รูปแบบการจัดการศึกษาวิชาชีพในสถาบันศึกษาปอเนาะ MUSLIMTHAIPOST

 

รูปแบบการจัดการศึกษาวิชาชีพในสถาบันศึกษาปอเนาะ


1,152 ผู้ชม


ปอเนาะจังหวัดชายแดนภาคใต้ : การจัดการศึกษาท่ามกลางความหลากหลายทางวัฒนธรรม (3)

by : อับดุชชะกูร์ บินชาฟิอีย์
IP : (124.122.148.169) - เมื่อ : 28/01/2009 04:00 PM

5. ปอเนาะ: การจัดการศึกษาท่ามกลางความหลากหลายทางวัฒนธรรม

รูปแบบการจัดการศึกษาวิชาชีพในสถาบันศึกษาปอเนาะการ จัดการศึกษาในปอเนาะไม่ว่าจะอยู่ในระบบของสถาบันศึกษาปอเนาะหรือโรงเรียน เอกชนสอนศาสนาอิสลามได้กลายเป็นวิถีชีวิตของพี่น้องมุสลิมในจังหวัดชายแดน ภาคใต้ แต่เมื่อสถานการณ์โลกเกิดการเปลี่ยนแปลงเข้ามาสู่โลกในยุคโลกาภิวัฒน์ ทำให้ความเป็นพหุสังคมได้แพร่กระจายเข้าสู่สังคมมุสลิมมากยิ่งขึ้น มุสลิมเองต้องมีการดำเนินชีวิตกับต่างศาสนิกที่มีวัฒนธรรม ที่แตกต่างกัน ดังนั้นการนั้นการจัดการศึกษาโดยเฉพาะหลักสูตรการเรียนการสอนในสถาบันต่างๆ ต้องสามารถปรับปรนและสามารถบูรณการกับหลักการศาสนาได้


ผู้เขียนได้มีโอกาสอ่านงานวิจัยเรื่อง คนตานี...มลายูมุสลิมที่ถูกลืมของ อ.วลัยลักษณ์ ทรงศิริ (1) พบว่าคำถามที่ตอบไม่ได้ในขณะนี้คือ "คนมลายูมุสลิมจังหวัดชายแดนภาคใต้" ซึ่งผู้วิจัยใช้คำว่าคนตานีขณะที่รัฐพึงพอใจจะเรียกว่า "ชาวไทยมุสลิม" จะเดินไปสู่หนใดท่ามกลางความเคลื่อนไหวทางสังคมและวัฒนธรรมอย่างไร ทั้งจากกระแสโลกและท้องถิ่น ไม่ว่าจะเป็น การก้าวไปสู่ความทันสมัยของมาเลเซีย-ประเทศเพื่อนบ้าน กระแสการฟื้นฟูศาสนา (Religious Revivalism) โดยเฉพาะศาสนาอิสลาม การเสาะแสวงหาทรัพยากรท้องถิ่นเพื่อนำมาใช้อย่างเต็มที่ในรูปแบบเศรษฐกิจทุน นิยมไทยและสภาพการณ์ทางการเมืองในประเทศที่เปลี่ยนแปลงอย่างรวดเร็ว และการเมืองท้องถิ่นที่มีการต่อสู้อย่างรุนแรง

หากจะแบ่งกลุ่มคนที่มีวิธีจัดการกับปัญหาดังกล่าวจะสามารถแบ่งกลุ่มคนได้ 3 ประเภท

1.สมัยใหม่หรือก้าวหน้าซึ่งเป็นกลุ่มที่ยอมรับและเจริญรอยทุกฝีก้าวตามกระแสโลกาภิวัตน์
2.อนุรักษนิยมซึ่งเป็นกลุ่มที่ต้องการหลีกหนีจากการเผชิญหน้าและต่อต้านกระแสโลกาภิวัตน์โดยกลุ่มนี้มีทัศนคติว่าโลกาภิวัตน์ (Globalization) คือ แนวคิดที่ต้องการจะขับเคลื่อนให้สังคมมุสลิมเป็นตะวันตก (westernization) คือ แนวคิดที่ต้องการจะขับเคลื่อนให้สังคมมุสลิมเป็นตะวันตก (westernization) มีวิถีชีวิตแบบวัตถุนิยม บริโภคนิยม ให้ชาวมุสลิม โดยอาศัยกระบวนการเคลื่อนไหวของข้อมูล ทุน และทรัพยากรอย่างรวดเร็ว ดังนั้น อินเตอร์เน็ต ระบบเชื่อมโยงข้อมูล ระบบการขนส่งที่ดีจึงเป็นเครื่องมือที่สำคัญ

จากผลของสองกลุ่มดังกล่าวทำให้มีการปะทะทางความคิดอย่างรุนแรงให้สังคมมุสลิมเอง

ดังนั้น ควรมีกลุ่ม 3 ที่สามารถเป็นทางเลือกในการแก้ปัญหาและคนมุสลิมเองควรคิดแนวทางการจัดการปัญหาดังกล่าวด้วยตนเองที่เหมาะสม บูรณาการได้กับวิถีมลายูท้องถิ่น หลักการศาสนาอิสลามและปรับเข้ากันอย่างกลมกลืนกับโลกาภิวัตน์และความหลากทางวัฒนธรรม กลุ่มมุสลิมกลุ่มนี้จะมีทัศนคติเป็นของตนเองและภาคภูมิใจในเอกลักษณ์แห่งไทยมลายูมุสลิม สำนึกต่อพันธกิจและยึดมั่นในศาสนาที่ตนเองนับถือ เชื่อในความเป็นสากลนิยม และอารยธรรมแห่งประชาชาติ

มุสลิมกลุ่มนี้จะไม่หลีกหนีจากกระแสการเผชิญหน้าทุกรูปแบบ และกล้าที่จะสนทนาแลกเปลี่ยน (Dialoque) ความรู้ ประสบการณ์ และแนวคิดอย่างสันติกับทุกกลุ่มของลัทธิโลกาภิวัตน์ซึ่งแน่นอนที่สุด

แนวคิดในกลุ่มที่สามจะสามารถบรรลุได้อย่างรวดเร็วโดยใช้ฐานการปฏิรูปกระบวนการเรียนรู้ในชุมชนมุสลิมเอง ไม่ว่าจะเป็นโรงเรียนของรัฐ สถาบันปอเนาะ โรงเรียนเอกชนสอนศาสนาอิสลาม และศูนย์การเรียนของมัสยิดที่สามารถปลูกฝังแนวคิด ทัศนคติ และค่านิยมที่ถูกต้องตั้งแต่เด็กตลอดจนผู้ใหญ่ และท้ายสุดจะสามารถทำให้คนในพื้นที่สามารถใช้ชีวิตไม่ว่าจะเป็นด้านการเมือง เศรษฐกิจ และสังคม ด้วยวิถีไทยมลายูมุสลิมจังหวัดชายแดนภาคใต้ ที่สามารถเผชิญกับกระแสการก่อการร้าย การปะทะทางวัฒนธรรม และสังคมทุนนิยมของโลกยุคโลกาภิวัตน์ ในขณะเดียวกันมุสลิมหลายคน (รวมทั้งผู้เขียน) ที่ผ่านระบบการศึกษาใน สถาบันทั้งสองเมื่อต้องปฏิสัมพัน์ธ์กับต่างศาสนิกจะไม่มีความรู้พอในหลัก ปฏิบัติทางศาสนาและขอบเขตของศาสนาในการปฏิบัติตนต่อศาสนิกเช่นการทักทายกับ ต่างศาสนิกตามวิถีวัฒนธรรมไทยเช่นการไหว้ทักทาย การขอบคุณ การพูดคุยเพราะสิ่งเหล่านี้ไม่ได้ถูกสอนในหลักปฏิบัติทางศาสนาที่ถูกต้อง ซึ่งบางครั้งทำให้ต่างศาสนิกเข้าใจผิดมุสลิมว่าไม่มีมารยาทในการให้เกียรติ ซึ่งกันและกัน อีกสิ่งหนึ่งซึ่งเขียนพบในโรงเรียนเอกชนสอนศาสนาอิสลามการแยกวิชาศาสนาและ วิชาสามัญนั้นทำให้ผู้เรียนเมื่อเรียนวิชาศาสนาจะมีความรู้สึกเคร่งครัดอยู่ ในกรอบของหลากการศาสนา ในขณะเดียวกันเมื่อเรียนวิชาสามัญผู้เรียนหรือแม้กระทั่งครูผู้สอนส่วนใหญ่ จะไม่มีความรู้สึกผูกพันกับหลักการศาสนา ศักรินทร์ (ชากีรีน) สุมาลี (2) มีทัศนะว่า วิถีชีวิตของสังคมมุสลิมในจังหวัดชายแดนภาคใต้ จึงเปลี่ยนไปตามกระแสสังคมโลก ในขณะที่การจัดการศึกษาของสังคมมุสลิมในจังหวัดชายแดนภาคใต้ยังไม่สามารถ ผลิตให้เยาวชนมุสลิมสามารถเผชิญหน้ากับสังคมโลกในยุคโลกาภิวัตน์ได้ สังคมมุสลิมในจังหวัดชายแดนภาคใต้ จึงไม่สามารถรักษาอัตลักษณ์ของตนเองไว้ได้ เมื่อสังคมโลกปรับเปลี่ยนเข้าสู่ยุคโลกาภิวัตน์ ปอเนาะหรือโรงเรียนเอกชนสอนศาสนาอิสลามควรปรับเปลี่ยนกระบวนทัศน์และบทบาท เพื่อให้ก้าวทันการเปลี่ยนแปลงของโลก โดยที่ยังรักษาเจตนารมณ์ และ อัตลักษณ์ของปอเนาะดั้งเดิมไว้อย่างเข้มแข็ง นั่นคือ เจตนารมณ์ในการสืบทอดอิสลามสู่คนรุ่นหลังอย่างเข้มแข็ง ซึ่งปอเนาะหรือโรงเรียนเอกชนสอนศาสนาอิสลามในอนาคตที่ควรจะเป็น ดังนี้

    รูปแบบการจัดการศึกษาวิชาชีพในสถาบันศึกษาปอเนาะ
  1. ปอเนาะควรเป็นองค์กรแห่งการแห่งการเรียนรู้ (Learning Organization) เพื่อพัฒนาบุคลากรในองค์กร ให้พัฒนาอย่างต่อเนื่อง และเพื่อให้องค์กรสามารถปรับเปลี่ยนบทบาทได้ทันต่อกระแสการเปลี่ยนแปลงของ สังคมโลก
  2. ปอเนาะควรเป็นสังคมแห่งองค์ความรู้ (Knowledge Based Society ) อย่างแท้จริง เพื่อให้ชุมชนและสังคมได้พึ่งพาองค์ความรู้ที่ถูกต้องในทุกแขนง โดยเฉพาะองค์ความรู้ด้านศาสนา
  3. ผู้บริหารต้องมีแนวคิด (concept) ในการบริหารอย่างเป็นระบบ โดยเฉพาะแนวคิดการบริหารที่ใช้อิสลามเป็นฐาน มีทักษะการบริหาร มีความเชี่ยวชาญในการบริหารงานวิชาการ สามารถใช้เทคโนโลยีสารสนเทศ (IT) ได้ และต้องสามารถให้ให้คำแนะนำ (Coaching) แก่ครูได้
  4. ครูปอเนาะต้องมีความรู้ความเข้าใจอิสลามเป็นพื้นฐาน สามารถจัดกิจกรรมการเรียนรู้ได้อย่างครูมืออาชีพ เข้าใจพัฒนาการของผู้เรียน ที่สำคัญครูปอเนาะต้องสามารถปลูกฝังอิสลามและสามารถสอนโดยการบูรณาการองค์ความรู้กับอิสลามได้ในทุกวิชา
  5. หลักสูตรของปอเนาะ ควรเป็นหลักสูตรที่บูรณาการโครงสร้างทั้งสองหลักสูตรให้เป็นหลักสูตรเดียว หลักสูตต้องพัฒนาผู้เรียนทั้งโดยใช้เนื้อหาและกิจกรรม อีกทั้งหลักสูตรต้องตอบสนองความต้องการของผู้เรียนที่หลากหลาย และตอบตอบสนองความต้องการของสังคมอีกด้วย
  6. ปอเนาะต้องมีสื่อและนวัตกรรมที่หลากหลาย เช่น อินเตอร์เน็ต เว็บไซต์ อีเลินนิ่ง ฯลฯ
  7. ปอเนาะต้องมีปัจจัยพื้นฐาน (Infrastructure) ที่สมบูรณ์และเพียงพอ เช่น อาคารเรียนที่ทันสมัยขั้น ห้องสมุดที่มีหนังสือจำนวนมากและหลากหลาย ห้องทดลองวิทยาศาสตร์ ห้องปฏิบัติการทางภาษา ห้องคอมพิวเตอร์ ห้องพัฒนาบุคลิกภาพ และแหล่งเรียนรู้ที่หลากหลาย ฯลฯ

แนวทางในการปรับเปลี่ยนปอเนาะหรือโรงเรียนเอกชนสอนศาสนาอิสลามสู่อนาคต มีดังนี้

  1. ให้ความสำคัญกับการพัฒนาทรัพยากรมนุษย์ นั่นคือ ผู้บริหาร ครู และนักเรียน มากกว่าการพัฒนาปัจจัยพื้นฐาน และควรพัฒนาทรัพยากรมนุษย์เหล่านั้นภายใต้แนวคิดการบูรณาการองค์ความรู้กับอิสลาม (Islamization of Knowledge) ซึ่งเป็นกระบวนการหนึ่งในการสามารถบูรณาการศาสนาอิสลามกับศาสสตร์สาขาต่างๆ ซึ่งระบบการศึกษาในสังคมมุสลิมยุคปัจจุบันกำลังถูกกระบวนการไถ่ถอนศาสนา
    นิธิ เอียวศรีวงศ์์ (3) กล่าวว่า กระบวนการ "ไถ่ถอนศาสนา" ออกจากสังคมหรือที่เรียกในภาษาฝรั่งว่า secularization เป็นส่วนหนึ่งของการเปลี่ยนสู่ความทันสมัยที่เกิดขึ้นในทุกสังคมทั่วโลก แต่สังคมที่รอดพ้นจากความรุนแรงของกระบวนการ "ไถ่ถอนศาสนา" ที่สุดคือสังคมมุสลิม การที่สังคมมุสลิมผ่านกระบวนการ "ไถ่ถอนศาสนา" ออกจากสังคมน้อย เป็นทั้งจุดอ่อนและจุดแข็งของสังคมมุสลิมในโลกปัจจุบัน ทั้งนี้แล้วแต่ใครจะมอง และมองจากแง่ไหนก่อนอื่นควรเข้าใจด้วยว่า ศาสนาอิสลามเป็นศาสนาที่ให้ความสำคัญแก่การศึกษาและการแสวงหาความรู้อย่างยิ่ง ถือกันตามคำสอนว่าการศึกษาหาความรู้เป็นสิ่งที่มุสลิมควรทำตราบจนสิ้นลมหายใจแต่ความรู้ไม่ได้มีคุณค่าในตัวเอง การมีความรู้มากเฉยๆ ไม่มีประโยชน์ในสายตาของอิสลาม แต่ความรู้นั้นต้องเพิ่มสมรรถนะในการรับใช้พระผู้เป็นเจ้า มูฮัมหมัด อิคบัล (นักปราชญ์และกวีปากีสถาน) อธิบายว่า ความรู้หรือ ilm ในภาษาอาหรับ คือความรู้ที่มีฐานอยู่บนประสาทสัมผัส ความรู้ชนิดนี้ให้อำนาจทางกายภาพ ฉะนั้นความรู้หรืออำนาจทางกายภาพนี้จึงต้องอยู่ภายใต้การกำกับของ din หรือศาสนาอิสลาม ถ้าความรู้หรืออำนาจไม่อยู่ภายใต้การกำกับของ din ก็ย่อมเป็นสิ่งชั่วร้ายฉะนั้นจึงเป็นหน้าที่ของมุสลิมทุกคนที่ต้องทำให้ความ รู้เป็นอิสลาม (Islamize knowledge) ถ้าความรู้อยู่ภาย ใต้กำกับของ din ความรู้ก็จะเป็นพรอันยิ่งใหญ่ของมนุษยชาติ ในทางปฏิบัติ รับใช้พระผู้เป็นเจ้าหมายถึงการมีศีลธรรม, มีความยุติธรรม และมีความกรุณา นักปราชญ์บางท่านอธิบายว่าคุณลักษณะสามประการนี้ สรุปรวมก็คือการมีความสัมพันธ์เชิงเกื้อกูลกับคนอื่น นับตั้งแต่ญาติพี่น้องไปจนถึงสังคมโดยรวมนั่นเองการศึกษาของอิสลามจึงไม่ใช่ การฝึกวิชาชีพเพียงอย่างเดียว แต่หมายถึงการฝึกวิชาชีพเพื่อเพิ่มขีดความสามารถของตนเองในการรับใช้พระผู้ เป็นเจ้า หรือรับผิดชอบต่อสังคมได้มากขึ้นหนึ่งในลักษณะเด่นของระบบการศึกษาอิสลามก็ คือ ควรแสวงหาความรู้และเผยแพร่ความรู้แก่คนอื่นไม่ใช่เพื่อได้รับเงินตอบแทน แต่เพื่อประโยชน์ของสังคม และเพื่อความพอพระทัยของพระผู้เป็นเจ้า (Afzalur Rahman, Islam : Ideology and the Way of Life) ฉะนั้น ประเด็นจึงไม่ใช่ว่านโยบายของกระทรวงศึกษาจะล้มเหลว ไม่อาจเชื่อมโยงระบบการศึกษาของมุสลิมให้เข้ากับระบบการศึกษาของประเทศได้
  2. ควรวางระบบประกันคุณภาพการศึกษา ทั้งการประกันคุณภาพภายในและประกันคุณภาพภายนอกที่ไม่ใช่เน้นการสร้างเอกสาร มากว่าคุณภาพแลความเป็นจริง
  3. พัฒนาหลักสูตรโดยการบูรณาการโครงสร้างหลักสูตรการศึกษาขั้นพื้นฐาน พ.ศ.2544 กับ หลักสูตรอิสลามศึกษา พ.ศ.2546 พร้อมกับจัดให้มีแผนการเรียนที่หลากหลายมากขึ้นโดยมีวัตถุประสงค์ ดังนี้
    - ลดภาระการเรียนของนักเรียน
    - ตอบสนองความต้องการที่หลากหลายของผู้เรียนและสังคม
    - พัฒนาผู้เรียนโดยผ่านเนื้อหาวิชาการและกิจกรรมพัฒนาผู้เรียน
    ในขณะเดียวกันจะต้องเสริมวิชาหรือกิจกรรมการอยู่ร่วมอย่างสันติในสังคมที่มี ความหลากหลายทางวัฒนธรรมภายใต้กรอบของหลักการศาสนาที่สามารถปรับปรนได้
  4. พัฒนาสื่อและนวัตกรรมภายใต้แนวคิด การบูรณาการองค์ความรู้กับอิสลาม

หวังเป็นอย่างยิ่งว่าปอเนาะในอนาคต จะเป็นปอเนาะคุณภาพ ปอเนาะที่มีศักยภาพในการทำหน้าที่ถ่ายทอดศาสนธรรมให้แก่คนยุคหลังอย่างมี ประสิทธิภาพ เพื่อที่จะนำพาพวกเขาไปสู่การดำรงชีวิตยุคในโลกาภิวัตน์อย่างน่าภาคภูมิใจ ได้รับความพอพระทัยจากอัลลอฮฺ อันนำมาซึ่งความสำเร็จทั้งโลกนี้ (ดุนยา) และโลกหน้า (อาคีเราะฮฺ) อินชาอัลลอฮฺ

6. สรุป
รูปแบบการจัดการศึกษาวิชาชีพในสถาบันศึกษาปอเนาะ พื้นที่สามจังหวัดชายแดนภาคใต้ เป็นถิ่นที่อยู่ของชาวมลายูมุสลิมซึ่งถือเป็นคนกลุ่มน้อยในประเทศไทย แต่เป็นคนกลุ่มใหญ่ในพื้นที่จังหวัดชายแดนภาคใต้ เนื่องจากเป็นมุสลิมจึงมีความจำเป็นต้องมีความเข้าใจต่อหลักคำสอนของศาสนาอิสลาม เพราะมุสลิมมีหลักคิดว่า อิสลามคือธรรมนูญและรูปแบบการดำเนินชีวิตของมุสลิมทุกคน และไม่สามารถแยกเรื่องของอาณาจักรออกจากเรื่องของศาสนจักรได้ กล่าวคือ มุสลิมต้องรับรู้และรับผิดชอบในเรื่องของศาสนา และเรื่องทางสังคมโดยแยกออกจากกันไม่ได้ และการอ้างอิงเหตุผลใด ๆ จะใช้อัล-กุรอาน และอัล-หะดิษเป็นบทสรุปของปัญหาและเหตุผล และเป็นกรอบในการดำเนินชีวิตตั้งแต่เกิดจนตาย
อุปสรรคของการพัฒนาการศึกษาในพื้นที่จังหวัดชายแดนภาคใต้ มักจะติดขัดอยู่ตรงแนวคิดและทัศนคติที่มีความแตกต่างกัน และความขัดแย้งในบางครั้งที่เกิดขึ้นในประวัติศาสตร์ระหว่างรัฐกับประชาชนในพื้นที่ที่มีมาช้านาน เป็นสิ่งที่ต้องร่วมมือกันที่จะลดหรือยุติความรู้สึกความหวาดระแวงและสร้างความมั่นใจทั้งในด้านสังคมและในด้านการศึกษา ซึ่งต้องทำพร้อมกันไป

ความสับสนต่างๆที่เกิดขึ้นกับสถาบันศึกษาปอเนาะ และโรงเรียนเอกชนสอนศาสนาอิสลาม ซึ่งเกิดขึ้นจากความเข้าใจแต่ฝ่ายเดียวและการคิดแทนจากฝ่ายรัฐ และความสับสนจากระแสข่าวที่มาจากสื่อที่ขาดจรรยาบรรณบางกลุ่ม ที่มักเสนอข่าวโดยขาดความรับผิดชอบและขาดความรอบคอบ โดยไม่เล็งเห็นผลที่จะเกิดขึ้นกับสังคมในพื้นที่จังหวัดชายแดนภาคใต้และ สังคมโดยรวม

ทางออกและแนวทางที่จะพัฒนาการศึกษาในพื้นที่จังหวัดชายแดนภาคใต้ ต้องเริ่มด้วยความร่วมมือจากหลายฝ่าย โดยเฉพาะส่วนสำคัญที่มีอำนาจและหน้าที่โดยตรงกับการศึกษา คือ ฝ่ายรัฐที่ต้องมีความเอาจริงเอาจังและมีความจริงใจในการสนับสนุนช่วยเหลือ ฝ่ายผู้บริหารโรงเรียนที่ต้องมีความเข้าใจการบริหารจัดการการศึกษา และฝ่ายหน่วยงานที่ดูแลการศึกษาทั้งในระดับพื้นที่หรือระดับส่วนกลาง

สามส่วนนี้ต้องทำงานประสานกัน ด้วยการติดตามดูแลปัญหาและความขาดแคลนที่เกิดขึ้นกับสถาบันศึกษาดังกล่าว ให้มีความพร้อมทั้งด้านกายภาพและหลักสูตรที่เหมาะสมกับพื้นที่ และให้เกิดความสอดคล้องและเกิดการยอมรับด้วยความสมัครใจในการจัดการการศึกษา โดยรัฐต้องมีเป้าหมายในการพัฒนาที่ชัดเจนที่จะเข้าไปช่วยเหลือและส่งเสริม มากกว่าการเข้าไปเพื่อเปลี่ยนแปลงระบบการศึกษาในพื้นที่จังหวัดชายแดนภาคใต้

ในส่วนของสถาบันศึกษาปอเนาะ รัฐควรปล่อยให้มีความอิสระในการจัดการและกำหนดหลักสูตร แต่ควรให้การส่งเสริมในด้านกายภาพหรือด้านสาธารณูปโภคให้แก่สถาบันศึกษาปอเนาะ โดยไม่เข้าไปยุ่งเกี่ยวกับหลักสูตร ในส่วนของการส่งเสริมวิชาชีพจะต้องไม่กระทบกับตารางการศึกษาที่มีอยู่ และไม่กระทบกับวิถีชีวิตทางการศึกษาภายในสถาบันศึกษาปอเนาะ

ส่วนโรงเรียนเอกชนสอนศาสนาอิสลาม รัฐควรเข้าไปส่งเสริมและช่วยเหลือให้เกิดการพัฒนาวิชาสามัญหรือวิชาชีพให้มีความพร้อมและมีมาตรฐาน และมีคุณภาพทางการศึกษาเหมือนกับโรงเรียนของรัฐหรือโรงเรียนเอกชนทั่วไป

สถาบันการศึกษาทั้งสองนี้มีความสำคัญ และความเหมาะสมกับพื้นที่จังหวัดชายแดนภาคใต้ รัฐควรให้การสนับสนุนอย่างเต็มที่ และพัฒนาไปบนความเข้าใจและยอมรับในความแตกต่างทางศาสนา วัฒนธรรม วิถีคิดที่มีความแตกต่าง ให้เป็นประโยชน์ต่อเยาวชนและประเทศชาติบนพื้นฐานของการยอมรับความแตกต่างทาง ด้านต่างๆ ที่เกิดขึ้นจริงในสังคมต่อไป ในขณะเดียวกันมุสลิมเองต้องยอมรับกับความเป็นจริงของสังคมในยุคโลกาภิวัฒ น์ซึ่ง ทำให้ความเป็นพหุสังคมได้แพร่กระจายเข้าสู่สังคมมุสลิมมากยิ่งขึ้น ดังนั้นการปฏิรูปการจัดการศึกษาท่ามกลางความหลากหลายทางวัฒนธรรมในสถาบัน ต่างๆโดยเฉพาะในปอเนาะที่สามารถบูรณาการกับหลักการศาสนาอิสลามจึงเป็นเรื่อง ที่ท้าทายสำหรับสังคมมุสลิมจังหวัดชายแดนภาคใต้ ไม่ว่าจะเป็นผู้บริหาร ครูผู้รับผิดชอบฝ่ายวิชาการโรงเรียนเอกชนสอนศาสนาอิสลามในจังหวัดชายแดนภาค ใต้ โต๊ะครูจากสถาบันปอเนาะ และครูตาดีกาหรือแม้กระทั่งวิทยากรอิสลามซึ่งสอนอิสลามศึกษาในโรงเรียนประถม ศึกษาของรัฐและเอกชนควรร่วมกันคิดหาแนวทางในการจัดการศึกษาให้เหมาะสมกับพหุ สังคมในยุคโลกาภิวัฒน์ภายใต้กรอบอิสลามานุวัฒน์ หรือแนวคิดการบูรณาการองค์ความรู้กับอิสลาม (Islamization of Knowledge )

เนื่องในโอกาสการประชุมสัมมนาเชิงปฏิบัติการ มุสลิมกับสันติภาพ : การจัดการศึกษาท่ามกลางความหลากหลายทางวัฒนธรรม วันที่ 15-16 มีนาคม 2551 ณ โรงแรมหาดใหญ่รามา สงขลา.
สนับสนุนโดย: ศูนย์อำนวยการบริหารจังหวัดชายแดนภาคใต้ร่วมกับสมาคมผู้บริหารโรงเรียนเอกชนสอนศาสนาอิสลามจังหวัดสงขลา



(1) วลัยลักษณ์ ทรงศิริ. 2549. คนตานี. .. มลายูมุสลิมที่ถูกลืม. สืบค้นเมื่อ 11 มีนาคม 2551 จาก https://midnightuniv.org/midnight2544/0009999722.html
(2) ผช.ครูใหญ่โรงเรียนมุสลิมสันติธรรมมูลนิธิ อ.เมือง จ.นครศรีธรรมราช
กรรมการบริหารโครงการ ปฏิรูปหลักสูตรสำหรับโรงเรียนปอเนาะในเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ : ภาคใต้ ประเทศไทย (CRP-PROJECT)
กรรมการสมาคมยุวมุสลิมแห่งประเทศไทย .Email : zikra1295@gmail.com , zikra@sanook.com : โปรดดู ศักรินทร์ (ชากีรีน) สุมาลี. 2551.ปอเนาะ อดีต ปัจจุบัน อนาคต; ในวารสารงาน 55 ปีรุ่งโรจน์รำลึก. สงขลา : แม็กซมีเดีย : หน้า 31- 36
(3) นิธิ เอียวศรีวงศ์.2546.จากปอเนาะถึงมหาวิทยาลัยอิสลาม. มติชนรายวัน ฉบับวันที่ ๑๘ สิงหาคม พ.ศ. ๒๕๔๖ ปีที่ ๒๖ ฉบับที่ ๙๒๙๒ หน้า ๖

https://www.thaingo.org/writer/view.php?id=1075

อัพเดทล่าสุด