โรครูมาตอยด์ การรักษา อาการของโรครูมาตอยด์ สาเหตุโรครูมาตอยด์ MUSLIMTHAIPOST

 

โรครูมาตอยด์ การรักษา อาการของโรครูมาตอยด์ สาเหตุโรครูมาตอยด์


681 ผู้ชม


โรครูมาตอยด์ การรักษา อาการของโรครูมาตอยด์ สาเหตุโรครูมาตอยด์

 

โรคข้ออักเสบรูมาตอยด์
     
 

โรคข้ออักเสบรูมาตอยด์คืออะไร
โรคข้ออักเสบรูมาตอยด์ เป็นโรคข้ออักเสบเรื้อรังที่รุนแรงและสร้างความทรมานต่อผู้ป่วยเป็นเวลาหลาย ๆปี และถ้าได้รับการรักษาที่ไม่ถูกต้องหรือช้าเกินไป สมรรถภาพของข้อจะเสียไป เกิดความพิการซึ่งบางครั้งไม่สามารถแก้ไขได้ 
โรคข้ออักเสบรูมาตอยด์เป็นได้กับทุกเชื้อชาติส่วนใหญ่เป็นในชาวผิวขาวพบได้ทุกเพศทุกวัยตั้งแต่เด็กอายุ4 เดือนจนถึงคนแก่อายุ 80 ปี เพศหญิงเป็นมากกว่าเพศชาย 
สาเหตุการเกิดโรคยังไม่ทราบแน่นอน เชื่อว่าเริ่มจากมีการอักเสบของเยื่อหุ้มข้อและเยื่อบุชนิดต่างๆ ของร่างกาย อันเป็นผลจากการตอบสนองของระบบภูมิต้านทานต่อเชื้อโรคบางชนิด เชื้อไวรัสหรือสารพิษบางอย่าง และอาจมีส่วนเกี่ยวข้องกับการถ่ายทอดทางกรรมพันธุ์

อาการของโรค
การอักเสบของโรครูมาตอยด์จะเริ่มที่เยื่อหุ้มข้อ เป็นได้ทุกข้อที่มีเยื่อหุ้มข้อ พบบ่อยที่สุดที่ข้อมือ นอกจากนั้นก็มีข้อนิ้วมือ ข้อเข่า ข้อเท้า ข้อนิ้วเท้า ข้อศอก ข้อไหล่ ข้อขากรรไกร ข้อกระดูกสันหลังกล้ามเนื้อบริเวณต้นคอ มักมีการอักเสบพร้อมกันทั้งสองข้าง การอักเสบเป็นไปอย่างช้าๆระยะแรกอาจมีข้อติดขัดเวลาตื่นนอน เคลื่อนไหวข้อหลายๆ ครั้งแล้วดีขึ้น ต่อมาข้อจะบวม ปวด เหยียดงอได้ไม่เต็มที่ อาจมีไข้ อ่อนเพลีย เบื่ออาหาร น้ำหนักลด 
จำนวนข้อที่มีการอักเสบจะมากขึ้นเรื่อย ๆ และรุนแรงขึ้น การติดขัดของข้อในตอนเช้าอาจนานเป็นชั่วโมง 
ผู้ป่วยมักจะมีอาการดีขึ้นบ้างเมื่อได้รับยาแก้อักเสบของข้อหรือยาจำพวกสเตอรอยด์ ซึ่งถ้าไม่ได้รับการรักษาต่อเนื่อง หรือไม่ได้รับยาที่สามาถหยุดกลไกการเกิดโรค เยื่อหุ้มข้อที่อักเสบอยู่นาน ๆ จะหนาตัวขึ้นและแพร่ไปที่กระดูกอ่อนและกระดูกแข็งทำให้กระดูกถูกทำลาย มีการอักเสบของพังพืดที่หุ้มข้อ และเส้นเอ็นที่ยึดบริเวณข้อ ทำให้มีข้อเคลื่อนข้อหลุด เกิดการผิดรูปของข้อ นั่นคือเกิดความพิการของข้อ ไม่สามารถใช้งานได้ตามปกติเคลื่อนไหวช่วยตัวเองไม่ได้ กล้ามเนื้อลีบและไม่มีแรงเพราะไม่ถูกใช้งาน ความรุนแรงและระยะเวลาของการเป็นโรคในผู้ป่วยแต่ละคนไม่เหมือนกันโรคสามารถสงบได้เอง แต่จะมีความพิการเหลืออยู่

การรักษา
ปัจจุบันการรักษาโรครูมาตอยด์ได้ผลดี สามารถทำให้ผู้ป่วยไม่เกิดความพิการ มีสมรรถภาพเป็นปกติ หรือใกล้เคียงคนปกติ เป็นผลจากความรู้เรื่องธรรมชาติของโรค ประสิทธิภาพของยาที่สามารถหยุดกลไก ของการเกิดโรค 
การรักษาทางกายภาพบำบัดเพื่อป้องกันการยึดติดของข้อและฟื้นฟูสมรรถภาพของข้อ และการผ่าตัดเพื่อแก้ไขความพิการ 
ผู้ป่วยต้องพยายามเข้าใจว่า โรครูมาตอยด์เป็นโรคเรื้อรังการรักษาจำเป็นต้องต่อเนื่องและใช้เวลาเป็นเดือนเป็นปี บางครั้งระหว่างที่มีการอักเสบของข้อต้องยอมลดการใช้งานของข้อ เพื่อไม่ให้ข้อเสื่อมมากเกินไป วัตถุประสงค์ในการรักษาโรคข้อรูมาตอยด์ มิใช่เพียงเพื่อลดการเจ็บปวดของข้อ หรือเพื่อให้ผู้ป่วยสามารถทำงานได้ วัตถุประสงค์ที่สำคัญที่สุด คือเมื่อโรคสงบแล้วจะต้องไม่เกิดความพิการของข้ออย่างในรูปที่เห็น 

8 สารอาหารบรรเทาปวดไขข้อ 
มีข้อมูลว่าอาหารบางชนิดช่วยลดความเสี่ยงหรือการอักเสบของโรครูมาตอยด์ได้หากกินเป็นประจำ 
กรดโอเมกา-3
มีผลต้านการอักเสบในร่างกาย โอเมกา-3 ที่ได้จากอาหารทะเลมีกรดอีพีเอ (EPA = eicsapentaanoic) และดีเอชเอ ซึ่งลดการอักเสบของไขข้อ ผลวิจัยพบว่าการเพิ่มกรดโอเมกา-3 ในอาหาร มีผลโดยตรงในการลดซี–รีแอคทีฟโปรตีนซึ่งกระตุ้นการอักเสบ อาหารที่มีกรดโอเมกา-3 สูง ได้แก่ ปลาทะเล (แซลมอน ทูน่า เทร้าส์ แมคเคอเรล) วอลนัท เต้าหู้ ผลิตภัณฑ์จากถั่วเหลือง แฟลกซ์สีด น้ำมันจากเมล็ดแฟลกซ์สีด และน้ำมันคาโนลา น้ำมันปลา การวิจัยชี้ให้เห็นว่า น้ำมันปลาช่วยลดอาการปวดไขข้อและลดปริมาณการใช้ยาต้านการอักเสบได้ แต่อาจจะต้องกินติดติอกันประมาณ 3-4 สัปดาห์จึงจะเห็นผล มีคำเตือนว่าน้ำมันปลาอาจมีระดับวิตามินเอหรือสารปรอทสูงจึงควรปรึกษาแพทย์ 
สารฟลาโวนอยด์ 
ช่วยต้านเชื้อไวรัส ต้านการอักเสบ และลดการเกิดโรคที่เกี่ยวกับความเสื่อมของร่างกาย เช่น โรคหัวใจ เบาหวาน ไขข้อ เป็นต้น สารฟราโวนอยด์พบในชาเขียว กระเทียม แอ๊ปเปิ้ล เบอร์รี่ ผลไม้ตระกูลส้ม และหอมหัวใหญ่ 
กรดโฟลิกหรือโฟเลต หรือวิตามินบี 9 
พบมากในตับ และผักสีเขียว เช่น ผักโขม ผักคะน้า ส่วนผลไม้ พบมากในส้มและแคนตาลูป ผู้ป่วยโรคไขข้อควรเสริมวิตามินชนิดนี้เพราะมีส่วนช่วยสร้างเซลล์เม็ดเลือดแดง โดยเฉพาะผู้ป่วยที่กินยาเมทโธเทรกเซท (Methotrexate) จำเป็นต้องเสริมกรดโฟลิกเพื่อบรรเทาอาการปวดหรืออักเสบ 
ซีลีเนียม 
ช่วยลดอนุมูลอิสระที่จะทำลายเนื้อเยื่อที่แข็งแรง และช่วยเสริมการทำงานของเอนไซม์ชนิดกลูตาไธโอนเพอร็อกซิเดสที่ต่อสู้กับการอักเสบ ผลวิจัยพบว่า คนที่มีระดับซีลีเนียมต่ำจะมีความเสี่ยงเกิดโรครูมาตอยด์มากขึ้น การกินทูน่าประมาณ 100 กรัม จะช่วยให้ได้รับซีลีเนียมเพียงพอตลอดทั้งวัน 
วิตามินซี 
มีประโยชน์ต่อเนื้อเยื่อภายในข้อและมีฤทธิ์ต้านการอักเสบ พบได้ในผลไม้ประเภทส้ม พริกไทย สตรอว์เบอร์รี่ เป็นต้น 
วิตามินดีและแคลเซียม 
ควรรับประทานอาหารที่มีวิตามินดีและแคลเซียมให้เพียงพอ โดยเฉพาะผู้ที่ต้องกินยาประเภทคอร์ติสเตียรอยด์ ซึ่งทำให้เนื้อกระดูกและระดับวิตามินดีในเลือดต่ำ มีผลให้ข้อเสื่อมเร็วขึ้น อาหารที่มีวิตามินดีสูง ได้แก่ น้ำมันตับปลา เนย ครีม ไข่แดง ตับ และอาหารที่มีแคลเซียมสูง ได้แก่ ผักใบเขียวจัด เช่น บรอคโคลี ปลาซาร์ดีนและแซลมอนกระป๋อง (ทั้งกระดูก) นมและผลิตภัณฑ์นม เต้าหู้ 
แอลกอฮอล์ 
มีงานวิจัยในปี 2008 สรุปว่า แอลกอฮอล์ช่วยป้องกันโรคไขข้อ แต่ไม่ได้ระบุถึงปริมาณที่แนะนำ ผู้ที่กินยาเมทโธเทรกเซทควรหลีกเลี่ยงการดื่มแอลกอฮอล์เพราะอาจมีผลข้างเคียงต่อตับ
อาหารเหล่านี้...ยิ่งกินยิ่งปวด 

มูลนิธิโรครูมาตอยด์หรือไขข้อเปิดเผยว่า ยังไม่มีหลักฐานทางวิทยาศาสตร์ที่แสดงว่าอาหารจะรักษาโรคไขข้อให้หายขาดได้ ในทางตรงกันข้ามอาหารบางชนิดทำให้อาการปวดไขข้อแย่ลง งานวิจัยล่าสุดพบว่า ผู้ที่มีปัญหาโรครูมาตอยด์ 30 – 40 เปอร์เซ็นต์มีอาการดีขึ้นเมื่องดอาหารที่สงสัยว่าทำให้ปวด โดยการเริ่มกินอาหารที่ต้องสงสัยทีละน้อยและสังเกตว่ามีอาการปวดข้อหรือไม่ วิธีนี้จะช่วยให้หาอาหารที่กระตุ้นอาการปวดไขข้อได้ และเมื่องดอาหารเหล่านี้อาการปวดไขข้อก็จะดีขึ้นด้วย 
กรดไขมันอิ่มตัว มีงานวิจัยชี้ให้เห็นว่าไขมันอิ่มตัวอาจเพิ่มการอักเสบ เนื่องจากกรดไขมันอิ่มตัวไปกระตุ้นการสร้างสารพรอสตาแกลนดินที่ก่อให้เกิดการอักเสบ อาการปวดบวมและข้อเสื่อมในโรครูมาตอยด์ อาหารที่มีไขมันอิ่มตัวสูง ได้แก่ เนื้อสัตว์ติดมัน เนย ครีม เป็นต้น
กรดไขมันโอเมกา-6 เป็นไขมันที่พบในน้ำมันพืชที่มีกรดไลโนเลอิค เช่น น้ำมันข้าวโพด ถั่วเหลือง ดอกทานตะวัน จมูกข้าวสาลี เป็นต้น 


แหล่งที่มา : bloggang.com

อัพเดทล่าสุด