การเผชิญหน้าในภาวะวิกฤต MUSLIMTHAIPOST

 

การเผชิญหน้าในภาวะวิกฤต


1,029 ผู้ชม


การเผชิญหน้าในภาวะวิกฤต




Post Today - ผ่านเข้ามาถึงช่วงไตรมาส 3 แล้ว คนทำงานเป็นอย่างไรกันบ้าง เชื่อแน่ว่าอาจจะเจอภาวะคล้ายๆ กัน คือ ทำงานเหมือนกับต้องเผชิญสภาพอากาศแปรปรวน แดดจัด ลมแรง ฝนกระหน่ำ ตั้งตัวกันไม่ค่อยติด แต่จะทำอย่างไรได้เมื่อเป็นมนุษย์งานแล้วก็ต้องผจญกันต่อไป เหตุวิกฤตเกิดขึ้นได้เสมอ อย่ากระนั้นเลยวันนี้มีเทคนิคดีๆ มาฝากกัน เพื่อให้สามารถนำไปประยุกต์ หรือตั้งรับกับสิ่งที่เกิดขึ้นหรืออาจจะเกิดขึ้นได้ ไม่เสียหลายถ้าจะอ่านบทความนี้เป็นข้อมูลไว้ เพราะความแน่นอนก็คือความไม่แน่นอน โดยในแต่ละแห่งนั้นผู้นำขององค์กรคือผู้มีบทบาทสำคัญในการที่จะเป็นแกนหลักเพื่อจะนำพาเพื่อนร่วมทีมฝ่าฟัน ขณะเดียวกันถ้าได้ลูกทีมที่พร้อมไปในทิศทางเดียวกัน ก็จะยิ่งทำให้ผ่านพ้นความวิกฤตได้

 การเผชิญหน้าในภาวะวิกฤต  ชาญวุฒิ เจียมลักษณไพศาล แห่ง APMConsulting บอกว่า เป็นการยากที่จะคาดการณ์ว่าภาวะวิกฤตจะเกิดขึ้นเมื่อไร แต่สิ่งหนึ่งที่จะเกิดขึ้นอย่างแน่นอนไม่ว่าช้าหรือเร็วนั้นก็คือ ความท้าทายที่ไม่พึงปรารถนาและไม่ได้คาดล่วงหน้าไว้ก่อน ไบรอัน เทรซี่ นักธุรกิจชื่อดังที่ประสบความสำเร็จทั้งด้านการงานและชีวิตส่วนตัวได้เขียนไว้ในหนังสือ Crunch Point : The 21 Secrets to Succeeding When It Matters Most (AMACOM, 2006) ว่า “จากการประมาณการ ทุกธุรกิจจะต้องเผชิญกับภาวะวิกฤตทุกๆ สองถึงสามเดือน และหากไม่สามารถรับมือกับภาวะวิกฤตดังกล่าวอย่างรวดเร็วและมีประสิทธิผล ก็อาจทำให้ความอยู่รอดของธุรกิจอยู่ในภาวะสั่นคลอนได้ นอกจากนี้คนเราเองก็ต้องเผชิญกับภาวะวิกฤตในทุกๆ สองถึงสามเดือนเช่นกัน ไม่ว่าจะเป็นเรื่องส่วนตัว การเงิน ครอบครัว หรือสุขภาพก็ตาม ซึ่งวิกฤตที่เกิดขึ้นอาจทำให้ท่านเสียศูนย์ไปได้เช่นกัน”

เทรซี่เรียกวิกฤตการณ์นี้ว่า “จุดกระทบ” และเขายังได้อธิบายต่อไปว่าการเผชิญหน้ากับความท้าทายนี้เท่านั้นที่จะช่วยให้เราเติบโตขึ้นและแสดงให้เห็นว่าเราแข็งแกร่งขนาดไหน วิธีการที่ท่านใช้รับมือกับภาวะวิกฤตจะเป็นสิ่งกำหนดความสำเร็จ สุขภาพและความสุขของท่าน เทรซี่เชื่อว่าเราสามารถเรียนรู้ที่จะรับมือกับความยากลำบากได้อย่างมีประสิทธิผล และมันก็จะนำไปสู่สติปัญญา ความมีวุฒิภาวะ (maturity) และท้ายที่สุดก็คือชัยชนะ

รับมือกับเรื่องร้ายอย่างไรให้ได้ผล

1.ทำใจให้เย็น หายใจเข้าลึกๆ และอย่าปล่อยให้ตัวเองหงุดหงิดหรือตกอยู่ในห้วงของความโกรธ ลดอารมณ์ร้อนลงด้วยการถามคำถาม รับฟังอย่างเอาใจใส่และคิดถึงทางออกที่เป็นไปได้เท่านั้น

2.มั่นใจในความสามารถของตนเอง เตือนตนเองเสมอว่าได้เคยผ่านการรับมือกับความยากลำบากต่างๆ มาแล้วในอดีต และก็สามารถรับมือกับปัญหานี้ได้เช่นเดียวกัน

3.กล้าที่จะก้าวไปข้างหน้า เหตุการณ์หรืออุปสรรค์ที่ไม่ได้คาดคิดมาก่อนมักจะทำให้ตกตะลึงจนทำอะไรไม่ถูก อย่าปล่อยให้ตนเองตกอยู่ในสถานการณ์เช่นนั้น ควรนึกหาวิธีที่สามารถลงมือปฏิบัติได้อย่างทันทีเพื่อแก้ไขสถานการณ์

4.เสาะหาข้อเท็จจริง เหตุการณ์ต่างๆ จะดูเลวร้ายเฉพาะเมื่อช่วงแรกที่ปัญหาเกิดขึ้นเท่านั้น ใช้เวลาตรวจสอบดูให้แน่ชัดว่าเกิดอะไรขึ้นก่อนที่จะทำการตัดสินใจ

5.เข้าไปดูแล รับผิดชอบต่อการรับมือกับภาวะวิกฤตอย่างมีประสิทธิผลอย่างเต็มที่ อย่ายึดติดกับอดีตที่ไม่สามารถเปลี่ยนแปลงได้ มุ่งเน้นไปที่สิ่งที่สามารถดำเนินการได้ในอนาคต

6.ลดการสูญเสีย นำการคิดแบบไม่มีข้อจำกัด (zero-based thinking) มาใช้และถามตนเองว่า “ถ้ารู้เรื่องทั้งหมดมาก่อนหน้านี้และมีโอกาสกลับไปเริ่มต้นที่จุดเดิมอีกครั้ง มีสิ่งใดบ้างที่จะไม่ทำหรือไม่เข้าไปข้องเกี่ยว” เตรียมพร้อมที่จะก้าวออกจากสถานการณ์ที่ไม่สามารถแก้ไขใดๆ ได้

7.พลิกวิกฤต นี่คือ “ช่วงเวลาทดสอบ” ที่มักจะเกิดขึ้นกับผู้นำและผู้ที่มีหน้าที่รับผิดชอบ ควรเข้าไปจัดการ วางแผนและแก้ไขปัญหา

8.สื่อสารสม่ำเสมอ แจ้งให้ทุกคนที่ได้รับผลกระทบจากภาวะวิกฤตว่ากำลังเกิดอะไรขึ้น เพื่อป้องกันไม่ให้เกิดความประหลาดใจ แจ้งและขอความช่วยเหลือจากทุกท่านทั้งภายในและภายนอกองค์กร

9.ระบุข้อจำกัดของตนเอง กำหนดเป้าหมายสำคัญสำหรับการแก้วิกฤติที่เกิดขึ้น ระบุปัจจัยสำคัญที่เป็นอุปสรรคต่อการบรรลุเป้าหมายนั้น และมุ่งเน้นไปที่การกำจัดอุปสรรคดังกล่าว

10.ปลดปล่อยพลังแห่งความคิดสร้างสรรค์ โดยสามารถเสาะหาทางออกสำหรับปัญหาที่เผชิญอยู่ได้ เขียนความคิดลงกระดาษ ระบุปัญหาให้ชัดเจน คิดถึงทางออกที่เป็นไปได้ให้มากที่สุดและดำเนินการตามนั้น

จัดการภาวะวิกฤตด้วยภาวะผู้นำที่เปี่ยมประสิทธิผล

 การเผชิญหน้าในภาวะวิกฤต  ฝึกมองการณ์ไกล หนึ่งในกลยุทธ์สำคัญสำหรับการประสบความสำเร็จทั้งในด้านธุรกิจและเรื่องส่วนตัวที่ผู้นำธุรกิจในหลายสาขานำไปใช้นั้นก็คือ “การคาดการณ์ถึงภาวะวิกฤต” การมองไปที่อีกสามเดือน หกเดือน เก้าเดือน หรืออีกหนึ่งปีข้างหน้า และถามตนเองว่า “มีสิ่งใดบ้างที่อาจจะเกิดขึ้นแล้วส่งผลให้ชีวิตยุ่งเหยิง” อย่าหลอกตัวเองหรือหวังว่าบางสิ่งบางอย่างจะไม่มีวันเกิดขึ้นอย่างแน่นอน บังคับตนเองให้จินตนาการถึงสถานการณ์ที่เลวร้ายที่สุด ไม่ว่าสถานการณ์นั้นมีแนวโน้มที่จะเกิดขึ้นหรือไม่ก็ตาม จากนั้นพิจารณาผลที่ตามมาหากเหตุการณ์นั้นๆ เกิดขึ้น

จัดทำแผนสำรองสำหรับกรณีฉุกเฉินว่าจะใช้วิธีการใดแก้ไขเมื่อเกิดความผิดพลาดขึ้น จะทำสิ่งใดก่อนหรือหลังและอย่างไร ลองคิดถึงสถานการณ์สมมติและแผนงาน โดยอธิบายถึงวิธีการรับมือหากเกิดภาวะวิกฤตขึ้น วิธีการคิดแบบประเมินสถานการณ์เช่นนี้ถือเป็นเครื่องมือที่ช่วยแก้ไขปัญหาได้เป็นอย่างดี หลังจากตรวจดูสถานการณ์และผลลัพธ์ที่แย่ที่สุดที่อาจจะเกิดขึ้นแล้ว ย้อนกลับมาพิจารณาสถานการณ์ในปัจจุบันและมุ่งเน้นไปที่การเตรียมพร้อมและการป้องกันไม่ให้เกิดความผิดพลาดขึ้นอีก

ดำเนินการทันที เมื่อสถานการณ์เลวร้ายที่สุดได้เกิดขึ้น อย่าปล่อยให้มันทำลายความเคารพตนเอง (self-esteem) หรือธุรกิจ ควบคุมความเสียหาย จำกัดการสูญเสีย ระวังเรื่องค่าใช้จ่ายให้มากที่สุด จากนั้นรวบรวมข้อมูลข้อเท็จจริงที่ไม่ใช่ข้อสันนิษฐานและสามารถยืนยันความถูกต้องได้ เข้าไปหาคนสำคัญที่เกี่ยวข้องและตั้งคำถามที่ควรถาม เช่น เกิดสิ่งใดขึ้น เหตุการณ์นั้นเกิดขึ้นเมื่อไรและเกิดขึ้นได้อย่างไร มีผู้ใดเกี่ยวข้องบ้าง เสาะหาให้แน่ชัดว่าท่านกำลังเผชิญกับสิ่งใด

แก้ไขปัญหา สั่งตนเองให้คิดถึงวิธีแก้ปัญหาเท่านั้น ไม่ใช่ผลที่จะเกิด ความเสียใจหรือการโต้แย้งกลับ คิดถึงแต่การดำเนินการ กำหนดขั้นตอนต่อไปที่จะดำเนินการและลงมือทำตามนั้น การลงมือตัดสินใจย่อมดีกว่าการไม่ทำสิ่งใดเลย พึงจำไว้ว่าทุกปัญหามีคำตอบ และหน้าที่ก็คือต้องเสาะหาคำตอบนั้น และส่วนใหญ่ทุกปัญหาก็จะมีทางออกในตัวของมันอยู่แล้ว

ป้องกันการเกิดภาวะวิกฤตซ้ำ ตามคำจำกัดความแล้ว ภาวะวิกฤตหมายถึงเหตุการณ์เชิงลบที่เกิดขึ้นเพียงครั้งเดียวโดยไม่ได้คาดการณ์มาก่อน เพื่อให้แน่ใจว่าภาวะวิกฤตจะไม่เกิดซ้ำขึ้นอีก หลังจากที่ได้แก้ไขปัญหาแล้ว ควรจะทำการอธิบายถึงปัญหานั้นอย่างละเอียดว่าเกิดอะไรขึ้น และปัญหานั้นเกิดขึ้นได้อย่างไร สามารถทำสิ่งใดได้บ้างเพื่อป้องกันไม่ให้เกิดปัญหานั้นซ้ำอีก นักวิจัยจากมหาวิทยาลัยสแตนฟอร์ดได้แสดงให้เห็นว่าผู้บริหารระดับสูงชั้นนำจำนวน 1,000 คน ได้กล่าวว่า ลักษณะการเป็นผู้นำที่สำคัญที่สุดนั้นก็คือความสามารถในการจัดการกับภาวะวิกฤต การบริหารจัดการภาวะวิกฤตที่มีประสิทธิผลและเป็นไปในลักษณะที่มั่นใจนั้นถือเป็นตัววัดความเป็นผู้นำอย่างแท้จริง

 

ที่มา : Bangkokpost.co.th

อัพเดทล่าสุด