ฎีกาแรงงาน คำพิพากษา คดีแรงงาน ต่างๆที่น่าสนใจ สัญญาจ้างแรงงาน


1,063 ผู้ชม


สัญญาจ้างแรงงาน




        สัญญาจ้างแรงงานระหว่างโจทก์จำเลยไม่ได้กำหนดระยะเวลาจ้างไว้ โจทก์และจำเลยจึงมีสิทธิเลิกสัญญาได้ด้วยการบอกกล่าวให้อีกฝ่ายหนึ่งทราบล่วงหน้าตาม ป.พ.พ. มาตรา ๕๘๒ วรรคหนึ่ง และ พ.ร.บ.คุ้มครองแรงงานพ.ศ.๒๕๔๑ มาตรา ๑๗ วรรคสอง การที่จำเลยใช้สิทธิบอกเลิกสัญญาจ้างแรงงานจึงเป็นการใช้สิทธิตามกฎหมายโดยชอบ ไม่ใช่เป็นการผิดสัญญา และไม่ใช่เป็นการจงใจหรือประมาทเลินเล่อทำต่อโจทก์โดยผิดกฎหมายทำให้โจทก์เสียหายตาม ป.พ.พ.มาตรา ๔๒๐ จำเลยจึงมิได้กระทำละเมิดต่อโจทก์


        การบอกกล่าวเลิกสัญญาจ้างที่ไม่ได้กระทำให้ถูกต้องตามระยะเวลาที่กฎหมายกำหนดเป็นเรื่องที่ลูกจ้างชอบจะได้รับสินจ้างแทนการบอกกล่าวล่วงหน้า หรือค่าชดเชยพิเศษแทนการบอกกล่าวล่วงหน้าตาม พ.ร.บ.คุ้มครองแรงงาน พ.ศ.๒๕๔๑มาตรา ๑๗ วรรคสี่, ๑๒๑ วรรคสอง ป.พ.พ. มาตรา ๕๘๒ วรรคสอง แล้วแต่กรณีและหากการเลิกจ้างนั้นเป็นการเลิกจ้างไม่เป็นธรรม ลูกจ้างก็ชอบจะได้รับค่าเสียหายตาม พ.ร.บ.จัดตั้งศาลแรงงานและวิธีพิจารณาคดีแรงงาน พ.ศ.๒๕๒๒ มาตรา ๔๙มิใช่ได้รับค่าสินไหมทดแทนเพื่อละเมิด


        ระหว่างที่โจทก์เป็นลูกจ้างจำเลย โจทก์ได้กู้ยืมเงินจากประธานกรรมการผู้จัดการบริษัทจำเลยรวม ๒ ครั้ง โจทก์ตกลงผ่อนชำระโดยให้หักจากค่าจ้างโจทก์แต่ละเดือนตามบันทึกกู้ยืมเงิน และโจทก์ยังค้างชำระหนี้เงินกู้ดังกล่าว เหตุที่จำเลยไม่จ่ายค่าจ้างและค่าชดเชยให้แก่โจทก์ เป็นเพราะเมื่อหักกลบลบหนี้เงินกู้แล้วโจทก์ยังเป็นหนี้ประธานกรรมการผู้จัดการบริษัทจำเลยอยู่อีกมาก และโจทก์ไม่เคยทวงถาม โดยจำเลยเชื่อโดยสุจริตว่าจำเลยสามารถจะหักกลบลบหนี้ค่าจ้างและค่าชดเชยได้ แม้จำเลยไม่อาจหักกลบลบหนี้เงินกู้กับค่าจ้างที่จำเลยจะต้องจ่ายให้แก่โจทก์ตาม พ.ร.บ.คุ้มครองแรงงาน พ.ศ.๒๕๔๑ มาตรา ๗๖ ก็ตาม แต่พฤติการณ์ของจำเลยดังกล่าวยังถือไม่ได้ว่าจำเลยจงใจไม่จ่ายค่าจ้างและค่าชดเชยแก่โจทก์โดยปราศจากเหตุผลอันสมควร


        โจทก์ฟ้องเรียกค่าจ้างค้างจ่ายของเดือนพฤศจิกายน ๒๕๔๑ จำนวน๓๐,๓๐๐ บาท และของวันที่ ๑ ถึง ๘ ธันวาคม ๒๕๔๑ จำนวน ๘,๐๐๐ บาท ต่อมาโจทก์จำเลยแถลงรับข้อเท็จจริงกันว่าจำเลยยังคงค้างชำระค่าจ้างโจทก์เป็นเงิน๑๐,๓๐๐ บาท ซึ่งศาลแรงงานก็พิพากษาให้จำเลยจ่ายให้โจทก์แล้ว ส่วนค่าจ้างของวันที่ ๙ ถึง ๓๑ ธันวาคม ๒๕๔๑ และเงินโบนัสโจทก์ไม่ได้บรรยายและขอมาในคำฟ้อง โจทก์เพิ่งจะยกขึ้นอ้างในชั้นอุทธรณ์ จึงเป็นข้อที่มิได้ยกขึ้นว่ากันมาแล้วโดยชอบในศาลแรงงาน เป็นอุทธรณ์ที่ไม่ชอบตาม ป.วิ.พ. มาตรา ๒๒๕ วรรคหนึ่ง ประกอบพ.ร.บ.จัดตั้งศาลแรงงานและวิธีพิจารณาคดีแรงงาน พ.ศ.๒๕๒๒ มาตรา ๓๑

 คำพิพากษาฎีกาที่ 51/2545

อัพเดทล่าสุด