https://lentera.uin-alauddin.ac.id/question/gratis-terlengkap/https://old-elearning.uad.ac.id/gampang-menang/https://fk.ilearn.unand.ac.id/demo/https://elearning.uika-bogor.ac.id/tanpa-potongan/https://e-learning.iainponorogo.ac.id/thai/https://organisasi.palembang.go.id/userfiles/images/https://lms.binawan.ac.id/terbaik/https://disperkim.purwakartakab.go.id/storage/https://pakbejo.jatengprov.go.id/assets/https://zonalapor.fis.unp.ac.id/-/slot-terbaik/https://sepasi.tubankab.go.id/2024tte/storage/http://ti.lab.gunadarma.ac.id/jobe/runguard/https://satudata.kemenpora.go.id/uploads/terbaru/
ดนตรีไทยมีอะไร...ที่น่าสนใจกว่าที่คุณคิด MUSLIMTHAIPOST

 

ดนตรีไทยมีอะไร...ที่น่าสนใจกว่าที่คุณคิด


711 ผู้ชม


ในฐานะคนไทยคนหนึ่ง...เรามาเรียนรู้ถึงดนตรีไทย... เพื่อความภาคภูมิใจในศิลปวัฒนธรรมของชาติ   

         " นางสาวอลิศษา  เครือวงษา หรือ น้องแอม นักเรียนชั้น มัธยมศึกษาปีที่ 5 โรงเรียนอรุโณทัย อ.เมือง จ.ลำปาง คือ ตัวอย่างของเยาวชนคนรุ่นใหม่ที่หลงใหลมนต์เสน่ห์ดนตรีไทยและดนตรีพื้นเมืองภาคเหนือ  โดยน้องแแอมเริ่มเรียนตั้งแต่อยู่ชั้นมัธยมศึกษาปีที่ 1  ซึ่งในชั้นเรียนมีเพียงเธอเพียงคนเดียว  ที่เลือกเป็นสมาชิกชุมนุมดนตรีไทยและพื้นเมือง จากจำนวนนักเรียนทั้งหมด 40 คน และน้องแอม มีความชำนาญทางด้านดนตรีไทยและพื้นเมือง จนสามารถออกแสดงตามงานต่างๆ  ได้อย่างเป็นที่น่าประทับใจ น้องแอม มีความมุ่งมั่น ตั้งใจในการฝึกฝน เธอมีความชำนาญการเล่นดนตรีพื้นเมืองมาก ทั้งๆ ที่เรียนโรงเรียนเอกชนคริสต์ ซึ่งไม่ได้มุ่งเน้น ในสาขาวิชานี้  แต่น้องแอม ก็ไม่ได้ปฏิเสธความเป็นสากลเลย โดยเฉพาะภาษาอังกฤษที่เป็นภาษาสากล  และน้องแอมยังฝากข้อคิดให้แก่เพื่อน ๆ เยาวชนไทยคนรุ่นใหม่ว่า ภาษาอังกฤษ เป็นสิ่งจำเป็นต้องเรียนรู้  เพราะมีความจำเป็นในการสื่อสารโลกยุคโลกาภิวัฒน์ แต่ไม่ได้หมายความว่าเราจะต้องละเลยความเป็นไทยไป และมุ่งเน้นสู่ความเป็นอินเตอร์เท่านั้น แต่ในฐานะที่เราเป็นคนไทยควรจะเรียน ศึกษาดนตรีไทยและพื้นเมือง เพื่อความภูมิใจ ที่เรามีเครื่องดนตรีเป็นของเราเอง  นอกจากนี้น้องแอมยังบอกด้วยความมุ่งมั่นอีกว่า  เมื่อจบชั้นมัธยมศึกษาปีที่  6  แล้ว จะไปศึกษาต่อ ระดับปริญญาตรี ในสาขาดนตรีไทย เพื่อจะมาเป็นครูสอนดนตรีไทยเป็นการสืบสานวัฒนธรรมไทยให้คงอยู่กับความเป็นสากลให้ได้ "                           (ที่มา กิ๊กก๊อกนิวส์ ออนไลน์  )

         เป็นยังไงครับ...อ่านแล้วน่าชื่นใจจริง ๆ  ที่อย่างน้อยประเทศชาติของเราก็ยังมีเยาวชนไทยซึ่งเป็นตัวอย่างที่ดีของเยาวชนที่มีความเป็นไทย ทั้งตัว และหัวใจ อย่างแท้จริง เต็มเปี่ยมไปด้วยความมุ่งมั่นตั้งใจ ใฝ่เรียนรู้ สามารถค้นพบ และ ทำในสิ่งที่ตนเองรัก และกำหนดเป้าหมายชีวิตของตนเองได้ จึงขอเป็นกำลังใจให้น้องแอมประสบผลสำเร็จในสิ่งที่ตนเองใฝ่ฝัน เพื่อเราจะได้มีเยาวชนคนรุ่นใหม่ที่เป็นพลังในการสืบสานศิลปวัฒนธรรมไทยให้ธำรง คงอยู่คู่ชาติไทยต่อไป  และในฐานะที่เราก็เป็นคนไทยคนหนึ่ง  ควรหันมาสนใจศึกษาเรียนรู้ในเรื่อง ดนตรีไทย  และ ดนตรีพื้นเมืองในแต่ละภูมิภาค  อย่างน้องแอมกันดีกว่านะครับ

เนื้อหาสำหรับกลุ่มสาระการเรียนรู้  ศิลปะ (ดนตรี) ระดับชั้น  นักเรียน และ ผู้สนใจที่มีใจรักในวัฒนธรรมไทย

ความรู้เกี่ยวกับดนตรีไทย
        ดนตรีไทย เป็นศิลปะแขนงหนึ่งของไทย มีประวัติความเป็นมาที่ยาวนาน  และได้รับอิทธิพลมาจาก ประเทศต่าง ๆ เช่น อินเดีย จีน อินโดนีเซีย และอื่น ๆ 
    
    
    ประวัติความเป็นมาของดนตรีไทย
         จากเอกสารหลักฐานที่ปรากฏ ในสมัยกรุงสุโขทัย ดนตรีไทยมีลักษณะเป็นการขับลำนำ และ ร้องเล่น  วรรณคดี "ไตรภูมิพระร่วง" ได้มีการกล่าวถึงเครื่องดนตรี ว่ามีแตร สังข์ มโหระทึก ฆ้อง กลอง ฉิ่ง แฉ่ง (ฉาบ) บัณเฑาะว์ พิณ ซอ ปี่ไฉน ระฆัง กรับ และ กังสดาล
        ต่อมาในสมัยกรุงศรีอยุธยา ได้เกิดวงปี่พาทย์ที่เพิ่มระนาดเอก แต่ยังคงรูปแบบปี่พาทย์เครื่องห้า เหมือนสมัยกรุงสุโขทัย  นับแต่นั้น วงปี่พาทย์ จึงประกอบด้วย ระนาดเอก ปี่ใน ฆ้องวงใหญ่ กลองทัด ตะโพน ฉิ่ง ส่วน วงมโหรี ได้พัฒนาจากวงมโหรีเครื่องสี่  มาเป็นวงมโหรีเครื่องหก ซึ่งเพิ่ม ขลุ่ย และ รำมะนา และรวมเอา ซอสามสาย กระจับปี่ ทับ (โทน) รำมะนา ขลุ่ย และกรับพวง  
        
เมื่อมาถึง สมัยรัตนโกสินทร์ เริ่มจากรัชกาลที่ 1 ได้เพิ่มกลองทัดเข้าวงปี่พาทย์อีก 1 ลูก รวมเป็น 2 ลูก ตัวผู้เสียงสูงตัวเมียเสียงต่ำ รัชกาลที่ 2 ทรงพระปรีชาสามารถการดนตรี ทรง ซอสามสาย คู่พระหัตถ์ คือ  ซอสายฟ้าฟาด และ ทรงพระราชนิพนธ์เพลงไทย บุหลันลอยเลื่อน รัชสมัยนี้เกิดกลองสองหน้าพัฒนามาจากเปิงมางของมอญ จนในรัชกาลที่ 3 วงปี่พาทย์ได้พัฒนามาเแนเครื่องคู่ มีการประดิษฐ์ระนาดทุ้มคู่กับระนาดเอกและฆ้องวงเล็กให้คู่กับฆ้องวงใหญ่   รัชกาลที่ 4 ได้เกิดวงปี่พาทย์เครื่องใหญ่ พร้อมการประดิษฐ์ ระนาดเอกเหล็ก และระนาดทุ้มเหล็กเพิ่มเข้ามาในวงปี่พาทย์  และในรัชกาลที่ 5 สมเด็จฯ กรมพระยานริศรานุวัติวงศ์ทรงคิดค้นวงปี่พาทย์ดึกดำบรรพ์ประกอบการแสดงละครดึกดำบรรพ์  ในรัชกาลที่ 6 ได้มีการนำวงดนตรีของมอญเข้าผสม เรียกวงดนตรีนี้ว่า วงปี่พาทย์มอญโดยหลวงประดิษฐไพเราะ (ศร ศิลปบรรเลง) ได้มีการนำเอา อังกะลุงเข้ามาเผยแพร่ บรรเลงประกอบกับวงดนจรีไทยเป็นครั้งแรก และนำเอา เครื่องดนตรีต่างชาติ เช่น ขิม ออร์แกนของฝรั่งมาผสมเป็นวงเครื่องสายผสม
        
ลักษณะ และ ลีลาของทำนองเสียงดนตรีไทย
        ลักษณะการประสานเสียงของดนตรีไทยตามแบบโบราณนั้น ใช้หลัก อาศัยสีเสียง (Tone color) ของเครื่องดนตรีเป็นเครื่องแยกแต่ละแนวทำนอง คือ ให้เครื่องดนตรีแต่ละชิ้นประสานเสียงกันแบบแนวนอน คือให้เสียงลูกตกตรงกันมากกว่าประสานแบบแนวตั้งที่อาศัยคอร์ด(chord)เป็นพื้นฐานหลักตามแบบสากล   
โดยลีลาของท่วงทำนองเสียงเครื่องดนตรีไทย จะมีท่วงทำนองที่เครื่องดนตรีต่างๆ ที่บรรเลงออกมา บ่งบอกถึงคุณลักษณะ และพื้นฐานอารมณ์ที่จากตัวผู้บรรเลง   เนื่องมาจาก ลีลาหนทางของดนตรีไทยนั้น ไม่ได้กำหนดกฏเกณฑ์ไว้ตายตัว เหมือนกับดนตรีตะวันตก หากแต่มาจากลีลาซึ่งผู้บรรเลงคิดแต่งออกมาในขณะเล่น เพราะฉะนั้น ในการบรรเลงแต่ละครั้งจึงอาจมีทำนองไม่ซ้ำกัน แต่ยังมีความไพเราะและความสอดคล้องกับเครื่องดนตรีอื่นๆอยู่ลักษณะเช่นนี้ได้อิทธิพลมาตั้งแต่สมัยโบราณทีมี"กฎเกณฑ์"  อยู่ที่การวาง "กลอน"  ลงไปใน "ทำนองหลัก"  ในที่นี้  หมายถึงในเพลงไทยเดิมนั้นเริ่มต้นด้วย "เนื้อเพลงแท้ ๆ"  อันหมายถึง  "เสียงลูกตก"  ก่อนที่จะปรับปรุงขึ้นเป็น  "ทำนองหลัก"  หรือที่เรียกว่า "เนื้อฆ้อง"  อีกชั้นหนึ่ง ซึ่งในชั้นเนื้อฆ้องนี้ส่วนใหญ่ จะยังคงเป็นทำนองห่าง ๆ ยังไม่มีความซับซ้อนมาก แต่ยังกำหนดลักษณะ ในการเล่นไว้ให้ผู้บรรเลง  แต่ละคนได้บรรเลงด้วยลีลา เฉพาะของตนในกรอบนั้น ๆ โดยลีลาที่กล่าวมา ก็หมายถึง "กลอน" หรือ "หนทาง"  ต่าง ๆ ที่บรรเลงไปนั่นเอง
         
         ประเภทของเครื่องดนตรีไทย
        เครื่องดนตรีไทย ได้มีการแบ่งตามลักษณะการทำให้เกิดเสียง   สามารถแบ่งได้เป็น  4 ประเภท ได้แก่
               1.   เครื่องดีด  ประกอบด้วย   จะเข้    กระจับปี่   พิณน้ำเต้า   พิณเปี๊ยะ  พิณ   ซึง 
               2.   เครื่องสี     ประกอบด้วย   ซอด้วง    ซอสามสาย    ซออู้    สะล้อ 
               3.  เครื่องตี    ประกอบด้วย   กรับพวง  กรับเสภา    ระนาดเอก  ระนาดทุ้ม  ระนาดเอกมโหรี   ระนาดทุ้มมโหรี   ระนาดเอกเหล็ก   ระนาดทุ้มเหล็ก   ฆ้องมโหรี   ฆ้องมอญ  ฆ้องวงใหญ่  ฆ้องวงเล็ก  ฆ้องโหม่ง  ขิม   ฉาบ  ฉิ่ง กลองต่าง ๆ  มโหระทึก  บัณเฑาะว์   โทน   รำมะนา   โทนชาตรี    เปิงมางคอก 
              4. เครื่องเป่า    ประกอบด้วย    ขลุ่ยหลิบ  ขลุ่ยเพียงออ   ขลุ่ยอู้    ปี่ใน   ปี่นอก  ปี่ไฉน  ปี่ชวา   ปี่มอญ 
        
        
 ประเภทวงดนตรีไทย
        จากการศึกษาหนังสือ เอกสารต่าง ๆ สามารถอธิบายได้ว่า ดนตรีไทย ได้มีการแบ่งตามประเภทลักษณะของการบรรเลง ซึ่งเป็นระเบียบมาตั้งแต่อดีต จนถึงปัจจุบัน แบ่งได้เป็น 3 ประเภท คือ วงปี่พาทย์   วงเครื่องสาย  และวงมโหรี

ดนตรีไทยมีอะไร...ที่น่าสนใจกว่าที่คุณคิด

                                                            ( ที่มา www.thaiswu.freehomepage.com )
        1. วงปี่พาทย์   จะประกอบด้วย  เครื่องตี เป็นสำคัญ เช่น ฆ้อง กลอง และ มีเครื่องเป่าเป็นประธานได้แก่ ปี่ วงปี่พาทย์ มีการประสมวงหลัก เป็น 3 ประเภท  คือ  1. วงปี่พาทย์เครื่องห้า     2. วงปี่พาทย์เครื่องคู่    และ 3. วงปี่พาทย์เครื่องใหญ่  นอกจากนี้ยังมีการแบ่งแยกย่อย ตามลักษณะเครื่องดนตรีที่นำมาบรรเลง หรือการนำไปบรรเลงประกอบวาระโอกาสต่าง ๆ  ได้อีกด้วย เช่น  วงปี่พาทย์ชาตรี วงปี่พาทย์นางหงส์ วงปี่พาทย์มอญ  วงปี่พาทย์ดึกดำบรรพ์  เป็นต้น

ดนตรีไทยมีอะไร...ที่น่าสนใจกว่าที่คุณคิด

                                                               (  ที่มา www.thaiswu.freehomepage.com   )
        2. วงเครื่องสาย  จะประกอบด้วยเครื่องดนตรี ที่ประกอบด้วยเครื่องดนตรี ประเภทสาย เป็นประธาน หรือผู้ดำเนินทำนองหลัก มี เครื่องเป่า และ เครื่องตี เป็นส่วนประกอบ ได้แก่ ซอด้วง ซออู้ จะเข้ เป็นต้น มีการแบ่ง ประเภทวงเครื่องสาย หลัก ๆ ได้เป็น  2  ประเภท ได้แก่  1. วงเครื่องสายเครื่องเดี่ยว   และ  2.วงเครื่องสายเครื่องคู่     นอกจากนี้ยังมีการนำวงเครื่องสายไปประสมกับเครื่องดนตรีชนิด อื่น ๆ แล้วเรียก วงเครื่องสายตามเครื่องดนตรีที่นำมาบรรเลงประสมเช่น วงเครื่องสายปี่ชวา  เป็นต้น

ดนตรีไทยมีอะไร...ที่น่าสนใจกว่าที่คุณคิด

                                                         ( ที่มาภาพ  www.thaiswu.freehomepage.com   )  

        3. วงมโหรี  เป็นการนำ วงเครื่องสาย และวงปี่พาทย์ มาบรรเลงประสมกัน โดยมี เครื่องดนตรีที่เพิ่มเข้ามาคือ ซอสามสาย   โดยในอดีตเป็นคำเรียกการบรรเลงโดยทั่วไป เช่น มโหรีเครื่องสาย  หรือ มโหรีปี่พาทย์ ปัจจุบันแบ่งวงมโหรีแบ่ง 3 ประเภทใหญ่ ๆ คือ  1. วงมโหรีเครื่องเดี่ยว หรือ มโหรีเครื่องเล็ก     2. วงมโหรีเครื่องคู่   และ 3. วงมโหรีเครื่องใหญ่
       
  และนี่ก็เป็นความรู้เกี่ยวกับดนตรีไทยในเบื้องต้น  หวังว่าจะได้รับประโยชน์ไม่มากก็น้อยนะครับ   และ ในตอนต่อไปเราจะนำพาเที่ยวทั่วไทย  โดยใช้เครื่องดนตรีเป็นสื่อกลางในการศึกษาเรียนรู้ ของแต่ละภูมิภาคทั่วไทยโดยเริ่มต้นจาก เหนือสู่ใต้  ... อย่าลืมติตามนะครับ  ขอบคุณสำหรับคอมเมนท์ และ คะแนนโหวตเป็นกำลังใจ เพื่อการพัฒนาร่วมกันนะครับ

ข้อคำถาม..สานต่อความคิด
          -  มีเครื่องดนตรีไทยชนิดใดอีกบ้างที่รู้จัก 
          -  นักเรียนชอบเครื่องดนตรีไทยประเภทใด เพราะเหตุใด

สอดประสานรับ..กับมาตรฐาน
        มาตรฐาน  ศ. 2.2 :  เข้าใจความสัมพันธ์ระหว่างดนตรี  ประวัติศาสตร์  และ วัฒนธรรมเห็นคุณค่าของดนตรีไทย  ที่เป็นมรดกทางวัฒนธรรม  ภูมิปัญญาท้องถิ่น  ภูมิปัญญาไทยและสากล

เชื่อมโยงใย...ในองค์ความรู้
         ในสาระการเรียนรู้เดียวกัน
             - สาระทัศนศิลป์     เรื่องการวาดรูปจากต้นแบบ   โดยให้นักเรียนฝึกวาดรูปเครื่องดนตรีไทย   
             -  สาระนาฏศิลป์    เรื่องการประดิษฐ์สร้างสรรค์ท่ารำโดยให้นักเรียนสร้างสรรค์ท่ารำประกอบการบรรเลงตามจินตนาการ
           ภาษาไทย    เรื่อง การอ่าน การคัดไทย การเขียนไทย การแต่งประโยค  การเรียงความ การเขียนรายงาน   โดยให้นักเรียนได้อ่าน คัดและเขียนคำศัพท์ชื่อของเครื่องดนตรีไทย
เขียนเรียงความ หรือรายงาน ในหัวข้อที่เกี่ยวข้อง เช่น ความประทับใจในดนตรีไทย  ดนตรีไทยกับชีวิตประจำวัน เป็นต้น
           สังคมฯ     เรื่องประวัติศาสตร์     โดยให้นักเรียนศึกษาเพิ่มเติม ในเรื่องราวตามยุคสมัยต่าง ๆ
           กอท.   เรื่อง การประดิษฐ์เศษวัสดุ โดยให้นักเรียนนำเศษวัสดุที่เหลือใช้มาประดิษฐ์เป็นเครื่องดนตรีไทยตามจินตนาการของนักเรียน
           สุขศึกษาฯ      เรื่อง การทำท่าทางประกอบจังหวะ   โดยนำเพลงที่บรรเลงจากวงดนตรีไทย มาใช้ประกอบท่าทางของนักเรียนตามความเหมาะสม
      

เพิ่มเติมเต็ม..กันและกัน
         - หากนำเครื่องดนตรีไทยจริง มาให้นักเรียนได้ศึกษา เรียนรู้ ได้รับฟังเสียงที่แท้จริง จะทำให้นักเรียนได้รับประสบการณ์ตรง
         -  ให้นักเรียนได้มีโอกาสรับฟังเสียงของเครื่องดนตรี แต่ละชนิดให้มากที่สุด และ การบรรเลงแบบผสมวงของวงดนตรีไทย
         -  การจัดการเรียนรู้ในกิจกรรมดนตรี ควรเปิดโอกาสให้นักเรียนได้แสองออก และร่วมในกิจกรรมการเรียนรู้มากที่สุด

อ้างอิงแหล่งข้อมูล
 www.news.giggog.com (วันที่ 5 พ.ค. 2552)
 www.th.wikipedia.org (วันที่ 5 พ.ค. 2552)
 www.thaiswu.freehomepage.com  (วันที่ 5 พ.ค. 2552)

 
ที่มา : https://www.sahavicha.com/?name=knowledge&file=readknowledge&id=264

อัพเดทล่าสุด