การร่วมงานระหว่างรัฐ-เอกชน ความท้าทายการบริหารงานบนความแตกต่าง MUSLIMTHAIPOST

 

การร่วมงานระหว่างรัฐ-เอกชน ความท้าทายการบริหารงานบนความแตกต่าง


2,466 ผู้ชม


การร่วมงานระหว่างรัฐ-เอกชน ความท้าทายการบริหารงานบนความแตกต่าง




คอลัมน์ hr corner
โดย ดร.ณัฐวุฒิ พงศ์สิริ nutavootp@chevron.com บริษัท Chevron Thailand Exploration and Production
ปัจจุบันองค์กรทั้งภาครัฐและเอกชนต้องเผชิญกับปัญหา และความท้าทายคล้ายๆ กัน ทำให้บทบาทหน้าที่รวมทั้งความรับผิดชอบ ดูจะไม่ค่อยแตกต่างกันมากเหมือนในอดีต ขณะที่ภาคเอกชนต้องหันมาให้ความสนใจในเรื่องธุรกิจเพื่อสังคมนอกเหนือจากมุ่งแสวงหาผลกำไรแต่เพียงอย่างเดียว องค์กรของรัฐก็ต้องคำนึงถึงต้นทุนไปพร้อมๆ กับการรักษามาตรฐานการให้บริการสาธารณะที่ต้องกระจายอย่างทั่วถึงและเป็นธรรม
อย่างไรก็ตาม ถ้าพิจารณาศึกษาเปรียบเทียบการบริหารจัดการจากงานวิจัยต่างๆ จะพบว่าองค์กรของรัฐและเอกชน ยังคงมีความแตกต่างกันในหลายประเด็น ซี่งเป็นเรื่องที่ท้าทายในการที่ทั้งสององค์กรต้องมาทำงานร่วมกันในลักษณะของพันธมิตรทางธุรกิจ (public-private partnerships)
ความแตกต่างที่ค่อนข้างชัดเจนคือ เป้าหมายองค์กร (organizational goals) ความรับผิดชอบต่อผู้มีส่วนได้-เสีย (stakeholder accountability) หน้าที่การบริหารจัดการ (managerial functions) กระบวนการการตัดสินใจ (decision making process) และโครงสร้างผล ตอบแทนเพื่อสร้างแรงจูงใจ (incentive structure)
ความแตกต่างดังกล่าวมีที่มาจากเงื่อนไข สิ่งแวดล้อม โครงสร้าง และวัฒนธรรมองค์กร รวมทั้งการจัดลำดับความสำคัญของประเด็นปัญหาสำหรับการแก้ไขที่แตกต่างกัน
เอกชนมีเป้าหมายองค์กร (organizational goals) ที่ชัดเจนคือ มุ่งแสวงหา ผลกำไร การดำเนินธุรกิจจะตอบสนองต่อเป้าหมายดังกล่าว เช่น มุ่งเพิ่มส่วนแบ่งทางการตลาด ขยายธุรกิจและการลงทุน เพิ่มประสิทธิภาพและความสามารถในการแข่งขัน พัฒนาสินค้าและบริการด้วย นวัตกรรมใหม่ๆ อย่างต่อเนื่อง
ในขณะที่ภาครัฐมีเป้าหมาย
องค์กรที่หลากหลายและซับซ้อนบนพื้นฐานของการจัดสรรประโยชน์สาธารณะอย่างเสมอภาค ภาครัฐจึงให้ความสำคัญกับการสร้างความอยู่ดีกินดี การรักษาเสถียรภาพทางเศรษฐกิจ การกระจาย
รายได้ การแข่งขันที่เป็นธรรม การดูแลรักษาสิ่งแวดล้อมและความมั่นคงในสังคม รวมทั้งการบริหารจัดการที่โปร่งใสตรวจสอบได้
ในส่วนของความรับผิดชอบต่อผู้มี ส่วนได้-เสีย (stakeholder accoun tability) เอกชนจะให้ความสำคัญกับผู้ถือหุ้นเป็นหลัก การช่วยเหลือสังคมและการปฏิบัติตามกฎหมายเป็นความรับผิดชอบที่มีขอบเขตจำกัดและดำเนินไปเพื่อให้สอดคล้องกับการทำธุรกิจ
ในขณะที่องค์กรภาครัฐเองมีหน้าที่ ต้องดูแลสังคม สิ่งแวดล้อม ความเสมอภาคและเสรีภาพ รวมทั้งต้องรักษาประโยชน์ของประชาชนในฐานะของผู้เสียภาษีให้ได้รับความสะดวกและเป็นธรรม จากการใช้บริการสาธารณะ ทั้งนี้ความรับผิดชอบจะถูกตรวจสอบโดยสื่อและองค์กรต่างๆ อยู่ตลอดเวลา
เอกชนสามารถประเมินต้นทุนในการดำเนินงานได้ง่ายกว่าภาครัฐ การบริหารจัดการ (managerial functions) จึงมุ่งเน้นในเรื่องประสิทธิภาพและการสร้างความสามารถในการแข่งขันในเชิงธุรกิจมากกว่าการปฏิบัติให้ตรงตาม ขั้นตอนเหมือนกับในกรณีขององค์กรในภาครัฐ อีกทั้งการตัดสินใจของภาครัฐเองยังต้องคำนึงถึงผลกระทบต่อกลุ่มต่างๆ ทั้งฝ่ายการเมือง กลุ่มผลประโยชน์ ประชาชน ผู้ด้อยโอกาส รวมถึงความสัมพันธ์ระหว่างประเทศ ทำให้กระบวนการการตัดสินใจ (decision making process) มีลักษณะรวมศูนย์ ต้องอาศัยหลักปฏิบัติ ที่ชัดเจน ทำให้บางครั้งขาดความรวดเร็ว ไม่ยืดหยุ่นและไม่สนองตอบต่อการเปลี่ยนแปลงในขณะเดียวกันกระบวนการการตัดสินใจก็ถูกแทรกแซง ได้ง่ายจากฝ่ายต่างๆ
โครงสร้างผลตอบแทนเพื่อสร้างแรงจูงใจ (incentive structure) ในองค์กรเอกชนจะเน้นที่ตัวเงินเดือนหรือผลประโยชน์พิเศษนอกเหนือจากตัวเงินเดือน (fringe benefits) ซึ่งสอดคล้องกับการที่เอกชนสามารถสรรหาบุคลากรได้คล่องตัวกว่าภาครัฐ เพราะสามารถเสนอผลตอบแทนที่เหมาะสมกับศักยภาพของบุคลากรและตรงกับความต้องการของตลาดแรงงานที่แท้จริง
ส่วนภาครัฐจะให้น้ำหนักแรงจูงใจกับพนักงานในเรื่องขอบเขตอำนาจและความรับผิดชอบเป็นประการสำคัญ หน้าที่ที่สามารถใช้ดุลพินิจให้คุณให้โทษได้ ความมั่นคงในงาน รวมถึงการมีโอกาสร่วมในพิธีการที่สำคัญในฐานะตัวแทนขององค์กรหรือตัวแทนของประเทศ
และแรงจูงใจสำหรับพนักงานที่ทั้งภาครัฐและเอกชนให้ความสำคัญเหมือนกันนั่นคือ การสร้างโอกาสให้มีการเลื่อนขั้นเลื่อนตำแหน่งของพนักงานตามระดับความสามารถที่เกิดจากประสบการณ์ในการทำงานมายาวนาน รวมทั้งการจัดฝึกอบรมเพื่อพัฒนาความรู้และทักษะในการทำงานอย่างต่อเนื่อง
เรียกว่าการบริหารในภาครัฐยังอยู่ภายใต้กรอบของกฎหมายและระเบียบต่างๆ มากมาย ภาครัฐจำเป็นต้องปรับเปลี่ยน รูปแบบจากการปฏิบัติตามกฎระเบียบอย่างเคร่งครัด รวมทั้งการวางบทบาทตนเองในฐานะผู้ควบคุมมาเป็นการยึดหลักการบริหารงานที่เน้นการกำกับดูแลที่ดี (good governance) และกำหนดบทบาทใหม่ในลักษณะของการเป็นหุ้นส่วนทางสังคมหรือพันธมิตรทางธุรกิจ (partnerships) มากกว่าบทบาทการเป็นผู้ควบคุม ขณะเดียวกันก็ต้องเปิดกว้างยอมรับแนวความคิดและวิธีการบริหารจัดการของภาคธุรกิจเอกชนให้มากขึ้น
การร่วมงานระหว่างภาครัฐและเอกชนจะประสบผลสำเร็จได้นั้น ทั้งสองฝ่ายจำเป็นที่จะต้องเข้าใจเงื่อนไข ข้อจำกัด สิ่งแวดล้อมและวัฒนธรรมองค์กรที่ทำให้เกิดความแตกต่าง
การเพิ่มช่องทางการสื่อสารระหว่างกัน ทั้งระหว่างบุคลากรและองค์กรโดยรวม จะสร้างความเข้าใจในการทำงานของ แต่ละฝ่ายให้มากขึ้น และยังเสริมสร้าง ทัศนคติที่ดีต่อกันแม้ว่าความแตกต่างยังคงมีอยู่
ดังนั้น ทั้งภาครัฐและเอกชนจำเป็นต้องเรียนรู้ที่จะปรับตัวเข้าหากันจึงจะทำให้การร่วมงานของทั้งสองฝ่ายประสบผลสำเร็จ
หน้า 31

โดย : matichon.co.th

อัพเดทล่าสุด