https://lentera.uin-alauddin.ac.id/question/gratis-terlengkap/https://old-elearning.uad.ac.id/gampang-menang/https://fk.ilearn.unand.ac.id/demo/https://elearning.uika-bogor.ac.id/tanpa-potongan/https://e-learning.iainponorogo.ac.id/thai/https://organisasi.palembang.go.id/userfiles/images/https://lms.binawan.ac.id/terbaik/https://disperkim.purwakartakab.go.id/storage/https://pakbejo.jatengprov.go.id/assets/https://zonalapor.fis.unp.ac.id/-/slot-terbaik/https://sepasi.tubankab.go.id/2024tte/storage/http://ti.lab.gunadarma.ac.id/jobe/runguard/https://satudata.kemenpora.go.id/uploads/terbaru/
มองมุมใหม่ - Temps : กับจุดหักเหการจ้างงานของโลก MUSLIMTHAIPOST

 

มองมุมใหม่ - Temps : กับจุดหักเหการจ้างงานของโลก


644 ผู้ชม


มองมุมใหม่ - Temps : กับจุดหักเหการจ้างงานของโลก




Temps ที่กล่าวถึงในหัวข้อนี้นั้น เป็นคำย่อยอดนิยมมาจากคำว่า Temporary Workers หรือ พนักงานชั่วคราวนั่นเอง ซึ่งในอดีตนั้น การจ้างงานแบบชั่วคราวไม่ค่อยเป็นที่นิยมนัก เนื่องจากจะขัดกับหลักการของการสร้างความมั่นคงในการทำงานให้กับลูกจ้าง รวมถึงขัดกับกฎหมายแรงงานในหลายๆ ประเทศทั่วโลก ที่ต้องการคุ้มครองแรงงานลูกจ้างอีกด้วย ดังนั้น เท่าที่ผ่านมา รูปแบบการจ้างงานที่นิยมมากที่สุดคือ การจ้างงานระยะยาวตลอดชีพ หรือ Lifetime Employment นั่นเองครับ

แต่มาในวันนี้ กระแสสังคมที่เปลี่ยนแปลงไป เริ่มพัดพาให้สิ่งต่างๆ ปรับเปลี่ยนไปเช่นกัน โดยโลกแห่งการจ้างงานแบบตลอดชีพนั้น กลับได้รับความนิยมน้อยลงไปมาก และการใช้สัญญาจ้างชั่วคราวกลับมีบทบาทในระบบเศรษฐกิจมากขึ้นเรื่อยๆ แม้แต่ในโซนประเทศที่ครั้งหนึ่ง เคยได้รับสมญานามว่า มีกฎหมายคุ้มครองแรงงานที่แข็งแกร่งที่สุดในโลก คือ ยุโรป

ที่การจ้างและเลิกจ้าง มิได้กระทำอย่างง่ายดาย รวมถึงต้องมีการจ่ายเงินชดเชยจำนวนมหาศาล และเป็นกลุ่มประเทศที่มีสหภาพแรงงานที่มีอิทธิพลมากที่สุดในโลกแห่งหนึ่ง แต่ในวันนี้ ยุโรปเองกลับต้องปรับเปลี่ยนแนวคิดของตนอย่างมากเช่นกัน

เริ่มจากสเปนที่มีการสัดส่วนของแรงงานที่เป็นชั่วคราวนี้สูงที่สุดในยุโรปปัจจุบัน โดยจากสถิตินั้น มีพนักงานชั่วคราวถึงหนึ่งในสามของแรงงานทั้งหมดเลยทีเดียว ซึ่งสเปนเองก็ระบุถึงเหตุผลที่ต้องมีการเปลี่ยนแปลงขนาดนี้ เนื่องมาจากสภาวะเศรษฐกิจที่บีบรัดตัว จนทำให้ในอดีตนั้น อัตราการว่างงานของประชากรสเปนเคยพุ่งไปสูงสุดถึง 25% ซึ่งเป็นภาระหนักของรัฐบาลและเป็นต้นเหตุของปัญหาทางสังคมตามมาอีกมากมาย

การปรับเปลี่ยนกฎหมายแรงงานให้ยืดหยุ่นขึ้นและสามารถจ้างงานในลักษณะสัญญาระยะสั้นได้ เป็นมาตรการหนึ่งที่จะทำให้สัดส่วนการจ้างงานสูงขึ้นอย่างรวดเร็ว เพราะภาระต้นทุนของนายจ้างลดลง ไม่ต้องรับผิดชอบด้านสวัสดิการบำเหน็จบำนาญมากมัก รวมถึงมีความยืดหยุ่นมากขึ้นกับธุรกิจ หากตนประสบปัญหาทางด้านผลประกอบการ ก็สามารถลดจำนวนคนงานดังกล่าวได้โดยไม่ยากลำบากเหมือนแต่ก่อน นายจ้างจึงกล้าที่จะจ้างงานเพื่อขยายธุรกิจมากขึ้น อันนำมาสู่การขยายตัวทางเศรษฐกิจที่สูงขึ้นตามมานั่นเอง

ทำให้อัตราการว่างงานของสเปนลดต่ำลงมาเหลือเพียง 8% เท่านั้น ต่ำกว่าค่าเฉลี่ยของเพื่อนบ้านในอียูพอสมควร อีกทั้งสเปนยังกลายเป็นประเทศที่มีการสร้างงานสูงสุดในอียูในช่วงที่ผ่านมาอีกด้วย

นอกจากสเปนแล้ว หลายประเทศก็เริ่มปรับเปลี่ยนทิศทางการจ้างงานเช่นกัน อาทิ ฝรั่งเศส เยอรมนี อิตาลี ซึ่งสัดส่วนของพนักงานชั่วคราวได้เพิ่มขึ้นเป็น 12% ของการจ้างงานทั้งหมดแล้ว โดยสำนักงานจัดหางานแบบชั่วคราวได้เพิ่มจำนวนขึ้นเป็นดอกเห็ดในแต่ละประเทศดังกล่าว ซึ่งบริษัทจัดหางานเหล่านี้ ก็มีปริมาณธุรกิจเพิ่มสูงขึ้นมาก ถึงขนาดที่ว่ามีรายรับในปีที่ผ่านมานับหมื่นๆ ล้านบาททีเดียว

อย่างไรก็ตาม แม้ว่าการใช้ระบบการจ้างงานแบบชั่วคราว จะทำให้เห็นผลดีอย่างทันทีทันใดเกี่ยวกับการจ้างงานต่างๆ แต่ก็นับว่ามีความเสี่ยงที่ควรต้องระวังมากเช่นกันครับ เนื่องจากการจ้างงานลักษณะนี้ จะทำให้ความมั่นคงในการทำงานของพนักงานลดลงอย่างแน่นอน ส่งผลกระทบต่อขวัญกำลังใจและการทุ่มเทในการทำงานของบุคลากรมาก รวมถึงความภักดีต่อกิจการลดลง จนแทบไม่มีเลยทีเดียว เนื่องจากไม่แน่ใจว่าอีกสองสามเดือนข้างหน้า ตนเองจะไปอยู่ที่ไหนอีก

โดยในกรณีหนึ่งของพนักงานฝรั่งเศสที่ทำงานอยู่ในระบบการจ้างงานแบบชั่วคราวนี้ และผ่านการต่อสัญญาการจ้างงานระยะสั้นถึง 574 ครั้ง เป็นระยะเวลารวมทั้งหมด 19 ปี จนกระทั่งเริ่มสูงอายุและหางานต่อไปได้ยากขึ้น ตลอดจนค่าจ้างก็แทบมิได้เพิ่มเติมไปจากเดิมเท่าไรนัก ทักษะที่มีก็จำกัดเนื่องจากเป็นการทำงานระยะสั้น ขาดการพัฒนาทักษะอย่างต่อเนื่อง ทำให้ความมั่นคงของพนักงานคนนี้แทบจะไม่มีในระยะยาว

นอกจากนี้ ทางด้านของกิจการเช่นกัน การลงทุนในบุคลากรขนานใหญ่ โดยเฉพาะการฝึกอบรม การส่งเสริมด้านการพัฒนาทักษะและศึกษาต่อ ต้องเรียกว่าลดลงจนเกือบจะหายหมดไปเลย เพราะเหตุผลที่ใกล้เคียงกัน ทำให้โอกาสในการพัฒนาคุณภาพของทรัพยากรมนุษย์ของทั้งกิจการและของประเทศลดลง จนส่งผลถึงประสิทธิภาพในการดำเนินงานโดยรวมของประเทศได้ในอนาคต

และแม้ว่าการเปลี่ยนไปเน้นการจ้างงานแบบชั่วคราวนี้ จะสามารถทำให้ลดต้นทุนค่าใช้จ่ายของกิจการในระยะสั้นไปได้ แต่แน่นอนว่า จะส่งผลถึงภาระที่สูงขึ้นอย่างมากของรัฐบาลในระยะยาว เนื่องจากต้นทุนทางสังคมของประเทศจะพุ่งทะยานขึ้น ไม่ว่าจะเป็นค่าใช้จ่ายทางสาธารณสุข ค่าใช้จ่ายทางด้านการศึกษาพัฒนา ค่าใช้จ่ายในการดูแลพนักงานหลังการเลิกจ้าง ฯลฯ ซึ่งเป็นสิ่งที่ยังไม่ได้คิดคำนวณไปในการปรับเปลี่ยนนโยบายการจ้างงานนี้

ดังนั้น การปรับแนวทางการจ้างงานมาเป็นการจ้างงานแบบชั่วคราวนี้ เริ่มส่อเค้าลางให้เห็นความยุ่งยากในระยะยาวเช่นกันครับ โดยขณะนี้ เริ่มมีการประท้วงเกิดขึ้นในหลายๆประเทศของยุโรปแล้ว เพื่อให้พิจารณาแนวทางที่เหมาะสมมากที่สุด และสร้างความมั่นคงกับสังคมด้วย โดยหลายๆ ประเทศเริ่มที่จะวิเคราะห์มองหาทั้งข้อดีข้อเสียของแนวคิดดังกล่าว และพยายามหาทางสายกลางที่ดีที่สุด ที่ให้ทั้งความยืดหยุ่นต่อธุรกิจและความมั่นคงต่อพนักงาน

โดยอาจจะมีการกำหนดแนวทางว่า หากพนักงานชั่วคราว ทำงานมาเกิน 24-30 เดือนติดต่อกัน หรือมีการต่อสัญญาการจ้างงานแบบชั่วคราวเกินสองปี ก็ต้องปรับเปลี่ยนไปเป็นการจ้างงานแบบระยะยาวถาวรแทน หรือรัฐบาลอาจจะเริ่มมีมาตรการจูงใจให้กับนายจ้าง โดยให้ภาษีและเงินสนับสนุนในการจูงใจ หรือแม้แต่กำหนดสัดส่วนของพนักงานแบบถาวรในกิจการว่าต้องมีอย่างน้อยเป็นสัดส่วนเท่าไร เพื่อไม่ให้กิจการปรับไปมุ่งเน้นพนักงานชั่วคราวเป็นส่วนใหญ่ เป็นต้น

ดังจะเห็นแล้วว่า การใช้นโยบายการจ้างงานแบบชั่วคราวนั้น มีประโยชน์มาก แต่ก็มีความเสี่ยงมากที่อาจจะตามมาเช่นกัน ดังนั้น จึงควรจะใช้เป็นมาตรการส่วนหนึ่งในการกระตุ้นการจ้างงานในระยะสั้นถึงกลาง แต่ในระยะยาวแล้ว ความมั่นคงทางสังคมของประชากรทั้งหมด น่าจะเป็นสิ่งที่พิจารณาเป็นลำดับแรก เพื่อเพิ่มคุณภาพและสวัสดิภาพของทรัพยากรมนุษย์ในสังคมครับ

ผศ.ดร.ธีรยุส วัฒนาศุภโชค

คณะพาณิชยศาสตร์และการบัญชี จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย

อัพเดทล่าสุด