นัยของวัฒนธรรมไทย ที่มีอิทธิพลต่อหลัก บริหารยุคใหม่ (จบ) MUSLIMTHAIPOST

 

นัยของวัฒนธรรมไทย ที่มีอิทธิพลต่อหลัก บริหารยุคใหม่ (จบ)


862 ผู้ชม


นัยของวัฒนธรรมไทย ที่มีอิทธิพลต่อหลัก บริหารยุคใหม่ (จบ)




โดย ดร.บุษกร วัชรศรีโรจน์ โครงการบัณฑิตศึกษา การพัฒนาทรัพยากรมนุษย์ สถาบันบัณฑิตพัฒนบริหารศาสตร์
ผลที่ได้จากการศึกษาลักษณะวัฒนธรรมนี้จะสามารถแสดงแนวทางในการปรับใช้หลักการบริหารและจัดการของทางตะวันตกให้มีประสิทธิผลในองค์การของไทย ซึ่งสามารถแบ่งออกเป็นหลักการบริหารจัดการใน 3 ด้านที่สำคัญได้ดังนี้
1)การสร้างแรงจูงใจ (motivation) ซึ่งทฤษฎีและแนวคิดในการสร้างแรงจูงใจต่อ ผู้ปฏิบัติงานของประเทศทางตะวันตกเช่นสหรัฐอเมริกาที่มีดัชนี uncertainty avoidance ที่ต่ำและดัชนี individualism ที่สูงจะให้ความสำคัญกับการสร้างโอกาสในการประสบความสำเร็จส่วนบุคคล ความมั่งคั่งและชื่อเสียงของผู้ปฏิบัติงาน ในขณะที่ในประเทศญี่ปุ่นซึ่งมีดัชนี uncertainty avoidance ที่สูงกว่าและดัชนี individualism ที่ต่ำกว่าการสร้างแรงจูงใจต่อผู้ปฏิบัติงานจะให้ความสำคัญกับความมั่นคงในอาชีพและความมั่งคั่งที่มาจากการทำงานหนัก
2)ภาวะผู้นำ (leadership) องค์ประกอบหลักของภาวะผู้นำในองค์การคือความสัมพันธ์ระหว่างผู้บังคับบัญชากับผู้ใต้บังคับบัญชา ซึ่งระดับและลักษณะความสัมพันธ์ระหว่างผู้บังคับบัญชาและผู้ใต้บังคับบัญชาที่เหมือนกันจะให้ผลลัพธ์การดำเนินการที่แตกต่างเมื่อนำไปใช้ในสังคมที่มีลักษณะวัฒนธรรมแตกต่างกัน ทฤษฎีภาวะผู้นำองค์การของสหรัฐอเมริกาพัฒนาขึ้นมาจากพื้นฐานวัฒนธรรมที่มีดัชนี power distance ระดับกลางและมีแนวคิดให้ ผู้ใต้บังคับบัญชามีส่วนร่วมในการตัดสินใจของผู้บังคับบัญชา โดยที่การริเริ่มสิ่งใหม่ (initiatives) ยังคงเป็นหน้าที่รับผิดชอบของผู้บังคับบัญชา ทฤษฎีนี้ให้ผลดีต่อองค์การในวัฒนธรรมของสหรัฐ แต่เมื่อนำไปใช้ในประเทศที่มีระดับ power distance ที่ต่ำกว่า เช่น นอร์เวย์ สวีเดน เยอรมนีและอิสราเอล พบว่ารูปแบบการบริหารเหล่านี้ไม่ให้ผลดีดังคาดหวัง (Hofstede, 2001 : 258)
3)การบริหารที่มุ่งเน้นเป้าประสงค์ (management-by-objectives) เป็นเทคนิคในการบริหารที่ใช้ผลงานที่สามารถวัดได้เป็นตัวกำหนดความสำเร็จของงานซึ่งเป็นแนวคิด ที่ริเริ่มโดย Peter Drucker และถูกพัฒนาต่อเนื่องไปยังหลักการบริหารจัดการสมัยใหม่ รวมทั้ง balanced scorecards ซึ่งการที่จะทำให้การดำเนินการเกิดผลสัมฤทธิ์ตามที่ต้องการได้ดีจะต้องมีลักษณะวัฒนธรรมที่เอื้อต่อการดำเนินการ ดังเช่น มีระดับ power distance ที่เหมาะสม ผู้ใต้บังคับบัญชาสามารถแสดงความคิดเห็นอย่างมีเหตุผลต่อ
ผู้บังคับบัญชาได้ หรือมีระดับ uncertainty avoidance ที่ไม่สูงนัก ทั้งผู้บังคับบัญชาและผู้ใต้บังคับบัญชามีความกระตือรือร้นที่จะคิดนอกกรอบไม่ยึดติดกับกฎระเบียบจนเกินไป เป็นต้น
เป็นที่น่าสนใจว่า ขณะที่การศึกษาความแตกต่างด้านลักษณะวัฒนธรรมของประเทศในกลุ่มประเทศตะวันตกและประเทศ
อุตสาหกรรมเป็นไปอย่างกว้างขวาง
การศึกษาถึงลักษณะวัฒนธรรมของประเทศกำลังพัฒนากลับมีอยู่อย่างจำกัด กล่าวสำหรับประเทศไทย การศึกษาด้านลักษณะวัฒนธรรมที่ผ่านมาพบว่าลักษณะวัฒนธรรมสำคัญของคนไทยที่โดดเด่นคือ (วงศ์ศรีรัตน์, 2519 : 307-311 ; ช่างเรียน, 2538 :
108-118 ; รูปขำดี และคุณคณากรสกุล, 2544 : 83)
หนึ่ง ความเป็นปัจเจกบุคคลสูง เน้นการพึ่งตัวเอง ไม่ชอบการรวมกลุ่ม
สอง ความรู้สึกมักน้อยไม่ทะเยอทะยาน
สาม เคารพเชื่อฟังอำนาจ ยกย่องความเป็นผู้ใหญ่
สี่ สุขนิยม เน้นการบริโภคนิยมการทำงานน้อยหวังผลมาก
ห้า ความเป็นมิตร เอื้อเฟื้อ ให้ความช่วยเหลือซึ่งกันและกัน
นอกจากนี้ ยังมีการศึกษาด้านลักษณะวัฒนธรรมไทยในเชิงวิจัยที่เป็นไปในมุมมองที่หลากหลายดังนี้ การศึกษา สิ่งที่สำคัญต่อความพึงพอใจต่องานของผู้บริหารไทย (Swerczek, 1988) การศึกษาคุณค่าและลักษณะวัฒนธรรมของชนกลุ่มน้อยทางภาคใต้ของไทย (Gentry, et al., 1995) การศึกษาลักษณะวัฒนธรรมโดยรวมในด้านการกระจาย อำนาจและบทบาทของสถาบันครอบครัวของกลุ่มประเทศเอเชียใต้ ซึ่งรวมประเทศไทยไว้ในกลุ่มด้วย (Gupta, et al., 2002) การศึกษาผลของการปรับใช้หลักการบริหารของญี่ปุ่นในองค์การที่มีลักษณะวัฒนธรรมของไทย (Swierczek and Onishi, 2003) การศึกษาระดับการกระจายอำนาจของผู้บริหารไทยและผลลัพธ์ของการกระจายอำนาจต่อระดับความเครียดของ ผู้บริหารและผลสำเร็จของงาน (Bakalis and Joiner, 2003)
จากความที่กล่าวมาข้างต้น จะเห็นว่าการศึกษาลักษณะวัฒนธรรมของไทยที่กล่าวมานั้น โดยมากเป็นการศึกษาลักษณะวัฒนธรรมขององค์การเอกชนและเป็นไปเพื่อการหาความสัมพันธ์ของลักษณะวัฒนธรรมกับประเด็นเฉพาะที่สนใจ เช่น ความพึงพอใจต่องาน ผลการดำเนินงาน และระบบสารสนเทศ
แต่ไม่มีการวัดและวิเคราะห์ลักษณะของวัฒนธรรมขององค์การภาครัฐ รัฐวิสาหกิจ เอกชนของประเทศในลักษณะเปรียบเทียบระหว่างองค์การและเปรียบเทียบกับนานาประเทศ เพื่อวิเคราะห์ลักษณะวัฒนธรรมที่แตกต่างกันเพื่อเสนอแนวทางการปรับใช้หลักการบริหารจัดการของทางตะวันตกที่นำมาใช้ให้เหมาะสมสอดคล้องกับลักษณะวัฒนธรรมของไทย
ซึ่งภายใต้กระแสของการนำหลักการบริหารจัดการตะวันตกมาใช้อย่างแพร่หลาย ทั้งองค์การของภาครัฐ รัฐวิสาหกิจและเอกชน การศึกษาวิเคราะห์ถึงลักษณะวัฒนธรรมขององค์การภาครัฐ รัฐวิสาหกิจและเอกชน ในลักษณะดังกล่าวจึงมีความจำเป็นและจะเป็นประโยชน์ต่อการพัฒนาประสิทธิภาพและประสิทธิผลขององค์การของประเทศต่อไป
หน้า 52

 

ที่มา :  หนังสือพิมพ์ประชาชาติธุรกิจ

อัพเดทล่าสุด