20 CEOs 20 Ideas MUSLIMTHAIPOST

 

20 CEOs 20 Ideas


575 ผู้ชม


20 CEOs 20 Ideas




วิชา พูลวรลักษณ์ patsornpop@majorcineplex.com

มาถึงงานเขียนชิ้นสุดท้ายของผมในระยะรอบเวลา 1 ปี ผมก็จะขอส่งท้ายกับหลักคิดตัวสุดท้ายเช่นกัน ที่ใช้ยึดเป็นหลักการบริหารธุรกิจของผม ซึ่งไม่มี ไบเบิล หรือ สูตรสำเร็จ แต่จะอาศัยยึดหลักคิด 4 ตัวหลักสำคัญ คือ Model, Scale, Leverage และ Strategy ซึ่งผมได้พูดถึงหลักคิดทั้ง 3 ตัวไปแล้ว ทั้ง Model หรือ Business Model และหลักคิดด้าน Scale รวมถึง Leverage ไปแล้วว่ามีความสำคัญอย่างไรบ้าง วันนี้ผมจะอธิบายถึงหลักคิดตัวสุดท้าย Strategy ในการทำธุรกิจตามสไตล์ของผมว่าเป็นอย่างไร

วงจรการบริหารธุรกิจจะมีลักษณะวงกลม เมื่อเดินมาครบทุกสูตรแล้ว ในที่สุดก็จะต้องกลับมาที่จุดเริ่มต้น คือ การวางกลยุทธ์ (Strategy) เป็นเหมือนการกลับมาทบทวนดูการบริหารของเราอีกรอบว่า กลยุทธ์ (Strategy) ธุรกิจที่เราทำอยู่ เป็นอย่างไรบ้าง มี ข้อดี-ข้อเสีย อย่างไร เพื่อจะหากลยุทธ์ใหม่ ๆ รูปแบบใหม่ ๆ ในการทำงาน

ในต่างประเทศเราจะเห็นองค์กรต่าง ๆ มีแผนก Strategic Planning เพื่อคอยเช็คสุขภาพธุรกิจขององค์กรนั้น ๆ ว่ายังมีกลยุทธ์ที่สามารถแข่งขันกับคู่แข่งได้หรือไม่ และเป็นหน่วยงานที่คอยวางแผนสอดส่อง หาช่องทางและโอกาสใหม่ ๆ เข้ามาเติมเต็มให้ธุรกิจ

สำหรับหลักคิด 3 ตัวแรก Model, Scale และ Leverage เรียกได้ว่าเป็น Fundamental เป็นเหมือนกับ Foundation ของเรา นั่นคือ การเริ่มต้นจากอะไร เมื่อถึงจุดหนึ่งยังมี Growth อยู่หรือไม่ ยังสามารถ Leverage ต่อไปได้หรือไม่ หลังจากนั้นต้องมาดูว่า Strategy เป็นอย่างไร

หลังจากนั้นคำถามก็จะวนกลับมาเป็นแบบเดิมว่า "เราจะหาอะไรใหม่ ๆ ให้ธุรกิจ"

หลายธุรกิจจะเดินตามหลักคิดนี้ เช่น ธุรกิจโรงแรม เมื่อเริ่มจากแบรนด์แรกแล้ว ก็มักจะแตกแบรนด์อื่นๆ ตามมาด้วย หลังจากนั้นก็เริ่มจับ Segmentation ถือเป็นเรื่องของ Strategy ไม่ใช่การ Leverage เช่นเดียวกับการทำธุรกิจประเภทหนึ่งและขยายไปทำอีกธุรกิจหนึ่ง ก็เป็นเรื่องของ Strategy เพื่อหายุทธศาสตร์ใหม่ ๆ เข้ามาเติมให้องค์กรเติบโตต่อไปในอนาคต และทำให้ธุรกิจที่เราดำเนินการอยู่มีอะไรใหม่ ๆ เข้ามาอยู่ตลอดเวลา

Strategy เป็นการ Rethink หรือ Focus ว่ายุทธศาสตร์ใดบ้าง ที่ได้เวลาต้องมาอัพเดทให้ก้าวทันสถานการณ์การทำธุรกิจ ซึ่งหลายองค์กรควรจะให้ความสำคัญกับหน่วยงาน Strategic Planning เมเจอร์ ซีนีเพล็กซ์ เองก็มีหน่วยงาน Strategic Planning ที่จะทำหน้าที่วิเคราะห์ตัวเลขต่าง ๆ ที่เปลี่ยนแปลงในธุรกิจที่เกี่ยวข้อง ศึกษาพื้นที่การขยายสาขาใหม่ ๆ วิจัยข้อมูลต่าง ๆ อยู่ตลอดเวลา

Strategy เป็นการคิดแบบเชิงกลยุทธ์ ที่สามารถคิดได้จากพื้นฐานธุรกิจเก่า และการพัฒนาธุรกิจใหม่

ในธุรกิจเก่าเมื่อบิซิเนส โมเดล มี Scale ที่เหมาะสมแล้ว และสามารถ Leverage การเติบโตได้ครบทุกช่องทางแล้ว และเมื่อเติบโตได้ถึงจุดหนึ่งก็ต้องคิดต่อว่าจะทำอย่างไร ซึ่งเป็นขั้นตอนของ Strategy ที่ถือว่าเป็น Step of Life ของธุรกิจ ที่ต้องคิดให้ต่อเนื่องกันไป เพื่อให้เกิดวงจรธุรกิจที่ยั่งยืน

Strategy ของเมเจอร์ ซีนีเพล็กซ์ คือ การกำหนดยุทธศาสตร์การเติบโตในธุรกิจใหม่ ๆ ที่จะทำกำไรนอกเหนือจาก การขายบัตรชมภาพยนตร์ ที่เป็นธุรกิจหลัก เช่น การร่วมทุนกับ บีอีซี เทโร บริหาร ไทยทิคเก็ตเมเจอร์, ขยายธุรกิจจัดจำหน่าย วีซีดี ดีวีดี เป็นต้น ทั้งหมดเป็นการทำธุรกิจให้ครบวงจรในอุตสาหกรรมนั้น ๆ และเป็นการสร้าง บิซิเนส โมเดล ที่จะทำงานได้ง่ายขึ้น เติบโตได้ง่ายขึ้น แข่งขันได้ง่ายขึ้น หากไม่ทำเช่นนี้ก็จะเป็นโมเดลที่เติบโตได้ลำบาก ทำธุรกิจต่อไปก็เสียเวลา

อีกตัวอย่างที่เป็น Strategy ของ เมเจอร์ ซีนีเพล็กซ์ ที่ได้เริ่มดำเนินการไปแล้ว คือ การร่วมเป็นพันธมิตรกับ บริษัท พีวีอาร์ ซีนีม่าร์ จำกัด (มหาชน) ประเทศอินเดีย เพื่อร่วมลงทุนในธุรกิจโบว์ลิ่ง, คาราโอเกะ, ลานสเกตน้ำแข็ง และเกมโซน ภายใต้แบรนด์ Blu-O Rhythm & Bowl ในอินเดีย เนื่องจากผมเห็นว่าอินเดียเป็นตลาดใหญ่ที่มีศักยภาพด้านการขยายตัวและการพัฒนาประเทศค่อนข้างสูงมาก ประกอบกับไลฟ์สไตล์ของผู้บริโภคของอินเดียนั้นมีศักยภาพที่เอื้อให้ธุรกิจไลฟ์สไตล์ เอ็นเตอร์เทนเมนท์ เติบโตได้ดีแห่งหนึ่ง

การขยายธุรกิจไปยังต่างประเทศ เพราะผมมองว่าตลาดไทยน่าจะมั่นคงในระดับหนึ่งแล้ว เมเจอร์ ซีนีเพล็กซ์ จึงต้องมองการ Leverage ประสบการณ์ในธุรกิจในตลาดอื่น ๆ ที่มีโอกาส จึงเริ่มวางกลยุทธ์ขยายธุรกิจไปในต่างประเทศ

และเมื่อมีการวางกลยุทธ์ (Strategy) ว่าจะไปขยายธุรกิจในต่างประเทศแล้ว ก็เริ่มต้นที่การกำหนด Business Model จากนั้นต่อไปจะเป็นขั้นตอนการทำ Scale และ Leverage เช่นเดียวกัน หลักคิดทั้ง 4 ตัวที่ผมใช้บริหาร เมเจอร์ ซีนีเพล็กซ์ ในประเทศไทย ก็จะนำไปใช้วางแผนในการบริหารธุรกิจในอินเดียด้วยเช่นกัน

งานเขียนของผมทั้งหมด 12 ชิ้น โดยเฉพาะ 4 ตอนล่าสุดที่ผมเขียนเกี่ยวกับ หลักคิด และประสบการณ์ในการบริหาร เมเจอร์ ซีนีเพล็กซ์ กว่า 12 ปีที่ผ่านมา จะเรียกว่าเป็น "เคล็ดวิชา" ที่ผมพัฒนาด้วยตัวเองจนปรากฏผลงานเป็นตัวอย่างให้ทุกท่านเห็นในวันนี้ หากจะเป็นประโยชน์ต่อผู้อ่าน และนักธุรกิจรุ่นใหม่ได้เกิดแรงบันดาลใจในการค้นหา Business Model ใหม่ ๆ ในการทำธุรกิจ และสามารถบริหารให้เติบโตยั่งยืนต่อไป ผมจะดีใจมากและขอเป็นกำลังใจให้ทุกคนครับ

+++++++++++++++++++++

วิชา พูลวรลักษณ์ ผู้บุกเบิกและสร้างนวัตกรรมธุรกิจเอ็นเตอร์เทนเมนท์ไลฟ์สไตล์ที่ประสบความสำเร็จให้กับประเทศไทยมาตลอดระยะเวลากว่า 12 ปี ปัจจุบันดำรงตำแหน่ง ประธานกรรมการบริหาร บริษัท เมเจอร์ ซีนีเพล็กซ์ กรุ้ป จำกัด (มหาชน) รวมทั้ง เป็นกรรมการฝ่ายกิจกรรมสมาชิก สมาคมนิสิตเก่าจุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย และเป็นกรรมการคณะที่ปรึกษา ตลาดหลักทรัพย์ เอ็ม เอ ไอ

อ่านข้อมูลย้อนหลังและแลกเปลี่ยนความคิดเห็นกับ CEO ที่

https://newsroom.bangkokbiznews.com/vicha

ที่มา ; bangkokbiznews.com


อัพเดทล่าสุด