โครงกระดูกมนุษย์โบราณ โครงกระดูกโบราณ ระบบโครงกระดูกของมนุษย์ MUSLIMTHAIPOST

 

โครงกระดูกมนุษย์โบราณ โครงกระดูกโบราณ ระบบโครงกระดูกของมนุษย์


605 ผู้ชม


โครงกระดูกมนุษย์โบราณ โครงกระดูกโบราณ ระบบโครงกระดูกของมนุษย์
การวิเคราะห์โครงกระดูกมนุษย์และประเพณีการฝังศพ
วิทยานิพนธ์เรื่อง การวิเคราะห์โครงกระดูกมนุษย์และประเพณีการฝังศพ
ที่แหล่งโบราณคดีปราสาทพนมวัน อำเภอเมือง จังหวัดนครราชสีมา 
โดย นางสาวนวรัตน์ แก่อินทร์
สาขาวิชาโบราณคดีสมัยก่อนประวัติศาสตร์
ภาควิชาโบราณคดี บัณฑิตวิทยาลัย
มหาวิทยาลัยศิลปากร ปีการศึกษา 2542 
ผู้ควบคุมวิทยานิพนธ์ ศาสตราจารย์ ดร.สุรินทร์ ภู่ขจร
ประพิศ พงษ์มาศ
ดร.สุภาพร นาคบัลลังค์
 


บทคัดย่อ
งานวิจัยชิ้นนี้เน้นการวิเคราะห์โครงกระดูกมนุษย์และประเพณีการฝังศพที่ปราสาทพนมวัน อำเภอเมือง จังหวัดนครราชสีมา โดยมีวัตถุประสงค์เพื่อศึกษาเรื่องราวของชุมชนโบราณก่อนการสร้างปราสาทพนมวัน ในช่วงเวลา 2 สมัย คือ สมัยที่ 1 ประมาณก่อน 370 ปีก่อนคริสตกาล ถึง 1,400 ปีก่อนคริสตกาล จากกาdกำหนดอายุแบบสัมบูรณ์ด้วยวิธี Accelerator Mass Spectrometry การศึกษาโครงกระดูกมนุษย์ในครั้งนี้แบ่งออกเป็นสองแนวทาง คือ ศึกษาด้านมานุษยวิทยากายภาพ โดยการสังเกตและอธิบายลักษณะทางกายภาพด้วยตาเปล่า ร่วมกับแนวทางการศึกษาด้านมานุษยวิทยาวัฒนธรรม เพื่อศึกษาเรื่องประเพณีการฝังศพภายในแหล่ง รวมทั้งการศึกษาเปรียบเทียบกับแหล่งโบราณคดีในบริเวณใกล้เคียง
จากการขุดค้นแหล่งโบราณคดีซึ่งอยู่บริเวณระหว่างปราสาทประธานและปรางค์น้อยในปี พ.ศ. 2540 และบริเวณโคปุระตะวันออกในปี พ.ศ. 2535 พบว่ากลุ่มโครงกระดูกที่ศึกษา 7 โครง เป็นผู้ใหญ่มีทั้งเพศชายและเพศหญิงอายุเมื่อตายอยู่ในระหว่าง 30-40 ปี และมีความสูงเฉลี่ยประมาณ 162-171 เซนติเมตร จากโครงกระดูกทั้งหมดสามารถศึกษากะโหลกศีรษะได้เพียง 2 กะโหลก ปรากฏลักษณะมองโกลอยด์ และมีลักษณะที่ไม่แตกต่างไปจากคนไทยปัจจุบัน อีกทั้งผลการวิเคราะห์พยาธิสภาพที่ปรากฏในกลุ่มโครงกระดูก พบว่ามีโรคฟันผุ โรคปริทันต์หรือโรคเยื้อหุ้มฟันอักเสบ และพบการเสื่อมของกระดูก
นอกจากนี้ได้ศึกษาเปรียบเทียบประเพณีการฝังศพในบริเวณ 3 บริเวณ คือ บริเวณระหว่างปราสาทประธานและปรางค์น้อย ปี พ.ศ. 2540 บริเวณโคปุระตะวันออกปี พ.ศ. 2535 และการขุดค้นภายในโคปุระตะวันตกปี พ.ศ. 2536 ผลการศึกษาพบว่า รูปแบบพิธีกรรมและความเชื่อในเรื่องความตายของชุมชนในแหล่งโบราณคดีปราสาทพนมวันทั้งสมัยที่ 1 และสมัยที่ 2 มีความคล้ายคลึงกัน ภาพรวมของรูปแบบพิธีกรรมทั้งสองสมัยมีการจัดวางศพ 3 ลักษณะ คือ นอนหงายเหยียดยาว ฝังศพครั้งที่ 2 และบรรจุศพเด็กในภาชนะดินเผา มีการมัดและห่อศพก่อนการฝัง ตลอดจนมีการอุทิศสิ่งของเครื่องใช้และเครื่องประดับให้ผู้ตายนอกจากนั้นยังมีการทุบภาชนะดินเผาปูรองศพหรือวางร่วมกับศพ แต่ไม่สามารถกำหนดทิศทางการหันศีรษะแน่นอนได้
ดังนั้นเมื่อสรุปผลการวิเคราะห์โครงกระดูกประกอบกับผลการศึกษาประเพณีการฝังศพ พบว่าทั้งสองสมัยมีการอาศัยต่อเนื่องกันมา ผลจากการศึกษาลักษณะทางกายภาพของโครงกระดูกมีความคล้ายกันซึ่งสัมพันธ์กับผลการศึกษาประเพณีการฝังศพที่มีรูปแบบพิธีกรรมและความเชื่อในเรื่องความตายที่คล้ายคลึงกัน ทั้งภายในแหล่งโบราณคดีเดียวกันและแหล่งโบราณคดีบริเวณใกล้เคียง อนึ่งผลจากการวิเคราะห์โครงกระดูกมนุษย์และประเพณีการฝังศพที่ปราสาทพนมวัน สามารถใช้เป็นข้อมูลที่เป็นประโยชน์อย่างมากในการศึกษาแหล่งโบราณคดีอื่นๆ ที่มีการอยู่อาศัยในลักษณะเดียวกันกับแหล่งโบราณคดีปราสาทพนมวัน

แหล่งที่มา : vcharkarn.com

อัพเดทล่าสุด