเสียหายที่เกิดจากแรงอัด ของคลื่นการระเบิด
-งดใช้อุปกรณ์ไฟฟ้าทั้งหมด (ดังปลั๊กออก) เพื่อกำจัดเสียงรบกวนขณะเจ้าหน้าที่ตรวจค้นเข้ามาดำเนินการ
-ปิดสวิทช์ที่แผงควบคุมทั้งหมด และจัดเจ้าหน้าที่ควบคุมไว้
-อาจเหลือบุคคลที่สมัครใจอยู่ และให้รออยู่ที่ใด เมื่อเจ้าหน้าที่ตรวจค้น มาถึงจะได้ดำเนินการได้ทันที


กรณีพบวัตถุต้องสงสัย ประชาชนควรปฏิบัติอย่างไร
ส่วนใหญ่วัตถุต้องสงสัยนี้จะอยู่ในรูป หีบ ห่อ กล่อง หรือกระเป๋า ซึ่งส่วนมากจะมีสาเหตุมาจากได้รับของมาแล้ว ไม่ทราบว่าใครเป็นผู้ส่งมา ในขณะเดียวกัน ผู้รับก็มักจะเป็นผู้ที่มีความหวาดระแวงในเรื่องวัตถุระเบิดอยู่แล้ว หรือบางที คนรับก็รู้ว่าใครเป็นคนส่งมา แต่ทว่าไม่มีความไว้วางใจในผู้ส่ง หรือ อาจจะด้วยสาเหตุอื่น เช่น พบว่าวางอยู่โดยไม่รู้ว่าใครเป็นเจ้าของ หรือ มีคนไม่รู้จักเอามาให้ หรือ อ้างว่าได้รับฝากจากผู้อื่นให้เอามาให้ หรือ อื่นๆ


เมื่อผู้พบ หรือ ผู้รับของ เกิดสงสัยหรือกลัวว่าจะเป็นภาชนะบรรจุระเบิดอย่างที่นิยมเรียกกันว่าเป็นกล่องระเบิด หรือกระเป๋าระเบิด ควรรีบแจ้งให้เจ้าหน้าที่ตำรวจท้องที่ หรือหน่วยรั้บแจ้งเหตุของกรมตำรวจ เช่น 191 ซึ่งเจ้าหน้าที่ตำรวจผู้รับแจ้งเหตุจะแจ้งให้ ชุดตรวจเก็บกู้วัตถุระเบิดทราบทันที โดยที่เจ้าหน้าที่จะไปดูแลสถานที่นั้น ๆ ให้รอจนกว่าชุดตรวจเก็บกู้วัตถุระเบิดจะไปดำเนินการ


ถ้าใครพบวัตถุต้องสงสัยให้สอบถามหาเจ้าของและแหล่งที่มาของวัตถุนั้น และห้ามแตะต้องรบกวน เพราะถ้าเป็นระเบิดของจริง อาจจะเกิดการระเบิดได้ทันที จากนั้น ให้รีบดำเนินการแจ้งเจ้าหน้าที่ตำรวจโดยด่วน ในขณะเดียวกันต้องอพยพผู้คนและทรัพย์สินมีค่า หรือ เชื้อเพลิงออกไปในรัศมีอย่างน้อย 100 เมตร ขึ้นไป (ถ้าสามารถทำได้) ถ้าวัตถุที่พบนั้นวางอยู่ในห้อง ในอาคาร ให้เปิดประตูหน้าต่างทุกบาน เพื่อลดอำนาจการทะลุทะลวงของสะเก็ดระเบิด และอย่าเคลื่อนย้ายวัตถุนั้นๆ โดยเด็ดขาด และควรจัดหาคนที่อยู่ในที่กำบังที่ปลอดภัย เพื่อไว้คอยกันคนอื่นๆ ไม่ให้เข้าไปรวบกวนวัตถุดังกล่าว


ผู้พบวัตถุต้องสงสัย ควรจะทำการสอบสวนหาข้อมูลขั้นต้น เกี่ยวกับสิ่งของที่พบ เพื่อเป็นการเตรียมข้อมูลให้แก่เจ้าหน้าที่ตำรวจ และสำรวจหาทิศทางเข้าออก และเตรียมการให้ความสะดวกแก่เจ้าหน้าที่ตำรวจ เพื่อความรวดเร็วในการปฏิบัติหน้าที่และรักษาความปลอดภัย


การเคลื่อนย้ายคนจำนวนมาก ออกจากที่เกิดเหตุภายใต้สถานการณ์ฉุกเฉินเป็นเรื่องยุ่งยาก และง่ายที่จะเกิดอันตราย นอกจากว่าได้มีการควบคุมเป็นอย่างดี ฉะนั้นการวางแผนเพื่อเป็นการกำหนดหนทางปฏิบัติในการอพยพเป็นสิ่งที่จำเป็นอย่างยิ่ง การตอบสนองที่เหมาะสมเมื่อได้รับการคุกคาม คือ การอพยพบุคคลออกจากพื้นที่เป้าหมายให้หมดในทันที อย่างไรก็ตามควรจะได้พิจารณาเปรียบเทียบระหว่างความรวดเร็ว และความปลอดภัย ว่าสิ่งใดเหมาะสมกับพฤติกรรมของเหตุการณ์มากกว่ากัน และควรพิจารณาต่อไปอีกว่าบริเวณใดเหมาะสม และเป็นไปได้มากที่จะอพยพไปยังบริเวณนั้น ซึ่งโดยหลักการแล้ว เหมือนจะไม่มีอะไรยุ่งยาก แต่ตามข้อเท็จจริงในทางปฏิบัติแล้ว มิใช่เรื่องง่ายอย่างที่คิด


กรณีเกิดเหตุระเบิดแล้ว ประชาชนควรปฏิบัติอย่างไร
ผู้ประสบเหตุควรตรวจดูว่ามีผู้ได้รับบาดเจ็บหรือไม่ ถ้ามีต้องรีบให้การช่วยเหลือ และนำส่งโรงพยาบาลที่ใกล้ที่สุดโดยด่วน และขณะเดียวกันต้องแจ้งให้เจ้าหน้าที่ตำรวจทราบโดยเร็วที่สุดเท่าที่จะทำได้ และให้อพยพผู้คนออกไปในพื้นที่ที่ปลอดภัย และห้ามเคลื่อนย้ายสิ่งของต่างๆ ดดยพลการ เพื่อป้องกันการระเบิดซ้ำสองและเพื่อไม่ให้วัตถุพยานหลักฐานต่างๆ ที่คนร้ายได้กระทำขึ้นสูญหาย ซึ่งสิ่งเหล่านี้จะเป็นประโยชน์ในเรื่องของความปลอดภัย และการติดตามผู้กระทำผิดของเจ้าหน้าที่ตำรวจ จากการตรวจสถานที่เกิดเหตุในกรณีที่มีการระเบิดเกิดขึ้นแล้ว เราพบว่าบางแห่งมีผู้เสียชีวิต บาดเจ็บ และทรัพย์สินเสียหาย หรือ ทรัพย์สินเสียหายอย่างเดียว บางครั้งอาจจะเกิดเพลิงไหม้ด้วย


ดังนั้น ในการป้องกันสถานที่เกี่ยวกับภัยจากวัตถุระเบิด จึงต้องเตรียมอุปกรณ์ป้องกันอัคคีภัย ตลอดจนเครื่องมือปฐมพยาบาลเบื้องต้นไว้ด้วย


แนวทางที่จะป้องกันการถูกลอบวางระเบิด


การป้องกันการถูกลอบวางระเบิดนั้น มีลักษณะที่กระทำได้ยาก เพราะส่วนใหญ่เป็นการกระทำของบุคคลที่มุ่งประสงค์ร้าย โดยใช้จังหวะ และโอกาสในขณะที่ผู้อื่นขาดความระมัดระวัง แต่ก็ไม่ใช่ว่าจะป้องกันไม่ได้เลย ทางกรมตำรวจได้พยายามวางแนวทางป้องกันไว้แล้วหลายด้าน เช่น ได้เผยแพร่แนวทางป้องกันอันตราย จากวัตถุระเบิดให้แก่ประชาชนในสถานที่ และโอกาสต่างๆ ตลอดจนจัดวิทยากรผู้ชำนาญทางวัตถุระเบิด ไปใช้การบรรยายในเรื่องนี้แก่ภาครัฐบาล และภาคเอกชน ให้รู้จักป้องกันตนเอง และทรัพย์สินให้พ้นภัยจากวัตถุระเบิด ซึ่งนับเป็นแนวทางอันหนึ่งที่จะสร้างมวลชนสัมพันธ์ให้เกิดขึ้นระหว่างประชาชนด้วยกัน และระหว่างประชาชนกับเจ้าหน้าที่ตำรวจ


สรุปหากได้รับโทรศัพท์ว่าจะมีการวางระเบิด ให้ใจเย็น ตั้งสติ และสังเกตลักษณะเสียงคนร้ายให้ดี พยายามสอบถามรายละเอียดลักษณะของระเบิดและสถานที่ให้มากที่สุด แล้วรีบแจ้งผู้บังคับบัญชา เพื่อแจ้งเจ้าหน้าที่ตำรวจให้ทราบเร็วที่สุด หลังจากนั้นพยายามแจ้งข่าวเรื่องการวางระเบิดให้ผู้เกี่ยวข้องทราบเท่านั้น ไม่ควรกระจายข่าวเป็นวงกว้าง เพราะจะสร้างความแตกตื่นให้ผู้คน ทั้งนี้ ห้ามแตะต้องอุปกรณ์ที่คาดว่าจะเป็นระเบิด และห้ามผู้ที่ไม่มีหน้าที่เกี่ยวข้องเข้าไปในสถานที่เกิดเหตุ หลังจากตำรวจมาตรวจสอบสถานที่เกิดเหตุแล้ว ตำรวจจะพิจารณาในการอพยพผู้คนหรือดำเนินการอื่นๆ ต่อไป


มาตรการรักษาความปลอดภัยข้อแนะนำเกี่ยวกับ การป้องกันอันตรายจากวัตถุระเบิด
-ควรมีระบบการตรวจสอบและควบคุมเจ้าหน้าที่ที่ปฏิบัติงาน
-มีระบบควบคุมพัสดุหีบห่ออย่างรัดกุมเสมอ
-มีการควบคุมการเปิด-ปิดอาคาร และการรักษากุญแจอย่างเข้มงวด
-รั้วรอบอาคาร สถานที่ ควรมีระบบแสงสว่างอย่างเพียงพอ
-ห้องที่ไม่ได้ใช้งาน ควรปิดใส่กุญแจไว้เสมอ
-ตรวจตราบริเวณกำจัดของเสีย ที่ทิ้งขยะอย่างสม่ำเสมอ
-มีการจัดการในเรื่องสถานที่จอดรถให้เหมาะสม
-ฝึกฝนให้เจ้าหน้าที่มีการสังเกต
-ติดตามสถานการณ์รอบข้างเสมอ
จากการเข้าร่วมอบรม/สัมมนาในครั้งนี้ ทำให้รู้สึกซาบซึ้งกับการทำงานที่เสียสละของตำรวจ (โดยเฉพาะตำรวจด้านการเก็บกู้ระเบิด) ทำให้ทราบว่าท่านตำรวจทั้งหลายได้ทำหน้าที่ เพื่อประชาชน โดยไม่รู้จักเหน็ดเหนื่อยและเสียสละชีวิต โดยไม่นึกกลัวอันตราย แต่คำนึงถึงความปลอดภัยของประชาชนก่อนเป็นหลักค่ะ
เมื่อได้เรียนรู้วิธีการป้องกัน และวิธีแก้ไขสภานการณ์ในบทความนี้แล้ว พวกเราต้องเริ่มต้นเป็นคนช่างสังเกตให้มากขึ้น และหากพบเห็นสิ่งผิดปกติหรืออยู่ในเหตุการณ์ที่ไม่ปกติ ต้องใจเย็นๆ และมีสติ  แจ้งเจ้าหน้าที่ตำรวจ อย่ากระทำการโดยขาดความไตร่ตรองหรือขาดสติ  เพราะอาจทำให้เหตุการณ์เลวร้ายลงกว่าเดิม อย่างไรก็ตาม ขอให้ทุกท่านปลอดภัยจากภยันตรายต่างๆ ค่ะ


อัพเดทล่าสุด