ผีอำ, นอน, นอนหลับ, หายใจไม่ออก, อึดอัด MUSLIMTHAIPOST

 

ผีอำ, นอน, นอนหลับ, หายใจไม่ออก, อึดอัด


1,400 ผู้ชม


ผีอำ หรือโรคภัย

นอนๆ อยู่ เหมือนมีใครไม่รู้มาทับที่หน้าอก จะขยับตัวก็ทำไม่ได้ อาการแบบนี้ ผีอำใช่ไหม?

เล่นเอาวงการวิทยาศาสตร์มึนไปตามๆ กัน กับอาการข้างต้นที่คนในบ้านเราเชื่อว่าเป็นผีอำ ซึ่งในความจริงแล้วจะใช่ผี หรือเป็นเพียงโรคร้าย เอาเป็นว่า เรามาดูกันดีกว่าว่า ผีอำ นั้นคืออะไร

ผีอำ, นอน, นอนหลับ, หายใจไม่ออก, อึดอัด

ผีอำ

ผีอำเป็นความเชื่อของคนหลายเชื้อชาติมาแต่โบราณว่า เมื่อเคลิ้มเกือบจนหลับไหล จะมีความรู้สึกอึดอัดเหมือนมีใครมากดทับที่ร่างกาย ไม่สามารถขยับตัวหรือส่งเสียงใดๆ ได้ จึงเชื่อว่าเป็นการกระทำที่เกิดจากผี แต่ในทางของวิทยาศาสตร์ ผีอำเกิดจากขณะที่กำลังจะหลับ มักจะเกิดจากโรคลมหลับ ซึ่งเป็นอาการผีอำที่เกิดขึ้นในขณะที่กำลังจะตื่น อาจจะเกิดจากโรคลมหลับ หรืออาจจะเกิดในคนที่อดนอนหรือนอนไม่พอมาหลายวัน หรือเข้านอนผิดเวลาก็เป็นได้

อาการ

สำหรับอาการของผีอำมักเกิดทันทีเมื่อหมดช่วงการหลับแบบตากระตุก โดยจะเป็นอยู่ไม่กี่นาที แล้วค่อยๆ หายหรือหายทันที เมื่อถูกเรียก ถูกสัมผัส ถูกปลุก โดยใครก็ได้ ผู้ที่เป็นผีอำจะรู้สึกว่าตนนั้นตื่นอยู่ แต่ขยับเขยื้อนไม่ได้ ทั้งที่ตนได้พยายามขยับเขยื้อนแล้ว พยายามตะโกนเรียกให้คนช่วยแล้ว แต่ไม่มีคนได้ยิน เพราะไม่มีเสียงออกมา และเมื่อตื่นขึ้นจะจำเหตุการณ์และเล่าประสบการณ์ที่เกิดขึ้นได้ ซึ่งแท้ที่จริงแล้วมักเป็นการล้มตัวลงนอนด้วยความเหนื่อยล้าโดยเฉพาะหลังจากทำงานหรืออ่านหนังสือ แม้กระทั่งดูโทรทัศน์ เมื่อนอนด้วยความเหนื่อยล้า ก็เกิดการประสานกันระหว่างสารเคมีกับสภาพชีวเคมีของร่างกาย เกิดอาการกดหรือค้างทำให้ขยับเขยื้อนร่างกายไม่ไหว เนื่องจากขณะที่ตื่นอยู่ สมองทำงานอยู่ แต่ร่างกายขยับเขยื้อนไม่ไหว เหมือนมีใครมาคุมร่างกายอยู่ ผู้ที่เกิดอาการนี้จึงเชื่อมโยงว่ามีผีมาจับตัว ซึ่งที่แท้คือความไม่สัมพันธ์กันระหว่างสมองกับร่างกาย ซึ่งเป็นอาการชั่วครู่ชั่วยามเท่านั้นเอง

ผู้ที่ถูกผีอำส่วนใหญ่จะนอนอยู่บนเตียง มีเป็นส่วนน้อยที่จะโดนอำในท่านั่งหลับบนเก้าอี้ หรือท่าที่ไม่สบายนักและมักจะเกิดกับคนที่นอนหงายมากที่สุด ระยะเวลานานตั้งแต่ 2-3 วินาที จนถึง 10 นาที โดยจะหายไปเอง หรือไม่ก็ผู้ที่ถูกผีอำพยายามเอาชนะอาการเอง หรือมีคนมาช่วยสะกิดปลุกให้ตื่นขึ้น

วิธีปราบผีอำ

วิธีการแก้อาการผีอำ คือ การทำจิตใจให้สบาย ผ่อนคลายก่อนนอน หรืออาจใช้ยาประเภทคลายเครียดเข้าช่วย และเมื่อเกิดอาการผีอำแล้วให้นอนเฉยๆ สักพัก อาการจะหายไปเอง

ดูแลร่างกายให้ห่างผีอำ

สำหรับวิธีการดูแลร่างกายให้ไม่ต้องเผชิญกับผีอำก็ไม่ใช่เรื่องยาก โดยลองทำและไม่ทำวิธีการดังต่อไปนี้

ควรทำ

  • ใช้ห้องนอนสำหรับนอน และเรื่องบนเตียง (เช่น หายใจช้าๆ ก่อนนอน สวดมนต์ ฯลฯ) ไม่ควรใช้ห้องนอนเล่นอินเตอร์เน็ต เขียนบล็อก ทำงาน โทรศัพท์ ฯลฯ
  • ถ้าไม่มีห้องแยก (ทำทุกอย่างในห้องนอนห้องเดียว) ควรปรับแสงไฟ เช่น มีไฟสลัวๆ ดวงพิเศษสำหรับสร้างบรรยากาศห้องนอน แล้วปิดไฟดวงอื่นๆ ให้หมด เปิดไฟดวงนี้ก่อนนอนอย่างน้อย 15 นาที ฯลฯ
  • ออกกำลังเป็นประจำ จะเป็นเวลาไหนก็ได้ถ้าออกกำลังเบาๆ จนถึงแรงปานกลาง แต่ถ้าออกกำลังหนัก… ควรทำก่อนเวลานอน 1-2 ชั่วโมงขึ้นไป (ยกเว้นคนที่ร่างกายฟิตจริงๆ จะหายเหนื่อยเร็ว และหลับได้ตามปกติ)
  • นอนและตื่นตรงเวลา ทั้งวันธรรมดาและวันหยุด
  • วอร์มดาวน์ หรือปรับสภาพก่อนนอน เช่น อาบน้ำ สวดมนต์ ฟังเพลงช้าๆ ทำท่ายืดเส้นยืดสายหรือโยคะเบาๆ (ท่าเบาๆ ไม่ใช่ท่าโหดๆ) ฯลฯ ก่อนนอน15-30 นาที
  • ทำสมาธิ โดยฝึกหายใจช้าๆ นาทีละไม่เกิน 10 ครั้ง วันละ 10-15 นาที
  • จัดห้องนอนให้เงียบ มืด และเย็นหน่อย (ถ้าเป็นไปได้ควรปิดแสงจากภายนอก และไม่เปิดไฟนอน)
  • หาทางลดเสียงรบกวนจากภายนอก ถ้าลดเสียงรบกวนไม่ได้… อาจเปิดพัดลม หรืออัดเสียงเรียบๆ เรื่อยๆ (white noise) เช่น เสียงคลื่นกระทบฝั่ง ฯลฯ ไว้ ใช้เครื่อง MP3 เล็กๆ เปิดเพื่อกลบเสียงรบกวน

ไม่ควรทำ

  • ไม่กินอาหารที่มีกาเฟอีนหลังอาหารกลางวัน เช่น กาแฟ ชา ชอคโกแล็ต โกโก้ น้ำอัดลมชนิดน้ำดำ เครื่องดื่มบำรุงกำลัง ฯลฯ
  • ไม่ดื่มแอลกอฮอล์ (เหล้า เบียร์ ไวน์ ฯลฯ) 6 ชั่วโมงก่อนนอน (เหล้าทำให้กรนมากขึ้น หลับเร็วขึ้น แต่หลับตื้น และตื่นง่ายขึ้น)
  • ไม่ดูทีวีก่อนนอน (ประมาณ 1-2 ชั่วโมง) แต่ถ้าเป็นรายการเบาๆ ก็สามารถดูได้ เช่น สารคดี นิทานก่อนนอน ข่าวต่างประเทศ ฯลฯ ขณะที่รายการเครียดๆ เช่น ข่าว 3 จังหวัดภาคใต้ ควรหลีเลี่ยง
  • ไม่สูบบุหรี่ก่อนนอน (บุหรี่ทำให้หัวใจเต้นแรง-เร็ว นอนหลับยากขึ้น)
  • ไม่เข้านอนทั้งที่หิว (หิวมากนอนหลับยาก อาจใช้วิธีเบาๆ สบายๆ เช่น ดื่มนมไขมันต่ำหรือนมถั่วเหลืองเสริมแคลเซียม 1/2 แก้ว ผลไม้ เช่น กล้วย แอปเปิล 1/2 ผล ฯลฯ)
  • ไม่กินอาหารมื้อใหญ่ 1-3 ชั่วโมงก่อนนอน (วิธีที่ดีคือ กินมื้อเย็นเป็นมื้อเล็กๆ มื้อเช้า-เที่ยงเป็นมื้อใหญ่) ส่วนผู้ที่เป็นโรคกรดไหลย้อน (gastroesophageal reflux disease / GERD) ควรกินมื้อเย็นให้น้อยลงไปอีก
  • ไม่รอจนง่วงแล้วค่อยเข้านอน ทางที่ดีคือ เข้านอนก่อนง่วง การเข้านอนหลังง่วงเต็มที่อาจทำให้ร่างกายปรับสภาพไม่ทัน เช่น ลุยทำงานดึกทำให้ร่างกายตื่นตัว อาจทำให้นอนดึกขึ้นเรื่อยๆ
  • ไม่ออกกำลังหนักใกล้เวลานอน ให้ห่างออกไปสัก 1-3 ชั่วโมง
  • ไม่ทำงานหน้าจอคอมพิวเตอร์ก่อนนอน 1-2 ชั่วโมง
  • ไม่เปิดจอคอมพิวเตอร์ให้สว่างหลังพระอาทิตย์ตกดิน โดยควรปรับจอคอมฯ ตามเวลากลางวัน-กลางคืน กลางวันเปิดหน้าจอสว่างหน่อยได้ หลังพระอาทิตย์ตกดินควรเปิดไฟในบ้านให้สว่างน้อยลง เปิดจอคอมฯ ให้สว่างน้อยลง
  • ไม่เปิดเพลงเร็วๆ เร้าใจ หรือเพลงดังๆ ก่อนนอน 1-2 ชั่วโมง ควรปรับเสียงต่ำ (เบส) ตามเวลากลางวัน-กลางคืน กลางวันเปิดเบสดังหน่อยได้ หลังพระอาทิตย์ตกดินควรลดเสียงเบสให้เบาลง
  • ไม่นอนกอดอก เพราะอาจทำให้ฝันร้าย หรือรู้สึกคล้ายผีอำได้จากแรงกดของมือและแขน


อัพเดทล่าสุด