อันตราย...สไตรีน MUSLIMTHAIPOST

 

อันตราย...สไตรีน


1,066 ผู้ชม



สไตรีนมักถูกนำไปใช้เป็นภาชนะในการบรรจุอาหาร ท่านทราบหรือไม่ว่ามันแฝงอันตรายไว้มากมาย   

            จากพลาสติกสู่ภาชนะบรรจุอาหารที่ได้รับความนิยมมากขึ้นในปัจจุบัน  มีพลาสติกหลาย ชนิดที่ใช้ในการผลิตบรรจุภัณฑ์เพื่อบรรจุอาหาร  ได้แก่  โพลีเอทิลีน    โพลีโพรพิลีน  โพลีเอทิลีน เทเรฟทาเลต  โพลีไวนิลคลอไรด์  โพลีสไตรีน  แต่ในครั้งนี้ขอนำทุกท่านมารู้จักกับโพลีสไตรีน หรือ กล่องโฟม เพียงชนิดเดียวก่อน

สไตรีนคืออะไร 
            สไตรีน เป็นโมโนมอเมอร์ที่ทำให้เกิดเป็นพอลิสไตรีน  การที่จะเตรียมสไตรีน เราจะใช้สาร 2 ชนิดคือ เอทิลีน  กับเบนซิน มาทำปฏิกิริยากัน  จากนั้นเมื่อได้สไตรีนแล้วเราก็นำสไตรีนมาทำปฏิกิริยาต่อกันอีกโดยลักษณะการเกิดปฏิกิริยาจะเกิดในทำนองเดียวกันก็คือปฏิกิริยาพอลิเมไรเซชันแบบเติม    โดยสารพอลิสไตรีนที่เกิดขึ้นนั้นมีจุดเด่นมากมายหลายประการ คืออุณหภูมิหลอมเหลวเป็นช่วงกว้าง  ทำให้ง่ายต่อการหล่อขึ้นรูปด้วยแม่พิมพ์  สามารถเลือกตั้งอุณหภูมิและความดันของเครื่องจักรได้ง่าย มีความแข็ง  แต่เปราะแตกรานง่าย แต่สามารถทำให้เหนียวขึ้นได้ โดยการเติมยางสังเคราะห์ บิวทาไดอีนลงไปซึ่งเรียกว่า สไตรีนทนแรงอัดสูง  (High impact styrene)    น้ำหนักเบา    ไม่มีสี ไม่มีกลิ่น มีความใส ผิวเรียบ ใส่สีเติมแต่งได้ง่าย และคงความโปร่งใสเช่นเดิม   ทนทานต่อสารเคมีทั่วไป    แต่ไม่ทนต่อสารไฮโดรคาร์บอนและตัวทำละลายอินทรีย์   เป็นฉนวนไฟฟ้า     ไม่ดูดความชื้น    เกิดไฟฟ้าสถิตได้ง่าย ทำให้ดูดฝุ่นละอองได้ดี     การหดตัวสูงเมื่อเย็นตัว ทำให้ถอดจากแม่พิมพ์ได้ง่าย แต่อาจเสียรูปและขนาดไปบ้าง   ไม่ทนต่อสภาพสิ่งแวดลอมภายนอกผิวเสื่อมสภาพเร็ว ไม่ทนต่อการถูกขีดข่วน

            สไตรีนสามารถนำไปใช่ผลิตเป็นโฟมพอลิสไตรีนได้   2 ชนิด คือ โฟมอีพีเอส และโฟมพีเอสพี  ซึ่งโฟมทั้ง 2 ชนิดนี้มีความแตกต่างกันอันเนื่องมาจากกระบวนการผลิตและชนิดของสารที่ใช้ในการช่วยให้เกิดการขยายตัวของเม็ดพลาสติก   เราลองมาทำความรู้จักกับโฟมสไตรีนแต่ละชนิดกันก่อนนะคะ   โฟมอีพีเอส  เป็นโฟมเกิดจากการใช้แก๊สเพนเทนในการขยายตัวและเมื่อได้เม็ดพลาสติกที่ฟูฟองแล้วก็นำไปอัดขึ้นรูป  ลักษณะของโฟมชนิดนี้จะมีลักษณะฟูฟอง  เป็นแท่งหรือเป้นก้อน    มีน้ำหนักเบามักจะเอาไปใช้ประโยชน์ในการทำภาชนะที่ต้องรับแรงดันหรือกระแทก เช่น หมวกกันน๊อค  บลอกรองคอสะพาน  เป็นต้น  สำหรับโฟมชนิดที่ 2 ที่เรียกว่าโฟมพีเอสพี  เป็นโฟมที่ใช้สาร CFCs  เป็นสารช่วยในการขยายตัว  จากนั้นก็ฉีดพลาสติกออกมาเป็นแผ่น ๆ  แต่เนื่องจากสาร  CFCs เป็นตัวการสำคัญที่ก่อให้เกิดปัญหาสิ่งแวดล้อมคือภาวะเรือนกระจก  ดังนั้นในปัจจุบันจึงเปลี่ยนมาใช้โพรเพน  หรือ บิวเทน  หรือแก๊สหุงต้ม  เป็นสารช่วยในการขยายตัวของพลาสติกแทน  ลักษณะเด่นของโฟมชนิดพีเอสพีก็คือ เบา สามารถนำไปขึ้นรูปเป็นรูปต่าง ๆ ได้ง่าย  ดังนั้นจึงนำมาใช้ในการผลิตกล่องโฟมบรรจุอาหาร
 แม้ว่าจะเลิกใช้  CFCs  เป็นตัวช่วยในการขยายตัวของของเม็ดพลาสติกไปแล้วก็ตาม  ท่านทราบหรือไม่ว่า พลาสติกที่นำมาบรรจุอาหารที่เรียกว่ากล่องโฟมนั้นก็ยังเป็นอันตรายต่อผู้บริโภคอยู่ดี  ดังนั้นจึงมีรายงานข่าวจากสำนักข่าวต่าง ๆ ในต่างประเทศว่า  ประเทศต่าง ๆ โดยเฉพาะประเทศที่เจริญแล้วเขาห้ามใช้โฟมสไตรีน  ในการบรรจุอาหารโดยเฉาฃพาะอาหารที่ร้อน  แต่เมื่อลองหันมามองบรรจุภัณฑ์ที่ใช้ในการบรรจุอาหารในประเทศของเราก็จะพบว่า โฟมยังได้รับความนิยมมาก ๆ ในการนำมาเป็นภาชนะบรรจุอาหาร  แล้วตัวท่านละใช้ภาชนะบรรจุอาหารชนิดใด 

คุณสมบัติของภาชนะบรรจุอาหารประเภทโฟม 
1. การป้องกันน้ำและน้ำมัน เนื้อโฟมโพลิสไตรีนไม่ดูดซึมน้ำหรือน้ำมัน และความชื้นซึมผ่านไม่ได้
2. การเป็นฉนวนกันความร้อน ในเนื้อโฟมมีโพรงอากาศเล็กๆ อยู่มากมาย ซึ่งโพรงอากาศเหล่านี้จะกันความร้อนผ่านเนื้อโฟม ฉะนั้นจึงสามารถเก็บอาหารให้อุ่นอยู่ได้นานกว่า เมื่อเทียบกับกล่องกระดาษ
3. แบคทีเรียไม่ก่อตัวบนผิวโฟม โพลิสไตรีนทนทานต่อการทำลายของแบคทีเรีย
4. การช่วยกันกระแทกได้ โพรงอากาศในเนื้อโฟมจะช่วยกันการกระแทกได้ดีกว่า
5. การไม่เกิดการเป็นพิษ วัตถุดิบที่ใช้ผลิตภาชนะนี้ ได้ผ่านการรับรองจากคณะกรรมการอาหารและยา (FDA) ของสหรัฐอเมริกา และของประเทศไทยแล้วว่า ไม่เกิดการเป็นพิษ จึงเหมาะแก่การใช้บรรจุอาหารได้โดยตรง
6. มีความคงตัวทั้งในอุณหภูมิสูงและต่ำ ฉะนั้นจะเห็นได้ว่า ภาชนะบรรจุอาหารชนิดนี้ สามารถทนความเย็นจัดได้โดยไม่สูญเสียรูปทรง และสามารถใช้บรรจุอาหารร้อนๆ ได้ดี  ( ที่มา.. ภาชนะพลาสติก)

โฟมสไตรีนกับถ้วยบะหมี่สำเร็จรูปอันตราย...สไตรีน
          
ถ้วยโฟมโพลิสไตรีน (Polystyrene: PS) ขึ้นรูปโดยการหลอมพลาสติก PS แล้วขึ้นรูปถ้วยจะมีลักษณะเป็นเม็ดโฟมเล็ก ๆ เกาะกันแน่น มีข้อดีคือเป็นฉนวนความร้อน เมื่อชงน้ำร้อนในบะหมี่แล้ว บะหมี่จะร้อนนาน ผู้ถือถ้วยจะไม่รู้สึกร้อน ถ้วยโฟมไม่สามารถทนความร้อนระดับ 100 องศาเซลเซียสได้ จึงไม่สามารถเข้าในไมโครเวฟได้ และข้อเสียของบรรจุภัณฑ์โฟม คือ เป็นขยะไม่ย่อยสลาย และยังไม่มีวิธีรีไซเคิลที่เหมาะสม นอกจากนี้ถ้วยโฟมพิมพ์สีภายนอกได้ไม่สวยงาม จึงต้องอาศัยการหุ้มด้วยพลาสติกอีกชั้นหนึ่งเพื่อเป็นพื้นที่ฉลากอาหาร (ที่มา : ถ้วยบะหมี่ )

 อันตรายจากสไตรีน
            เมื่อนำกล่องโฟม มาบรรจุอาหาร โดยเฉพาะอาหารที่ร้อน  จะทำให้กล่องโฟมนั้นเกิดการสลายตัวให้สารพิษชนิดต่าง ๆ ออกมา เช่น  สไตรีน (styrene) และเบนซิน (Benzene)    สไตรีนเมื่อเกิดขึ้นจากการสลายตัวของกล่องโฟม  จะมีผลต่อร่างกาย คือทำลายฮอร์โมนในร่างกาย  มีผลต่อระบบประสาท   เม็ดเลือดแดง  และตับไต  เมื่อถูกผิวหนังหรือเข้าตาจะทำให้ระคายเคือง การสูดเข้าไปจะมีอาการไอ และหายใจลำบาก เพราะไปทำให้เยื่อเมือกเกิดความระคายเคือง ปวดศรีษะ ง่วงซึม เป็นต้น     สำหรับ เบนซิน  จัดเป็นพิษสารก่อมะเร็ง  ที่มีอันตรายต่อผู้สูดดมหรือรับประทานเข้าไป  คือ   ทำให้เกิดอาการวิงเวียน คลื่นไส้   หรือมีอาการปวดท้อง เนื่องจากกระเพาะถูกกัดกร่อน เวียนศรีษะ คลื่นไส้ อาเจียน ง่วงนอน ชัก หัวใจเต้นแรง และอาจเสียชีวิตได้   การได้รับเบนซินเป็นเวลานานจะมีผลทำให้เป็นโรคโลหิตจาง (Anemia)  เนื่องจากเบนซินจะเข้าไปทำลายไขกระดูก ซึ่งเป็นสาเหตุทำให้จำนวนเม็ดเลือดลดลงและทำลายระบบภูมิคุ้มกันภายในร่างกายได้

ข้อระวังในการใช้พลาสติกบรรจุอาหาร
      อย่าใช้ภาชนะพลาสติกที่มีสีฉูดฉาดใส่อาหารและไม่นำภาชนะดังกล่าวใส่อาหาร้อน ใส่อาหารที่มีน้ำมันเป็นส่วนผสม หรือมีไขมันอยู่ในปริมาณสูง หรืออาหารที่เป็นกรด (มีรสเปรี้ยว)
      การนำถุงพลาสติกที่ใช้แล้ว มาบรรจุอาหารก็อาจเกิดอันตรายจากเชื้อโรคหรือสารที่ตกค้างอยู่ที่พลาสติกนั้นเพราะไม่สามารถล้างออกได้หมด
      อย่าใช้ภาชนะพลาสติกบรรจุอาหารที่เป็นกรด (มีรสเปรี้ยว) เช่น บรรจุพริกดอง น้ำส้มสายชูในถ้วยพลาสติก เพราะน้ำส้มมีฤทธิ์เป็นกรด กรดจะกัดกร่อนพลาสติกและสีที่ผสมอยู่ในเนื้อพลาสติก ซึ่งมีสารตะกั่วและปรอทละลายปนอยู่ในพริกดอง เมื่อบริโภคเข้าไปสารเหล่านี้จะสะสมในร่างกาย ซึ่งเป็นสาเหตุของมะเร็งได้ใช้แก้ว กระเบื้องเซรามิค หรือแสตนเลส จึงจะปลอดภัย
      ห้ามนำภาชนะพลาสติกประเภท Polycarbonate อุ่นในไมโครเวฟ หรือหากใช้ฝาครอบพลาสติกเพื่ออุ่นอาหารก็อย่าให้ถูกอาหาร
     อย่านำถุงพลาสติกที่บรรจุเครื่องดื่มหรืออาหารแช่ช่องแข็ง หรือนำมาแช่น้ำร้อนเพื่อละลายน้ำแข็งหรืออุ่นอาหาร
     ลดการใช้ช้อนส้อมหรือแก้วพลาสติกแบบใช้ครั้งเดียว หลีกเลี่ยงอาหารกระป๋อง หรือการกินจากถ้วยบะหมี่กึ่งสำเร็จรูป หรือถ้าเลี่ยงไม่ได้ให้เปลี่ยนมาใส่จานหรือชามแก้ว สแตนเลส และเซรามิกที่ทนความร้อนดีกว่า
     ซื้อขวดนมที่ระบุว่า “ปลอดสาร BPA หรือ BPA Free หรือเลือกขวดนมที่ทำมาจาก Polypropylene ก็ได้ และที่สำคัญอย่าอุ่นขวดนมในไมโครเวฟ แต่ให้แช่ขวดนมในน้ำอุ่นถึงร้อนแทน
     สำหรับภาชนะพลาสติกที่เขียนว่า Microwave-safe หรือ microwavable นั้น เป็นพลาสติกที่ไม่ละลายหรือแตกเมื่ออุ่นในเตาไมโครเวฟ แต่ไม่ได้หมายความว่าปลอดภัยต่อร่างกาย 100% เนื่องจากเราไม่สามารถรู้ได้ว่าเมื่อใช้อุณหภูมิขนาดนี้ สารจะออกมาปะปนมากน้อยเพียงใด นอกจากนี้หากนำไปอุ่นอาหารที่มีไขมันสูงอาจทำให้เกิดปฏิกิริยา ทำให้มีสาร lipophilic ออกมา ซึ่งเพิ่มโอกาสเสี่ยงการเป็นมะเร็งได้
       การล้างขวดเพทเพื่อนำกลับมาใช้เติมน้ำใหม่นั้นไม่ควรเติมน้ำร้อนจัด และก่อนใช้ควรล้างให้สะอาดทุกครั้ง มิฉะนั้นละก็อาจมีการปนเปื้อนของแบคทีเรีย หากสังเกตว่าขวดมีการเปลี่ยนแปลง เช่น สีขุ่น มีคราบเหลือง มีรอยบุบหรือแตกให้ทิ้งทันที

         หวังว่าความรู้ที่ได้จะทำให้ท่าตระหนักถึงอันตรายที่แฝงอยู่ในภาชนะบรรจุอาหาร นะคะ  และขอให้ ท่านมีสุขภาพดี เพราะเลือกใช้ภาชนะบรรจุอาหารที่ปลอดภัย     แล้วพบกันใหม่ในฉบับหน้านะคะ

อันตราย...สไตรีน

รูปจาก ร้านนี้อร่อย

ร่วมตอบคำถาม
       1. พอลิสไตรีนคืออะไร  เกิดจากอะไร
       2. ผลิตภํณฑ์จากสไตรีนมีอะไรบ้าง ใครรู้บ้าง
       3. หาหมีอาหาร 3 ชนิด คือ ปลาท่องโก๋   น้ำแข็งใส   ต้มยำกุ้ง  และมีภาชนะที่ทำจากสไตรีน  ท่านจะเลือกใส่อาหารชนิดใด
       4. หากขวดนมทารกทำจากพอลิสไตรีน ท่านคิดว่าจะมีผลกระทบต่อทารกหรือไม่อย่างไร
       5. "หญิงมีครรภ์คนหนึ่งชอบรับประทานกระเพราไก่ ไข่ดาวในมื้อกลางวัน เธอจะสั่งให้ร้านค้าจัดอาหารส่งมาให้ทาน ที่ทำงาน  " แม่ค้ามักจะใส่อาหารของเธอในกล่องพลาสติกและทุกพลาสติกเพื่อความสะดวกในการส่ง   ท่านคิดว่าท่านจะให้คำแนะนำแก่แม่ค้าและหญิงมีครรภ์นั้นอย่างไร เขาจึงจะปลอดภัยในการบริโภค 

กิจกรรมเสนอแนะ
1. สืบด้นข้อมูลเรื่องสไตรีนจาก
          
https://www.ibplastic.com/index.php?plastic=knowledge&id=18
          https://www.chemtrack.org/News-Detail.asp?TID=4&ID=11
          https://pack.cutip.net/foodcon/plastic.php 
2.หาภาพตัวอย่างการใช้ผลิตภัณฑ์พลาสติกบรรจุอาหารที่ใช้ในชีวิตประจำวัน แล้วร่วมกันอภิปรายเกี่ยวกับความเหมาะสมในการใช้ และข้อควรระวังในการใช้ผลิตภัณฑ์

อ้างอิง :
https://www.sci-yiu.net/forum/index.php?topic=34.0

https://www.material.chula.ac.th/RADIO45/November/radio11-2.htm
https://guru.sanook.com/search/%E0%B8%9E%E0%B8%AD%E0%B8%A5%E0%B8%B4%E0%B8%AA%E0%)B9%84%E0%B8%95%E0%B8%A3%E0%B8%B5%E0%B8%99_(Polystyrene%7C10%7C_PS
https://www.chemtrack.org/News-Detail.asp?TID=1&ID=47
https://www.doae.go.th/LIBRARY/html/detail/big/big7.htm
https://www.thaihealth.or.th/node/7784
https://493crujira.blogspot.com/2007/06/blog-post_18.html
https://www.foodsafetymobile.org/UserFiles/Image/noodlecup.jpg


By  : ครูพัชรี  ลิ้มสุวรรณ  โรงเรียนทุ่งตะโกวิทยา   สำนักงานเขตพื้นที่การศึกษาชมพร  เขต 2 

 
ที่มา : https://www.sahavicha.com/?name=knowledge&file=readknowledge&id=69

อัพเดทล่าสุด