การอัลตราซาวนด์ อัลตราซาวนด์ครรภ์ อัลตราซาวนด์ 3 มิติ อัลตราซาวนด์ 4 มิติ MUSLIMTHAIPOST

 

การอัลตราซาวนด์ อัลตราซาวนด์ครรภ์ อัลตราซาวนด์ 3 มิติ อัลตราซาวนด์ 4 มิติ


1,259 ผู้ชม

การอัลตราซาวนด์เป็นวิธีที่แม่ตั้งครรภ์สามารถตรวจดูความเคลื่อนไหวและพัฒนาการของลูกในครรภ์ได้เป็นอย่างดี ซึ่งนอกจากจะทำให้รู้ว่าทารกในครรภ์เป็นอย่างไรแล้วยังทำให้ทราบแพทย์ หรือความผิดปกติต่างๆ เพื่อหาทางป้องกันและแก้ไขได้อย่างทันถ่วงที


การอัลตราซาวนด์



การอัลตราซาวนด์
การอัลตราซาวนด์คืออะไร
โดยทั่วไปหูคนเราสามารถได้ยินเสียงที่มีความถี่อยู่ระหว่าง 20-20,000 Hz เสียงที่มีความถี่สูงเกินกว่า 20,000 Hz ซึ่งเกินกว่ามนุษย์จะได้ยินเรียกว่า อัลตราซาวนด์ คุณแม่ตั้งครรภ์มักจะเรียกสั้นๆ ว่า “ซาวนด์”
อัลตราซาวนด์ คือ คลื่นเสียงที่มีความถี่สูงกว่าที่หูคนเราจะได้ยิน เครื่องมือที่ใช้ตรวจจะสามารถเปลี่ยนพลังงานไฟฟ้า โดยอาศัยตัวกลาง (เยลลี่) ที่มีคุณสมบัติในการสั่นสะเทือนเปลี่ยนพลังงานไฟฟ้าให้เป็นคลื่นเสียงความถี่สูงที่มนุษย์ไม่อาจได้ยิน แล้วส่งผ่านคลื่นเสียงนี้ไปยังอวัยวะภายในช่องท้อง เมื่อคลื่นเสียงกระทบกับวัตถุที่มีความหนาแน่นต่างกัน ก็จะสะท้อนเป็นคลื่นเสียงกลับมายังเครื่องตรวจ แล้วเปลี่ยนเป็นพลังงานไฟฟ้าอีกครั้ง เมื่อมีการปรับแต่งสัญญาณภาพของลูกน้อยในครรภ์ก็จะมาเป็นภาพหน้าจอให้คุณแม่เห็น
อัลตราซาวนด์เป็นเครื่องมือที่มีประโยชน์มาก ให้ความสะดวกรวดเร็วในการตรวจครรภ์ คุณแม่จะไม่ได้รับความเจ็บปวดแต่อย่างใด ถ้าคุณแม่กังวลก็ให้ตรวจอัลตราซาวนด์หลังจากอายุครรภ์เกิน 10 สัปดาห์ขึ้นไป หรือตรวจในกรณีจำเป็นเท่านั้น
ภาพที่คุณแม่เห็นจากอัลตราซาวนด์จะเป็นภาพขาวดำสองมิติ คุณหมอจะขยับหัวตรวจไปเรื่อยๆ และจะอธิบายสิ่งที่เห็นให้คุณแม่ฟัง ครั้งแรกที่มีโอกาสเห็นลูกในครรภ์ คุณแม่อาจเห็นลูกกำลังดูดนิ้ว กลืนน้ำคร่ำ หรือพยักหน้าทักทายคุณแม่ขณะอยู่ในครรภ์ก็ได้


ทำไมแม่ต้องตรวจอัลตราซาวนด์
โรงพยาบาลโดยส่วนใหญ่ทุกวันนี้นิยมให้คุณแม่ที่มาฝากครรภ์และไม่มีปัญหาทางด้านเศรษฐกิจต้องได้รับการตรวจอัลตราซาวนด์อย่างน้อย 1 ครั้ง โดยเฉพาะช่วงที่มาฝากครรภ์ระยะแรกๆ ซึ่งก็คงคล้ายกับการบังคับให้เจาะเลือดเพื่อดูการติดเชื้อไวรัสตับอักเสบบี เชื้อกามโรค เชื้อเอดส์ กรุ๊ปเลือด และความเข้มข้นของเลือดนั่นเอง
การตรวจอัลตราซาวนด์มีวัตถุประสงค์หลักเพื่อติดตามการเติบโตของทารกในครรภ์ และตรวจหาสิ่งผิดปกติที่อาจเกิดขึ้นได้

        • ตรวจดูความผิดปกติของการตั้งครรภ์ เช่น การตั้งครรภ์นอกมดลูก
        • ตรวจดูในกรณีที่สงสัยว่าตั้งครรภ์แฝด
        • ตรวจวัดอายุครรภ์ที่ถูกต้อง และอัตราการเจริญเติบโตของทารก
        • ตรวจดูในกรณีที่สงสัยว่าแท้งบุตร
        • ตรวจดูอวัยวะต่างๆ และโครงสร้างของทารก
        • ตรวจดูท่าของทารก ตำแหน่ง และความสมบูรณ์ของรก เพื่อเปรียบเทียบการเจริญเติบโตของลูกกับอายุครรภ์
        • ตรวจพิเศษอื่นๆ เช่น การเจาะตรวจน้ำคร่ำ และเจาะตรวจเนื้อเยื่อรก ซึ่งจำเป็นที่จะต้องใช้อัลตราซาวน์ตรวจหาตำแหน่งที่จะเจาะตรวจด้วย


ตรวจอัลตราซาวนด์ได้เมื่อไร
โดยปกติทางโรงพยาบาลจะกำหนดให้คุณแม่ที่มาฝากครรภ์ต้องได้รับตรวจอัลตราซาวนด์อย่างน้อย 1 ครั้ง ในช่วงอายุครรภ์ 4-5 เดือน เพื่อตรวจดูความผิดปกติของทารกในครรภ์ แต่ในบางแห่งก็จะตรวจตั้งแต่คุณแม่มาฝากครรภ์ครั้งแรกในช่วง 2-3 เดือน เพื่อการยืนยันอายุครรภ์ที่แน่นอน และตรวจหาความผิดปกติของการตั้งครรภ์ในระยะแรก เช่น การตั้งครรภ์นอกมดลูก
สำหรับโรงพยาบาลของรัฐที่มีคุณแม่ไปใช้บริการกันมาก อาจจะตรวจอัลตราซาวนด์ให้เฉพาะในกรณีที่คุณแม่หรือทารกมีภาวะเสียงต่อการเกิดความผิดปกติต่างๆ ในขณะตั้งครรภ์


จำนวนครั้งที่ควรอัลตราซาวนด์
จริงๆ แล้วในปัจจุบันยังไม่มีข้อกำหนดที่เป็นมาตรฐานจากกระทรวงสาธารณสุข ว่าการตรวจด้วยเครื่องอัลตราซาวนด์ระหว่างตั้งครรภ์ควรจะทำกันกี่ครั้ง แต่ถ้ายึดตามคำแนะนำของวิทยาลัยสูตินรีแพทย์อเมริกัน ก็แนะนำให้ทำเพียงครั้งเดียวตอนอายุครรภ์ประมาณ 16-20 สัปดาห์
สำหรับว่าที่คุณแม่ที่เป็นกลุ่มคนไข้พิเศษ เช่น ผู้ที่มีบุตรยากและตั้งครรภ์ด้วยการใช้เทคโนโลยีช่วยการเจริญพันธุ์ หรือเป็นกลุ่มที่เป็นครรภ์เสี่ยงสูง เช่น การตั้งครรภ์แฝด มีภาวะแทรกซ้อนจากการตั้งครรภ์ตั้งแต่ไตรมาสแรกจนถึงไตรมาสที่สาม ควรจะได้รับการตรวจเพิ่มเติมตามอายุครรภ์ต่อไปนี้

        • อายุครรภ์ 7-9 สัปดาห์ การตรวจด้วยเครื่องอัลตราซาวนด์ทางช่องคลอดจะช่วยให้รู้ว่าการตั้งครรภ์อยู่ในตำแหน่งที่ถูกต้องหรือไม่ มีตัวเด็กหรือไม่ เป็นการตั้งครรภ์เดี่ยวหรือแฝด มีเลือดออกอยู่ใต้รกหรือไม่ ไข่ตกจากรังไข่ข้างใด รังไข่มีซีสต์หรือไม่ ตัวมดลูกมีเนื้องอกร่วมกับการตั้งครรภ์หรือเปล่า
        • นอกจากนี้ยังสามารถคาดเดาอายุครรภ์ได้แม่นยำ โดยมีความผิดพลาดประมาณ 3 วันเท่านั้น ซึ่งการตรวจในช่วงเวลาดังกล่าวจะเป็นประโยชน์ในอนาคต เพราะเป็นข้อมูลอ้างอิงสำหรับการตรวจในครั้งต่อๆ ไปอีกด้วย
        • อายุครรภ์ 11-13 สัปดาห์ การตรวจด้วยเครื่องอัลตราซาวนด์ทางช่องคลอดจะวัดขนาดความยาวของทารกที่เรียกว่า Crown Rump Length วัดความหนาของท้ายทอยทารก ตรวจหากระดูกจมูก ซึ่งช่วยในการทำนายโอกาสที่ทารกจะมีความผิดปกติของโครโมโซมคู่ที่ 21 ที่เรียกว่าดาวน์ซินโดรมได้กว่าร้อยละ 70 เมื่อรวมกับการตรวจวัดระดับฮอร์โมนของแม่แล้ว จะสามารถคำนวณออกมาเป็นโอกาสเสี่ยงที่ทารกจะเป็นดาวน์ซินโดรมได้แม่นยำมากขึ้นถึงประมาณร้อยละ 78
        • นอกจากนี้ยังสามารถบอกตำแหน่งที่รกเกาะได้อย่างแม่นยำ ซึ่งจะช่วยในการเฝ้าติดตามตำแหน่งของรกในอนาคตต่อไป
        • อายุครรภ์ 18-24 สัปดาห์ เป็นช่วงเวลาเหมาะสมที่จะสามารถอัลตราซาวนด์ตรวจทารกในครรภ์ทั้งตัว ได้แก่ ส่วนศีรษะ แขน ขา ลำตัว และอวัยวะต่างๆ เช่น หัวใจ กระบังลม ปอด ตับ ไต กระเพาะปัสสาวะ กระเพาะอาหาร เป็นต้น
        • ในกรณีที่มีความผิดปกติของหัวใจแต่กำเนิด ซึ่งเป็นความผิดปกติที่พบได้บ่อย ก็สามารถที่จะปรึกษาสูติแพทย์ผู้เชี่ยวชาญเพื่อให้การดูแลรักษาต่อไป และช่วงเวลานี้ยังเหมาะสำหรับการเจาะตรวจน้ำคร่ำ เพื่อนำไปตรวจวิเคราะห์โครโมโซมของทารกในครรภ์ด้วย
        • อายุครรภ์ 32-34 สัปดาห์ เป็นช่วงเวลาที่จะทำการตรวจอัลตราซาวนด์ทารกในครรภ์ เพื่อที่จะบอกถึงความสมบูรณ์ของทารก ความสมบูรณ์ของใบหน้า อวัยวะต่างๆ และขนาด ซึ่งสามารถบอกได้ว่า ทารกในครรภ์มีการเจริญเติบโตตามเกณฑ์ โตเกินไป หรือเติบโตช้า เป็นต้น เพื่อทำนายน้ำหนักแรกคลอด
        • นอกจากนั้น หลังจากช่วงเวลานี้ทารกในครรภ์มักจะไม่เปลี่ยนท่าอีกแล้ว เช่น หากอยู่เป็นท่าก้นหรือท่าศีรษะก็จะอยู่ในท่านั้น จนกระทั่งครบกำหนดคลอด คุณแม่ก็จะรู้ได้ว่าสามารถคลอดธรรมชาติได้หรือไม่ เพราะมีเพียงส่วนน้อยที่ทารกจะเปลี่ยนท่าไปจากเดิม



ประเภทของการอัลตราซาวนด์
ในช่วงแรกที่นำเครื่องอัลตราซาวนด์มาใช้กับคุณแม่ที่ตั้งครรภ์เมื่อสัก 20 ปีก่อน พบว่าภาพของทารกและอวัยวะอื่นๆ ในครรภ์ที่ตรวจได้มองไม่ค่อยชัด เห็นอวัยวะต่างๆ ในลักษณะเป็นจุดๆ ต่อมาดีขึ้นเห็นเป็นภาพสองมิติแต่เป็นภาพนิ่ง ต่อมาจึงเห็นภาพเคลื่อนไหวได้เลยขณะที่ตรวจ
ปัจจุบันมีการอัลตราซาวนด์ให้คุณพ่อคุณแม่ได้เลือกตามความต้องการว่าอยากเห็นภาพทารกชัดแค่ไหน แต่ยังต้องอยู่ภายใต้การแนะนำของแพทย์ผู้ดูแลครรภ์ที่จะเลือกให้เหมาะสมกับสภาพการตั้งครรภ์หรือปัญหาของคุณแม่แต่ละคน

อัลตราซาวนด์ 2 มิติ
ภาพที่ได้จากการอัลตราซาวนด์ 2 มิติ จะเป็นภาพที่เห็น ความกว้างและความยาว เป็นภาพตัดขวางตามแนวคลื่นเสียงความถี่สูงที่ส่งออกไป ซึ่งจะสามารถมองเห็นได้ทีละระนาบในแต่ละครั้ง การอัลตราซาวนด์แบบนี้จะให้ข้อมูลที่เป็นประโยชน์ในการวินิฉัยถึงความ ผิดปกติต่างๆได้ดี ซึ่งแพทย์จะนิยมใช้ภาพ 2 มิตินี้ในการตรวจเป็นมาตรฐาน แต่ภาพที่เห็นลักษณะนี้จะดูและเข้าใจได้ยากโดยคนทั่วๆไป คุณพ่อคุณแม่ก็มักดูไม่รู้ว่าหน้าตาลูกเป็นอย่างไร หรือดูไม่รู้ว่าตรงไหนคืออวัยวะอะไรบ้าง

อัลตราซาวนด์ 3 มิติ
การอัลตราซาวนด์แบบ 3 มิติ จะมีการตรวจและอุปกรณ์ประมวลผลจะมีความซับซ้อนมากขึ้น เครื่องจะทำหน้าที่เก็บภาพ 2 มิติ คือ ความกว้างและความยาว แต่จากนั้นหัวตรวจจะถูกลากผ่านไปมาแล้วนำมาประกอบกันขึ้นสร้างเป็นภาพ 3 มิติ ส่วนการเก็บภาพมิติที่ 3 คือ ความลึกทำให้ภาพของทารกที่ปรากฏออกมาดูเหมือนจริงมากขึ้น พ่อแม่สามารถดูได้เข้าใจมากขึ้น

อัลตราซาวนด์ 4 มิติ
การอัลตราซาวนด์แบบ 4 มิติ เป็นการนำภาพ 3 มิติ มาเรียงกัน แสดงผลเป็นภาพเคลื่อนไหว ทำให้เห็นภาพของทารกในครรภ์ในอิริยาบถต่าง ๆ เช่น การหันหน้า ยกแขน ขยับตัว ดูดนิ้วได้ สามารถมองเห็นอวัยวะภายนอกของทารกในครรภ์ได้ชัดเจนกว่าการตรวจด้วยอัลตราซาวนด์ 2 มิติ เช่น ใบหน้า แขน ขา นิ้วมือ พ่อแม่จึงสามารถมองภาพได้เข้าใจมากขึ้น เห็นความผิดปกติของทารกภายนอกพื้นผิวได้ชัดเจนมากขึ้น แต่การใช้ภาพ 4 มิติจะไม่สามารถมองเห็นความผิดปกติภายในได้


อัพเดทล่าสุด