อาเซียนประเทศฟิลิปปินส์ ประชาคมอาเซียนประเทศลาว การ์ตูนอาเซียนประเทศไทย MUSLIMTHAIPOST

 

อาเซียนประเทศฟิลิปปินส์ ประชาคมอาเซียนประเทศลาว การ์ตูนอาเซียนประเทศไทย


920 ผู้ชม


อาเซียนประเทศฟิลิปปินส์ ประชาคมอาเซียนประเทศลาว การ์ตูนอาเซียนประเทศไทย

 

 

ประเทศฟิลิปปินส์


ที่ตั้ง
 
ข้อมูลทั่วไป

ทิศตะวันตกและทิศเหนือติดกับทะเลจีนใต้
ทิศตะวันออกและทิศใต้ติดกับมหาสมุทรแปซิฟิก
เมืองหลวง 
กรุงมะนิลา
ประชากร 
98 ล้านคน 
ภูมิอากาศ 
อากาศเมืองร้อน
ภาษา 
ฟิลิปิโน และอังกฤษเป็นภาษาราชการ 
ศาสนา 
โรมันคาธอลิกร้อยละ 83 โปรเตสแตนท์ร้อยละ9 มุสลิมร้อยละ 5 
หน่วยเงินตรา 
เปโซ (1 เปโซ ต่อ 0.70 บาท – 6 ม.ค. 2554) 
ผลิตภันฑ์มวลรวมในประเทศ (GDP) 
194.3พันล้านดอลลาร์สหรัฐ (2553)
รายได้ประชาชาติต่อหัว 
3600ดอลลาร์สหรัฐ (2553)(GDP per capita)
การขยายตัวทางเศรษฐกิจ 
ร้อยละ 7.9 (2553)

การเมืองการปกครอง

๑. การเมืองการปกครอง
๑.๑ ฟิลิปปินส์ปกครองในระบอบประชาธิปไตย ในรูปแบบสาธารณรัฐ มีประธานาธิบดีเป็นประมุข มาจากการเลือกตั้งโดยตรงจากประชาชน อยู่ในตำแหน่งคราวละ 6 ปี ดำรงตำแหน่งได้ไม่เกิน 1 วาระ วุฒิสภามีสมาชิก 24 คน มาจากการเลือกตั้งจากผู้มีสิทธิออกเสียงทั่วประเทศ (nationwide – elected) มีวาระ 6 ปี และรัฐบาลจะจัดให้มีการเลือกตั้งวุฒิสภาจำนวนครึ่งหนึ่ง (12 คน) ทุก 3 ปี
๑.๒ ฟิลิปปินส์แบ่งเขตการปกครองออกเป็น 17 เขต (region) 80 จังหวัด (province) และ 120 เมือง (city) โดยแบ่งการปกครองย่อยออกเป็น 1,499 เทศบาล (municipality) และ 41,969 บารังไก (barangay) ซึ่งเทียบเท่าตำบลหรือหมู่บ้าน
๑.๓ ฟิลิปปินส์จัดการเลือกตั้งประธานาธิบดี วุฒิสภา สภาผู้แทนราษฎร และสภาผู้แทนท้องถิ่นทั่วประเทศ รวม 17,996 ตำแหน่งในคราวเดียวกัน เมื่อวันที่ 10 พฤษภาคม 2553 มีผู้ลงทะเบียนเพื่อใช้สิทธิเลือกตั้งทั้งหมด 50.7 ล้านคน ในจำนวนนี้ มีผู้ลงคะแนนเสียงเลือกตั้งประมาณ 38 ล้านคน คิดเป็น ร้อยละ 75 ของผู้ลงทะเบียนทั้งหมด โดยนายเบนิกโน เอส อาคีโน ที่สาม (Benigno S. Aquino III) ได้รับเลือกตั้งเป็นประธานาธิบดีจากพรรค Liberal (LP) และนายเจโจมาร์ บิไน (Jejomar Binay) อดีตนายกเทศมนตรีเมืองมากาติ (Makati) ได้รับเลือกตั้งเป็นรองประธานาธิบดี
๑.๔ รัฐบาลภายใต้การบริหารงานของประธานาธิบดี อาคีโน ที่สาม มุ่งให้ความสำคัญกับการปฏิรูประบบบริหารประเทศเพื่อปราบปรามการฉ้อราษฎร์บังหลวงและขจัดความยากจน จึงได้รับความนิยม จากประชาชนและมีสถานะความมั่นคงทางการเมืองสูง ทั้งนี้ รัฐบาลมีมาตรการเร่งด่วน ได้แก่ การส่งเสริมการลงทุนจากต่างประเทศ การสร้างมาตรฐานกฎระเบียบด้านงบประมาณ การปรับปรุงระบบข้าราชการพลเรือน และการปรับปรุงระบบการศึกษา ส่วนประเด็นด้านความสัมพันธ์ระหว่างประเทศ รัฐบาลฟิลิปปินส์เน้นการส่งเสริมความร่วมมือในประเด็นท้าทายต่าง ๆ เช่น การก่อการร้าย อาชญากรรมข้ามชาติ การเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศ การระบาดของโรคติดต่อ การฟื้นฟูสภาพเศรษฐกิจ และการสร้างพลังประชาคมระหว่างประเทศในทุกภาคส่วนเพื่อบรรลุเป้าหมายการพัฒนาแห่งสหัสวรรษ (Millennium Development Goals – MDG) ภายในปี 2558

เศรษฐกิจการค้า

เศรษฐกิจการค้า
๒. เศรษฐกิจ
๒.๑ ฟิลิปปินส์มีระบบเศรษฐกิจที่คล้ายคลึงกับไทย กล่าวคือ เป็นประเทศเกษตรกรรม ประชากร ร้อยละ 60 ประกอบอาชีพเกษตรกร อย่างไรก็ดี สภาพภูมิประเทศที่เป็นหมู่เกาะส่งผลให้พื้นที่เพาะปลูก มีน้อย โดยส่วนใหญ่จะอยู่บริเวณที่ราบต่ำและเนินเขาที่ปรับให้เป็นขั้นบันไดในบริเวณเกาะลูซอน ขณะเดียวกันประชากรฟิลิปปินส์ส่วนใหญ่นิยมประกอบอาชีพในต่างประเทศ ฟิลิปปินส์จึงพึ่งพารายได้จากแรงงานฟิลิปปินส์ในต่างประเทศเพื่อการพัฒนาประเทศเป็นส่วนใหญ่
๒.๒ รัฐบาลภายใต้การบริหารงานด้านเศรษฐกิจของประธานาธิบดีอาคีโน ที่สาม เน้นนโยบายสร้างวินัยทางการคลัง โดยการบริหารงบประมาณแบบสมดุล (zero - budgeting policy) เพื่อแก้ไขภาวะงบประมาณขาดดุล อันเป็นปัญหาสืบเนื่องจากรัฐบาลชุดก่อน ในปี 2553 รัฐบาลได้กำหนดงบประมาณขาดดุลอัตราร้อยละ 4 ของผลิตภัณฑ์มวลรวมภายในประเทศ (GDP) หรือประมาณ 625 พันล้านเปโซ เนื่องจากความจำเป็นในการจัดสรรงบประมาณเพื่อเร่งพัฒนาโครงสร้างสาธารณูปโภค และอัดฉีดเม็ดเงินให้กับครัวเรือนที่มีรายได้ต่ำเพื่อกระตุ้นเศรษฐกิจภายในประเทศ นอกจากนี้ รัฐบาลมีนโยบายส่งเสริมการลงทุนโดยสนับสนุนการสร้างกลไกความเป็นหุ้นส่วนระหว่างภาครัฐ - เอกชน (public - private partnerships) และเร่งแก้ไขกฎหมายและกฎระเบียบที่เป็นอุปสรรคต่อการลงทุนของต่างชาติ ผลักดันกฎหมายป้องกันการผูกขาด (anti - trust law) เพื่อส่งเสริมการแข่งขันอย่างเท่าเทียม รวมทั้งให้ความสำคัญกับการส่งเสริมการลงทุนในสาขาสาธารณูปโภค การท่องเที่ยว ธุรกิจบริการ อุตสาหกรรมอิเล็กทรอนิกส์ เหมืองแร่ และเกษตรกรรม
๒.๓ ในปี 2553 การเติบโตของผลิตภัณฑ์มวลรวมภายในประเทศของฟิลิปปินส์ อยู่ที่อัตราร้อยละ 7.3 เนื่องจากการฟื้นตัวของเศรษฐกิจโลกจากวิกฤตเศรษฐกิจเมื่อปี 2553 การใช้จ่ายในการรณรงค์หาเสียงเลือกตั้งประธานาธิบดีเมื่อเดือนมิถุนายน 2553 รวมทั้งปัจจัยเชิงบวกด้านอื่น ๆ ได้แก่ การเพิ่มขึ้นของเงินโอนจากแรงงานฟิลิปปินส์ในต่างประเทศ การขยายตัวของภาคการส่งออก การขยายตัวของการบริโภคภายในประเทศ การเพิ่มขึ้นของปริมาณการลงทุน และเศรษฐกิจมหภาคมีเสถียรภาพมากขึ้น ทั้งนี้ รัฐบาลได้ตั้งเป้าหมายให้ผลิตภัณฑ์มวลรวมภายในประเทศเติบโตในอัตราร้อยละ 7 – 8 ตลอดวาระการบริหารงาน (ปี 2553 – 2560) อย่างไรก็ดี นักลงทุนต่างชาติยังมีความกังวลต่อปัญหา/ อุปสรรคอื่น ๆ ในการลงทุนในฟิลิปปินส์ เช่น ความไม่แน่นอนเชิงนโยบายในระยะยาว ระบบสาธารณูปโภคขาดคุณภาพและค่าใช้จ่ายสูง
๓. นโยบายต่างประเทศ 
๓.๑ นโยบายต่างประเทศของฟิลิปปินส์อยู่บนพื้นฐานของนโยบายหลัก 3 ด้าน คือ (1) ด้านความมั่นคง (2) ด้านเศรษฐกิจ และ (3) ด้านแรงงานฟิลิปปินส์ในต่างประเทศ (Overseas Filipinos Workers) โดยเน้นการสร้างความสมดุลระหว่างผลประโยชน์แห่งชาติกับการเป็นสมาชิกที่ดีของประชาคมระหว่างประเทศ และยังคงให้ความสำคัญกับการมีความสัมพันธ์ที่ดีกับประเทศสมาชิกอาเซียน 
๓.๒ ฟิลิปปินส์มีความใกล้ชิดกับสหรัฐอเมริกา เนื่องด้วยความเกี่ยวพันทางประวัติศาสตร์ ความเป็น พันธมิตรด้านความมั่นคง และสหรัฐอเมริกาเป็นประเทศคู่ค้ารายใหญ่ที่สุด ในระหว่างการเยือนสหรัฐอเมริกาของประธานาธิบดีอาคีโน ที่สาม เมื่อเดือนกันยายน 2553 รัฐบาลฟิลิปปินส์ประสบผลสำเร็จในการดึงดูด การลงทุนและเงินช่วยเหลือจากสหรัฐอเมริกา โดยสหรัฐอเมริกาพร้อมจะสนับสนุนนโยบายแห่งชาติของฟิลิปปินส์ในทุกมิติ ในการนี้ ฟิลิปปินส์ได้ลงนามความตกลง Millennium Challenge Account (MCA) มูลค่า 434 ล้านดอลลาร์สหรัฐ ซึ่งความตกลงดังกล่าว อยู่ภายใต้การดำเนินงานของความร่วมมือแห่งความท้าทายแห่งสหัสวรรษ (Millennium Challenge Corporation – MCC) โดยเป็นเงินทุนจากสหรัฐอเมริกาที่สนับสนุนประเทศที่ยากจนเพื่อใช้ในการแก้ไขปัญหาความยากจนและพัฒนาเศรษฐกิจอย่างยั่งยืน นอกจากนี้ ฟิลิปปินส์ยังได้แสดงความสนใจที่จะเพิ่มพลวัตร และแรงขับเคลื่อนทางการค้ากับสหรัฐอเมริกา โดยการเข้าร่วมการเจรจาความตกลงว่าด้วยการค้าเสรีในกรอบ Trans – Pacific Economic Partnership 
๓.๓ ฟิลิปปินส์มีความสัมพันธ์ในระดับดีกับนานาประเทศ อาทิ (1) กับญี่ปุ่นในฐานะประเทศที่ให้ความช่วยเหลือทางการเงินที่ใหญ่ที่สุดของฟิลิปปินส์และเป็นประเทศผู้บริจาครายสำคัญต่อการพัฒนาในมินดาเนา (2) กับจีนในฐานะประเทศคู่ค้าและผู้ลงทุนที่สำคัญ และ (3) กับประเทศต่าง ๆ ในภูมิภาคตะวันออกกลาง อาทิ ซาอุดิอาระเบีย อิหร่าน และเยเมน ซึ่งเป็นตลาดแรงงานสำคัญของฟิลิปปินส์และแหล่งทุนสำหรับการพัฒนาในมินดาเนา ตลอดจนมีศักยภาพที่จะสนับสนุนฟิลิปปินส์ในการเข้าเป็นประเทศผู้สังเกตการณ์ในองค์การ การประชุมอิสลาม (Organization of the Islamic Conference – OIC) 
๓.๔ ฟิลิปปินส์ส่งเสริมผลประโยชน์แห่งชาติในเวทีระหว่างประเทศอย่างต่อเนื่อง โดยเฉพาะอย่างยิ่ง (1) การร่วมมือกับประเทศต่าง ๆ เพื่อสนับสนุนการเจรจาสันติภาพระหว่างรัฐบาลกับกลุ่มแนวร่วมปลดปล่อยอิสลามโมโร (Moro Islamic Liberation Front – MILF) และกลุ่มแนวร่วมปลดปล่อยแห่งชาติโมโร (Moro National Liberation Front – MNLF) (2) การเป็นเจ้าภาพจัดการประชุมระดับรัฐมนตรีกลุ่ม NAM วาระพิเศษว่าด้วยเรื่อง Interfaith Dialogue และความร่วมมือเพื่อสันติภาพและการพัฒนา (Special Non-Aligned Movement Ministerial Meeting - SNAMM) เมื่อเดือนมีนาคม 2553 ซึ่งมีการรับรองปฏิญญามะนิลาเกี่ยวกับหลักสำคัญในการบรรลุผลด้านสันติภาพและการพัฒนาโดยใช้ Interfaith Dialogue (3) การเป็นประธานการประชุมทบทวนไม่แพร่ขยายอาวุธนิวเคลียร์ (2010 Review Conference of Non-Proliferation of Nuclear Weapon – NPT) ซึ่งสาระสำคัญเกี่ยวกับการลดและไม่แพร่ขยายอาวุธนิวเคลียร์ และการใช้พลังงานนิวเคลียร์ในทางสันติจำนวน 64 ข้อ ได้รับการบรรจุไว้ในรายงานสุดท้ายของการประชุมดังกล่าว (4) การส่งกองกำลังฟิลิปปินส์เข้าร่วมภารกิจรักษาสันติภาพของสหประชาชาติ และ (5) การมีบทบาทที่แข็งขันในกรอบอาเซียน อาทิ บทบาทในฐานะประเทศ ผู้ประสานงานการเจรจาระหว่างอาเซียน – สหรัฐอเมริกา การส่งเสริมการจัดทำแนวทางปฏิบัติ ในทะเลจีนใต้ (Code of Conduct in South China Sea) รวมทั้งการสนับสนุนการทำงานของคณะกรรมาธิการสิทธิมนุษยชนอาเซียน

ความสัมพันธ์ระหว่างไทยกับสาธารณรัฐฟิลิปปินส์

ความสัมพันธ์ระหว่างไทยกับฟิลิปปินส์
๑. ความสัมพันธ์ทั่วไป 
๑.๑ การทูต
- ไทยสถาปนาความสัมพันธ์ทางการทูตกับฟิลิปปินส์เมื่อวันที่ 14 มิถุนายน 2492 เอกอัครราชทูต ณ กรุงมะนิลาคนปัจจุบันคือ นายประศาสน์ ประศาสน์วินิจฉัย และมีหน่วยงานใน สถานเอกอัครราชทูตฯ ได้แก่ สำนักงานผู้ช่วยทูตฝ่ายทหาร สำนักงานส่งเสริมการค้าในต่างประเทศ และสำนักงานกงสุลกิตติมศักดิ์ไทย ณ เมืองเซบู เอกอัครราชทูตฟิลิปปินส์ประจำประเทศไทย คนปัจจุบันคือ นางลิงลีไง เอฟ ลาคันลาเล
- ความสัมพันธ์ทวิภาคีไทยกับฟิลิปปินส์ดำเนินไปอย่างราบรื่นและใกล้ชิดมานาน เป็นประเทศร่วมก่อตั้งองค์การสนธิสัญญาป้องกันภูมิภาคเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ (South East Asia Treaty Organization - SEATO) และอาเซียน และเป็นแนวร่วมในอาเซียนและเวทีระหว่างประเทศเนื่องจากมีทัศนคติและแนวคิดคล้ายคลึงกัน โดยเฉพาะอย่างยิ่งด้านประชาธิปไตยและการส่งเสริมสิทธิมนุษยชน มีกลไกความสัมพันธ์ทวิภาคี ได้แก่ คณะกรรมาธิการร่วมว่าด้วยความร่วมมือทวิภาคี (Joint Commission on Bilateral Cooperation – JCBC) ตั้งเมื่อปี 2536 โดยมีรัฐมนตรีว่าการกระทรวงการต่างประเทศของ ทั้งสองฝ่ายเป็นประธานร่วม ไทยเป็นเจ้าภาพจัดการประชุม JCBC ครั้งที่ 4 (ครั้งหลังสุด) เมื่อวันที่ 25 – 26 มีนาคม 2550 ที่กรุงเทพฯ ซึ่งที่ประชุมมีมติให้ปรับรูปแบบการประชุมโดยให้จัดการประชุมเป็นประจำทุก 2 ปี โดยเป็นการประชุมระดับเจ้าหน้าที่อาวุโสแล้วตามด้วยการประชุมระดับรัฐมนตรีในลักษณะไม่เป็นทางการ (Retreat) ฝ่ายฟิลิปปินส์มีกำหนดเป็นเจ้าภาพจัดการประชุม JCBC ครั้งที่ 5 ซึ่งในชั้นนี้ ฟิลิปปินส์เสนอจะจัดการประชุมดังกล่าวในปี 2554
- ในปี 2552 ไทยกับฟิลิปปินส์ได้ครบรอบ 60 ปี ของการสถาปนาความสัมพันธ์ทางการทูต โดยมีการจัดกิจกรรมศิลปวัฒนธรรมเฉลิมฉลองโอกาสดังกล่าว อาทิ นิทรรศการศิลปะ การแสดงทางวัฒนธรรม การแลกเปลี่ยนผู้เชี่ยวชาญการอนุรักษ์โบราณสถานและการจัดเทศกาลภาพยนตร์ 
๑.๒ เศรษฐกิจ 
๑.๒.๑ การค้า 
ในปี 2553 การค้ารวมระหว่างไทยกับฟิลิปปินส์มีมูลค่า 7,262 ล้านดอลลาร์สหรัฐ ไทยส่งออกไปฟิลิปปินส์ 4,886 ล้านดอลลาร์สหรัฐ ไทยนำเข้าจากฟิลิปปินส์ 2,375 ล้านดอลลาร์สหรัฐ โดยไทยเป็นฝ่ายได้ดุลการค้า 2,511 ล้านดอลลาร์สหรัฐ ฟิลิปปินส์เป็นคู่ค้าอันดับที่ 4 ของไทยในอาเซียน และอันดับที่ 15 ในระดับโลก ในขณะที่ไทยเป็นคู่ค้าอันดับที่ 2 ของฟิลิปปินส์ในอาเซียนและอันดับที่ 9ในระดับโลก 
ปัญหาทางการค้าที่ภาคเอกชนไทยประสบ ได้แก่ (1) การถูกเรียกเก็บภาษีซ้ำซ้อน (2) ปัญหาการทุ่มตลาดสินค้า โดยเฉพาะอย่างยิ่งสินค้านำเข้าจากจีน (3) สายการบินต้องเสียภาษีสูงกว่าสายการบินฟิลิปปินส์และถูกเรียกเก็บค่าใช้จ่ายเพิ่มเติมในการใช้บริการท่าอากาศยานมะนิลา (4) การมีกฎระเบียบและข้อกำหนดด้านสุขอนามัยและโรคเกี่ยวกับพืชที่เข้มงวด และ (5) การห้ามนำเข้าผลิตภัณฑ์สัตว์ปีกสดและแช่แข็งจากไทยตั้งแต่วันที่ 23 มกราคม 2547 ซึ่งจนถึงปัจจุบันยังไม่มีการยกเลิก
๑.๒.๒ การลงทุน 
ในปี 2552 ไทยลงทุนในฟิลิปปินส์เป็นอันดับที่ 18 (อันดับที่ 3 ในอาเซียน) ภาคเอกชนไทยที่ลงทุนในฟิลิปปินส์ ได้แก่ เครือโรงแรมดุสิตธานี โรงพยาบาลบำรุงราษฎร์ บริษัท ปตท. จำกัด (มหาชน) เครืออิตัลไทย เครือซิเมนต์ไทย เครือเจริญโภคภัณฑ์ และธนาคารกรุงเทพ จำกัด (มหาชน) ปัจจัยบวกของฟิลิปปินส์ที่ดึงดูดการลงทุนจากนักลงทุนไทยและต่างชาติ ได้แก่ บุคลากรใช้ภาษาอังกฤษได้ดี เป็นมิตร และตลาดภายในประเทศมีขนาดค่อนข้างใหญ่ เนื่องจากมีจำนวนประชากรมาก ส่วนปัจจัยลบหรือปัญหาที่เอกชนไทยประสบ เช่น กฎระเบียบและมาตรการด้านภาษีของฟิลิปปินส์ที่ซ้ำซ้อนและไม่แน่นอน สภาพภูมิประเทศที่เป็นหมู่เกาะทำให้มีอุปสรรคด้านการขนส่งสูง และมีความเสี่ยงต่อภัยธรรมชาติ 
๑.๒.๓ การท่องเที่ยว
ในปี 2553 มีนักท่องเที่ยวฟิลิปปินส์เดินทางมาไทย 254,048 คน รัฐบาลไทยและรัฐบาลฟิลิปปินส์เห็นพ้องที่จะกระชับความร่วมมือด้านการท่องเที่ยว โดยให้มีการแลกเปลี่ยนการเยือนของผู้บริหารระดับสูง การจับคู่ทางธุรกิจ และการแลกเปลี่ยนประสบการณ์ด้านการท่องเที่ยว โดยเฉพาะในสาขาที่ไทยมีศักยภาพ อาทิ การท่องเที่ยวแบบยั่งยืนที่สนับสนุนการอนุรักษ์สิ่งแวดล้อมและการมีส่วนร่วมของประชาชนในท้องถิ่น และการจัดทำโครงการจุดหมายปลายทางร่วมด้านการท่องเที่ยวระหว่างไทยกับฟิลิปปินส์ (Thailand-Philippines Tourist Package) เนื่องจากทั้งสองประเทศมีสถานที่ท่องเที่ยวหลายแห่งที่สวยงามและเป็นที่นิยมของชาวต่างชาติ ซึ่งความร่วมมือดังกล่าวจะช่วยส่งเสริมการท่องเที่ยวของอาเซียนในภาพรวมอีกด้วย 
(๒. ความตกลงที่สำคัญ ๆ กับไทย 
๒.๑ ความตกลงว่าด้วยความช่วยเหลือทางทหาร (ลงนามเมื่อวันที่ ๑๔ มีนาคม ๒๔๙๐)
๒.๒ ความตกลงว่าด้วยไมตรี การพาณิชย์ และการเดินเรือ (ลงนามเมื่อวันที่ ๑๔ มิถุนายน ๒๔๙๒)
๒.๓ ความตกลงว่าด้วยบริการเดินทางอากาศ (ลงนามเมื่อวันที่ ๒๗ เมษายน ๒๔๙๖) 
๒.๔ ความตกลงว่าด้วยการยกเว้นการตรวจลงตราหนังสือเดินทางทูตและราชการ (ลงนามเมื่อวันที่ ๓๑ กรกฎาคม ๒๕๐๕) 
๒.๕ ความตกลงว่าด้วยที่ดิน (ลงนามเมื่อวันที่ ๒๑ พฤษภาคม ๒๕๐๖) 
๒.๖ ความตกลงทางวัฒนธรรม (ลงนามเมื่อวันที่ ๒๒ กรกฎาคม ๒๕๑๘) 
๒.๗ ความตกลงว่าด้วยความร่วมมือทางการเกษตร (ลงนามเมื่อวันที่ ๒๙ สิงหาคม ๒๕๒๒) 
๒.๘ ความตกลงว่าด้วยการส่งผู้ร้ายข้ามแดน (ลงนามเมื่อวันที่ ๑๖ มีนาคม ๒๕๒๔) 
๒.๙ ความตกลงว่าด้วยการยกเว้นการเก็บภาษีซ้อน (ลงนามเมื่อวันที่ ๑๔ กรกฎาคม ๒๕๒๕) 
๒.๑๐ ความตกลงว่าด้วยความร่วมมือทางวิทยาศาสตร์และวิชาการ (ลงนามเมื่อวันที่ ๑๑ เมษายน ๒๕๒๖) 
๒.๑๑ ความตกลงจัดตั้งคณะกรรมาธิการร่วมว่าด้วยความร่วมมือทวิภาคีไทย-ฟิลิปปินส์ (ลงนาม เมื่อวันที่ ๒๔ สิงหาคม ๒๕๓๕) 
๒.๑๒ ความตกลงว่าด้วยความร่วมมือด้านการท่องเที่ยว (ลงนามเมื่อวันที่ ๒๔ มีนาคม ๒๕๓๖) 
๒.๑๓ ความตกลงส่งเสริมและคุ้มครองการลงทุน (ลงนามเมื่อวันที่ ๓๐ กันยายน ๒๕๓๘)
๒.๑๔ บันทึกความเข้าใจว่าด้วยความร่วมมือในการวิจัยและพัฒนาการเกษตร (ลงนามเมื่อวันที่ ๓๐ มกราคม ๒๕๔๐) 
๒.๑๕ บันทึกความเข้าใจด้านความร่วมมือทางทหาร (ลงนามเมื่อวันที่ ๒๐ สิงหาคม ๒๕๔๐)
๒.๑๖ ความตกลงว่าด้วยความร่วมมือในการป้องกันและปราบปรามอาชญากรรม (ลงนามเมื่อวันที่ ๑๘ ธันวาคม ๒๕๔๑)
๒.๑๗ บันทึกความเข้าใจการขจัดคราบน้ำมัน (ลงนามเมื่อวันที่ ๒๓ พฤศจิกายน ๒๕๔๒)
๒.๑๘ ความตกลงทางการค้า (ลงนามเมื่อวันที่ ๒๗ พฤศจิกายน ๒๕๔๒) 
๒.๑๙ สนธิสัญญาการโอนตัวนักโทษ (ลงนามเมื่อวันที่ ๑๒ ธันวาคม ๒๕๔๔) 
๒.๒๐ ความตกลงแลกเปลี่ยนข้อสนเทศ และจัดตั้งวิธีการดำเนินการในการสื่อสาร (ลงนามเมื่อวันที่ ๕ พฤศจิกายน ๒๕๔๕) 
๒.๒๑ บันทึกความเข้าใจว่าด้วยความร่วมมือด้านการเกษตร (ลงนามเมื่อวันที่ ๑๙ ตุลาคม ๒๕๔๖) 
๒.๒๒ บันทึกความเข้าใจว่าด้วยความร่วมมือในกิจกรรมเกี่ยวกับน้ำมันและก๊าซธรรมชาติ (ลงนามเมื่อวันที่ ๑๙ ตุลาคม ๒๕๔๖) 
๓. การเยือนที่สำคัญ 
๓.๑ ฝ่ายไทย 
พระราชวงศ์
- วันที่ ๙ – ๑๔ กรกฎาคม ๒๕๐๖ พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวและสมเด็จพระนางเจ้าฯ พระบรมราชินีนาถ เสด็จฯ เยือนฟิลิปปินส์อย่างเป็นทางการในโอกาสดังกล่าว นางกลอเรีย มาคาปากัล อาร์โรโย ประธานาธิบดีฟิลิปปินส์คนปัจจุบัน ซึ่งเป็นบุตรีของนายดิออสดาโด มาคาปากัล (Diosdado Macapagal) ประธานาธิบดีฟิลิปปินส์ขณะนั้น ได้ทูลเกล้าฯ ถวายของที่ระลึกแด่สมเด็จพระนางเจ้าฯ พระบรมราชินีนาถ
- เมื่อวันที่ ๒๗ สิงหาคม ถึง ๒ กันยายน ๒๕๓๔ สมเด็จพระเทพรัตนราชสุดาฯ สยามบรมราชกุมารี เสด็จฯ ไปทรงรับรางวัลรามอน แม็กไซไซ สาขาบริการชุมชน 
รัฐบาล 
- วันที่ ๑๒ – ๑๓ ตุลาคม ๒๕๔๔ พ.ต.ท.ทักษิณ ชินวัตร นายกรัฐมนตรี เยือนอย่างเป็น ทางการ 
- วันที่ ๓๑ สิงหาคม ถึงวันที่ ๔ กันยายน ๒๕๔๖ นายอุทัย พิมพ์ใจชน ประธานสภาผู้แทนราษฎรและประธานรัฐสภา เข้าร่วมการประชุม General Assembly of the Association of Asian Parliaments for Peace ครั้งที่ ๔ 
- วันที่ ๗ – ๘ กันยายน ๒๕๔๖ พ.ต.ท.ทักษิณ ชินวัตร นายกรัฐมนตรี เยือนตามคำเชิญ ของประธานาธิบดีฟิลิปปินส์ เพื่อกล่าวสุนทรพจน์เรื่อง “Thaksinomics” ต่อ Philippine Chamber of Commerce and Industry (PCCI) และ Philippine-Thailand Business Council (PTBC) และเพื่อร่วมในพิธีส่งมอบเครื่องบินโจมตีแบบ OV-๑๐ ซึ่งกองทัพอากาศไทยปลดประจำการแล้วให้แก่กองทัพอากาศฟิลิปปินส์ ตามคำขอของฟิลิปปินส์เพื่อเสริมสร้างสมรรถนะของกองทัพอากาศฟิลิปปินส์ 
- วันที่ ๓๐ – ๓๑ มกราคม ๒๕๔๗ นายสุรเกียรติ์ เสถียรไทย รัฐมนตรีว่าการกระทรวง การต่างประเทศ เข้าร่วมการประชุมระดับรัฐมนตรีกรอบความร่วมมือของเอเชียตะวันออก-ละตินอเมริกา (Forum for East Asia-Latin America Cooperation – FEALAC)
- วันที่ ๒๙ มิถุนายน ถึงวันที่ ๑ กรกฎาคม ๒๕๔๗ พ.ต.ท.ทักษิณ ชินวัตร นายกรัฐมนตรี ได้มอบหมายให้รองนายกรัฐมนตรี (ร้อยเอก สุชาติ เชาว์วิศิษฐ์) เข้าร่วมพิธีสาบานตนเข้ารับตำแหน่งประธานาธิบดีฟิลิปปินส์ ในฐานะผู้แทนรัฐบาลไทย 
- วันที่ ๑๐ - ๑๒ เมษายน ๒๕๔๘ นายกันตธีร์ ศุภมงคล รัฐมนตรีว่าการกระทรวง การต่างประเทศได้เข้าร่วมการประชุมรัฐมนตรีว่าการกระทรวงการต่างประเทศอาเซียนอย่างไม่เป็นทางการ ที่เมืองเซบูและเยือนฟิลิปปินส์อย่างเป็นทางการ - วันที่ ๒๖ - ๒๘ มกราคม ๒๕๔๙ นายสุรเกียรติ์ เสถียรไทย รองนายกรัฐมนตรี เข้าร่วมพิธีเปิดสำนักงานภูมิภาคเอเชีย-แปซิฟิกของ Centrist Democrat International และกล่าวถ้อยแถลงต่อที่ประชุม Global Christian Muslim and Interfaith Dialogue 
- วันที่ ๒๓ ตุลาคม ๒๕๔๙ พลเอก สุรยุทธ์ จุลานนท์ นายกรัฐมนตรี เยือนอย่างเป็นทางการ
- วันที่ ๑๐ – ๑๔ ธันวาคม ๒๕๔๙ นายนิตย์ พิบูลสงคราม รัฐมนตรีว่าการกระทรวง การต่างประเทศได้เข้าร่วมการประชุมรัฐมนตรีว่าการกระทรวงการต่างประเทศอาเซียน ที่เมืองเซบู 
- วันที่ ๑๓-๑๕ มกราคม ๒๕๕๐ พลเอก สุรยุทธ์ จุลานนท์ นายกรัฐมนตรี เข้าร่วมประชุมสุดยอดอาเซียน ครั้งที่ ๑๒ และการประชุมสุดยอดอื่นๆ ณ เมืองเซบู 
- วันที่ ๒-๓ สิงหาคม 2550 นายนิตย์ พิบูลสงคราม รัฐมนตรีว่าการกระทรวงการต่างประเทศเยือนฟิลิปปินส์อย่างเป็นทางการ 
๓.๒ ฝ่ายฟิลิปปินส์
- วันที่ ๑๘ – ๒๒ เมษายน ๒๕๔๔ นายริซาลลิโน นาวาร์โร ผู้แทนพิเศษของประธานาธิบดีฟิลิปปินส์ประจำประเทศไทย หารือข้อราชการกับบุคคลสำคัญในภาครัฐและภาคเอกชนของไทย 
- วันที่ ๗ – ๑๐ มิถุนายน ๒๕๔๔ นายโฮเซ เด เวเนเชีย จูเนียร์ ประธานสภาผู้แทนราษฎรฟิลิปปินส์ เยือนเพื่อกล่าวสุนทรพจน์ในการประชุม International Leadership Seminar ซึ่งจัดโดย Inter-Religious and International Federation for World Peace และเมื่อวันที่ ๒ – ๕ กันยายน ๒๕๔๔ เพื่อเข้าร่วมประชุม ASEAN Inter-Parliamentary ครั้งที่ ๒๒
- วันที่ ๗ – ๘ พฤษภาคม ๒๕๔๕ นางกลอเรีย มาคาปากัล อาร์โรโย ประธานาธิบดีฟิลิปปินส์ เยือนอย่างเป็นทางการในฐานะแขกของรัฐบาล และเมื่อวันที่ ๒๙ เมษายน ๒๕๔๖ ได้เข้าร่วมการประชุมผู้นำอาเซียนและผู้นำอาเซียน-จีนสมัยพิเศษว่าด้วยโรค SARS ที่กรุงเทพฯ
- วันที่ ๒๑ – ๒๒ มิถุนายน ๒๕๔๖ นายบลาส เอฟ อ๊อบ-เล่ รัฐมนตรีว่าการกระทรวง การต่างประเทศฟิลิปปินส์ เข้าร่วมการประชุม Asia Cooperation Dialogue ที่จังหวัดเชียงใหม่
- วันที่ ๒๐ – ๒๑ ตุลาคม ๒๕๔๖ นางกลอเรีย มาคาปากัล อาร์โรโย ประธานาธิบดีฟิลิปปินส์ เข้าร่วมการประชุมผู้นำเศรษฐกิจเอเปค ที่กรุงเทพฯ
- วันที่ ๒๘ ตุลาคม ถึงวันที่ ๒ พฤศจิกายน ๒๕๔๖ นายโรมูโล เอล เนริ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงวางแผนสังคมและเศรษฐกิจฟิลิปปินส์ เยือนเพื่อติดตามผลการเยือนฟิลิปปินส์ของนายกรัฐมนตรี และศึกษานโยบายและโครงการเศรษฐกิจและสังคมของไทย 
- วันที่ ๔-๕ มีนาคม ๒๕๔๘ นายอัลเบอร์โต กัตไมตัน โรมูโล รัฐมนตรีว่าการกระทรวง การต่างประเทศฟิลิปปินส์ เยือนอย่างเป็นทางการในโอกาสเข้ารับตำแหน่งใหม่ในฐานะแขกของกระทรวง การต่างประเทศ - วันที่ ๑๐-๑๕ กรกฎาคม ๒๕๔๘ นายฟิเดล รามอส อดีตประธานาธิบดีฟิลิปปินส์เยือนเพื่อร่วมการประชุม The International Association of University Presidents (IAUP) ครั้งที่ ๑๔
- วันที่ ๑๒ – ๑๖ กุมภาพันธ์ ๒๕๔๙ นายฟิเดล รามอส อดีตประธานาธิบดีฟิลิปปินส์ เยือนเพื่อเข้าร่วมการประชุมคณะผู้ทรงคุณวุฒิในเรื่องกฎบัตรอาเซียน ครั้งที่ ๒ ที่กรุงเทพฯ - วันที่ ๑๖ และ ๑๘ กรกฎาคม ๒๕๔๙ นางกลอเรีย มาคาปากัล อาร์โรโย ประธานาธิบดี ฟิลิปปินส์แวะพักที่ห้องรับรองพิเศษ สนามบินดอนเมือง ก่อนและหลังการเยือนลิเบียอย่างเป็นทางการ โดยนายจาตุรนต์ ฉายแสง รัฐมนตรีว่าการกระทรวงศึกษาธิการ และนายกันตธีร์ ศุภมงคล รัฐมนตรีว่าการกระทรวงการต่างประเทศ ได้ให้การต้อนรับและหารือตามลำดับ
- วันที่ ๑๓ สิงหาคม ๒๕๔๙ นายอัลเบอร์โต กัตไมตัน โรมูโล รัฐมนตรีว่าการกระทรวง การต่างประเทศฟิลิปปินส์ แวะพักที่ห้องรับรองพิเศษ สนามบินดอนเมือง หลังการเยือนพม่าอย่างเป็นทางการ ก่อนเดินทางกลับฟิลิปปินส์ โดยได้หารือกับนายกันตธีร์ ศุภมงคล รัฐมนตรีว่าการกระทรวง การต่างประเทศ 
- วันที่ ๒๔-๒๗ มีนาคม ๒๕๕๐ นายอัลเบอร์โต กัตไมตัน โรมูโล รัฐมนตรีว่าการกระทรวงการต่างประเทศฟิลิปปินส์ เยือนเพื่อเข้าร่วมประชุมคณะกรรมาธิการร่วมว่าด้วยความร่วมมือทวิภาคีไทย-ฟิลิปปินส์ ครั้งที่ ๔


แหล่งที่มา : sites.google.com

อัพเดทล่าสุด