อันตรายจากการถูก "ตบบ้องหู" MUSLIMTHAIPOST

 

อันตรายจากการถูก "ตบบ้องหู"


651 ผู้ชม


ทางการแพทย์เรียกการบาดเจ็บของเยื่อแก้วหู   

เป็นข่าวครึกโครมติดกระแสสังคมอีกข่าว เมื่อเจ้าหน้าที่สนามบินสุวรรณภูมิถูกผู้โดยสารทำร้ายด้วยการเอามือตบบ้องหู สองข้าง จนเป็นเหตุให้แก้วหูทะลุ

ทำไมถูกตบบ้องหูแล้วทำให้แก้วหูทะลุได้ ?

ทางการแพทย์เรียกการบาดเจ็บของเยื่อแก้วหูที่เกิดจากแรงอัดอากาศนี้ว่า barotrauma (บา-โร-ทรอ-ม่า) คำว่า “baro” หมายถึง ความดัน ส่วนคำว่า “trauma” หมายถึง การบาดเจ็บ ซึ่งการตบบ้องหู หรือช่องหู เป็นสาเหตุหนึ่งที่ทำให้เกิด barotrauma ต่อเยื่อแก้วหูได้ ซึ่งจะเป็นได้ทั้งข้างซ้าย หรือข้างขวา หรือ 2 ข้าง เช่นเดียวกับการได้ยินเสียงระเบิดดังมากข้างหู หรือการจุดประทัดในเทศกาลต่างๆ ก็ทำให้แก้วหูทะลุได้ ผู้นั้นจะมีอาการหูอื้อปวดหูทันที

อันตรายจากการถูก "ตบบ้องหู"

สาเหตุที่ทำให้แก้วหูทะลุหลังจากถูกตบบ้องหูนั้น เกิดจากการอัดแรงดันอากาศเข้าไปภายในช่องหูอย่างรวดเร็วและรุนแรง ทำให้แผ่นแก้วหูซึ่งเป็น เยื่อบางๆ ขึงกั้นคล้ายหน้ากลอง อยู่ระหว่างหูชั้นนอกซึ่งเป็นท่ออากาศยาวประมาณ 2 ซม. และหูชั้นกลางซึ่งมีกระดูก 3 ชิ้นต่อกัน เพื่อส่งแรงสั่นสะเทือนไปสู่น้ำในหูชั้นใน ซึ่งมีประสาทรับเสียงลอยอยู่ เพื่อส่งต่อไปยังสมองเพื่อการได้ยิน แรงอัดของอากาศไปกระแทกแก้วหู ทำให้แก้วหูทะลุได้ทันที และมีเลือดออกได้ด้วย

ถ้าแรงอัดอากาศไม่มากนัก เยื่อแก้วหูอาจเพียงอักเสบช้ำ มีเลือดตกบนแก้วหู แต่ไม่ทะลุ เยื่อแก้วหูอักเสบเพียงเล็กน้อย อาจมีอาการแค่หูอื้อชั่วคราว เหมือนเวลาที่เราขึ้นเครื่องบินแล้วความกดดันอากาศค่อยๆ เพิ่มขึ้นทีละน้อย ช่องหูชั้นกลางของเราจะปรับตัวคือถ่ายเทแรงดันที่เพิ่มหรือลด ออกไปทางช่องทางต่อกับหลังโพลงจมูก ได้ก็จะทำให้เยื่อแก้วหูไม่ตึง จนปวดหรือทะลุ หรืออักเสบจนเลือดออก เราคงนึกได้ว่าถ้าเราบินทั้งๆที่เป็นหวัดคัดจมูกท่อต่อจากหูไปจมูกจะบวม การปรับแรงดันจะทำได้ยาก หูเราปวด และจะอื้อไปหลายวันได้

แต่ถ้าความกดดันอากาศที่กระแทกเข้าไปในช่องหูนั้นมีแรงดันมากอย่างรวด เร็ว เช่นมีเหตุของการปรับอากาศในเครื่องบินไม่ดี หรือเครื่องบินปรับระดับเพดานบินอย่างรวดเร็ว ก็สามารถทำให้เยื่อแก้วหูทะลุ หรือถึงขั้นฉีกขาดได้ หรือการดำน้ำลึกอย่างรวดเร็วจนแก้วหูปรับแรงดันไม่ได้ ก็เกิดเลือดออกบนแก้วหู และแก้วหูทะลุได้

การทะเลาะวิวาทในคนใกล้ชิด อาจถึงขั้นตบตี โดยฝ่ามืออาจพลาดไป ถูกช่องหู หรือบ้องหู (คำว่าบ้องหู ไม่มีในศัพท์แพทย์) ทำให้แก้วหูทะลุได้ ซึ่งพบได้บ่อยๆ ผู้ถูกกระทำมักเป็นฝ่ายหญิง เพราะผู้ชายมือใหญ่และหนัก และจะเกิดในหูซ้าย เพราะฝ่ายกระทำใช้มือขวา ตบ จะเข้าหูซ้ายพอดี ทั้งๆไม่ได้ตั้งใจก็จะเจ็บช้ำทั้งหูและจิตใจ ยังไม่พบว่าฝ่ายชายถูกตบจนแก้วหูทะลุ หรืออาจอายไม่มาพบแพทย์ก็เป็นได้ เคยพบด้วยว่า บางคู่แทนที่จะตบกัน กลับรักกันมากอย่างดูดดื่ม ดูดดื่มจนแก้วหูทะลุก็มี !

นอกจากนั้นรถยนต์ทุกวันนี้ดีมาก เก็บเสียงได้ดีจนไม่มีอากาศรั่ว การปิดประตูรถโดยกระแทกแรงเกินไปเกิด แรงอัดของอากาศจนกระทั่งผู้นั่งอยู่ในรถก่อนหูอื้อแก้วหูทะลุก็มี

อันตรายจากการถูก "ตบบ้องหู"

อาการที่ทำให้สงสัยว่าแก้วหูทะลุ จากแรงอัดอากาศ หรือได้ยินเสียงระเบิด หรือประทัด ?

  1. หูอื้อและปวดในหูโดยทันทีที่ได้รับแรงกระแทกหรือเสียงดังมาก อาจรู้สึกว่าหูชาไปเลย ก่อนจะรู้สึก ปวดหรืออื้อ และเวลาผ่านไป 1 ชม ก็ยังไม่หายอื้อ ควรรีบไปพบแพทย์
  2. หูอาจมีเสียงดังวิ้ง หรือ วี้ และได้ยินไม่ชัด ไม่ยอมหาย ใน 2-3 ชั่วโมง หรือมีอาการเวียนศีรษะบ้านหมุนมึนงง แสดงว่าแรงกระเทือนไปถึงหูชั้นใน อาจมีเยื่อของหูชั้นในฉีกขาดด้วย ต้องรักษาด่วน
  3. บางรายอาจ “มีเลือดออกมาจากช่องหู” บางรายรู้สึกว่า “หูดับ” ไปทันที ควรพบแพทย์ด่วน อาจมีเลือดออกในหูชั้นในก็ได้ อาจทำให้หูตึงถาวรได้
  4. สำหรับกรณีที่ถูกตบบ้องหู หรือ กกหูอย่างรุนแรง นอกจากจะทำให้ใบหูและเยื่อแก้วหูฉีกขาดแล้ว ถ้าแรงตบหรือแรงกระแทก มากพออาจทำให้สะเทือนถึงกะโหลกศีรษะทำให้กะโหลกร้าว หรือสะเทือนถึงสมอง ทำให้เกิดอาการ “มึนงง” “เวียนศีรษะบ้านหมุน” “เดินเซ” “ซึมลง ตอบสนองช้า” หรือถึงขึ้น “หมดสติ” ได้ จากเลือดตกในสมอง

เมื่อมีอาการดังกล่าวไม่ว่าจะมากหรือน้อย ควรพบแพทย์เพื่อรับการตรวจให้แน่ชัดว่าเยื่อแก้วหูผิดปกติหรือไม่ จะได้รีบรักษาตั้งแต่เนิ่นๆ

แก้วหูทะลุจากแรงอัดอากาศ รักษาอย่างไร ?

การทะลุของแก้วหูถ้าไม่กระทบกระเทือนไปถึงประสาทรับเสียงในหูชั้นใน และแก้วหูทะลุโดยไม่มีการติดเชื้อ แก้วหูอาจปิดได้เองในเวลา 1-2 สัปดาห์หรือถึง 1 เดือน แล้วแต่ว่ารูทะลุเล็กหรือใหญ่แค่ไหน และขาดแบบกระรุ่งกระริ่งหรือเปล่า

ข้อแนะนำ .... ถ้าท่านได้รับการกระทบกระเทือนจนคิดว่าแก้วหูทะลุ หูอื้อปวด ควรรีบไปพบแพทย์หู ไม่ควรไปซื้อยาหยอดหูมาหยอด เพราะจะทำให้แผลทะลุเปียกชื้นและปิดได้ยาก ถ้าเป็นมากแพทย์อาจตรวจการได้ยินเพื่อให้รู้ว่ากระทบกระเทือนถึงกระดูกในหู ชั้นกลางหรือประสาทรับเสียงหรือไม่ แพทย์อาจให้ยากิน แต่ไม่ใช่ยาหยอด 
“หูและการได้ยินเป็นสิ่งมีค่า” เป็นอวัยวะละเอียดอ่อน ที่ธรรมชาติให้มาเพื่อการมีคุณภาพชีวิตที่ดี สามารถได้ยินเสียงกระซิบบอกรักเบาๆ หรือฟังเสียงนกเล็กๆร้องจิ๊บๆได้ ไม่ใช่แค่เพียงได้ยินเสียงตะโกนดังๆก็พอใจแล้ว

Helen Keller สตรีผู้มีปัญหาทั้งตาบอดและหูหนวกกล่าวว่า “ตาบอดแยกเราจากวัตถุ” แต่ “หูไม่ได้ยินแยกเราจากผู้คน”

ที่มา : ศูนย์วิจัยสุขภาพกรุงเทพ เครือโรงพยาบาลกรุงเทพ

ขอขอบคุณ

ผู้เรียบเรียงบทความ : นายแพทย์มนตรี แสงภัทราชัย กุมารแพทย์ระบบประสาทวิทยา
ที่ปรึกษาบทความ: ศาสตราจารย์เกียรติคุณ แพทย์หญิงสุจิตรา ประสานสุข
(แพทย์ผู้เชี่ยวชาญโรคหู การได้ยิน และการทรงตัว และ ที่ปรึกษาองค์การอนามัยโลก ปัญหาหูหนวกหูตึงและโรคหู)
ที่มา : https://www.sahavicha.com/?name=knowledge&file=readknowledge&id=4565

อัพเดทล่าสุด